SWIT
สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ .

ผู้อพยพในประเทศไทย : คนจีน ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์


ราชสำนักไทยเพิ่งจะมาตื่นตัวเรื่องการกำหนดนโยบายที่เหมาะสมเกี่ยวกับชาวจีน ก็ต่อเมื่อซุนยัดเซ็นเริ่มเข้ามามีบทบาทปลุกจิตสำนึกชาตินิยมในหมู่ชาวจีนโพ้นทะเลแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในประเทศไทย ที่ซุนยัดเซ็น ได้เดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯ รวม ๒ ครั้ง ในช่วงมิถุนายน ๒๔๔๖ และพฤศจิกายน-ธันวาคม ๒๔๕๑

 

แม้แนวความคิดดังกล่าวจะจำกัดอยู่เฉพาะในหมู่นายทุนชาวจีนมากกว่า จะส่งผลทำให้จิตสำนึกชาวจีนทั่วไปเปลี่ยนไปให้การสนับสนุนขบวนการถุงเหมิงหุ้ยของเขา เพื่อล้มล้างราชวงศ์แมนจูในประเทศจีน

แต่อิทธิพลความคิดเพื่อปฏิวัติประเทศจีนกลับกลายเป็นแรงกระตุ้นอย่างหนึ่งสำหรับข้าราชการผู้น้อยและปัญญาชนขณะนั้น จึงได้รื้อฟื้นการเคลื่อนไหวทางการเมืองขึ้นอีกครั้ง หลังจากสงบเงียบไปเป็นเวลากว่า ๒๐ ปี จากการเคลื่อนไหวของกลุ่มก้าวหน้า ร.ศ.๑๐๓ (พ.ศ.๒๔๒๗) โดยในครี้งนี้ ความคิดของกลุ่มห้วก้าวหน้าจะออกมาในรูปของงานเขียนของเทียนวรรณ ซึ่งพยายามเน้นให้สังคมไทยตระหนักว่า รากฐานและที่มาอันสำคัญของการปกครองประเทศไม่ได้อยู่ที่องค์พระมหากษัตริย์ หรือขุนนาง "หากอยู่ที่ราษฎร ซึ่งเป็นสายโลหิตของแผ่นดิน"

ในช่วงรัชกาลพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงแม้ว่าพระองค์จะได้ดำเนินนโยบายทางการเมืองหลายประการ ซึ่งถูกตีความทั่วไปว่าเป็นตัวอย่างสำคัญสุดยุคหนึ่งสำหรับการสร้างบูรณาการแห่งชาติ และส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อบทบาทอันสูงเด่นของชาวจีนที่มีต่อเศรษฐกิจไทยในขณะนั้น เช่น การตรา พ.ร.บ.แปลงสัญชาติ ร.ศ.๑๓๐, พ.ร.บ.เนรเทศ ร.ศ.๑๓๑, พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๔๕๖ และพ.ร.บ.สมาคม พ.ศ.๒๔๕๗

เมื่อวิเคราะห์รายละเีอียดของกม.แต่ละฉบับ จะเห็นได้ว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายเน้นหนักเฉพาะการหาทางผสมกลมกลืนชาวจีนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับวิถีสังคมและการเมืองแบบจารีตของไทย ขณะเดียวกันกม.บางฉบับ เป็นเพียงมาตรการป้องปรามไม่ให้ชาวจีีนที่นิยมซุนยัดเซ็น ทำการเคลือ่นไหวทางการเมือง ซึ่งจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อความมั่นคงของสถาบัน

เพราะความคิดที่จะปฏิวัติสังคมไทยทำนองเลียนแบบจีน เริ่มทวีความเข้มข้นแล้วตั้งแต่ต้น ร.๖ เช่น กรณีการคิดกบฎ ร.ศ.๑๓๐ (พ.ศ.๒๔๕๔)

แม้ว่าการเคลื่่อนไหวในรูปกวีนิพนธ์ของร.๖ ไม่ว่าในรูปของบทความที่ปรากฎในเรื่อง เมืองไทยจงตื่นเถิด พวกยิวแห่งบุราทิศและโคลนติดล้อ จะละเว้นไม่ได้ที่จะต้องมีชาวจีน เป็นเป้าโจมตีตลอดเวลา แต่บทความเหล่านี้ ก็เป็นเพียงกลอุบายทางการเมืองของร.๖ ต่างหาก ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้กระแสอิทธิพลของการปฏิวัติในเมืองจีนแผ่เข้ามามีบทบาทเหนือสังคมไทย

จนกระทั่งราชสำนักไม่สามารถจะควบคุมสถานการณ์ได้มากกว่าจุดประสงค์อื่นใด เบื้องหลังและข้อเท็จจริงเหล่านั้น สามารถพิจารณาได้จากพระราชหัตถเลขา่ส่วนพระองค์ ของร.๖ ลว. ๒๑ เมษายน ร.ศ.๑๓๑

บทบาททางเศรษฐกิจของชาวจีนจึงยังคงดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง และได้รับการส่งเสริมมากที่สุดในสมัย ร.๖ มากกว่าสมัยใดๆ ทั้งนี้เนื่องจากพระองค์ยังคงยึดหลักการที่ว่า ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของไทย จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องอาศัยการลงทุนจากชาวจีนและแรงงานราคาถูกจากผู้อพยพใหม่ๆ ดังที่พระองค์ได้ดำรัสไว้ในที่ประชุมเสนาบดี เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๖ ว่า

"คนเข้าเมืองที่เราปรารถนาคือคนงาน สยามยิ่งมีแผ่นดินที่่ว่างเปล่าอยู่มากและมีพลเมืองน้อย ถ้าจะทำความเจริญให้ประเทศ และทำให้แผ่นดินไทยมีค่ายิ่งขึ้นแล้ว เมืองไทยยังต้องการคนงานอยู่อีกมาก เพราะฉะนั้นเรือ่งจำพวกนี้ ไม่ควรให้ได้รับความท้อใจอย่างใด" (1)

ในขณะเดียวกัน รัฐบาลยังได้ย้ำประเพณีปฏิบัติเกี่ยวกับการถือครองที่ดิน ซึ่งชาวจีนได้รับสิทธิเฉกเช่นเดียวกับชาวไทยทุกประการอีกครั้งในสมัยร.๖ เมื่อพระกัลยาณไมตรี (Francis B.Sayre) ที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาลไทย ต้องการจะให้มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่ดินอันเกี่ยวกับชนต่างด้าว ซึ่งในกันมาตั้งแต่ร.๔ โดยคณะกรรมการร่างกฎหมายฉบับใหม่ ได้ลงมติเห็นชอบเมื่อ พ.ศ.๔๖๗ ว่า

"เรื่องจีนถือที่ดินในเมืองไทย คณะกรรมการร่างกฎหมายถือว่าฐานะของจีนในเมืองไทยผิดแปลกกว่าชาวต่างประเทศทั้งหลาย ด้วยความสมัครสมานและประเพณีสืบเนื่องมาแต่โบราณ อันไม่จำเป็นต้องยกมากล่าวให้ยืดยาวในกฎหมายฉบับที่ร่างนี้ เพราะฉะนั้นการที่ ดร.ฟรานซิส บี.แซร์ จะร่างกฎหมายเพื่อกระทบกระเทือนหรือเปลี่ยนแปลงฐานะของจีนในเมืองไทยให้เป็นอย่างอื่น กรรมการร่างกฎหมายไม่เห็นพ้องด้วย" (2)

บูรณาการแห่งชาติและการดำรงความเป็น "จีน" : ในบริบทของประวัติศาสตร์ภาคใต้, ภูวดล ทรงประเสริฐ

คำสำคัญ (Tags): #ชาวจีน#ผู้อพยพ
หมายเลขบันทึก: 258443เขียนเมื่อ 30 เมษายน 2009 19:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 03:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท