การบริหารความขัดแย้ง


                ผมติดค้างในใจนานมาก  ในการจะเขียนตอบคุณสุกัญญา  ที่แสดงความคิดเห็นไว้ในบล็อกผม  เมื่อ 5 ก.พ. 49  ว่าเห็นด้วยว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องที่ดี  แต่จะ  1.  เป็นเรื่องร้ายแรง  หากใครบังอาจขัดแย้งกับผู้บริหาร  ไม่แน่ใจว่าความขัดแย้งเป็นปัญหาที่ตัวผู้บริหาร  หรือผู้ร่วมงานกันแน่  และ  2.  หากเราอยู่ในฐานะผู้บริหารจะจัดการกับความขัดแย้งในองค์กรอย่างไร ?
                ผมตั้งใจเขียนตอบตั้งแต่ได้ความคิดเห็น  แต่สถานการณ์การเมืองที่มีปัญหาความขัดแย้งอย่างสูงทำให้ผมต้องหยุดชะงัก  เพราะเป็นตัวอย่างความขัดแย้งนอกทฤษฎี
                คำถามของผมคือ  ใครจะเป็นผู้แก้ปัญหาความขัดแย้ง
                การเสนอให้ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เป็นคนกลาง  หรือการเสนอตัวเป็นคนกลางขององค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (พี เน็ต)  ไม่ประสบความสำเร็จ  เพราะคนกลางเป็นเพียงผู้ประสานงาน  ไม่มีอำนาจในการตัดสินแก้ปัญหาความขัดแย้ง
                แล้ววันที่ท้องฟ้าประเทศไทยสว่างไสว  ก็คือ  วันที่ 25 เมษายน 2549  วันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ  ทรงมีพระราชดำรัสแนวทางแก้ วิกฤติชาติ  ซึ่งพระราชทานแก่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด  ผู้พิพากษาประจำศาล  และผู้พิพากษาประจำศาลฎีกา  นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นพ้นแก่ประชาชนชาวไทยและแผ่นดินไทย
                ผมได้รับคำตอบด้วยพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมจากพระราชดำรัส
                ขอเสนอความคิดเรื่องการบริหารความขัดแย้งครับ
                ความขัดแย้งเกิดจากคน  เราอาจแบ่งความขัดแย้งเป็นหลายประเภท  และต่างสาเหตุกัน  ดังนี้
                1.  ความขัดแย้งภายในบุคคล  คือ  ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในตัวบุคคลเอง  บุคคลมีความต้องการ  เมื่อมีอุปสรรคก็เกิดความคับข้องใจ  และอาจจะแสดงพฤติกรรมไม่พึงประสงค์เพื่อชดเชยความคับข้องใจ  กรณีนี้จะมีผลกระทบต่อองค์กร  โดยพฤติกรรมส่วนบุคคลและผลสัมฤทธิ์ของงานที่บุคคลนั้นรับผิดชอบ
                2.  ความขัดแย้งระหว่างบุคคลในองค์กร  คือความขัดแย้งระหว่างเพื่อนร่วมงาน  และความขัดแย้งระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชา  ความขัดแย้งลักษณะนี้พบมากที่สุดในองค์กร  และส่งผลกระทบทางลบมากที่สุดต่อองค์กรเช่นเดียวกัน
                3.  ความขัดแย้งลักษณะพิเศษ  ที่ผมเรียกว่าเป็นความขัดแย้งนอกทฤษฎี  เพราะเป็นความคิดเห็นที่ขัดแย้งระหว่างกลุ่ม  เช่นสถานการณ์การเมืองของไทยที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่าง  ฝ่ายรัฐบาล  ฝ่ายค้าน  และฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย 
                วิธีแก้ไขปัญหาความขัดแย้งตามแนวคิดของ  แมรี่  ปาร์กเกอร์  ฟอลเลทท์ (Mary Parker Follet)  มี 3 แบบคือ
                1.  การใช้อำนาจฟาดฟัน (Domination)  คือ  ใช้อำนาจของผู้บริหารวินิจฉัยสั่งการ  เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด  แต่เกิดผลกระทบกับคู่ขัดแย้งมากที่สุด  ทำให้เกิด ผู้แพ้ -  ผู้ชนะ  (เข้าได้กับกรณีความเห็น 1 ของคุณสุกัญญา)  ไม่เป็นผลดีต่องค์กร
                2.  พบกันครึ่งทาง (Compromise) คือ  การใช้วิธีประนีประนอม  การเจรจาต่อรอง  เพื่อให้ได้เป็นผู้ชนะด้วยกัน  หรือแพ้ด้วยกัน  คือเสมอกัน  วิธีนี้คู่กรณีมักพึงพอใจ
                3.  สร้างสรรค์อุดมการณ์ (Integration) คือ  การบูรณาการความคิดเห็นของคู่กรณี  โดยยึดการทำงานเพื่อส่วนรวมเป็นที่ตั้ง  แล้วหาข้อสรุปร่วมกัน  ใช้เหตุผลและวิจารณาญาณร่วมกันในการแก้ปัญหา  วิธีนี้ยากที่สุด  แต่เป็นวิธีที่ผู้บริหารควรกระทำมากที่สุด
                อลัน ฟิลเลย์ (Alan Filley) ได้แบ่งประเภทผลที่เกิดจากความขัดแย้งเป็น 3 แบบ  คือ
                1.  แบบชนะ – แพ้ (Win – Lose)
                2.  แบบแพ้ – แพ้ (Lose – Lose)
                3.  แบบชนะ – ชนะ (Win – Win)
                หากวิเคราะห์วิธีการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ  ทรงพระราชทานแนวทาง  คือ  ลักษณะที่ 3  การสร้างสรรค์อุดมการณ์  แต่เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่เป็นความขัดแย้งลักษณะพิเศษ  แนวทางแก้วิกฤติของพระองค์ท่านจึงพิเศษเหนือกว่าทฤษฎีฝรั่ง  คือ  มิใช่ให้คู่กรณีมาแสดงความเห็นเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้ง  แต่ให้คนกลางซึ่งได้รับการยอมรับนับถือจากสังคมไทย  คือ  ศาลฎีกา  ศาลปกครองสูงสุด  และศาลรัฐธรรมนูญ  เป็นผู้ดำเนินการแก้ปัญหาความขัดแย้ง  และหากพิจารณาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พุทธศักราช 2540  มาตรา 3  อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนชาวไทย  พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข  ทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา  คณะรัฐมนตรี  และศาล  ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้แล้ว  จะเห็นว่าปัจจุบัน  สภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ  วุฒิสภาก็รักษาการ  คณะรัฐมนตรีก็รักษาการ  (อันเนื่องจากการยุบสภาผู้แทนฯ)  อำนาจศาลจึงเป็นที่พึ่ง
                ขอพระองค์ทรงพระเจริญ
                ขอแถมนิทานการเมืองให้เข้าบรรยากาศครับ
                นิทานเล่าว่า  โทนี  แบลร์ (นายกรัฐมนตรีอังกฤษ)  จอร์จ  ดับบลิว  บุช (ประธานาธิบดีอเมริกา)  และบินลาเดน (ผู้นำการก่อการร้ายโลกชาวมุสลิม) ตายพร้อมกัน  แล้วตกนรกเหมือนกัน
               ทั้งสามคนขอโทรศัพท์กลับบ้าน  ยมบาลก็ต่อโทรศัพท์ให้ 
                โทนี  แบลร์  ได้พูดกลับอังกฤษเป็นคนแรก  พูดไปประมาณ 10 นาที  ยมบาลคิด 60 ปอนด์ (ประมาณ 4,200 บาท)
                บินลาเดน  ได้พูดคนต่อมา  โทร.ไปประเทศกลุ่มอาหรับ  พูดนานประมาณ 20 นาที  ยมบาลคิดเงิน 600 SAR (ประมาณ 6,000 บาท)
               จอร์จ  ดับบลิว  บุช  ได้พูดไปอเมริกาเป็นคนสุดท้าย  พูดนานประมาณ 40 นาที  พูดเสร็จถามยมบาลว่าเท่าไร?
                ยมบาลตอบว่า “1 ดอลล่าร์” (40 บาท)
                จอร์จ  ดับบลิว  บุช  โกรธที่ยมบาลคิดเงินแค่ 1 ดอลล่าร์  ทั้งที่โทรนานกว่าเพื่อน  บอกกับยมบาลว่า  มีเงินจ่ายนะ (รวยโว๊ย)  ไม่ต้องลดราคา
                ยมบาลบอกว่าไม่ได้ลดราคา  แต่เป็นการคิดอัตราปกติ  เป็นอัตราท้องถิ่น (Local) ไม่ใช่ทางไกล
                ข้อคิดจากนิทาน  ยมบาลเห็นว่าอเมริกาก็นรกเหมือนกัน (ท้องถิ่นเดียวกัน)
                การบริหารไม่ยากอย่างที่คิด
                การบริหารความขัดแย้งต้องใช้ทั้งศาสตร์  และศิลป์  ต้องใช้ทั้งนิติศาสตร์  และรัฐศาสตร์
                ขอพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อม
               

หมายเลขบันทึก: 25830เขียนเมื่อ 27 เมษายน 2006 17:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 23:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
     คนเรารู้ดี  รู้ชั่ว   แต่อดใจไม่ได้ต่างหาก    

ข้อสังเกตครับ

ขณะที่ผมเขียนข้อคิดเห็นนี้ บันทึกนี้ยังไม่ปรากฎใน NUKM blog ผมมาพบว่ามีบันทึกนี้อยู่เฉพาะใน Gotoknow ผมลอง refresh ก็แล้ว และลองออกจาก Gotoknow แล้วกลับเข้ามาใหม่ผลก็เหมือนเดิม ไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นครับ

     อ่านบันทึกนี้ของอาจารย์ได้หลากหลายอารมณ์เลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็น "ตื้นตันใจ  ใคร่อยากรู้  และก็มีมุขให้ขำค่ะ"
    
     ขอบพระคุณค่ะ

     รออ่านบันทึกของอาจารย์อยู่เสมอนะคะ  :)
    

เห็นข้อเขียนเรื่องนี้ แล้วคลิกเข้ามาทันที ...โดยส่วนตัวแล้วในฐานะคนทำงานไม่เคยคิดอยากจะขัดแย้ง ไม่ว่าจะทั้งผู้ร่วมงานและผู้บังคับบัญชา  ขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงานถือเป็นเรื่องธรรมดา และยังเห็นทางออกในการแก้สถานการณ์ให้ดีขึ้นด้วยตัวเอง แต่ขัดแย้งกับผู้บังคับบัญชา  ถ้าไม่พบกันครึ่งทาง  ท่าทางจะลำบาก  สิ่งที่ทำได้คือ.. ถอยออกไปห่างๆ และพยายามวางเฉย  ....  ข้อคิดของอจ ได้ทั้งความรู้และข้อคิดดีๆ  ที่ทำให้มีกำลังใจดีค่ะ

เรียน  ผศ.ดร.วิบูลย์  วัฒนาธร

อาจเกิดการขัดข้องทางเทคนิคครับ แต่ตอนที่นำบันทึกขึ้นได้ตรวจสอบแล้วว่ามีอยู่ใน NUKM blog ครับ

เรียน คุณ แมวไทย "ธรรมดา", คุณ JR_NUQA และคุณ moonlight

ขอขอบคุณที่ติดตามอ่านบันทึกครับ  และถ้าเห็นว่ามีประโยชน์ผมก็จะเขียนไปเรื่อยๆ ครับ

ผมสนใจในวิธีบริหารความขัดแย้งครับ อยากได้ข้อมูลไปใช้ในการขยายผลภาคนิพนธ์ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท