๙ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์แห่งเมืองอุตรดิตถ์ (องค์ที่ ๘)


 

          หลวงพ่อสุโขทัยสัมฤทธิ์ วัดคุ้งตะเภา      

http://lh4.ggpht.com/_pTG3in6GYZE/SfiCsxa8jsI/AAAAAAAADcc/yaMYvOsBiZQ/240px-Phra_Buddhu_Sukothai_Tri_Lokashet_.jpg

พระพุทธสุโขทัยไตรโลกเชษฐ์ หรือนามสามัญ หลวงพ่อสุโขทัยสัมฤทธิ์ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ปางมารวิชัย หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์บริสุทธิ์ (หน้าตักกว้าง ๒ ศอก ๑๓ นิ้ว สูง ๓ ศอก ๗ นิ้ว) เดิมองค์พระพอกปูนลงรักปิดทองอารักขาภัยไว้ ตัวองค์พระสำริดดังปรากฏในปัจจุบันนั้นสันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี สกุลช่างสุโขทัยยุคกลาง มีอายุประมาณ ๗๐๐ ปี

หลวงพ่อสุโขทัยสัมฤทธิ์ เป็นพระพุทธรูปโบราณศักดิ์สิทธิ์สำคัญที่เป็นที่เคารพนับถือ ๑ ใน ๒ องค์ ของตำบลคุ้งตะเภา และเป็นพระพุทธรูปโบราณ ศิลปะสุโขทัยองค์สำคัญ ๑ ใน ๓ องค์ ของจังหวัดอุตรดิตถ์ ที่นำมาจากวัดราชบูรณะราชวรวิหารในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒

พระพุทธรูปองค์นี้มีประวัติความเป็นมาเกี่ยวข้องกับช่วงเวลาการเปลี่ยนผ่านและเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์สำคัญ ๆ ของประเทศไทยหลายครั้ง และมีความเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ไทยหลายพระองค์ เนื่องจากหลวงพ่อสุโขทัยสัมฤทธิ์เป็นพระพุทธรูปโบราณที่มีประวัติความเป็นมาผ่านช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ชาติไทยกว่า ๗๐๐ ปี ล่วงเลยแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีจนถึงปัจจุบัน

หลวงพ่อสุโขทัยสัมฤทธิ์ ประดิษฐานอยู่ที่ วัดคุ้งตะเภา หมู่บ้านคุ้งตะเภา ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยปกติทางวัดไม่เปิดเผยสถานที่ประดิษฐาน และไม่ให้บุคคลทั่วไปเข้าสักการะได้ถึงองค์พระ เนื่องด้วยปัญหาด้านการรักษาความปลอดภัย

ปัจจุบัน วัดคุ้งตะเภา จะนำหลวงพ่อสุโขทัยสัมฤทธิ์ออกให้ประชาชนทั่วไปนมัสการได้ถึงตัวองค์พระเพียงในช่วงเทศกาลสงกรานต์เท่านั้น

ประวัติ

แรกสร้างในสมัยสุโขทัย

หลวงพ่อสุโขทัยสัมฤทธิ์ เป็นพระพุทธรูปโบราณศักดิ์สิทธิ์ สร้างในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี เมื่อกว่า ๗๐๐ ปีก่อน สันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธรูปสำคัญของพระวิหารในวัดโบราณแห่งใดแห่งหนึ่งในสมัยสุโขทัย

ต่อมาเมื่อมีข้าศึกประชิดเมือง ชาวบ้านเกรงว่าหลวงพ่อสุโขทัยจะได้รับอันตราย จึงได้พอกปูนองค์หลวงพ่อไว้เพื่อกันภัยจากข้าศึก ต่อมาเมื่อเมืองสุโขทัยพ่ายแก่ข้าศึก และเสื่อมความสำคัญในฐานะเมืองหลวงแห่งอาณาจักรลง ทำให้วัดที่ประดิษฐานองค์หลวงพ่อต้องมีอันร้างพระสงฆ์และ ผู้คน พร้อม ๆ กับ หลวงพ่อสุโขทัยที่ข้าศึกไม่สนใจ เพราะเป็นพระพุทธรูปปูน (ที่ถูกหุ้มไว้) ไม่ใช่พระเนื้อโลหะอย่างที่ข้าศึกต้องการ องค์หลวงพ่อจึงถูกทิ้งร้างอย่างปลอดภัยอยู่กลางป่ามาตลอดช่วงสมัยอยุธยา

สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

จวบจนยุคสมัยก้าวล่วงเข้าสู่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ทรงทอดพระเนตรเห็นพระพุทธรูปซึ่งอยู่ตามหัวเมืองเก่าต่าง ๆ ทั้งที่เป็นพระปูน พระโลหะ ซึ่งถูกทอดทิ้งไว้ จึงทรงมีพระราชดำริให้ชะลอพระพุทธรูป ซึ่งถูกทอดทิ้งตามวัดร้างและสถานที่ต่าง ๆ ทั่วพระราชอาณาเขต นำมารวบรวมไว้ในพระนคร เพื่อรอนำประดิษฐานไว้ในที่อันสมควรแก่การสักการบูชา โดยมีการอัญเชิญพระพุทธรูปจากหัวเมืองต่าง ๆ มายังกรุงเทพมหานคร มากกว่า ๑,๒๔๘ องค์ ซึ่งพระพุทธรูปปูนปั้นหุ้มหลวงพ่อสุโขทัยก็ได้ถูกอัญเชิญลงมาในคราวเดียวกัน นี้ ในการนั้น ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ โปรดฯ ให้ประดิษฐานพระพุทธรูปจากหัวเมืองต่าง ๆ ที่ได้รวบรวมมาประดิษฐานไว้ ณ พระระเบียงวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร ที่ทรงบูรณปฏิสังขรณ์เสร็จสิ้นในปี พ.ศ. ๒๓๔๔

จุลศักราช ๑๘๕๕ เอกศก (พ.ศ. ๒๓๓๖) พระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ พระพี่นางเธอในรัชกาลที่ ๑ ทรงทำการบูรณปฏิสังขรณ์วัดเลียบเสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระราชทานนามวัดว่า "วัดราชบุรณราชวรวิหาร" ตามนามวัดราชบุรณะซึ่งเป็นวัดคู่เมืองราชธานีตลอดมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย และได้มีพระบรมราชูปถัมภ์ในการบูรณปฏิสังขรณ์ด้วย

ต่อมา ในรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ถอนสีมาวัดเลียบเก่า แล้วสร้างพระอุโบสถและ พระวิหารใหม่ พร้อมกับทำการสร้างพระระเบียงล้อมรอบพระอุโบสถ ภายในนำพระพุทธรูปปูนเก่า ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำมาจากหัวเมืองรวม ๑๖๒ องค์ มาประดิษฐานไว้ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือองค์หลวงพ่อสุโขทัยด้วย

รอดจากระเบิดสัมพันธมิตร (สงครามโลกครั้งที่ ๒)

เวลาล่วงเลยมากว่า ๗ รัชสมัย จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๘๘ ในระหว่างปลายสงครามโลกครั้งที่ ๒ วัดราชบุรณะถูกระเบิดจากเครื่องบินทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตร ทำให้พระอุโบสถ สังฆาราม พระวิหาร และ กุฏิเสนาสนะ เสียหายมาก คณะสังฆมนตรี และคณะรัฐมนตรีในขณะนั้นมีมติว่า สมควรยุบเลิกวัดเสีย จึงนำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ และได้รับพระบรมราชานุญาตให้ทำการยุบเลิกวัดได้ ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ ๓๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๘

เมื่อวัดราชบูรณะถูกยุบเลิก กรมการศาสนาได้อนุญาตให้วัดต่าง ๆ ในหัวเมือง อัญเชิญพระพุทธรูปปูนปั้นที่พระระเบียงที่รอดจากการถูกทำลายอย่างปาฏิหาริย์ ไปประดิษฐานยังวัดของตนได้ตามแต่ประสงค์ ทำให้หลังจากสงครามสงบลงในปีเดียวกัน พระพุทธรูปเหล่านั้นจึงกระจายไปอยู่ตามวัดต่าง ๆ ทั่วภูมิภาคของประเทศ

อัญเชิญขึ้นมายังอุตรดิตถ์

วัดคุ้งตะเภา ซึ่งในสมัยนั้นกำลังทำการก่อสร้างอุโบสถ และยังไม่มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่สำหรับเป็นพระประธานเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ จึงได้ลงไปขอรับพระพุทธรูปเก่าจากวัดเลียบมาองค์หนึ่ง โดยได้ชะลอเคลื่อนย้ายพระพุทธรูปโบราณองค์นั้นขึ้นมายังจังหวัดอุตรดิตถ์โดย ทางรถไฟมาลงที่สถานีท่าเสา และข้ามฝั่งแม่น้ำน่านมายังวัดคุ้งตะเภาโดยทางเรือ ในช่วงปลายปี พ.ศ. ๒๔๘๘

โดยในครั้งนั้นวัดในจังหวัดอุตรดิตถ์ที่ลงไปขอพระพุทธรูปจากวัดเลียบฯ มีด้วยกันสามวัดคือ วัดคุ้งตะเภา (นำ หลวงพ่อสุโขทัยสัมฤทธิ์ กลับมา) , วัดธรรมาธิปไตย (นำ หลวงพ่อเชียงแสน กลับมา) , วัดดงสระแก้ว (นำ หลวงพ่ออู่ทอง (ทองคำ) กลับมา) โดยตอนนำพระพุทธรูปกลับมานั้น ได้มาเป็นแค่พระปูนปั้นธรรมดา (วัดคุ้งตะเภาได้พระปูนลงรักดำสนิทมา) แต่ต่อมาพระปูนทั้งหมดก็ได้กะเทาะแตกออกเป็นพระโลหะสำริดและทองคำดังใน ปัจจุบัน

หลังจากที่วัดคุ้งตะเภาได้นำ หลวงพ่อสุโขทัยสัมฤทธิ์ กลับมาสู่แดนมาตุภูมิ (แถบนี้เคยเป็นหัวเมืองของกรุงสุโขทัยในอดีต) ก็มิได้มีการเปิดให้สักการบูชาและเปิดเผยองค์หลวงพ่ออย่างเป็นทางการ เนื่องจากปัญหาด้านการรักษาความปลอดภัย เพราะองค์หลวงพ่อเป็นโบราณวัตถุที่ประเมินค่ามิได้ และเป็นที่ปรารถนาสำหรับพ่อค้าวัตถุโบราณ ทำให้ทางวัดต้องเก็บงำปูชนียวัตถุโบราณสำคัญยิ่งของชาติชิ้นนี้ไว้ในสถานที่ ลับต่าง ๆ ภายในวัดมานานกว่า ๖๐ ปี

จนในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ วัดคุ้งตะเภาจึงได้ทำการเปิดเผยองค์หลวงพ่อสุโขทัยสัมฤทธิ์ และเปิดโอกาสให้ทุกคนได้สักการะปิดทองสรงน้ำได้ถึงองค์พระ โดยจะนำหลวงพ่อมาประดิษฐานให้ประชาชนทำการสักการบูชาได้เฉพาะในช่วงเทศกาล สงกรานต์เท่านั้น

 

 

อุโบสถวัดคุ้งตะเภา(หลังการบูรณะครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2536)

     วัดคุ้งตะเภา เป็นวัดโบราณในเขตการปกครองของคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ที่ หมู่บ้านคุ้งตะเภา ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ ใกล้กับจุดตัดสี่แยกคุ้งตะเภา บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลขที่ ๑๑ (ถนนสายเอเชีย)

     วัดคุ้งตะเภาเป็นวัดโบราณ ไม่ปรากฏเอกสารหลักฐานชัดเจนว่าผู้ใดสร้าง และสร้างแต่เมื่อใด แต่สามารถสันนิษฐานได้ว่าวัดแห่งนี้เริ่มมีพระภิกษุสงฆ์จำพรรษามาตั้งแต่สมัยอยุธยา เพราะปรากฏหลักฐานในเอกสารการอนุญาตให้ตั้งวัดของทางการ (ซึ่งเป็นเอกสารชั้นเก่าสุด) ในสมัยกรุงธนบุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๓ หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาได้เพียง ๓ ปี โดยนามวัดเดิมมีชื่อว่า "คุ้งสำเภา" ตามนามหมู่บ้าน แต่ต่อมาถูกเรียกเพี้ยนเป็น "คุ้งตะเภา" ซึ่งปรากฏหลักฐานว่ามีการเรียกเพี้ยนเช่นนี้มาแล้วตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์

     วัดแห่งนี้เป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดในเขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลคุ้งตะเภา โดย เป็นวัดที่เป็นที่ประดิษฐานของสองพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นที่เคารพศรัทธายิ่งของชาวตำบลคุ้งตะเภา ซึ่งพระพุทธรูปทั้งสององค์นั้นจัดได้ว่าเป็น ๒ ใน ๙ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สำคัญแห่งเมืองอุตรดิตถ์ คือ หลวงพ่อสุวรรณเภตรา และ หลวงพ่อสุโขทัยสัมฤทธิ์

<span style=

คำสำคัญ (Tags): #ก
หมายเลขบันทึก: 258295เขียนเมื่อ 30 เมษายน 2009 01:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 02:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท