หลักสูตรการส่งเสริมอาชีพเด่นของวิทยาลัยชุมชนนราธิวาส


การส่งเสริมอาชีพ

หลักสูตรการเรียนรู้ในการพัฒนาอาชีพ ทักษะในการทำงาน และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการจัดในรูปแบบหลักสูตรระยะสั้นที่ให้ความรู้ ทักษะ และเจตคติที่ดีต่อการทำงาน ที่ผ่านมากระบวนการจัดหลักสูตรระยะสั้นอาศัยการศึกษาความต้องการชุมชน และเอาปัญหาสังคมและเศรษฐกิจของพื้นที่เป็นตัวตั้งในการพัฒนาหลักสูตรร่วมกับชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหา ที่ผ่านมามีการทำหลักสูตรเด่นที่พอสรุปกระบวนการจัดหลักสูตรได้พอสังเขป ดังนี้

หลักสูตรการพัฒนาผลผลิตและการจัดการลองกองนราธิวาส ผลผลิตลองกองเป็นไม้ผลที่มีชื่อเสียงคู่กับจังหวัดนราธิวาสมาอย่างยาวนาน  จนเหมือนกับเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของจังหวัดนราธิวาส  และเป็นไม้ผลที่เคยสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำแก่เกษตรกรในฤดูกาลที่ผลผลิตออกสู่ตลาด เนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สภาวการณ์แข่งขันในตลาดผลไม้ ที่ในหลาย ๆ พื้นที่มีผลผลิตที่มีคุณภาพดีขึ้นปริมาณการผลิตมากขึ้น เช่น เงาะ มังคุดเป็นต้น  ได้ส่งผลกระทบต่อราคาผลผลิตลองกองในบ้านเรา  และนับวันสภาวะเช่นนี้จะยิ่งรุนแรงขึ้น  โดยเฉพาะในปี ๒๕๕๐ มีลองกองออกสู่ตลาดถึง ๓๐,๐๐๐ ตัน และมีระยะเวลาหลังการเก็บเกี่ยวไปถึงผู้บริโภคเพียง ๓-๕ วันเท่านั้น ไม่สามารถคงสภาพของลองกองที่มีคุณภาพได้นาน ดังนั้นเกษตรกรชาวสวนลองกองจำเป็นต้องปรับตัวโดยการสนับสนุนของหน่วยราชการโดยเฉพาะทางด้านการเกษตร ต่อมาในวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๑ วิทยาลัยชุมชนนราธิวาสได้เชิญผู้ว่าราชการจังหวัด คณะกรรมการแก้ไขปัญหาผลไม้จังหวัดนราธิวาส นายอำเภอและตัวแทนชุมชนด้านการเกษตรในอำเภอตันหยงมัส มาร่วมสานเสวนาการแก้ไขปัญหาระยะยาวเพื่อการสร้างหลักสูตรในการพัฒนาผลผลิตและการจัดการลองกองนราธิวาสอย่างยั่งยืน โดยร่วมวิเคราะห์ปัญหาที่ผ่านมาเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในการปรับตัว   ตลอดจนถึงการปรับปรุงคุณภาพของผลผลิตให้สามารถรักษาตลาดลองกองนราธิวาสไว้ให้ได้ และในระหว่างการพัฒนาหลักสูตรได้มีการร่วมทำงานกับเกษตรกรผู้ปลูกลองกองจำนวน ๔๐ คนที่อยู่ในอำเภอตันหยงมัสมาร่วมกระบวนการร่วมเรียนรู้ พัฒนาและปรับปรุงหลักสูตร อาทิ ศึกษาเรื่องงานวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาหลังการเก็บเกี่ยวลองกอง การพัฒนากระบวนการวิเคราะห์และปรับปรุงดิน ความรู้ด้านการส่งเสริมวิชาการเกษตร จนสามารถนำความรู้ไปพัฒนาลองกองของเกษตรกรเองให้ยืนระยะหลังการเก็บเกี่ยวได้ถึงประมาณ ๑๒ วัน ทำให้โอกาสในการรักษาลองกองหลังการเก็บเกี่ยวในปีต่อๆ ไปมีโอกาสในการขายลองกองคุณภาพให้ออกสู่ตลาดให้กับเกษตรกรผู้ปลูกสวนลองกองได้มากขึ้น

หลักสูตรการลับใบเลื่อยสายพาน ในปี ๒๕๔๗ วิทยาลัยชุมชนนราธิวาสได้ร่วมกับโรงงานนราพารา ในพื้นที่รือเสาะ ร่วมพัฒนาหลักสูตร เนื่องจากเป็นโรงงานที่มีการแปรรูปไม้ยางพาราที่ใหญ่ท่าสุดในนราธิวาส และมีการจ้างแรงงานในพื้นที่กว่า ๖๐๐ คน แต่ขาดผู้ที่มีความชำนาญการบางตำแหน่งานในขณะที่ตำแหน่งนั้นๆ มีรายได้กว่าการทำงานโดยทั่วไป การร่วมกันวิเคราะห์ของวิทยาลัยชุมชนร่วมกับผู้บริหารโรงงงานพบว่ามีการขาดผู้ลับใบเลื่อยสายพานในสายการผลิตมากที่สุด และในโรงงานเองมีผู้เชี่ยวชาญที่จะมาเป็นผู้สอนได้ และโรงงานสามารถจ้างผู้ที่ผ่านหลักสูตรประมาณ ๑๕ ตำแหน่งงานโดยให้รายได้กว่า ๑๐,๐๐๐ บาท จึงพบว่าการทำหลักสูตรของวิทยาลัยชุมชนในครั้งนั้นสามารถพัฒนาแรงงานทั่วไปในโรงงานที่มีราบได้ประมาณ ๖,๐๐๐ บาทต่อเดือนและประชาชนผู้สนใจในพื้นที่อำเภอรือเสาะผ่านหลักสูตรและเป็นแรงงานลับใบเลื่อยสายพานในโรงงานได้ทันที และผู้ที่ผ่านหลักสูตรที่เหลือจากโรงงานนราพาราสามารถไปสมัครงานในโรงงานแปรรูปไม้ยางอื่นในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านได้ทันที

หลักสูตรการเพาะเห็ดจากทะลายปาล์ม ในปี ๒๕๕๑ วิทยาลัยชุมชนนราธิวาสได้พบว่าจังหวัดนราธิวาสมีการส่งเสริมการเพาะปลูกปาล์มเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และมีโครงการสร้างโรงหีบปาล์มขึ้นในนิคมอุตสาหกรรมบาเจาะ อำเภอบาเจาะ และมีการจัดการในรูปแบบสหกรณ์ที่ดีอยู่แล้ว จึงร่วมทำเวทีเสวนากับกรรมการและสมาชิกนิคมสหกร์บาเจาะ เพื่อนำความรู้ที่ใช้สามารรถส่งเสริมอาชีพเสริมให้แก่ผู้เพาะปลูกปาล์มในนิคมสหกรณ์ให้มีความมั่นคงด้านรายได้และอาชีพเพิ่มขึ้น เนื่องจากการเพาะปลูกปาล์มใช้เวลาในการทำสวนปาล์มไม่มากนักในขณะที่พื้นที่ปลูกและต้นปาล์มยังสามารถนำมาทำประโยชน์อีกมาก จึงมีการร่วมสรุปว่าการส่งเสริมที่เหมาะสมต่อวิถีชีวิตและสภาพเศรษฐกิจในยุคนั้นคือการนำเศษทะลายปาล์มที่เหลือมาส่งเสริมให้เป็นอาหารสัตว์และเพาะปลูกเห็ดได้ จึงได้ให้กรรมการนิคมสหกรณ์ที่มีความรู้และเชี่ยวชาญในการเพาะปลูกปาล์มอยู่ในนิคมสหกรณ์นั้นอยู่แล้วมาร่วมจัดหลักสูตรกับวิทยาลัยชุมชนนราธิวาสมาช่วยสอนความรู้และทักษะ พร้อมส่งเสริมการทำอาชีพเสริมที่ดีให้กับกลุ่มสมาชิกผู้สนใจจนมีรายได้และส่งเสริมการทำอาชีพเสริมขยายตัวไปอย่างต่อเนื่อง  

หมายเลขบันทึก: 257466เขียนเมื่อ 26 เมษายน 2009 11:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท