5. แผนการรักษาของคุณหมอ


แผนรับมือกับมะเร็งเต้านมระยะ3

 

หลังจากคุณหมอที่โรงพยาบาลให้ไปพบเพื่อแจ้งผลชิ้นเนื้อว่าโรคอยู่ในระยะ3 คือสามรถลุกลามไปยังส่วนอื่นๆได้ทางคุณหมอก็ได้วางแผนการรักษาทันที โดยจะทำการรักษาโดยการใ้ห้เคมีบำบัด 8 ครั้ง และจะทำการผ่าตัดเต้านม โดยจากการศึกษาด้วยตนเองเราก็ทราบมาว่าการผ่าตัดจะมีทั้งหมด 7 แบบคือ

 

วิธีการผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านม

1.       การตัดเต้านมแบบถอนราก (Halsted Radical Mastectomy) คือ การผ่าตัดเอาเต้านมออกทั้งหมด รวมทั้งผิวหนังส่วนที่อยู่เหนือก้อนมะเร็งรวมทั้งหัวนม และฐานหัวนม, กล้ามเนื้อหน้าอกทั้ง 2 มัด, ต่อม และทางเดินน้ำเหลืองทีรักแร้ วิธีนี้เป็นวิธีที่นิยมทำกันมากที่สุดตั้งแต่ ค.. 1894 แต่ต่อๆ มาก็พบว่ามีข้อเสีย คือ หน้าอกจะแฟบ และยุบลงไปมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณใต้กระดูกไหปลาร้า นอกจากนั้นก็จะพบว่าทำให้เกิดแขนบวม และข้อไหล่ติดหลังผ่าตัดได้มาก ในปัจจุบันจึงไม่ค่อยเป็นที่นิยมมากนัก

2.       การตัดเต้านมแบบถอนรากร่วมกับการเลาะต่อมน้ำเหลือง ที่อยู่ใต้กระดูกซี่โครง (Extended Radical Mastectomy) ทำคล้ายๆ กับวิธีแรกแต่ตัดกระดูกซี่โครงอ่อนซี่ที่ 2-4 ส่วนที่อยู่ติดกับกระดูกสันอกออก เพื่อเลาะเอาต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใต้นั้นออกมาด้วย มักจะทำเฉพาะในรายที่ก้อนมะเร็งอยู่ด้านครึ่งในของเต้านม คือ ระหว่างหัวนมกับกระดูกสันอก วิธีนี้อาจทำให้เกิดผลแทรกซ้อนหลังผ่าตัดได้มากกว่าวิธีแรก ผลของการรักษาก็ไม่ดีกว่า และเราสามารถที่จะทำลายมะเร็งที่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองกลุ่มนี้ได้ด้วยการฉายแสง ดังนั้นในปัจจุบันใช้วิธีนี้น้อยมาก

3.       การตัดเต้านมแบบถอนรากชนิดปรับปรุง (Modified Radical Mastectomy) คือ การผ่าตัดคล้ายๆ กับวิธีที่หนึ่ง แต่เหลือกล้ามเนื้อหน้าอกไว้ วิธีนี้ทำยาก และใช้เวลามากกว่าการทำผ่าตัดแบบถอนราก แต่วิธีนี้จะทำให้รูปร่างของหน้าอกคงรูปร่างดีกว่าวิธีแรกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณใต้กระดูกไหปลาร้าจะไม่แฟบลง ทำให้ผู้ป่วยสามารถสวมเสื้อคอต่ำได้มากกว่าในผู้ป่วยที่ทำผ่าตัดแบบถอนราก และมีโอกาสเกิดแขนบวม และข้อไหล่ติดน้อยกว่าวิธีแรกด้วย ส่วนผลของการรักษานั้นก็ได้ผลดีเท่าๆ กับการทำผ่าตัดแบบถอนราก ดังนั้นในปัจจุบันวิธีนี้จึงเป็นวิธีที่ศัลยแพทย์นิยมทำกันมากที่สุด ที่โรงพยาบาลศิริราชส่วนใหญ่เราก็ทำวิธีนี้

4.       การตัดเต้านมออกทั้งหมด (Total or Simple Mastectomy) เป็นการตัดเต้านมออกทั้งหมด รวมทั้งผิวหนังที่อยู่เหนือก้อน และหัวนมแต่ไม่ได้เลาะต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ออกมาด้วย ส่วนมากมักทำในรายที่คลำต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ไม่ได้ การผ่าตัดวิธีนี้เกือบจะไม่ทำให้เกิดแขนบวมเลย เพราะว่าไม่ได้ไปยุ่งกับทางเดินน้ำเหลืองเลย แต่ก็มีข้อเสีย คือ ทำให้ไม่ทราบว่ามะเร็งได้แพร่กระจายไปยังต่อน้ำเหลืองที่รักแร้แล้วหรือยัง เพราะจากสถิติพบว่าในผู้ป่วยที่คลำต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ไม่ได้นั้นประมาณ 30% จะมีมะเร็งแพร่กระจายไปยังต่อน้ำเหลืองที่รักแร้แล้ว

5.       การตัดเต้านมออกเพียงบางส่วน (Partial or Segmental Mastectomy) คือ การตัดก้อนมะเร็ง และเนื้อของเต้านมที่อยู่รอบๆ ก้อน โดยตัดห่างจากขอบของก้อนประมาณ 2-3 ซม. โดยจะยังคงเหลือหัวนม, ฐานหัวนม และส่วนใหญ่ของเนื้อเต้านม. ส่วนมากมักจะทำในรายที่ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็ก และเต้านมต้องมีขนาดใหญ่พอสมควร มิฉะนั้นหลังผ่าตัดรูปร่างของเต้านมอาจจะไม่น่าดู วิธีนี้ถ้าเลือกผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสมก็จะได้ผลการรักษาค่อนข้างดี และรูปร่างของเต้านมไม่เสียไปมากนัก แต่ก็มีศัลยแพทย์เป็นจำนวนมากที่ยังไม่เห็นด้วยกับวิธีนี้ โดยที่เชื่อว่ามะเร็งเต้านมอาจจะเกิดได้ในหลายๆ ตำแหน่ง ในขณะเดียวกัน ดังนั้นถ้าตัดเอาเนื้อของเต้านมออกไม่หมด ก็จะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มะเร็งเกิดเป็นซ้ำขึ้นมาได้อีก ซึ่งถ้าจะให้ปลอดภัยแน่นอน ก็ควรจะได้รับการรักษาด้วยการฉายแสงร่วมด้วย

6.       การตัดเอาเฉพาะก้อนมะเร็งออก (Lumpectomy) คือ การตัดเอาเฉพาะก้อนที่เป็นมะเร็งออก เป็นวิธีที่ทำกันน้อยมาก เพราะศัลยแพทย์ส่วนใหญ่เชื่อกันว่าจะต้องมีเซลมะเร็งหลงเหลืออยู่ ถ้าผู้ป่วยไม่ยอมให้ตัดเต้านม ก็ควรจะต้องรักษาด้วยการฉายแสง ไม่ใช่ตัดแต่เฉพาะก้อนออกอย่างเดียว ซึ่งถ้าคิดในแง่ของการรักษามะเร็งแล้ว ศัลยแพทย์ส่วนใหญ่ถือว่าเป็นการรักษาที่ไม่เพียงพอ 

7.       การเลาะเอาเฉพาะเนื้อของเต้านมออก (Subcutaneous Mastectomy) คือ การผ่าตัดเลาะเอาเฉพาะเนื้อของเต้านมออก โดยไม่ตัดผิวหนัง หรือหัวนมออกด้วย วิธีนี้ไม่สามารถที่จะตัดเอาเนื้อของเต้านมออกมาได้ทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่อยู่ใตัหัวนม ดังนั้น จึงไม่เป็นที่นิยมสำหรับผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านม นอกจากในรายที่เลือกเป็นพิเศษ และควรจะลงแนวแผลผ่าตัดค่อนข้างยาวทางด้านข้างของเต้านม เพื่อที่จะได้เลาะเอาต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ที่รักแร้ออกมาด้วย

ซึ่งทั้ง 7 วิธีนี้ก็มีข้อดี และข้อเสียแตกต่างกันออกไป ดังที่ได้บรรยายไว้แล้ว การพิจารณาว่าจะใช้วิธีใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับระยะของมะเร็ง, สภาพของผู้ป่วย และความชำนาญของศัลยแพทย์ผู้นั้น แต่ส่วนมากแล้วเราจะถือหลักการรักษาตามลำดับความสำคัญ คือ พยายามรักษาชีวิตผู้ป่วย, พยายามลดโอกาสการเกิดเป็นซ้ำลงให้เหลือน้อยที่สุด และพยายามให้มีความพิการน้อยที่สุดด้วย ซึ่งในปัจจุบันวิธีที่นิยมทำกันมากที่สุด และเชื่อว่าเป็นวิธีที่ให้ผลการรักษาที่ใกล้เคียงกับหลักการทั้ง 3 ประการมากที่สุดก็คือ วิธีการตัดเต้านมแบบถอนรากชนิดปรับปรุง ซึ่งน้าสาวใช้วิธีที่ 1 คือผ่าเอาก้อนเนื้อร้ายและเต้านมออกและเลาะต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ออกด้วย  

หมายเลขบันทึก: 256612เขียนเมื่อ 21 เมษายน 2009 16:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท