การประเมินโครงการพัฒนาการสุขาภิบาลอาหารในโรงเรียน


การประเมินโครงการ

ชื่อเรื่อง                            การประเมินโครงการพัฒนาการสุขาภิบาลอาหารในโรงเรียน

                                   ของโรงเรียนวัดอุดมรังสี  สำนักงานเขตหนองแขม  กรุงเทพมหานคร

ผู้ประเมินโครงการ            นางสาวพัชรี   ศรีจันทร์งาม

ระยะเวลาการประเมินโครงการ      23  กุมภาพันธ์  2552    20  มีนาคม  2552

                                                               

บทสรุปสำหรับผู้บริหาร   

ความเป็นมาและความสำคัญ

          โครงการพัฒนาการสุขาภิบาลอาหารในโรงเรียน ของโรงเรียนวัดอุดมรังสี  สำนักงานเขตหนองแขม  กรุงเทพมหานคร   เป็นโครงการตามแนวพระราชดำริ  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  และนโยบายสำคัญของกรุงเทพมหานคร   โดยโรงเรียนวัดอุดมรังสี  มีการดำเนินการพัฒนาสุขาภิบาลอาหารในโรงเรียนอย่างต่อเนื่องมา  ตั้งแต่ปีการศึกษา  2548 จนถึงปัจจุบัน  ซึ่งผลของการดำเนินงานส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพอนามัยของนักเรียน  ครูและบุคลากร   ช่วยทำให้ทุกคนได้รับอาหารที่มีคุณค่า สะอาด  ปลอดภัย เป็นการเพิ่มความสมบูรณ์  แข็งแรงของร่างกาย โดยมีเป้าหมายสูงสุด คือ นักเรียน  ทำให้นักเรียนเกิดการพัฒนาทั้งทางร่างกาย สมองและสติปัญญาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

วัตถุประสงค์ของการประเมินโครงการ

1.             เพื่อประเมินสภาวะแวดล้อมของโครงการพัฒนาการสุขาภิบาลอาหารในโรงเรียน

2.             เพื่อประเมินปัจจัยการดำเนินการโครงการพัฒนาการสุขาภิบาลอาหารในโรงเรียน

3.             เพื่อประเมินกระบวนการดำเนินการโครงการพัฒนาการสุขาภิบาลอาหารในโรงเรียน

4.             เพื่อประเมินผลผลิตของโครงการพัฒนาการสุขาภิบาลอาหารในโรงเรียน

วิธีดำเนินการประเมินโครงการ

                การประเมินโครงการพัฒนาการสุขาภิบาลอาหารในโรงเรียน ของโรงเรียนวัดอุดมรังสี  สำนักงาน เขตหนองแขม  กรุงเทพมหานคร ประชากรที่ใช้ในการประเมินครั้งนี้ ได้แก่  นักเรียน จำนวน 2,503  คน ครูและบุคลากร จำนวน 115 คน  ผู้ปกครองและคณะกรรมการเครือข่ายผู้ปกครอง จำนวน 30 คน กลุ่มตัวอย่าง  ได้แก่ นักเรียน จำนวน 335 คน  ครูและบุคลากร จำนวน

86  คน  ผู้ปกครองและคณะกรรมการเครือข่ายผู้ปกครอง จำนวน 15  คน  ทำการประเมินโครงการพัฒนาการสุขาภิบาลอาหารในโรงเรียน  ในปีการศึกษา 2551

            เครื่องมือใช้รูปแบบประเมินโครงการ CIPP   MODEL ของสตัฟเฟลบีม(Stufflebeam,1973)  จำนวน 4  ด้าน คือ ด้านสภาวะแวดล้อม (Context)  ด้านปัจจัย (Input ) ด้านกระบวนการ (Process) ด้านผลผลิต (Product)  ดังนี้

                 1) แบบประเมินโครงการพัฒนาการสุขาภิบาลอาหารในโรงเรียน ประเมินนักเรียน  ครูและบุคลากร ใช้แบบสอบถาม   จำนวน 35  ข้อ   

                 2)  แบบสัมภาษณ์ผู้ปกครองและคณะกรรมการเครือข่ายผู้ปกครอง  ตามกรอบการประเมิน  CIPP  MODEL เป็นแบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง มี   4   ด้าน จำนวน  20  ข้อ           

                    การวิเคราะห์ผลการประเมินโครงการ   แบบสอบถาม ใช้ ค่า , S.D. และเปรียบเทียบกับเกณฑ์เฉลี่ย   ส่วนแบบสัมภาษณ์ผู้ปกครองและเครือข่ายผู้ปกครอง ใช้ค่าร้อยละและการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา ( Content  Analysis )

ผลการประเมินโครงการ

                    ผลการประเมินโครงการพัฒนาการสุขาภิบาลอาหารในโรงเรียน ของโรงเรียนวัดอุดมรังสี  สำนักงานเขตหนองแขม  หลังการดำเนินงาน โดยรวมเฉลี่ยทุกด้าน  อยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ย 4.28  และผลการประเมินอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน มีค่า S.D. เท่ากับ 0.59   สำหรับผลการประเมินรายด้าน  พบว่า ด้านกระบวนการ  มีผลการประเมินสูงสุด  อยู่ในระดับ มาก มีค่าเฉลี่ย  4.31  มีค่า S.D. เท่ากับ  0.52  รองลงมา คือ  ด้านผลผลิต  อยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ย 4.30  มีค่า S.D. เท่ากับ  0.60 และด้านปัจจัย  อยู่ในระดับ มาก มีค่าเฉลี่ย 4.28  มีค่า S.D. เท่ากับ 0.60  ตามลำดับ  ด้านสภาวะแวดล้อม  มีผลการประเมินต่ำสุด  อยู่ในระดับมาก  มีค่าเฉลี่ย 4.26  และมีค่า S.D. เท่ากับ 0.68  สรุปผลได้ ดังนี้  

                    1.  การประเมินด้านสภาวะแวดล้อม (context) พบว่า หลักการ วัตถุประสงค์  เป้าหมายของโครงการมีความเหมาะสมสอดคล้องกัน  ระยะเวลาดำเนินงานเหมาะสมสามารถปฏิบัติจริงได้   มีการวางแผน  การประสานงานระหว่างบุคลากรทำให้เกิดความร่วมมือในการดำเนินโครงการ  มีการจัดระบบสุขาภิบาลอาหารเหมาะสมสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการ และช่วยเสริมสร้างลักษณะนิสัยที่ดีแก่นักเรียน ครูและบุคลากร  อยู่ในระดับมาก               

                   2.   การประเมินด้านปัจจัย (Input) พบว่า  บุคลากรที่ร่วมดำเนินโครงการเหมาะสมและเพียงพอ  ระดับมากที่สุด  คณะกรรมการ ประกอบด้วย  ผู้บริหาร  ครู และนักเรียน วัสดุอุปกรณ์มีเพียงพอ  อาคารสถานที่ประกอบอาหารมีความเหมาะสมเพียงพอ  เครื่องมือ เครื่องใช้ในการดำเนินโครงการมีเพียงพอ   และงบประมาณสนับสนุนโครงการ อยู่ในระดับมาก

                        3.  การประเมินด้านกระบวนการ (Process) พบว่า มีการศึกษาสภาพปัญหา ความต้องการในการส่งเสริมภาวะโภชนาการและสุขภาพนักเรียน  นำไปวางแผน  กำหนดกิจกรรมการดำเนินงานตามโครงการ  มีการจัดอาหารกลางวันให้นักเรียนบริโภคโดยไม่เก็บเงิน  มีการกำหนดรายการอาหารครบ 5  หมู่ในแต่ละสัปดาห์ การจัดบริการอาหารเช้าที่มีคุณภาพ  การจัดบริการน้ำดื่มสะอาด  จัดอาหารเสริม(นม)เพื่อส่งเสริมภาวะโภชนาการนักเรียน  ภาชนะอุปกรณ์สัมผัสอาหารเพียงพอกับนักเรียนและผู้ประกอบอาหาร  มีนักเรียนแกนนำ อย.น้อยตรวจสารปนเปื้อนอย่างสม่ำเสมอ  มีการทำความสะอาดสถานที่ประกอบอาหาร  บ่อดักไขมัน  ตู้แช่  ชั้นวางของตามตารางทำความสะอาด   มีการนิเทศติดตามกำกับการดำเนินการตามขั้นตอนทุกระยะและนำผลการประเมินมาพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง

                         4.  การประเมินด้านผลผลิต (Product) พบว่า ผลการดำเนินงานตามโครงการ มีการบูรณาการการสอนเรื่องอาหารและโภชนาการในการจัดการเรียนการสอน  มีกิจกรรมเชิงปฏิบัติการสนับสนุนงานอาหารและโภชนาการ  มีการนำสื่อมาเผยแพร่ความรู้ด้านอาหารและโภชนาการอย่างต่อเนื่อง  นักเรียน ครูและบุคลากรมีส่วนร่วมจัดบริการและจัดสุขาภิบาลในโรงเรียน นักเรียน ครูและบุคลากรบริโภคอาหารที่สะอาดปลอดจากสารปนเปื้อนและสารพิษ  มีการตรวจสุขภาพ  ชั่งน้ำหนัก  วัดส่วนสูง นำไปประเมินภาวะโภชนาการและนำผลมาแก้ไขภาวะโภชนาการของนักเรียน   ผลการดำเนินโครงการช่วยฝึกลักษณะนิสัยที่ดีในการบริโภคแก่นักเรียน  ครูและบุคลากรให้สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน อยู่ในระดับมาก   ด้านคุณภาพผู้เรียนพบว่า  โครงการพัฒนาการสุขาภิบาลอาหารในโรงเรียน  ช่วยให้นักเรียน ครูและบุคลากรมีร่างกายแข็งแรง  สุขภาพอนามัยดี  นักเรียนร่าเริงแจ่มใส มีสุขภาพจิตที่ดี  มีผลการเรียนที่ดี  มีความสุขในการเรียนรู้ นักเรียนมีพัฒนาการและการเจริญเติบโตเหมาะสมตามวัย  อยู่ในระดับมาก

                     นอกจากนี้  การประเมินโครงการ  ทำให้ได้แนวทางในการพัฒนาการจัดกิจกรรมตามโครงการพัฒนาการสุขาภิบาลในโรงเรียน   ดังนี้

                    1.  กิจกรรมการบูรณาการการสอนอาหารโภชนาการและสุขาภิบาลอาหาร  จัดการเรียนการสอนในกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานพื้นฐานและบูรณาการกับการเรียนรู้กลุ่มสาระอื่น ๆ มากขึ้น    เน้นการใช้สื่อแนะนำความรู้แก่นักเรียน   การเลือกซื้อ  เลือกบริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ มีประโยชน์ต่อร่างกายมากกว่าของบริโภคของที่มีสีสันสวยงามเพียงอย่างเดียว  การติดป้ายชื่ออาหารและสารอาหารที่ได้รับในแต่ละมื้อเพื่อช่วยให้รู้จักการวิเคราะห์คุณค่าของอาหารที่บริโภค รวมทั้งส่งเสริมลักษณะนิสัยนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน

                                      2.   กิจกรรมโครงการอาหารกลางวัน   จัดการบริการอาหารที่มีคุณภาพได้มาตรฐานตามหลักโภชนาการ  ปริมาณที่เพียงพออย่างทั่วถึง  ส่งเสริมทักษะในการบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อสร้างเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้และรู้จักดูแลสุขภาพให้สมบูรณ์แข็งแรง  จัดน้ำดื่มที่สะอาด จัดอาหารเช้าที่มีคุณภาพให้แก่นักเรียน ครูและบุคลากร ผู้ปกครองและชุมชน

                    3.  กิจกรรมอาหารปลอดภัยในโรงเรียน อย.น้อย   ส่งเสริมนักเรียนเข้ามามีบทบาทในการคุ้มครองผู้บริโภค จัดให้มีนักเรียนแกนนำ อย.น้อย ร่วมจัดกิจกรรมอาหารปลอดภัยในโรงเรียน  มีการดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอ  ควรมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมให้นักเรียนนำความรู้สู่ผู้ปกครองและชุมชนให้มากยิ่งขี้น

                  4.   กิจกรรมการจัดระบบสุขาภิบาลอาหารในโรงเรียน   จัดระบบสุขาภิบาลอาหารในโรงเรียน  ตามเกณฑ์มาตรฐาน ของสำนักอนามัย   กรุงเทพมหานครกำหนด จำนวน 14  มาตรฐานซึ่งเกณฑ์มาตรฐานครอบคลุมระบบงานสุขาภิบาลได้เป็นอย่างดี  รวมทั้งยึดมาตรฐานกลาง กิจกรรม 5    และโครงการส่งเสริมสุขภาพ  ที่มีแนวทางสอดคล้องกันนำมาช่วยส่งเสริมการจัดระบบสุขาภิบาลให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น  จัดบริการน้ำดื่มสะอาดด้วยเครื่องกรองน้ำมาตรฐาน  การทำความสะอาดสถานที่ปรุงประกอบอาหาร  ตู้เย็น ชั้นวางและโรงอาหารทุกวัน บ่อดักไขมันตักไขมันอย่างสม่ำเสมอ   การทำความสะอาดภาชนะประกอบอาหาร  ภาชนะใส่อาหารผึ่งแดดให้แห้งก่อนจัดเก็บ  มีการปกปิด  เพื่อป้องกันฝุ่นละออง สัตว์และแมลงนำโรค  ผู้ประกอบอาหารควรได้รับการอบรมความรู้ด้านโภชนาการและสุขาภิบาลอาหาร

                    5.  กิจกรรมการส่งเสริมภาวะโภชนาการและสุขภาพอนามัยนักเรียน จัดกิจกรรมส่งเสริมภาวะโภชนาการและสุขภาพอนามัย  ทั้งนักเรียน  ครูและบุคลากร มีการตรวจสุขภาพนักเรียนอย่างสม่ำเสมอ   ส่งเสริมการตรวจสุขภาพประจำปีของครูและบุคลากร   ครูประจำชั้นทำการชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูงของนักเรียนทุกคนเพื่อสำรวจภาวะโภชนาการของนักเรียน  นำผลการประเมินภาวะโภชนาการมาแก้ไขโดยการจัดกิจกรรมเสริมพัฒนาการเป็นรายบุคคล  จัดอาหารเสริม (นม )ให้นักเรียนดื่มทุกวัน รวมทั้งจัดกิจกรรมการออกกำลังกายแก่นักเรียน ครูและบุคลากร  กำหนดไว้ในโครงการให้ครบถ้วน

                          โครงการพัฒนาการสุขาภิบาลอาหารในโรงเรียน  มีผลการประเมินว่า  มีสัมฤทธิ์ผลของโครงการอยู่ในระดับมาก จึงควรมีการพัฒนาด้านสภาวะแวดล้อม  ด้านปัจจัย  ด้านกระบวนการและด้านผลผลิต ของโครงการให้มีสัมฤทธิ์ผล  อยู่ในระดับมากที่สุด  และควรมีการจัดทำโครงการอย่างต่อเนื่องต่อไป

ข้อเสนอแนะสำหรับนำผลการประเมินไปใช้ มีดังนี้คือ

                    1.  ควรเสนอแนวทางเพิ่มผลการประเมินด้านอื่นๆ ที่สอดคล้องกับสภาพบริบทของแต่ละสถานศึกษา

                    2.  ควรทำการประเมินเกี่ยวกับภาวะโภชนาการของนักเรียนเป็นการศึกษารายกรณี  มีการนำวิธีการมาทดลองใช้แก้ไข  และทำการประเมินผลเป็นระยะ   เพื่อการแก้ไขภาวะโภชนาการให้ตรงและได้ผลอย่างจริงจัง  

3.       ควรนำมาตรฐานการดำเนินงานตามโครงการพัฒนาการสุขาภิบาลอาหารในโรงเรียน

ไปใช้ในสถานศึกษาอื่น ๆ  เพื่อจัดทำโครงการพัฒนาการสุขาภิบาลอาหารในโรงเรียน จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่นักเรียน  ครูและบุคลากร ผู้ปกครอง ชุมชนและสังคมอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น

หมายเลขบันทึก: 256354เขียนเมื่อ 20 เมษายน 2009 08:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 20:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

โรงเรียนวัดอุดมรังสีหน้าอยู่มากคับๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท