รอยพระพุทธบาทที่สูงที่สุดในประเทศไทย


แมกกาซีนแปลก ฉบับวันศุกร์ที่ 3 เมษายน 2552

รอยพระพุทธบาทที่สูงที่สุดในประเทศไทย

อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ หรือที่ใครๆ เรียกกันจนติดปากว่า "เขาคิชฌกูฏ" มีพื้นที่ครอบคลุมอำเภอมะขาม และกิ่งอำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี มีลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นภูเขาสูงชัน เนื่องจากการดันตัวของเปลือกโลก หินฐานเป็นหินอัคนีพวกหินแกรนิต ยุคจูแรสสิค มีอายุประมาณ 135-180 ล้านปี ทางด้านทิศตะวันออกจะมีความลาดชันมาก แนวสันเขาวางตัวไปในแนวตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ เชิงเขาด้านตะวันออกเฉียงใต้มีความลาดชันน้อย มียอดเขาพระบาทเป็นภูเขาสูงสุด สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,085 เมตร มีที่ราบอยู่ทางทิศตะวันตกเพียงเล็กน้อย บนเขาพระบาทมีหินก้อนใหญ่ลักษณะกลมเกลี้ยงกระจายอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะบริเวณรอยพระพุทธบาทมีหินก้อนใหญ่มาก สามารถมองเห็นได้จากพื้นราบนอกเขตอุทยานแห่งชาติ เทือกเขาสูงในอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของลำห้วยที่สำคัญ เช่น คลองกระทิง คลองตะเคียน คลองทุ่งเพล คลองพลวง เป็นต้น ลำน้ำเหล่านี้เป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของแม่น้ำจันทบุรี สภาพป่าในบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฎนี้ มีทั้งป่าดิบชื้น ป่าดิบเขา และป่าไม้ผลัดใบ มีสมุนไพรและกล้วยไม้ป่านานาชนิด รวมทั้งมีพันธุ์ไม้หายาก คือ ไม้กฤษณา และเนื่องจากเป็นป่าที่อยู่ในเขตเทือกเขาสูงชัน จึงมีสัตว์ป่าชุกชุม เช่น กระทิง เสือ หมี กวาง เก้ง เลียงผา และนกชนิดต่างๆ นอกจากนี้ ตามลำห้วยยังมีปลาพลวง ปลาก้าง ปลาหนวด ปลาดุกรำพัน อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจในบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ ได้แก่ น้ำตกกระทิง,น้ำตกคลองช้างเซ ,ยอดเขาพระบาท และที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเป็นพิเศษนั้นเห็นจะเป็น การนมัสการรอยพระบาทเขาคิชฌกูฏหรือพระบาทพลวงนั่นเอง

           พระบาทพลวง หรือ พระพุทธบาทพลวง ประดิษฐานอยู่บนเขาคิชฌกูฎ โดยพระบาทพลวงนี้ เป็นรอยพระพุทธบาทขนาดใหญ่ กว้าง 1 เมตร ยาว 2 เมตร อยู่บนยอดเขาสูงจากระดับน้ำทะเล 1,000 เมตร ที่จังหวัดจันทบุรี และถือว่าเป็นรอยพระพุทธบาทที่สูงที่สุดของประเทศไทย และอยู่ห่างจากตัวเมืองจันทบุรีประมาณ 40 กิโลเมตร
           ประชาชนจะนิยมไปนมัสการพระบาทหลวงเป็นจำนวนมาก เพื่อเสริมสิริมงคลให้กับตัวเอง โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลตรุษจีนถึงช่วงวันมาฆบูชาของทุกปี จะมีประชาชนขึ้นไปนมัสการรอยพระพุทธบาท ทั้งกลางวันและกลางคืน ขณะที่ทางเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของเขาคิชฌกูฏก็ได้จัดงานนมัสการพระบาทพลวงเป็นประจำทุกปีอีกด้วย
         
และในปีนี้ได้มีการจัดงานนมัสการพระบาทพลวง ปี 2552 เริ่มต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2552 จนถึงช่วงต้นเดือนเมษายน ณ บริเวณเขาคิชฌกูฎ ตำบลพลวง อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี ภายในงานมีการจัดบวงสรวงเทวดาอารักษ์ พิธีปิดทองรอยพระพุทธบาท การจัดเดินป่าขึ้นยอดเขาคิชฌกูฏ ซึ่งเป็นงานประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมานาน โดยมีความเชื่อว่าจะได้บุญสูง และเป็นการฝึกจิตใจให้มีความอดทนไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก ในอดีตจะเป็นการเดินเท้าขึ้นสู่ยอดเขาระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร แต่ในปัจจุบันมีรถบริการให้ประชาชนได้เดินทางขึ้นไปนมัสการรอยพระพุทธบาทแห่งนี้ได้สะดวกยิ่งขึ้น

บรรยากาศในช่วงเทศกาลนมัสการรอยพระพุทธบาทพลวงนั้นเรียกว่าเป็นความยิ่งใหญ่ที่เกิดจากแรงศรัทธาจริงๆ เพราะที่นี่จะเนืองแน่นไปด้วยพุทธศาสนิกชนที่มีศรัทธาที่จะเดินทางขึ้นเขาไปแสวงบุญ ซึ่งต้องเดินทางขึ้นเขาด้วยความยากลำบาก ผู้คนจำนวนมากมาจากต่างจังหวัด เดินทางกันมาด้วยรถบัสหลายคันรถ เมื่อมาถึงวัดก็ต้องจอดเรียงเป็นแถวยาวแน่นไปหมด จากนั้นเริ่มเดินทางขึ้นเขาด้วยรถกะบะต่อขึ้นไปที่วัดเสียคนละ 10 บาท เพราะรถบัสขึ้นไปไม่ได้ รถจะขับขึ้นเขาซึ่งสูงชันมาก มีทางโค้งหลายโค้ง คตเคี้ยว  น่าหวาดเสียว ขณะนั่งรถต้องหาที่ยึดให้ดี ต้องอาศัยคนขับที่ชำนาญทาง ทางวัดจึงไม่อนุญาติให้ขับรถขึ้นไปเอง  และเมื่อลงจากรถกะบะแล้วก็ยังต้องเดินทางเท้าต่อไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร  ต้องใช้ความพยายามยามอย่างมาก ทางก็ชันและต้องเบียดเสียดกับผู้คนจำนวนมาก ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ต่างก็มุ่งหน้าที่จะไปถึงรอยพระพุทธบาท เมื่อขึ้นไปถึงผู้คนจะซื้อชุดของที่นำไปไหว้ตามจุดต่างๆประกอบด้วย ดอกดาวเรือง  ธูป เทียน ทอง ชุดละ 90 บาท และซื้อพลอยประจำวันเกิดชุดละ 20 บาทเพื่อที่จะใช้โรยรอยพระพุทธบาทบนยอดเขาคิชกูฎ ทางวัดมีเอกสารชี้แจงการสวดบูชาแต่ละจุดทั้งหมด 9 จุดแจกให้ด้วย  เสร็จแล้วซื้อบัตรรถขึ้นไปบนเขาอีก 2 ทอด ทอดแรกราคา  40 บาท และทอดที่ 2 อีก 50 บาท ค่ารถไป-กลับก็ตกรวม 180 บาทต่อคน จุดนี้ก็มีผู้คนจำนวนมากรอขึ้นเป็นแถวยาวเช่นกัน

จากการพูดคุยกับชาวบ้านที่นั่น ทำให้ทราบว่าผู้คนจากทั่วทุกสารทิศที่มาที่นี่จะมาขอพรกันเป็นส่วนใหญ่และก็จะสำเร็จสมหวังตามที่ขอ  เนื่องจากปีหนึ่งจะเปิดให้ขึ้นไปบูชารอยพระพุทธบาทแค่ 2 เดือนประมาณกลางเดือนมค.-มีค. ดังนั้นคนที่เคยขึ้นไปขอพรแล้วสำเร็จก็จะกลับขึ้นไปบูชาอีกครั้ง  ประกอบกับคนที่ปรารถนาจะไปขอพรบ้างเพราะได้รับทราบข่าวความศักดิ์สิทธิ์ก็แห่กันไปคนจึงแน่นวัดแบบนี้ เคยมีบางวันมีคนขึ้นมานมัสการถึงประมาณ 20,000 คน และในการขอพรยังเชื่อกันว่า หนึ่งคนจะขอได้เพียง 1 อย่างเท่านั้น กล่าวคือทุกจุดที่ไหว้ขอพรจะต้องขอเรื่องเดียวกันหมด ขอหลายอย่างจะไม่ได้ 

พุทธศาสนิกชนที่มีศรัทธาเดินทางขึ้นเขาไปแสวงบุญเป็นจำนวนมาก นอกจากจะได้นมัสการพระพุทธบาทศักดิ์สิทธิ์แล้ว ยังจะได้ชมความงดงามแปลกอัศจรรย์ของ หินลูกพระบาท ก้อนหินกลมใหญ่ริมหน้าผา และได้รับความสดชื่นจากบรรยากาศบนยอดเขาคิชกูฎ นอกจากนี้ผู้ที่ถึงวัดพลวงตอนเย็นสามารถพักค้างคืนเพื่อเริ่มขึ้นยอดเขาในตอนเช้าได้ โดยทางวัดมีที่พัก และที่อาบน้ำไว้รองรับคนได้จำนวนมาก

          ส่วนที่มาของรอยพระพุทธบาทนั้นมีตำนานรอยพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฎ (พลวง) เล่าว่า นายติ่งและคณะได้ขึ้นบนเขาเพื่อไปหาไม้กฤษณามาขาย  ได้ไปพักเหนื่อยบนลานหินกว้าง  เพื่อนของนายติ่งคนหนึ่ง ได้ถอนหญ้าเพื่อนอนพักก็พบแหวนใหญ่ขนาดสวมหัวแม่เท้าได้  เเละเมื่อช่วยกันตรวจดูก็พบหินแผ่นหนึ่ง  มีพื้นที่เป็นรอยรูปก้นหอย  ต่อมานายติ่งและเพื่อนได้นำบุตรชายไปอุปสมบทที่วัดพลับ  รุ่งขึ้นก็มีงานปิดรอยพระพุทธบาทจำลอง  นายติ่งซื้อทองไปปิดแล้วจึงพูดว่าแถวบ้านตนก็มีรอยแบบนี้เช่นเดียวกัน  พอดีมีพระได้ยินเข้าจึงไปเรียนให้เจ้าอาวาสวัดรับทราบ  จึงเรียกนายติ่งเข้าไปสอบถามและส่งคณะขึ้นไปพิสูจน์ดู  ก็เป็นความจริงและตรวจดูรอบๆบริเวณนั้น  ก็พบสิ่งประหลาดมหัศจรรย์หลายอย่าง รอยพระพุทธบาทนั้นท่านทรงเหยียบจารึกไว้ที่ศิลาแผ่นใหญ่  บรรจุคนนั่งได้ร้อยกว่าคน บนยอดเขาสูงสุด กว้าง 1 เมตร ยาว 2 เมตร  ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของรอยพระพุทธบาทมีหินกลมก้อนหนึ่งใหญ่มาก เรียกว่าหินลูกพระบาท  ตั้งขึ้นมาอย่างน่าแปลกประหลาดมหัศจรรย์  มองดูคล้ายลอยอยู่เฉยๆ  มีคนกล่าวว่าเขาเคยเอาด้ายสายสิญจน์คล้องแล้วหลุดออกมาได้  และยังมีหินอีกลูกอยู่ตรงข้ามกับหินลูกพระบาทนี้ ก็มีรอยพระหัตถ์ไปรับหินก้อนนี้จากรอยพระพุทธบาทกับรอยพระหัตถ์นั้น ห่างกันประมาณ 5 เมตร และยิ่งแปลกไปกว่านั้น  ในก้อนหินนั้นตรงกันข้ามกับรอยพระหัตถ์  ยังมีรูปรอยเท้าใหญ่ ซึ่งเรียกกันว่ารอยเท้าพญามาร  เพียงแหงนหน้าขึ้นไปจะมองเห็นได้ทันที สูงประมาณ 15 เมตร  ต่อจากนั้นไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือห่างจากหินลูกนี้ไปเพียง 15 วา มีหินลูกข้างบนเป็นลานและมองเห็นรอยรถหรือรอยเกวียน  เมื่อยืนบนหินลูกนั้นมองลงไปทางทิศเหนือจะเห็นถ้ำเต่า   หันไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของรอยพระพุทธบาทจะเห็นถ้ำช้าง และถ้ามองจากรอยพระพุทธบาทขึ้นไปจะเห็นหินก้อนหนึ่งมีรูปลักษณะคล้ายช้างจริง   เลยจากช้างไปสูงสุดนั้นเรียกกันว่าห้างฝรั่ง  เพราะฝรั่งได้ขึ้นไปตั้งห้างส่องกล้องเพื่อทำแผนที่  มองไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ยังมีถ้ำอีกถ้ำหนึ่งเรียกว่าถ้ำสำเภา เพราะมีหินก้อนหนึ่งข้างบนถ้ำมีลักษณะคล้ายๆเรือสำเภา  และยังมีอีกถ้ำหนึ่งใต้พระบาทนี้เรียกว่าถ้ำตาฤาษี

          ที่มาของชื่อเขาคิชฌกูฏนั้น ในตำนานศาสนาพุทธกล่าวไว้ว่า เขาคิชฌกูฏอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงราชคฤห์  แปลว่าภูเขาแร้งกระพือปีก  มีคันธกุฎีอยู่บนยอดเขา  และเคยเป็นสถานที่ประทับของพระพุทธเจ้าในอดีต  เป็นความดำริของพระครูธรรมสรคุณซึ่งเป็นกรรมการและเป็นหลักในการพัฒนาพระบาทพลวงตั้งแต่ พ.ศ. 2515 ได้เสนอใช้ชื่อ พระบาทเขาคิชฌกูฎ (พลวง) เหตุผลเพราะเมืองไทยเป็นเมืองพุทธที่พุทธศาสนาเจริญกว่าเมืองไหนๆ แม้กระทั่งประเทศอินเดีย  จึงน่าจะใช้ชื่อนี้เป็นที่ระลึกถึงพระบรมศาสดา ในทุกๆ ปีจะมีพิธีเปิดและพิธีปิดการขึ้นไปนมัสการรอยพระพุทธบาทเป็นประจำทุกปี

งานสมัสการรอยพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏ (พลวง) จะเริ่มในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 3 รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 60 วัน ของทุกปี ซึ่งในปี 2552 จะเริ่มให้ประชาชนผู้มีจิตศรัทธาขึ้นนมัสการรอยพระพุทธบาทในวันที่ 26 มกราคม 2552 เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 26 มีนาคม 2552, พิธีบวชชี-พราหมณ์  วันที่ 10-15 มกราคม 2552, พิธีบวงสรวงปิดป่า-เปิดป่า   วันที่ 24 มกราคม 2552, พิธีงานสมัสการฯ   วันที่ 26 มกราคม 2552,
พิธีบวงสรวงเปิดป่า-ปิดป่า   วันที่ 26 มีนาคม 2552

การเดินทาง เมื่อเดินทางมาถึงตัวจังหวัดจันทบุรี มาตามถนนสุขุมวิท ถึงทางแยกเข้าตัวเมืองจันทบุรี (สี่แยกเขาไร่ยา) ให้เลี้ยวลงถนนทางน้ำตกกระทิง หรือถนนบำราศนราดูร จากทางแยกเขาไร่ยา ไปถึงน้ำตกกระทิงประมาณ 20 กิโลเมตร เลยวัดระทิงไป 400 เมตร ถึงแยกขวามือไปวัดพลวง เป็นถนนลูกรังระยะทาง 3 กิโลเมตร เมื่อถึงวัดพลวง จะเป็นจุดเริ่มต้นขึ้นไปยังยอดเขา มีรถรับจ้างทดเฟืองพิเศษรับไปส่งถึงจุดที่ใกล้ที่สุด และเดินเท้าต่ออีกประมาณ 40 นาที
           ทั้งนี้ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติเขาคิดชฌกูฎ โทร. 0-3945-2075, กิ่งอำเภอเขาคิดชฌกูฎ โทร. 0-3945-2437 หรือ องค์การบริหารส่วนตำบลพลวง โทร. 0-3930-9281

รบกวนดูภาพเพิ่มเติมได้ที่ http://hilight.kapook.com/view/21876

          

หมายเลขบันทึก: 256254เขียนเมื่อ 19 เมษายน 2009 16:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้าจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณครับที่นำมาฝาก ยังไม่เคยไปกราบนมัสการเลยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท