SWIT
สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ .

5x6 ตอนที่สี่ : ไม่ว่าจะเป็นคนกลุ่มไหนของ ‘ห้า’ เอามาคูณด้วย ‘หก’ แต่ละตัว


..คล้ายๆ กับการเดินไปตามขั้นบันได เพราะมันเป็น 6 ขั้นตอนที่ต้องเดิน (หรือทำ) เพื่อไปให้ถึงการจัดการปัญหาสถานะบุคคลของแต่ละคน และระหว่างการเดินไปตามทั้ง 6 ขั้นตอน คำที่ต้องท่องให้ขึ้นใจหรือคีย์เวิร์ดที่สำคัญก็คือ “ตรวจสอบ” และ “บันทึก”

หกหมายถึง 6 ขั้นตอนการจัดการ

ปัญหาสถานะบุคคลของแต่ละคน

 

พฤษภาคม  2551[1] ในตัวอำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย

 ..สังคยนากฎหมายถูกใช้เป็นหัวข้อการคุยและแลกเปลี่ยนระหว่างอ.แหวว ลูกศิษย์และคนทำงานด้านสถานะบุคคล มันเป็นการทดสอบแนวคิดใหม่ถึงขั้นตอนการจัดการปัญหาสถานะบุคคล[2]

 

ไม่ว่าจะเป็นคนกลุ่มไหนของ ห้าเอามาคูณด้วย หกแต่ละตัว

คูณด้วยหก-ตัวแรก: ตรวจสอบข้อเท็จจริงของบุคคล

 “การรู้จักตัวเอง” คือจุดเริ่มต้นง่ายๆ ของการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคล ..คำถามที่เจ้าของปัญหา รวมถึงคนที่คิดจะยื่นมือให้ความช่วยเหลือต้องตอบให้ได้ก็คือ เจ้าของปัญหาเป็นใคร? และข้อมูลส่วนบุคคลที่รอบด้าน - ทั้งในแง่ของพื้นที่และเวลา (ที่ไหนและเมื่อไร?) นับตั้งแต่เกิด หรือเข้าเมืองมายังรัฐไทย คนในครอบครัว เอกสารทุกฉบับ พยานบุคคลและพยานหลักฐานทุกชิ้น - มีอะไรบ้าง?

ความสามารถในการไล่เรียงประวัติศาสตร์ส่วนบุคคล การกลั่นกรอง - ตรวจสอบความถูกต้อง ความเชื่อมโยง ความสมเหตุสมผล การบันทึกออกมาเป็นตัวหนังสือ ..พูดได้ว่า - เป็นทั้งทักษะ ความรู้และประสบการณ์ที่ต้องฝึกฝน

คูณด้วยหก-ตัวที่สอง: ตรวจสอบข้อกฎหมายและนโยบาย

อีกเรื่องที่คนทำงานด้านสถานะบุคคลตระหนักดีก็คือ สถานะบุคคลของแต่ละคนจะเป็นอย่างไรนั้น นอกจากจะขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงของแต่ละบุคคลแล้ว อีกด้านหนึ่งก็คือมันจะเป็นไปตามกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้อง (กฎหมายและนโยบายด้านสัญชาติ การทะเบียนราษฎร คนเข้าเมือง รวมไปถึงรัฐธรรมนูญ) และบังคับอยู่ใช้ในแต่ละช่วงเวลาที่บุคคลเกิดและ/หรือปรากฏตัวในรัฐไทย

ความถูกต้องและแม่นยำในข้อกฎหมายและนโยบายจึงเป็นท่าบังคับที่สำคัญ

 

คูณด้วยหก-ตัวที่สาม-ตรวจสอบการกำหนดและพัฒนาสถานะ, ตัวที่สี่-การเสียสถานะ และตัวที่ห้า-การกลับคืนสถานะ

ผลของการคูณด้วยหกตัวที่สามถึงห้า กล่าวได้ว่า มันก็คือผลจากการวิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ว่าเจ้าของปัญหาคนๆ หนึ่ง ภายใต้ข้อเท็จจริงของเขา ภายใต้กฎหมาย นโยบายที่เกี่ยวข้องในแต่ละช่วงเวลา เขาจะได้รับการกำหนดสถานะบุคคลเป็นอย่างไร? ..เจ้าของปัญหาอาจจะมีสถานะบุคคลเป็น-คนต่างด้าวที่เข้าเมืองมาโดยชอบด้วยกฎหมาย/ไม่ชอบด้วยกฎหมาย, คนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยอยู่ถาวร/ชั่วคราว โดยผลของกฎหมาย/นโยบาย หรือผู้มีสัญชาติไทย

คำตอบต่อไปก็คือ ต่อสถานะบุคคลที่เจ้าของปัญหาเป็นอยู่-เขาหรือเธอจะสามารถพัฒนาสถานะให้ดีขึ้นไปกว่าเดิมได้อย่างไร, และหากต่อไปเจ้าของปัญหาต้องเสียสถานะบุคคลที่มีอยู่ เขาหรือเธอจะขยับไปมีสถานะบุคคลแบบไหน แล้วจะมีโอกาสได้สถานะบุคคลนั้นกลับคืนหรือไม่ อย่างไร โดยวิธีใด ภายใต้กฎหมายและนโยบายอะไร และที่สำคัญภายใต้ข้อเท็จจริงของบุคคลลักษณะใด พยานหลักฐานอะไรบ้างที่ต้องมี

พูดได้อีกอย่างว่า-มันคือการประมวลผล บนฐานความรู้และประสบการณ์ ..และเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะชี้ให้ชัดขึ้นว่า-ชีวิตหนึ่งๆ ที่ไร้รัฐไร้สัญชาติในรัฐไทยแห่งนี้จะมีโอกาส และใช้ระยะเวลาอีกมากน้อยแค่ไหนที่จะเป็นบุคคลไม่ไร้สถานะทางทะเบียน, ไม่ไร้รัฐ รวมถึงไม่ไร้สัญชาติ

นอกจากนี้ มันยังเป็นขั้นตอนที่สะท้อนกลับไปด้วยว่า-ข้อเท็จจริงส่วนบุคคลที่เก็บมา ข้อกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเจ้าของปัญหานั้น ครบถ้วนแล้วหรือไม่

คูณด้วยหก-ตัวที่หก: ตรวจสอบขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม

เมื่อข้อเท็จจริงของเจ้าของปัญหา เป็นไปตามองค์ประกอบของสถานะบุคคลที่ข้อกฎหมายและนโยบายกำหนดไว้ แต่กฎหมายและนโยบายนั้นๆ กลับไม่ถูกบังคับใช้แก่เจ้าของปัญหา หรือนำกฎหมายและนโยบายอื่นๆ มาบังคับใช้แก่เจ้าของปัญหา เจ้าของปัญหาจึงไม่สามารถเข้าถึงสิทธิในสถานะบุคคลได้อย่างถูกต้อง ตรงกับข้อเท็จจริงของตนเอง ในทางกฎหมายมันหมายถึงการละเมิดสิทธิแบบหนึ่ง

..ถ้ามองด้วยมุมมองเดิมๆ ที่คนทั่วไปคุ้นชิน กระบวนการยุติธรรมย่อมหมายถึงการไปศาล ซึ่งแน่นอนว่า-ไม่ว่าจะคดีอาญา คดีแพ่ง หรือคดีปกครอง -การไปศาล มักเป็นหนทางสุดท้ายเสมอ-ที่ใครสักคนจะตัดสินใจเลือกเดิน (กรณีคดีจอบิ และคดีแม่อาย) เว้นเสียแต่ว่าเป็นกรณีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นคือ เจ้าของปัญหาถูกฟ้องเป็นจำเลยเสียเอง

มองจากมุมมองใหม่ที่อ.แหวว พยายามเสนอ ท้าทายเพื่อเป็นทางเลือก ก็คือ กระบวนการยุติธรรมนอกห้องพิจารณาคดีหรือนอกศาล ด้วยเพราะการโต้แย้งเพื่อยืนยันในสิทธิตามกฎหมายที่คนๆ หนึ่งมีนั้น สามารถทำได้ในหลากหลายรูปแบบ ..การโต้แย้งโดยตรงต่อหน่วยงานที่กระทำละเมิด การสื่อสารสาธารณะออกไปถึงปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น[3] ฯลฯ ไปจนถึงการนำข้อพิพาทไปฟ้องร้องต่อศาล ล้วนแล้วแต่เป็นความพยายามที่คนตัวเล็กตัวน้อยในสังคมไทย อย่างกรณีคนไร้รัฐไร้สัญชาติก็สามารถลงมือทำได้ ..มันเป็นเรื่องของการยืนยันในสิทธิที่แต่ละคนมี ซึ่งได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมาย และหากจะมองให้พ้นไปจากแต่ละปัจเจกบุคคล-มันยังอาจหมายถึงการลงมือผลักดัน-สร้างให้เกิดบรรทัดฐานเดียว

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการยุติธรรมในหรือนอกห้องพิจารณาคดี ..สาระแห่งสิทธิ รวมไปถึงวิธีพิจารณาความเป็นเรื่องที่ต้องหนักแน่นและแม่นยำ ..มันเป็นทั้งองค์ความรู้และประสบการณ์ที่ต้องเรียนรู้ ค้นคว้าและสะสม



[1] โครงการสังคายนากฎหมายและนโยบายเกี่ยวกับการจัดการประชากร ครั้งที่1  ระหว่างวันที่ 3-4 พฤษภาคม 2551 ณ โรงแรมริมกก รีสอร์ท อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ภายใต้การสนับสนุนขององค์กรแพลน ประเทศไทย

[2] ผู้ถูกวางตัวให้เป็นผู้รับผิดชอบการทดสอบแนวคิดเรื่อง หกได้แก่ 6 ตัวแรก-สรินยา กิจประยูร, 6 ตัวที่สอง-กานต์ เสริมชัยวงศ์, 6 ตัวที่สาม-รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร , 6 ตัวที่สี่และห้า-ชุติ งามอุรุเลิศ และ 6 ตัวสุดท้าย-ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล

[3] หนังสือจากโครงการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ (Stateless Watch) ขอให้โรงพยาบาลสบเมยชี้แจงและความเห็นทางกฎหมายเพื่อหารือกรณีปฎิเสธสิทธิในการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพของมึดา นาวานาถ http://statelesswatch.files.wordpress.com/2008/12/2551-12-26-legalopiniononr2health-muedacase_final.pdf, หนังสือขอให้เขตจตุจักรชี้แจงและความเห็นทางกฎหมายเพื่อหารือกรณีปฏิเสธสิทธิการเลือกตั้งของฟองจันทร์ สุขเสน่ห์ http://statelesswatch.files.wordpress.com/2009/01/2552-2-8-stw-fongchan-e0b89be0b8a3e0b8b0e0b898e0b8b2e0b899e0b881e0b881e0b895.pdf

หมายเลขบันทึก: 255551เขียนเมื่อ 15 เมษายน 2009 00:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 06:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท