SWIT
สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ .

5x6 ตอนสาม: 'ห้า' หมายถึง คน 5 กลุ่ม-ว่าด้วยกลุ่มที่ 3-5


Undocumented Person, คนสัญชาติไทยที่ถูกบันทึกเป็นคนต่างด้าว, ราษฎรไทยที่เป็นคนต่างด้าว เกิดในไทย, ราษฎรไทยที่เป็นคนต่างด้าว เกิดนอกประเทศไทย และราษฎรไทยที่เป็นแรงงานต่างด้าว

กลุ่ม 3-ราษฎรไทยที่เป็นคนต่างด้าว เกิดในไทย

คนกลุ่มนี้คือลูกของพ่อแม่ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย เป็น (อดีตเด็ก) ต่างด้าวที่เกิดในรัฐไทย และได้รับการบันทึกชื่อและรายการบุคคลในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย อาทิ อาจมีชื่อในแบบพิมพ์ประวัติชนกลุ่มน้อย  17 กลุ่ม, ในท.ร. 38/1 ที่ใช้สำหรับบันทึกชื่อและรายการบุคคลของแรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติ, ท.ร. 38 ก. ทะเบียนประวัติสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน, ทะเบียนบ้านประเภท ท.ร. 13 ในกรณีที่คนต่างด้าวกลุ่มนี้ที่มีสิทธิอาศัยชั่วคราว หรือมีชื่อในทะเบียนบ้านประเภท ท.ร. 14 ในกรณีที่คนต่างด้าวกลุ่มนี้มีสิทธิอาศัยอยู่ถาวร หรือถือใบสำคัญถิ่นที่อยู่และใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว นั่นหมายความว่า พวกเขาล้วนมีเลขประจำตัว 13 หลักแล้ว

ในบางกรณี เขาหรือเธอในคนกลุ่มนี้อาจยังมีสัญชาติใดสัญชาติหนึ่ง อาจปรากฎว่ามีชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐใดอีกรัฐหนึ่ง แต่ภายใต้ข้อเท็จจริงของชีวิตประจำวัน สัญชาติอื่นหรือรัฐอื่นที่มิใช่ไทย มันไม่ได้ส่งผลใดๆ กับชีวิตพวกเขาเลย คนกลุ่มนี้จึงมีสถานะทางทะเบียนราษฎรเป็นราษฎรไทยประเภทคนต่างด้าวที่เกิดในไทย ถูกถือว่ามีสถานะบุคคลเป็นคนต่างด้าว

หากพวกเขายังไม่ได้รับการรับรองจากรัฐไทยให้มีสิทธิอาศัยถาวรหรือเพียงชั่วคราว แม้พวกเขาจะเกิดในรัฐไทย ก็จะถูกถือว่าเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย โดยผลของ มาตรา 7 ทวิ พรบ. สัญชาติฯ

 

แนวทางการพัฒนาสถานะบุคคลสำหรับคนกลุ่มที่ 3 ..ขอมีสัญชาติไทย

·           สามารถยื่นคำร้องขอสัญชาติต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตามมาตรา 7 ทวิ วรรค 2 แห่งพ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ. 2535 เมื่อได้รับอนุญาต จะได้รับการเพิ่มชื่อและรายการบุคคลในท.ร. 14 ได้รับบัตรประจำประชาชน (ขึ้นต้นด้วยเลข 8)

·           โดยการยื่นคำร้องขอมีสัญชาติไทยต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในกรณีเป็นการออกคำสั่งให้สัญชาติเป็นกรณีทั่วไป ซึ่งต้องรอหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีจะกำหนดขึ้นมา (มาตรา 7 ทวิ วรรค 2 แห่งพ.ร.บ. สัญชาติ 2508 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 4 พ.ศ. 2551)

 

อาจกล่าวได้ว่า ยังมีบุคคลอีก 2 กลุ่ม ที่ยังต้องรอมติคณะรัฐมนตรี (มติครม.) เพื่อให้สามารถใช้ช่องทางของมาตรา 7 ทวิ วรรค 2 หรือการขอมีสัญชาติไทย โดยรมต. มหาดไทยเป็นผู้อนุมัติ

·           กลุ่มบุคคลที่ประเทศไทยมีนโยบายกำหนดสถานะบุคคลให้แล้ว (ตามยุทธศาสตร์จัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2548) ได้แก่

หนึ่ง-กรณีลูกของกลุ่มที่อพยพเข้ามาในประเทศและอาศัยติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปีขึ้นไป และไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางได้ และให้สัญชาติไทยแก่ลูกที่เกิดในประเทศไทย

สอง-กรณีเด็กที่เกิดหรืออาศัยในประเทศไทย แต่ไม่มีสถานะที่ถูกต้องตามกฎหมาย และเรียนอยู่ในสถานศึกษาของประเทศไทยติดต่อกันอย่างน้อย 4 ปี

·           กลุ่มที่ยังไม่มีกฎหมายและนโยบาย ได้แก่ บุคคลที่มีพ่อแม่เป็นคนต่างด้าว เข้าเมืองผิดกฎหมาย โดยเข้ามานับตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2528

 

 

กลุ่ม 4-ราษฎรไทยที่เป็นคนต่างด้าว เกิดนอกประเทศไทย

ใครหลายคนที่เกิดนอกรัฐไทย แต่ด้วยเหตุผลของชีวิตหรือแรงผลักดันอื่นๆ ทำให้ต้องข้ามเส้นพรมแดนมาเข้ามาอาศัยอยู่และอาจมากกว่านั้นด้วย-แผนชีวิตที่ว่าจะลงหลักปักฐานในรัฐไทยหรือได้ลงหลักปักฐานไปแล้ว คนกลุ่มนี้อาจไร้สัญชาติ อาจไร้รัฐ ในบางกรณี เขาหรือเธอในคนกลุ่มนี้อาจยังมีสัญชาติใดสัญชาติหนึ่ง อาจปรากฎว่ามีชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐใดอีกรัฐหนึ่ง แต่ภายใต้ข้อเท็จจริงของชีวิตประจำวัน สัญชาติหรือรัฐอื่นที่มิใช่ไทย มันไม่ได้ส่งผลดีใดๆ กับชีวิตพวกเขาเลย

อย่างไรก็ดี สถานะทางทะเบียนราษฎรเป็นราษฎรไทยประเภทคนต่างด้าวเกิดนอกไทยของคนกลุ่มนี้มีความแตกต่างภายในกลุ่มเองด้วยเหมือนกัน คืออาจเป็น

หนึ่ง-กลุ่มคนที่เข้ามายังรัฐไทยอย่างถูกกฎหมาย มีสิทธิอาศัยชั่วคราว สามารถขอเพิ่มชื่อใน ท.ร. 13

สอง--กลุ่มคนที่เข้าเมืองมาถูกกฎหมายและได้รับสิทธิอาศัยถาวร (มีชื่อในมีชื่อในท.ร. 14 ถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวและใบถิ่นที่อยู่)

สาม-เข้าเมืองมาผิดกฎหมาย และได้รับอนุญาตให้มีสิทธิอาศัยชั่วคราว (มีชื่อในแบบพิมพ์ประวัติ หรือท.ร. 13 และถือบัตรผู้ไม่มีสัญชาติไทย)

สี่-เข้าเมืองผิดมากฎหมาย และยังไม่ได้รับอนุญาตให้มีสิทธิอาศัย โดยอาจได้รับการบันทึกชื่อในแบบแบบพิมพ์ประวัติบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน (ท.ร. 38 ก.) และถือบัตรผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน (ขึ้นต้นด้วยเลข 0)

 

แนวทางการพัฒนาสถานะบุคคลสำหรับคนกลุ่มที่ 4 ..ขอหรือแปลงสัญชาติเป็นไทย

·                ขอเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองถูกกฎหมาย มีถิ่นที่อยู่ถาวรในประเทศไทย (มาตรา 17 พ.ร.บ. คนเข้าเมือง 2522 และยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล ซึ่งได้รับการรับรองโดยคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2548)

·                กรณีเป็นผู้หญิง อาจยื่นขอถือสัญชาติไทยตามสามี (มาตรา 9 พ.ร.บ. สัญชาติ 2508)

·                โดยขอแปลงสัญชาติเป็นไทย (มาตรา 10, 11 พ.ร.บ. สัญชาติ 2508)

·                ผู้อนุบาลขอแปลงสัญชาติไทยให้คนไร้ความสามารถ (มาตรา 12/ (1) พ.ร.บ. สัญชาติ 2508 แก้ไขเพิ่มเติม 2551)

·                ผู้ปกครองสถานสงเคราะห์ของรัฐขอแปลงสัญชาติไทยให้ผู้เยาว์ในความดูแล (มาตรา 12/1 (2) พ.ร.บ. สัญชาติ 2508 แก้ไขเพิ่มเติม 2551)

·                ผู้รับบุตรบุญธรรมขอแปลงสัญชาติไทยให้บุตรบุญธรรม (มาตรา 12/1 (3) พ.ร.บ. สัญชาติ 2508 แก้ไขเพิ่มเติม 2551)

 

กลุ่ม 5-ราษฎรไทยที่เป็นแรงงานต่างด้าว

กรณีของคนที่เกิดนอกไทย และเดินทางเข้ามาในประเทศไทยด้วยต้องการที่จะมาทำงานในประเทศไทย หรือหลายกรณีหนีภัยการประหัตประหารหรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงเข้ามา และเพื่อที่จะสามารถมีสถานะอย่างใดอย่างหนึ่งในประเทศไทย เขาหรือเธอเลือกที่จะขึ้นทะเบียนเป็นแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว หรือกัมพูชา

แน่นอนว่าคนกลุ่มนี้ไม่มีสัญชาติไทย อาจไร้รัฐ หรือไม่ไร้รัฐ เพราะอาจมีชื่อของเขาหรือเธอปรากฎในทะเบียนราษฎรของรัฐใดรัฐหนึ่ง เช่นเดียวกันอาจไร้สัญชาติหรือไม่ก็ได้ แต่สิ่งที่ชัดเจนคือคนกลุ่มนี้ไม่มีสัญชาติไทย มีสถานะบุคคลเป็นบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้เข้าเมืองและมีสิทธิอาศัยชั่วคราว โดยมติคณะรัฐมนตรีเป็นกรณีพิเศษเฉพาะเรื่อง (ตามมาตรา 17 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ประกอบมติคณะรัฐมนตรีล่าสุดที่เกี่ยวข้องคือเมื่อวันที่ 2 มีนาคม และ 27 เมษายน 2547 โดยมีมติคณะรัฐมนตรี ผ่อนผันรายปีในปีต่อๆ มา ในบางปี คณะรัฐมนตรีก็มีมติผ่อนผันอนุญาตให้ลูกและผู้ติดตามของแรงงานฯ มีสิทธิอาศัยชั่วคราว) และอยู่ระหว่างรอการส่งกลับ โดยคนกลุ่มนี้จะได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรของไทยประเภท ท.ร. 38/1 ถือบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย มีเลขประจำตัว 13 หลัก ขึ้นต้นด้วยเลข 00

ภายในดินแดนรัฐไทย ในแง่ของสถานะทางทะเบียนราษฎรของรัฐไทย คนกลุ่มนี้จึงไม่ไร้รัฐ ไม่ไร้สถานะทางทะเบียน แต่มีสถานะเป็นราษฎรไทย

 

แนวทางการพัฒนาสถานะบุคคล

·                ภายใต้ความตกลงระหว่างรัฐไทยกับรัฐพม่า ลาวและกัมพูชา คนกลุ่มนี้จะต้องเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติกับรัฐต้นทาง หากได้รับการยอมรับว่าเป็นคนชาติของรัฐนั้น เขาหรือเธอจะได้รับเอกสารยืนยันความเป็นคนชาติและสามารถมีหนังสือเดินทาง คนกลุ่มนี้จะไม่ไร้สัญชาติ และจะเป็นบุคคลใน 2 ทะเบียนราษฎร คือเป็นราษฎรไทยและราษฎรของรัฐต้นทางซึ่งเป็นรัฐเจ้าของสัญชาติ (อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกต ว่าลูก รวมถึงผู้ติดตามแรงงาน ไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติได้ เนื่องเพราะยังไม่มีนโยบายให้คนสองกลุ่มนี้สามารถพัฒนาสถานะบุคคลได้)

·                ในกรณีที่พิสูจน์สัญชาติไม่ผ่าน หรือถูกปฏิเสธสัญชาติจากรัฐต้นทาง ก็จะมีสถานะเป็นคนไร้สัญชาติ ข้อเท็จจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ คนกลุ่มนี้จะยังคงต้องอาศัยในรัฐไทยต่อไปอีก อย่างไรก็ดี จากประสบการณ์การจัดการประชากรต่างด้าวของรัฐไทย มีความเป็นไปได้ว่าคนกลุ่มนี้อาจสามารถร้องขอสิทธิอาศัยถาวรหรือขอมีสัญชาติไทย หากสภาวะความกลมกลืนกับสังคมไทยของคนกลุ่มนี้ปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนแล้ว

 

หมายเลขบันทึก: 255550เขียนเมื่อ 15 เมษายน 2009 00:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 06:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท