ออกแบบบางสระเก้า ด้วยพลังข้อมูล (จบ)


เมื่อชุมชนพลิกฟื้น เปลี่ยนแปลงตัวเองโดยอาศัยพลังของข้อมูล

หลักสูตรการจัดการหนี้สินครัวเรือนโดยการพึ่งตนเอง
หลักสูตรดังกล่าว เกิดขึ้นจากการที่โครงการชุมชนเป็นสุขเข้ามาสนับสนุน เริ่มต้นจากการค้นหาแกนนำ ค้นหาแนวร่วมที่จะเข้ามาร่วมเรียนรู้ โดยสิ่งสำคัญที่ค้นหาเพื่อการเรียนรู้ คือ ประเด็นหนี้สิน เริ่มต้นจากเรื่องใกล้ตัว ไม่ใช่ไกลตัว ด้วยเชื่อว่า ความล้มเหลวจากการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ ทำให้เกิดหนี้สินค้างชำระจำนวนมาก ที่ชาวบ้านนั้นไม่สามารถจัดการโดยตนเองได้และพอกพูนกลายเป็นปัญหาใหญ่สำหรับชุมชน

            กระบวนการ วิธีการในการแก้ไข เริ่มต้นจากข้อมูล จากคำถามที่ว่า ชุมชนเริ่มกู้จากสาเหตุอะไร พบคำตอบคือ เริ่มจากกู้ปุ๋ยเคมีเพื่อการผลิต กู้จากไหน คำตอบคือ ธกส. โดยชาวบ้านเอาปุ๋ยมาใช้ก่อน หลังเก็บข้าวได้ก็ค่อยใช้คืน จากนั้นชาวบ้านต้องการขยายพื้นที่การผลิต วัว ควายไม่สามารถตอบสนองได้ทันจึงเริ่มซื้อเครื่องมือ เทคโนโลยีต่างๆ ก็ต้องกู้ยืมเงินอีก ซึ่งพบว่า ข้อมูลหนี้สินปี พ.ศ.2547 มีหนี้สิน 38 ล้านบาท ขณะที่ปีพ.ศ.2548 มีหนี้สินเพิ่มขึ้นเป็น 42 ล้านบาท และในปีพ.ศ.2549 มีหนี้สินเพิ่มขึ้นเป็น 48 ล้านบาท

การแก้ไขปัญหานั้น แกนนำนักจัดการความรู้ชุมชน เชื่อว่า การกู้เพิ่มไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาจริงๆ คือ การค้างชำระเรื่องหนี้สิน ดังนั้นต้องค้นหาสาเหตุการเกิดหนี้ของแต่ละคน แต่ละครัวเรือน ค้นหาสาเหตุการกู้ เช่น กู้มาซื้อรถ ซื้อเครื่องอำนวยความสะดวก เพราะพบว่าเงินที่กู้มานั้นจริงๆ แล้วใช้เพื่อการลงทุน การประกอบอาชีพเพียง 20% เท่านั้น ส่วนที่เหลือก็ใช้ในกิจกรรมอื่นๆ และจากข้อมูลชุมชน จึงนำมาสู่การวิเคราะห์จัดการกับปัญหา เกิดหลักสูตรการจัดการหนี้สินครัวเรือน

โจทย์ต่อมา ทำอย่างไรคนในชุมชนถึงจะเอาหลักสูตรการจัดการหนี้สินครัวเรือนไปใช้ กระบวนการที่ชุมชนทำคือ การเชื่อมโยง ด้วยเชื่อว่า ปัญหาทุกปัญหานั้น ไม่สามารถรู้และแก้ได้โดยลำพัง ทางออกทุกทางออกต้องช่วยกันคิดช่วยกันหา ชุมชนต้องเรียนรู้ร่วมกัน ช่วยเหลือกัน ดังนั้นในหลักสูตรการจัดการหนี้สินของคลีนิกองค์กรการเงิน จึงแนะนำชาวบ้านว่า อย่าแก้ปัญหาโดยการแยกตัวออกจากสังคม เพราะการแก้ไขปัญหาต้องแก้ด้วยกระบวนการของชุมชน ชุมชนที่ต้องช่วยเหลือกันและกัน

ตัวอย่างการวินิจฉัย การรักษาโรค เช่น
- โรคเบื้องต้น เช่น ทางเดินหายใจขัดข้อง(หวัดองค์กร) อาการคือ คณะกรรมการและสมาชิกขาดความเข้าใจเป้าหมายและวัตถุประสงค์ขององค์กร มีความร่วมมือน้อย ขาดการมีวินัย รักษาโดยจัดทำประชาคมเพื่อสร้างความเข้าใจ ทั้งวัตถุประสงค์ เป้าหมายร่วม กฎกติกา เป็นต้น
- โรคติดเชื้อ เช่น โลหิตสมาชิกจาง อาการคือสมาชิกใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ ขาดการออมในครัวเรือน มีหนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้น รักษาโดยฝึกคิดอย่างมีเหตุผลก่อนการกู้ยืมเงิน ใช้จ่ายตามที่คิด ทำบัญชีครัวเรือน หยุดการฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงในการดำรงชีวิต เพื่อการออมเพื่อลดหนี้สิน เป็นต้น
- โรคร้ายแรง เช่น หัวใจองค์กรไม่อยากเต้น อาการคือเริ่มมีปัญหาการเงินองค์กรไม่หมุนเวียน คณะกรรมการและสมาชิกขาดความตั้งใจในการแก้ไขปัญหา การจัดสรรกำไรไม่เป็นไปตามระเบียบ รักษาโดยรวมตัวสร้างเครือข่ายองค์กรทางการเงิน เป็นต้น

นอกจากการฟื้นฟูชีวิตชุมชนท้องถิ่นด้วยการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ อย่างป่าชุมชนตะกาดใหญ่ และการแก้ไขปัญหาหนี้สินชุมชนด้วยการบูรณาการทุนของชุมชนเข้าด้วยกันภายใต้สถาบันการเงินชุมชน อย่างสนาคารชุมชนบางสระเก้าแล้ว

การฟื้นฟูวิถีชีวิตวัฒนธรรมชุมชนเป็นอีกหนึ่งแนวทางของชุมชน ต้นทุนทางสังคม วัฒนธรรมที่มีอยู่ อย่างเช่น องค์ความรู้ในการทอเสื่อกก ทั้งนี้ ชุมชนตำบลบางสระเก้า ในอดีต 80 % ของครัวเรือน ทำการเกษตรเป็นหลัก และทอเสื่อกกเป็นอาชีพเสริมในครัวเรือน เนื่องจากสภาพแวดล้อมติดป่าชายเลน ที่มีต้นกกขึ้นเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจึงนำทรัพยากรมาใช้สอยทอเสื่อกันทุกครัวเรือน เป็นกิจกรรมครอบครัวที่พ่อแม่ช่วยกันทอเสื่อจนทำให้วิถีการทอเสื่อกกกลายเป็นเอกลักษณ์ของตำบล ค่าใช้จ่ายต่างๆ ของครัวเรือนในการดำรงชีวิตประจำวันก็ล้วนได้มาจากการทอเสื่อกก หลังการเปลี่ยนแปลงเลิกนาข้าวทำนากุ้งในปีพ.ศ.2529 การปรับที่ดินเป็นนากุ้งส่งผลทำให้ต้นกกถูกทำลาย ต้นกกบางส่วนที่มีอยู่ก็ไม่สามารถเติบโตได้เนื่องจากสภาพดินเสื่อมคุณภาพ น้ำเริ่มกร่อย นากก นาข้าวหมดไป ประกอบกับชาวบ้านไม่มีเวลาเนื่องจากต้องดูแลจัดการนากุ้งของตนเอง ...และแล้ววิถีการทอเสื่อกกก็ค่อยๆ เลือนหายไปจากชุมชน จากที่เคยทำเสื่อ 80%  เหลือประมาณ 50% และก็สูญหายไป

ออกแบบกิจกรรมชุมชน ด้วยข้อมูล
จากข้อมูลดังกล่าว เมื่อชุมชนต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจจึงนำมาสู่การกลับไปฟื้นฟูชุมชนด้วยวัฒนธรรม เอาวิถีชุมชนดั้งเดิมมาแก้ไขปัญหาชุมชน ริเริ่ม ฟื้นฟูให้ชาวบ้านหันกลับมาทอเสื่อกกกันอีกครั้ง  เกิดการฟื้นฟูอนุรักษ์เสื่อจันทบูรตามคำขวัญของจังหวัดจันทบุรี เริ่มมีการจัดการความรู้ รวมตัวเป็นเครือข่าย โดยลองเก็บข้อมูลจาก 50 กลุ่มองค์กรชุมชน เพื่อมาดูว่าแต่ละกลุ่มมีจุดเด่นอะไร เช่น กลุ่มอาชีพทางทะเล ทำนา เกิดอาสาสมัครในชุมชน ช่วยเหลือชุมชนโดยไม่หวังผลตอบแทน เกิดเป็นยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนชุมชน มีการทำแผน มีกระบวนการขั้นตอน มีการจัดสรรทุน มีทิศทางแผนงาน จากการจัดตั้งสถาบันการเงินระดับตำบล มีการเชื่อมโยงแต่ละกลุ่ม เป็นสหกรณ์  เชื่อมโยงปัญหาทั้งเศรษฐกิจ วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม มีเวทีประชาคม มีการแก้ปัญหาหนี้สิน ธนาคาร อาชีพ การออม ด้านสิ่งแวดล้อม มีบ้านปลาธนาคารปู และด้านวัฒนธรรมเกิดการฟื้นฟูวิถีชุมชน หลักสูตรท้องถิ่นเรื่องทอเสื่อ และก่อเกิดเป็นโครงการศูนย์ศิลป์เสื่อบางสระเก้า อันเกิดจากกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมทำ ร่วมติดตามผล  ร่วมรับผลประโยชน์ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม (SIF)

ศูนย์ศิลป์เสื่อบางสระเก้า
            ศูนย์ศิลป์เสื่อบางสระเก้า เกิดขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2544 โดยมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจกรรม 3 ประการ คือ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนสู่ความเข้มแข็งในอนาคต เพื่อเป็นกิจกรรมที่เสริมสร้างให้เกิดการเรียนรู้ในการทำงาน การบริหารจัดการธุรกิจและแก้ไขปัญหาในชุมชน และเพื่อส่งเสริมการรวมกลุ่ม อันเป็นปัจจัยที่ทำให้ชุมชนเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้

            จำนวนสมาชิกผู้ถือหุ้นของศูนย์ศิลป์เสื่อบางสระเก้าในปีพ.ศ.2550 มีจำนวนสมาชิก 355 คน มูลค่าหุ้นๆ ละ 50 บาท มีการจำกัดสัดส่วนการถือหุ้นต่อรายไม่เกิน 40 % ของหุ้นทั้งหมด เพื่อป้องกันการถือสิทธิความเป็นเจ้าของ และการถอนหุ้นสามารถถอนได้ไม่เกิน 10 % ของหุ้นที่ถืออยู่ เพื่อควบคุมการเกิดผลกระทบต่อการดำเนินงานเมื่อสมาชิกมาถอนหุ้น โดยจำนวนหุ้นในปีพ.ศ.2550 มี 2,813หุ้น คิดเป็นจำนวนเงิน 140,650 บาท

กิจกรรมของศูนย์ศิลป์เสื่อบางสระเก้านั้น ล้วนเป็นกิจกรรมที่เกิดจากชาวบ้านที่เข้ามาร่วมกันคิดขึ้น เริ่มต้นตั้งแต่กิจกรรมส่งเสริมการปลูกกก  ปลูกปอ จุดมุ่งหมายเพื่อต้องการให้ชาวบ้านลดต้นทุนการผลิต มีวัตถุดิบในพื้นที่เพียงพอ ส่งเสริมด้านเงินทุนในครัวเรือนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการปลูกและการจัดเตรียม

ในครัวเรือนที่มีการทอเสื่อกก ก็จะส่งเสริมการทำนากกไว้ใช้เองในพื้นที่ 2 งาน จะได้ต้นกกประมาณ 300 กิโลกรัมสามารถใช้ได้ตลอดทั้งปี  ในการปลูกต้นกกนั้น ชาวบ้านมีองค์ความรู้ที่พบว่า ต้นกกที่ขึ้นบริเวณชายน้ำเค็มจะมีความเหนียวกว่าต้นกกน้ำจืด ทำให้นำมาปรับใช้ทำให้การปลูกต้นกกเติบโตได้ดีมากขึ้น ทั้งนี้ แม้ว่าการทำกกตั้งแต่สดจนตากแห้งนั้นจะค่อนข้างยุ่งยากโดยเฉพาะการตัดไม่สามารถทำได้ในจำนวนคนที่น้อยแต่ต้องทำให้เสร็จภายในวันเดียวเพื่อให้ได้กกที่มีคุณภาพและคงทน ดังนั้นกระบวนการเช่นนี้ ทำให้เกิดการกิจกรรมในครัวเรือนและชุมชนขึ้น ญาติพี่น้อง ลูกเล็กเด็กแดงที่ต้องเข้ามาช่วยกัน เด็กๆ เข้ามารับจ้างตัดกกมีรายได้เสริมเฉลี่ยได้วันละ 60 บาทเป็นค่าขนม

เด็กๆ ในบางสระเก้า มีความรู้ตั้งแต่ยังไม่เข้าโรงเรียนในเรื่องการทอเสื่อกก นับตั้งแต่ความรู้ในการปลูก ตัด จัดการ และผลิตตามที่วิถีชีวิตของพ่อแม่ วิถีชุมชนของบางสระเก้า เกิดการเชื่อมโยงองค์ความรู้เรื่องการทอเสื่อกกจากครัวเรือนสู่ชุมชน สู่โรงเรียน หลักสูตรท้องถิ่นที่เป็นมากกว่าหลักสูตรในห้องเรียน เพราะสร้างรายได้จริงให้แก่เด็กๆ ในชุมชน และเมื่อชาวบ้านเอาเสื่อกกมาฝากขาย เมื่อขายได้กำไร ศูนย์ศิลป์ฯ จะแบ่งรายได้คนละครึ่งกับคนทอ และแบ่งกำไรให้กรรมการ 10% เป็นค่าแรงทำงาน เช่น ตรวจสอบสินค้า ทำบัญชี หาตลาด ศูนย์ศิลป์มีรายได้รวมๆ ปีละเป็นล้าน รายจ่ายก็หมดไปกับค่าน้ำ ค่าไฟ

ขณะเดียวกัน รายได้จากการทอเสื่อกกนั้น จะถูกปันคืนทุนให้แก่สังคม โดยเฉลี่ยประมาณ 8% ต่อปีของเงินสนับสนุน ในปัจจุบัน ศูนย์ศิลป์เสื่อบางสระเก้ามีกองทุนส่งเสริมสังคมเป็นจำนวนเงินกว่า 450,000 บาท นอกจากนี้ ศูนย์ศิลป์ฯ ยังทำหน้าที่ในการรับซื้อและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน ในการรับซื้อนั้นจะรับซื้อเสื่อกกจากสมาชิก และแปรรูปวางจำหน่าย โดยเน้นการใช้วัตถุดิบในพื้นที่ส่วนผลิตภัณฑ์ประเภทอื่นๆ ก็จะรับฝากขาย เน้นการขายปลีก ที่กลุ่มลูกค้าส่วนมากจะเป็นคณะทัวร์ คณะทัศนศึกษาดูงาน และผู้เดินทางผ่านเส้นทาง

บ้านไม่ล้อมรั้ว ดูแลกันและกันด้วยความรัก "เราเอาทุกเรื่องมาคุยกัน"
การฟื้นฟูวิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่นตำบลบางสระเก้า ก่อเกิดขึ้นจากพลังของข้อมูลทั้งสิ้น จากข้อมูลต่างๆ ที่ชุมชนร่วมกันเก็บ ร่วมกันค้นหา ร่วมกันแลกเปลี่ยนพูดคุยกันมาทำให้ชาวบ้านเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเห็นตั้งแต่สาเหตุของปัญหา อันนำมาสู่การมีเวทีประชาคมในการคิดแก้ไข ไม่ใช่เพียงคนไม่กี่คน หากแต่เป็นคนในชุมชนที่เข้ามาร่วมมือกัน สร้างกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญในชุมชนผ่านเวทีประชาคม ที่ชาวบ้านมารวมกัน ประชุมหมุนเวียนสลับกันไป โดยเรื่องที่จะคุย คือ เรื่องของวัด โรงเรียน ชุมชน วิทยุชุมชน ศูนย์ศิลป์ ป่าชุมชน บ้านปลา ธนาคารปู สนาคาร เรียกได้ว่าเอาทุกเรื่องมาคุยกัน และกระบวนการเหล่านี้ การพูดคุยกันได้สร้างความรักใคร่ในชุมชน ชุมชนใช้ข้อมูลในการจัดการ สร้างการมีส่วนร่วม คนในชุมชนจะเข้ามาร่วมกัน เกิดการตระหนักถึงปัญหาต่างๆ กระตุ้นเตือนกันด้วยคำคม คำขวัญ ที่ชาวบ้านจะช่วยๆ กันคิดคำคม คำขวัญ หรือค้นหามาเพื่อเอามาสื่อสารระหว่างกันภายในชุมชน สร้างระบบบทบาทหน้าที่ที่ทั่วถึง ในเวทีแต่ละครั้งจะมีคนเป็นประธานสลับกันไป ใครหาคำคม ประชุมที่บ้านใคร เกิดการเปลี่ยนแปลงของคนในชุมชน สร้างคน สร้างแกนนำชุมชนทีละเล็กทีละน้อย  

นอกจากนี้ ทุนความเป็นเครือญาติ พี่น้องที่มีมาเนิ่นนานก็ฟื้นกลับมาอีกครั้ง บ้านเรือนภายในชุมชนจึงไม่ต้องล้อมรั้วอันสะท้อนให้เห็นว่า ชุมชนสามารถจัดการอาชญากรรมได้ มีการจัดการชุมชนทางวิถีชีวิต และระบบเครือญาติ โดยมีกลไกและเครื่องมือในชุมชนที่สำคัญอย่าง บัญชีครัวเรือน เก็บข้อมูลของชุมชนที่สำคัญที่จะนำไปสู่การเกิดโครงการต่างๆ ของชุมชน ที่ได้จากการวิเคราะห์จากข้อมูลบัญชีครัวเรือน และเวทีแลกเปลี่ยน  เวทีหมู่บ้าน เวทีประจำเดือน ที่นำไปสู่การเกิดอาชีพ จะสร้างอาชีพต้องมีเงินออม ชุมชนก็มีธนาคาร มีการออม มีรายได้ และปันผลที่นำไปสู่การเกิดสวัสดิการชุมชน ใช้สื่อที่มีหลายอย่างในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ เช่น เวที วิทยุชุมชน สถานีโทรทัศน์ชุมชน และทำงานเชื่อมโยงทำงานกับภาคี หน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

บางสระเก้า... วันนี้ เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งชุมชนเข้มแข็ง มีแกนนำ มีผู้นำที่หลากหลายจากจุดเล็กๆ เริ่มต้นจากคนไม่กี่คนที่ตื่นตัวและมองเห็นปัญหา ค้นหา เก็บข้อมูลมานำเสนอสู่สังคม ชุมชนของตนเอง จนก่อเกิดกิจกรรม กระบวนการฟื้นฟูชุมชนรอบด้านที่เชื่อมโยงกัน การแก้ไขปัญหาหนี้สินอาจเป็นโจทย์ปัญหาใหญ่ แต่กระบวนการที่ชุมชนตำบลบางสระเก้าใช้กลับมีมิติที่มากกว่าการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ เพราะนี่คือกระบวนการออกแบบเพื่อเปลี่ยนแปลงชุมชนอย่างยั่งยืน บางสระเก้าจึงมีทั้งทรัพยากรธรรมชาติที่ค่อยๆ ฟื้นตัว มีสถาบันการเงินระดับตำบลที่จะเป็นศูนย์รวมในการดูแล บริหารเงินของตำบล มีอาชีพเสริมที่มั่นคง และมีตลาดกลางของชุมชน ที่บริหารจัดการโดยคนในชุมชนด้วยกันเอง อย่างการทอเสื่อและศูนย์ศิลป์เสื่อบางสระเก้า มีหลักสูตรท้องถิ่นในการเสริมสร้างองค์ความรู้แก่ลูกแก่หลาน และมีกลไกมีเครื่องมือในการสื่อสารข้อมูลที่ทั่วถึง และคนบางสระเก้าเป็นเจ้าของสื่อนั้นอย่างแท้จริง อย่างวิทยุชุมชน สถานีโทรทัศน์ชุมชน ...

กระบวนการเรียนรู้ของชุมชนตำบลบางสระเก้า จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า นี่คือพลังของข้อมูลอย่างแท้จริง ชุมชนไม่ได้ออกแบบกิจกรรม หรือแผนงานใดๆ ที่เลื่อนลอย ห่างไกลจากรากเหง้า วิถีของตัวเอง เพราะทุกอย่างที่เกิดขึ้น ล้วนมีข้อมูลยืนยัน มีข้อมูลแสดงผลที่ทำให้คนในชุมชนมองเห็นภาพของชุมชนร่วมกัน อันนำมาสู่ความรู้สึกร่วม และเหนืออื่นใดความรู้สึกที่ว่าพวกเขาต่างก็เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของชุมชน และชุมชนจะเข้มแข็งไม่ได้เลยหากคนในชุมชนมองไม่เห็นความสำคัญของตนเอง ความสำคัญของการมีส่วนร่วมในการจัดการชุมชนตนเองนั่นเอง

แลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องราวของชุมชนตำบลบางสระเก้า ได้ที่
2/1 หมู่ 2 ต.บางสระเก้า  อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี  โทร. 039 - 450 - 923

หมายเลขบันทึก: 255291เขียนเมื่อ 13 เมษายน 2009 02:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2012 01:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ผมก็คนบางสระเก้า รู้สึกภูมิใจที่ได้เกิดที่นั่น ความสัมพันธ์ฉันญาติพี่น้องมีมาเนิ่นนานและไม่เคยเปลียนแปลง มีระบบการดูแลของคนในชุมชนที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะชุมชน เป็นที่ยอมรับของชุมชนรอบข้าง ครับภูมิใจและไม่อายใครครับที่เกิดเป็นคนบางสระเก้า

จาก คนบ๊างเก้า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท