ออกแบบบางสระเก้า ด้วยพลังข้อมูล (1)


เมื่อชุมชนพลิกฟื้น เปลี่ยนแปลงตัวเองโดยอาศัยพลังของข้อมูล

ชุมชนสวนผลไม้ ริมป่าชายเลน ที่มีความเข้มแข็งที่เกิดจากกระบวนการเรียนรู้ของคนในชุมชน ที่เรียนรู้ที่จะจัดการกับปัญหา เรียนรู้ที่จะจัดการตนเองอย่างเท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงของสังคม ของโลก          "บางสระเก้า"
          ตำบลบางสระเก้า อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี เป็นตำบลเล็กๆ ประกอบด้วย หมู่บ้าน 5 หมู่บ้าน มีประชากรราว 2,204 คน  สภาพพื้นที่ของตำบลบางสระเก้า อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี  อยู่ใกล้ทะเลมีพื้นที่ป่าชายเลน และมีที่ดอนไม่มากนัก หากแต่มีพื้นที่เพียงพอสำหรับทำการเกษตร โดยที่ชาวบ้านจะกั้นคันดินเพื่อกันไม่ให้น้ำเค็มเข้านา มีการทำนาปีละหนึ่งครั้ง เย็บตับใบจาก เพื่อมุงหลังคา ทอเสื่อกกเป็นอาชีพเสริม และซ่อมแซมบ้านเรือน เป็นต้น ทั้งนี้ ชุมชนตำบลบางสระเก้า มีวิถีชีวิตอย่างเรียบง่าย ใช้ภูมิปัญญาชุมชนในการประกอบอาชีพ พึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในชุมชนในการดำรงชีวิต มีการสืบทอดความรู้ ภูมิปัญญาชุมชน อย่างต่อเนื่อง โดยมีกระบวนการเรียนรู้ เรื่องผลิตภัณฑ์ การแปรรูปอาหารทะเล การทำกะปิ งานฝีมือชุมชน          
         แม้ว่า บางสระเก้าจะมีต้นทุนชีวิตที่สำคัญมากมายในการดำรงชีวิต หากแต่กระแสของความเปลี่ยนแปลงก็กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โฉมหน้าของชุมชนแห่งนี้เปลี่ยนไป

เลิกนาข้าว ทำนากุ้ง
         การเติบโตของระบบเกษตรกรรมเชิงพาณิชย์ ทำให้ชุมชน ครัวเรือนจำนวนมากเริ่มมีการเช่าที่นาเพื่อขยายพื้นที่ทางการเกษตร จ้างแรงงานทางการเกษตร เริ่มใช้สารเคมีเพื่อเร่งการเจริญเติบโตของผลผลิต ขณะเดียวกัน นโยบายการส่งเสริมเกษตรกรทำนากุ้ง ก็เป็นสาเหตุที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรให้ชุมชนต้องปรับเปลี่ยนวิถีการผลิต จากการทำนาข้าวกลายเป็นนากุ้ง พื้นที่ที่เคยทำนาข้าวถูกปรับเปลี่ยนเป็นนากุ้ง
        ในช่วงปีพ.ศ.2529 เกษตรกรบางรายขายที่นาให้กับนายทุนที่เข้ามาทำนากุ้งในชุมชน  ถึงแม้ว่าการทำนากุ้งจะมีต้นทุนการผลิตที่สูงมาก แต่ก็สามารถทำกำไรในระยะสั้นได้ดีกว่าการทำนาข้าว จึงส่งผลให้เกษตรกรบางรายเลิกทำนาหันมาทำนากุ้งแทน ผลกระทบสำคัญจากปรากฎการณ์ดังกล่าวคือ การบุกรุกพื้นที่บริเวณป่าชายเลนอย่างหนัก เพื่อขยายพื้นที่ทำนากุ้ง รวมทั้งมีการเปลี่ยนผู้ถือครองที่ดินจากคนในชุมชนเป็นนายทุนผู้เข้าลงทุนทำนากุ้งในชุมชน ในขณะเดียวกัน ชุมชนเองก็ไม่รู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงนั้นๆ ก่อให้เกิดผลกระทบระยะยาวต่อระบบนิเวศน์ชุมชน เนื่องจากการทำนากุ้งในระยะเวลายาวนานนั้นจะทำให้สภาพดินเสื่อมจนไม่สามารถทำการเกษตรใดๆ ได้อีก ขณะเดียวกัน ป่าชายเลนก็ถูกทำลายจากการทำนากุ้งเหล่านั้น เมื่อป่าเสื่อมสภาพย่อมทำให้จำนวนสัตว์น้ำลดลง และบางชนิดสูญพันธ์

ซ้ำร้าย จากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ก็ส่งผลทำให้ต้นทุนการทำนากุ้งสูงขึ้นจากเดิม เพราะบ่อกุ้งขาดสารอาหารเนื่องจากสภาพดินเสื่อมคุณภาพ ทำให้เกษตรกรต้องซื้ออาหารเพื่อเลี้ยงกุ้ง และเกิดค่าใช้จ่ายในการดูแลสภาพแวดล้อมบ่อกุ้งมากขึ้น ในขณะที่ราคารับซื้อกุ้งในท้องตลาดยังเท่าเดิม และในบางครั้งราคาก็ตกต่ำมากมาย จากหลายสาเหตุ รวมทั้งการเกิดอุทกภัยที่ส่งผลกระทบหนักหนา ทำให้เกษตรกรนากุ้งประสบปัญหาล้มละลาย เกิดภาวะหนี้สิน แหล่งอาหารชุมชนถูกทำลาย เกษตรกรไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง

ข้อมูลสะท้อนปัญหา ตระหนักรู้เพื่อแก้ไข
จากปัญหาดังกล่าว สถานการณ์ที่ชุมชนต้องเผชิญอยู่ ทำให้ชุมชนเริ่มสนใจที่จะค้นหาสาเหตุของปัญหาที่แท้จริง นำมาสู่การพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์กันอย่างกว้างขวางในชุมชน ก่อเกิดการรวมตัวกันของชาวบ้าน แกนนำ เพื่อค้นหาแนวทางการแก้ปัญหาความยากจน เกิดความเข้าใจและตระหนักในปัญหาที่เกิดขึ้นโดยใช้ข้อมูลที่เกิดจากการสืบค้นเป็นหนทางในการหาแนวทางแก้ปัญหา จากข้อมูลทำให้ชุมชนพบว่า การแก้ไขปัญหาความยากจน หนี้สินของชุมชนนั้น ต้องแก้โดยใช้ศักยภาพชุมชน ศักยภาพอันหมายถึงต้นทุนต่างๆ ในชุมชน อันนำมาสู่แนวคิดที่จะการรื้อฟื้นวิถีชุมชน ภูมิปัญญา ฟื้นฟูสภาพแวดล้อม

เริ่มต้นตั้งแต่การค้นพบสืบค้นต้นทุนทางสังคมของตัวเอง พบว่า บางสระเก้ามีทุนภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สำคัญ เช่น การทอเสื่อกก เนื่องจากสภาพแวดล้อมของพื้นที่มีต้นกกขึ้นเป็นจำนวนมาก การทอเสื่อกกเป็นทั้งวิถีชีวิตของชาวชุมชนและเป็นอาชีพเสริม หากแต่เมื่อเกิดนากุ้ง พื้นที่ที่เคยมีต้นกกขึ้นถูกทำลายไปจำนวนมาก ทำให้การทอเสื่อกกลดน้อยลง ขณะเดียวกัน ฐานทรัพยากรฐานชีวิตที่สำคัญอย่างป่าชายเลนของชุมชน ก็มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด หากแต่การทำนากุ้งได้ทำลายความอุดมสมบูรณ์ของป่าที่ชุมชนเคยอิงอาศัย พึ่งพิง ความเป็นอยู่ที่เคยจับหาสัตว์น้ำ ใช้ไม้ต่างๆ จากป่าสูญหายไป ด้วยเหตุนี้ จากข้อมูลสะท้อนว่าหากต้องการฟื้นฟูชีวิตของชุมชน ควรที่จะเริ่มต้นจากฐานทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน ทำให้แผนชุมชนในการฟื้นฟู จัดการทรัพยากรธรรมชาติและภูมิปัญญาควบคู่กัน เกิดกิจกรรม กระบวนการของชุมชนในการอนุรักษ์ป่าชายเลน

"ป่าตะกาดใหญ่"
ป่าตะกาดใหญ่นั้น นับได้ว่าเป็นป่าชายเลนผืนสุดท้ายของชุมชน มีเนื้อที่ 100 ไร่เศษ จากสภาพป่าชายเลนเสื่อมโทรม นำมาสู่การร่วมอนุรักษ์ดูแลป่า ก่อเกิดเป็นเขตป่าชุมชน ป่าตะกาดใหญ่ ที่เป็นเขตอนุรักษ์พันธุกรรมพืชไม้ป่าชายเลน และฟื้นฟูสภาพป่าชายเลนเพื่อการศึกษาเรียนรู้และสร้างจิตสำนึกของชุมชนให้เห็นคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ

ความสำคัญของป่าตะกาดใหญ่ นับว่าเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับพืชสมุนไพรน้ำเค็ม และเป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ แหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ และเมื่อสัตว์น้ำโตขึ้นแล้ว ชาวบ้านบางสระเก้าก็สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ รวมทั้งการอนุรักษ์สัตว์น้ำ ก่อเกิดเป็นโครงการ "บ้านปลา - ธนาคารปู" โดยการสร้าง "บ้านปลา" นั้นเป็นการสร้างปะการังเทียมไว้ในลำคลอง ให้สัตว์น้ำได้มีที่พึ่งพาอาศัยโดยใช้วัสดุเหลือใช้ เช่น ยางนอกรถยนต์ มามัดผูกติดกันเป็นลูกเต๋า เทปูนด้านล่างพื้นเพื่อเป็นฐานถ่วงน้ำหนักไม่ให้ลอยไปในกระแสน้ำ แล้วจึงนำไปวางกองรวมกันในลำคลองลึกอย่างน้อย 1.5 เมตร ทั้งนี้หากไม่ใช้ยางนอกรถยนต์ ก็อาจใช้ปูนซีเมนต์หล่อเป็นลูกเต๋าแบบโปร่งกลาง แต่ต้นทุนในการทำจะสูงกว่าการใช้ยางรถยนต์

นอกจากการทำบ้านปลา เพื่ออนุบาลปลาเล็กปลาน้อยแล้ว ปูทะเลก็เป็นสัตว์น้ำที่สำคัญอีกชนิดของบางสระเก้า โดยชาวบ้านนิยมนำมาทำเป็นอาหาร โดยเฉพาะแม่ปูที่มีไข่แก่เต็มที่อยู่ในกระดอง ที่เรียกว่า ปูไข่  โดยในช่วงเดือนตุลาคมนั้นจะเป็นช่วงฤดูการวางไข่ของปูทะเลแต่เมื่อชาวบ้านนำมาทำอาหารกันเป็นจำนวนมาก ย่อมส่งผลทำให้ปูทะเลลดน้อยลง ด้วยเหตุนี้เองจึงก่อเกิดเป็นกิจกรรม "ธนาคารปู"

ความหมายของธนาคารปูบ้านบางสระเก้านั้น คือ สถานที่ฝากเลี้ยงแม่ปูไข่ เพื่อรอวันที่จะออกดอกผลเป็นลูกปูตัวเล็กๆ เพื่อค่นกลับสู่ธรรมชาติ โดยในกระบวนการจัดการอนุรักษ์อนุบาลพันธุ์ปูนั้น กลุ่มอนุรักษ์พิทักษ์สิ่งแวดล้อม หมู่ 5 ใช้วิธีการนำไม้ไผ่มาปักติดกันเป็นรูปคอกสี่เหลี่ยมในบริเวณชายคลองที่มีน้ำทะเลท่วมถึงในเวลาน้ำขึ้น เพราะตามธรรมชาติของปูทะเลนั้นจะอาศัยอยู่ในรูเมื่อเวลาน้ำลด และจะออกมาหาอาหารเมื่อน้ำขึ้นท่วมถึงปากรู หลังจากนั้นสมาชิกกกลุ่มก็จะหาแม่ปูมาขังเลี้ยงไว้ โดยใช้วิธีการทั้งขอรับบริจาคและรับซื้อจากชาวบ้าน เมื่อแม่ปูออกไข่ ไข่ซึ่งมีขนาดเล็กก็จะหลุดลอยไปตามกระแสน้ำเพื่อเจริญเติบโตเป็นอาหารสำหรับชุมชนต่อไป

โจทย์ปัญหาสำคัญของชุมชนนั่นคือ ปัญหาความยากจน หนี้สินของชุมชน ทั้งนี้ จากการดำเนินการศึกษาข้อมูลสภาพกลุ่มการเงินของตำบลบางสระเก้า พบว่า  บ้านบางสระเก้ามีการออมเงินในรูปของเครือข่ายการออมทรัพย์ในระดับตำบล จำนวน 10 กลุ่ม กองทุนออมทรัพย์มีเงินทุนหมุนเวียนมากถึง 15,522,056.44 บาท โดยแยกเป็น                                                
   - กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต จำนวนสมาชิก 250 คน มีเงินหมุนเวียน 2,824,469.66 บาท
   - กลุ่มการกุศล จำนวนสมาชิก 718 คน มีเงินหมุนเวียน 684,164.62 บาท                           
   - กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน หมู่ที่ 1 จำนวนสมาชิก 180 คน มีเงินหมุนเวียน 1,802,483.85 บาท        
   - กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน หมู่ที่ 2 จำนวนสมาชิก 110 คน มีเงินหมุนเวียน 1,383,469.77 บาท
   - กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน หมู่ที่ 3 จำนวนสมาชิก 88 คน มีเงินหมุนเวียน 1,471,494.29 บาท
  - กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน หมู่ที่ 4 จำนวนสมาชิก 98 คน มีเงินหมุนเวียน 1,382,367 บาท
  - กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน หมู่ที่ 5 จำนวนสมาชิก 107 คน มีเงินหมุนเวียน 1,522,852.40บาท
  - กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์วัดบางสระเก้าจำนวนสมาชิก 204 คนมีเงินหมุนเวียน 1,682,304 บาท
  - กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต(สุริยา)  จำนวนสมาชิก 90 คน มีเงินหมุนเวียน 1,554,500 บาท  
  -  กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต (มะลิ) จำนวนสมาชิก 210 คน มีเงินหมุนเวียน 1,213,950 บาท

จากข้อมูลการออมของประชาชนตำบลบางสระเก้า พบว่า สมาชิกหนึ่งคนจะสมัครเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มการเงินมากกว่าหนึ่งกลุ่ม โดยในการสมัครเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มการเงินนั้น ชาวบ้านในตำบลบางสระเก้าไม่ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกทุกคน แต่หากนับเป็นจำนวนครัวเรือน กลับพบว่า ครัวเรือนในตำบลบางสระเก้าได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มการเงินกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งครบทุกครัวเรือน โดยการเข้ามาเป็นสมาชิกของกลุ่มการเงินต่างๆ นั้น สมาชิกจะได้รับผลประโยชน์ในส่วนของการปันผลรายปี รวมทั้งสวัสดิการเมื่อสมาชิกป่วยและเสียชีวิต จากเงินสวัสดิการของแต่ละกองทุนที่เป็นสมาชิก

            ข้อมูลดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่า ภายในชุมชนมีเงินหมุนเวียนจำนวนมาก แต่กระจัดกระจายเป็นกลุ่มกองทุนต่างๆ ทำให้ขาดพลังในการบริหารจัดการ จากเวทีพูดคุยกันอย่างสม่ำเสมอที่ชุมชนใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารข้อมูล แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับชาวชุมชน จึงได้นำประเด็นดังกล่าวเข้าสู่การแลกเปลี่ยนอย่างมีส่วนร่วม นำมาสู่การเกิดแนวคิดในการจัดตั้งธนาคารชุมชน ที่จะเข้ามาดูแล บริหารจัดการเงินทุนของชุมชน โดยคนในชุมชน

"สนาคารชุมชน"
ทั้งนี้ สถาบันการจัดการการเงินชุมชนนั้น ก่อเกิดมาจากการบูรณาการองค์กรการเงินที่หลากหลายภายในชุมชน เช่น กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มองค์กรการเงิน กองทุนหมู่บ้าน กลุ่มสัจจะ กลุ่มอาชีพ ฯลฯ  ด้วยความหลากหลายจึงเป็นคำต้นของคำว่า "สห" ส่วนการออมเงินอันเป็นจุดมุ่งหมายหลักนั้น คำว่า "เงิน" คือ ธนบัตร ขณะเดียวกันที่ตั้งของสถาบันนี้ คือการเป็นส่วนร่วมของชุมชน จึงนำคำว่า สห(สะ-หะ) ธน(ธะ-นะ) และอาคาร มารวมกันก่อเกิดเป็นคำว่า  "สนาคาร"  โดยมีจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล และมีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธกส.)เข้ามาเป็นพี่เลี้ยง จนสนาคารก่อเกิดเป็นรูปธรรมขึ้นมา ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2548 บนหลักการแนวคิด ที่ว่า

  • " ออมคน" สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดำเนินการและบริหารจัดการ เริ่มจากการรับรู้ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมติดตาม ตรวจสอบ ร่วมรับผลประโยชน์
  • " ออมเงิน" สร้างกระบวนการเรียนรู้การบริหารจัดการระบบการเงินของชุมชน
  • " ออมน้ำใจ" สร้างจิตสำนึกร่วมกันของประชาชน ในการเป็นเจ้าของสถาบันการเงินชุมชน

จากข้อมูลหนี้สินชุมชนบางสระเก้า พบว่า หนี้สินโดยรวมของชุมชนมีอยู่กว่า 40 ล้านบาท(ปัจจุบัน
ปีพ.ศ.2551 มีหนี้สิน 17 ล้านบาท) ซึ่งเป็นหนี้สินที่กระจัดกระจายอยู่ในธนาคาร องค์กรการเงินภายนอก ขณะเดียวกันเงินทุนของชุมชนเองก็มีหลายกลุ่มก้อน กระจัดกระจายทำให้ขาดพลังในการนำมาแก้ไขปัญหา จากจุดดังกล่าวนำมาสู่การบูรณาการเงินทุน และโอนหนี้สินทั้งหมดมาไว้ในสนาคาร โดยคณะกรรมการดำเนินงานของสถาบันการเงินชุมชน หรือสนาคารชุมชน จะต้องทำงานในการขยายแนวคิดกับชาวบ้านเพื่อให้เข้ามาสู่กระบวนการจัดการของ สนาคารร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินร่วมกันอย่างเป็นระบบนั่นเอง

กลไกหนึ่งที่คณะกรรมการดำเนินงานสถาบันการเงินชุมชนใช้ในการขยายฐานคิดในการออมเงินร่วมกัน คือ การเปิดคลีนิกองค์กรการเงิน เพื่อช่วยเหลือจัดการหนี้สินในระดับครัวเรือนและการจัดการระบบเศรษฐกิพอเพียง ด้วยมองว่าเรื่องหนี้สินเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สุดของชาวบ้าน จะให้ชาวบ้านตระหนักและเข้าใจร่วมกันต้องใช้ประเด็นที่ใกล้ตัวในการสื่อสาร และนำเสนอรูปธรรมการแก้ไขให้ปรากฎ

หมายเลขบันทึก: 255290เขียนเมื่อ 13 เมษายน 2009 02:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 พฤษภาคม 2012 15:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ผมก็ลูกหลานบ๊างงเก้า คร๊าบบบ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท