ประชุมเตรียมการ IQA และ EQA ม.นเรศวร (พูดคุยกันเรื่องอะไรบ้าง) : (1)


วันอังคารที่ 25 เมษายน พ.ศ.2549 นับว่าเป็นวันสำคัญวันหนึ่งของการดำเนินงานด้านการประกันคุณการศึกษาของมหาวิทยาลัยนเรศวร เนื่องจากเป็นวันเริ่มต้นในการที่ผู้รับผิดชอบ QA ทั้งระดับผู้บริหาร และ QA Staff จากทุกคณะวิชาได้ร่วมประชุมเตรียมการประเมินคุณภาพ IQA และ EQA พร้อมทั้งได้ร่วมพูดคุยและร่วมกันหาแนวทางในการดำเนินงาน QA ในรอบต่อไป

     เมื่อวานนี้  (วันอังคารที่ 25 เมษายน พ.ศ.2549) นับว่าเป็นวันสำคัญวันหนึ่งของการดำเนินงานด้านการประกันคุณการศึกษาของมหาวิทยาลัยนเรศวร  เนื่องจากเป็นวันเริ่มต้นในการที่ผู้รับผิดชอบ QA ทั้งระดับผู้บริหาร  และ QA Staff ของทุกคณะวิชา  รวมทั้งสิ้น 50 ท่าน (ซึ่งในครั้งนี้ท่านรศ.ดร.นุวัตร วิศวรุ่งโรจน์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ได้เดินทางมาเข้าร่วมประชุมด้วยตนเอง)  ได้ร่วมประชุมเตรียมการประเมินคุณภาพภายใน (IQA) รอบที่ 6 และ การประเมินคุณภาพภายนอกโดย สมศ. รอบสอง (EQA) พร้อมทั้งได้ร่วมพูดคุยและร่วมกันหาแนวทางในการดำเนินงาน QA ในรอบต่อไปอีกด้วย  
     โดยการประชุมเริ่มเวลา 09.00 น. โดยท่านอาจารย์วิบูลย์ได้กล่าวรายงานการดำเนินงานด้านการประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยนเรศวรที่ผ่านมาและการดำเนินงานในช่วงต่อไป  เสนอต่อท่านอธิการบดี ซึ่งได้ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีในวันนี้  รวมทั้งท่านคณบดีคณะศึกษาในฐานะผู้เอื้อเฟื้อสถานที่  และหลังจากนั้นอาจารย์วิบูลย์ก็ได้ร่วมพูดคุยสลับกับการตอบข้อซักถามร่วมกับผู้เข้าร่วมประชุม  ซึ่งดิฉันขออนุญาตเล่าต่อมายังทุกท่านซึ่งจะพยายามให้ได้รายละเอียดครบถ้วนมากที่สุด  หากขาดหายไปบ้างดิฉันขอเชิญชวนท่านที่ได้เข้าร่วมประชุมด้วยกันเข้ามาร่วมเติมเต็มได้นะคะ  ดิฉันขอเล่าโดยแบ่งออกเป็น 5 หัวข้อใหญ่ๆ  ดังนี้ค่ะ 
     1.  ผลการเมินคุณภาพภายใน (IQA)5รอบ (ปี 2544 - 2548)
     2.  ผลการประเมินคุณภาพภายนอก โดย สมศ.(รอบแรก)
     3.  แนวคิด หลักการ วิธีการและเกณฑ์การประเมินคุณภาพภายใน (IQA) รอบที่ 6
     4.  มาตรฐาน ตัวบ่งชี้ และเกณฑ์การประเมินคุณภาพภายนอก โดย สมศ.(รอบสอง)
     5.  เป้าหมายต่อไปในการดำเนินงานด้านการประกันคุณภาพหลังจากรับการประเมินจาก
          สมศ. (รอบสอง) เกณฑ์การบริหารจัดการเพื่อความเป็นเลิศ (TQA)

     โดยในบันทึกนี้ดิฉันต้องขอเล่าถึงหัวข้อที่ 1 ถึง 3 ก่อนนะคะ  สำหรับหัวข้อที่ 4 และ 5 จะขออนุญาตนำมาเล่าในโอกาสต่อไปค่ะ

     1.  ผลการดำเนินงาน IQA 5 รอบ (ปี 2544 - 2548)
          ซึ่งดิฉันขอทบทวนตามที่ท่านอาจารย์วิบูลย์ได้เล่าไว้อีกครั้งนะคะ  นับตั้งแต่ต้นปี 2544 เป็นต้นมาจนถึงปี 2548 มหาวิทยาลัยได้มีการประเมินคุณภาพภายในมาแล้วรวม 5 รอบ และได้มีการรวบรวมผลการประเมินเพื่อจัดทำบทสรุปสำหรับผู้บริหาร และนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย  พร้อมทั้งแจ้งให้กับผู้เกี่ยวข้องทราบเพื่อนำผลการประเมินไปพัฒนาคุณภาพงานของตนเองในทุกรอบการประเมิน ซึ่งผลการประเมินในภาพรวมดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง  และแนวโน้มที่จะดียิ่งขึ้นในรอบปีต่อ ๆ ไป  โดยมีคะแนนเฉลี่ยตั้งแต่ปี 44 – 48 คือ 2.3, 2.6, 2.9, 3.5, 4.0 ตามลำดับ  โดยในปีการศึกษา 2549 นี้เราได้ตั้งเป้าไว้ที่ 4.5 ซึ่งอาจารย์วิบูลย์กล่าวว่าเราจะไม่เน้นที่ค่าเฉลี่ย (Average) มากนัก  แต่ขอให้ทุกคนร่วมกันพัฒนาให้คะแนนในทุกตัวบ่งชี้ไม่ต่ำกว่า 3 ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐานของมหาวิทยาลัย
     นอกจากนี้อาจารย์วิบูลย์ยังได้นำ River Diagram และ Stair Diagram มาทบทวนให้เราได้ดูกันรวมทั้งอธิบายให้กับผู้ที่เข้ามาทำ QA ใหม่ๆ ได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน  โดยสรุปได้ว่า  พัฒนาการของการประกันคุณภาพในม.นเรศวร  จากปีแรก ปี 44 – ปี 48 ผลการประเมินที่แสดงเป็นรูป “ธารปัญญา” (River Diagram) แสดงได้ว่าฝั่งบนของแม่น้ำจะค่อยๆ ปรับตัวสูงขึ้นจนกระทั่งเป็นแนวเส้นตรงที่ระดับผลการประเมินสูงสุด  แสดงให้เห็นการพัฒนาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันคุณภาพที่มีมากขึ้นของคนในมหาวิทยาลัย  ส่วนในฝั่งล่างของแม่น้ำมีการปรับตัวไม่มากเท่าฝั่งบน  เนื่องจากมหาวิทยาลัยมีการปรับเกณฑ์ให้แข็งขึ้นในทุกๆ ปี  และมีคณะวิชาจัดตั้งใหม่บางคณะที่ทำการประเมินเป็นครั้งแรกในปีนั้นๆ  นอกจากนี้จากการแสดงข้อมูลด้วยรูป “บันไดแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้” (Stair Diagram) ทำให้เห็นชัดว่ามีผู้พร้อมให้และผู้ใฝ่รู้ค่อนข้างชัดเจนในองค์ประกอบต่างๆ  (ซึ่งในรอบปีที่ผ่านมาและก้าวต่อไปเราจะเน้นการใช้กระบวนการ KM เป็นเครื่องมือเพื่อให้เกิดการพัฒนาแบบก้าวกระโดด)

     2.  ผลการประเมินคุณภาพภายนอก โดย สมศ.(รอบแรก)
          ผลการประเมินในภาพรวมพอจะสรุปได้ว่า การประเมินทั้งสิ้น 8 มาตรฐาน ของมน. มีคุณภาพโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี  แต่ในมาตรฐานที่ 4 ด้านการวิจัย อยู่ในระดับที่ควรปรับปรุง  ซึ่งในส่วนนี้เป็นเรื่องที่เราต้องร่วมกันพัฒนาอย่างเร่งด่วนเนื่องจากเราเป็นมหาวิทยาลัยใหม่  อาจารย์ก็มีภาระงานสอนค่อนข้างมาก  และบางส่วนก็กำลังลาศึกษาต่อ  ส่วนที่ดีมากเป็นพิเศษ คือ มาตรฐานที่ 8 ระบบการประกันคุณภาพภายใน  ซึ่งเราได้ร่วมกันดำเนินการอย่างเต็มที่มาเป็นเวลาหลายปี  จนถือได้ว่ามีวัฒนธรรมในการประเมินในองค์กร และเป็นแบบอย่างให้กับมหาวิทยาลัยอื่นได้ (ที่มา : รายงานการประเมินคุณภาพภายนอกของสถานศึกษา ม.นเรศวร จาก สมศ.)

     3.  แนวคิด หลักการ วิธีการและเกณฑ์การประเมินคุณภาพภายใน (IQA) รอบที่ 6
          สำหรับการประเมินคุณภาพภายใน (IQA) รอบที่  6 อาจารย์วิบูลย์ได้อธิบายถึงรายละเอียดใน SAR/CAR/YAR Form 2 ประจำปีการศึกษา 2548  พอสรุปได้ว่า เกณฑ์การประเมินใน Part A ไม่แตกต่างจากเดิมมากนักโดยเพิ่มเพียงดัชนีที่ 9.3 การจัดการความรู้ในองค์กร  แต่ใน Part B เปลี่ยนแปลงค่อนข้างมากตามเกณฑ์ในระดับประเทศ (สมศ.) ซึ่งท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  <Click>  และสามารถ Download แบบฟอร์มดังกล่าวได้ที่ WebSite ของ QAU เหมือนเช่นเคยนะคะ

     ดิฉันขออนุญาตเล่าไว้เพียงเท่านี้ก่อนนะคะ  สำหรับในหัวข้อที่
     4.  มาตรฐาน ตัวบ่งชี้ และเกณฑ์การประเมินคุณภาพภายนอก โดย สมศ.(รอบสอง) และ
     5.  เป้าหมายต่อไปในการดำเนินงานด้านการประกันคุณภาพหลังจากรับการประเมินจาก 
          
สมศ. (รอบสอง) "เกณฑ์การบริหารจัดการเพื่อความเป็นเลิศ (TQA)" 
     จะขอนำมาเล่าในโอกาสต่อไป
ค่ะ
 

หมายเลขบันทึก: 25513เขียนเมื่อ 26 เมษายน 2006 11:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 15:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท