เยี่ยมชมโรงเรียนที่นิวซีแลนด์


ทุกแห่งมีจุดเด่นที่แตกต่างกันออกไป แต่ที่เหมือนกันอย่างหนึ่งคือมาตรฐานทางการศึกษาสูง

เยี่ยมชมโรงเรียนที่นิวซีแลนด์

14 – 24 มีนาคม 2552

            เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2552 ผมได้เดินทางพร้อมคณะครูและผู้บริหารของวชิราวุธวิทยาลัยไปยังประเทศนิวซีแลนด์เพื่อเยี่ยมชมโรงเรียนต่างๆ ที่เรามีนักเรียนหรือเคยส่งเด็กไปเรียนที่โรงเรียนเหล่านั้น รวมทั้งสิ้น 7 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียน Nelson College, Marlborough Boys’ College, Rathkeale College, Palmerston North Boys’ High School, Hamilton Boys’ High School, Rangitoto College และ Westlake Boys’ High School

            เราออกเดินทางจากกรุงเทพฯ โดยสายการบินไทยไปลงที่เมือง Auckland ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของประเทศ มีประชากรประมาณ 1 ล้านคน (นิวซีแลนด์มีขนาดใกล้เคียงกับญี่ปุ่น แต่มีคนรวมทั้งประเทศเพียง 4 ล้านคนเศษ หรือแค่ครึ่งเดียวของกรุงเทพฯ) จากนั้นเราต่อเครื่องบินในประเทศจากอ๊อคแลนด์ซึ่งอยู่ทางเกาะเหนือไปลงที่ Nelson ซึ่งอยู่เกาะใต้ โดยเราเดินทางถึง Nelson ในช่วงเย็นของวันที่ 15 มี..52

            เมื่อถึง Nelson คณะก็ได้เช่ารถเพื่อใช้เป็นพาหนะเดินทาง โดยจะขับไปแวะเยี่ยมโรงเรียนต่างๆ ตามเส้นทางจนกลับไปถึง Auckland และคืนรถที่สนามบินก่อนที่จะบินกลับกรุงเทพฯ เราเช่ารถ Toyota Previa ซึ่งเป็นรถตรวจการ (MPV) ที่นั่งกันสบายๆ 5 คนพร้อมกระเป๋าสัมภาระ ซึ่งรวมทั้งของที่ระลึกที่จะนำไปมอบให้โรงเรียนต่างๆ ตลอดจนของฝากสำหรับนักเรียนของเราที่กำลังศึกษาอยู่ในนิวซีแลนด์ซึ่งมีราว 20 คน

            วันจันทร์ที่ 16 มี.. อากาศตอนเช้าตรู่ค่อนข้างเย็น คือประมาณ 10 องศา แต่ท้องฟ้าแจ่มใส ช่วงเช้านี้เราเข้าเยี่ยมชมโรงเรียน Nelson College ซึ่งเป็นโรงเรียนชายล้วนของรัฐบาลที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศ คือก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.. 1856 หรือประมาณ 153 ปีมาแล้ว มีนักเรียนทั้งประจำและไปกลับรวม 1,000 คนเศษ จากนั้นคณะได้เดินทางต่อไปยังเมือง Blenheim ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงเศษ เพื่อเข้าเยี่ยมชมโรงเรียน Marlborough Boys’ College ซึ่งเป็นโรงเรียนคู่แข่งของ Nelson และเป็นโรงเรียนชายล้วนเช่นกัน มีนักเรียนราว 950 คน ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนไป-กลับ แต่มีหอพักสำหรับนักเรียนประจำซึ่งใช้ร่วมกันกับโรงเรียน Marlborough Girls’ College โดยจัดที่พักแยกเป็นสัดส่วนออกจากกัน แต่ใช้ห้องอาหารและห้องสันทนาการ (Common Room) ร่วมกัน

            ทั้งเมือง Nelson และ Blenheim นั้น ตั้งอยู่ทางเหนือสุดของเกาะใต้ มีภูมิประเทศสวยงามมาก โดยเป็นที่ราบและหุบเขาริมทะเล บางช่วงก็เป็นซอกเขาที่มีน้ำทะเลเข้าถึง และมีแก่งเกาะมากมาย นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่เพาะปลูกองุ่นและผลิตไวน์ที่มีชื่อเสียงที่สุดของนิวซีแลนด์อีกด้วย และทางโรงเรียน Marlborough ได้เลี้ยงอาหารกลางวันรับรองคณะที่ไร่องุ่น Montana นอกเมือง Blenheim ซึ่งจัดทำเป็นร้านอาหารและขายของที่ระลึก ตลอดจนผลิตภัณฑ์ของไร่ ท่ามกลางต้นองุ่นและพรรณไม้อื่นๆ เช่น กุหลาบ และพุ่ม Lavender ซึ่งกำลังออกดอกและส่งกลิ่นหอมไปทั่ว ส่วนอาหารที่นั่นก็มีให้เลือกหลากหลาย รวมทั้งเนื้อแกะ กวาง เนื้อวัว ซึ่งมีเลี้ยงกันมากในเขตนี้ ตลอดจนอาหารทะเลต่างๆ เนื่องจากอยู่ห่างทะเลไม่ถึง 10 กิโลเมตร

            วันรุ่งขึ้น เราต้องตื่นตั้งแต่ตี 4 เพื่อไปขึ้นเรือเฟอรี่เที่ยว 6 โมงเช้า ข้ามจากเกาะใต้ไปเกาะเหนือที่กรุง Wellington เมืองหลวงของนิวซีแลนด์ อากาศค่อนข้างหนาวจนต้องเปิดเครื่องทำความอุ่นในรถ เมื่อเราเดินทางไปถึงเมือง Picton ซึ่งเป็นท่าเรือน้ำลึกก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน คือเรือเที่ยวนี้และเที่ยวต่อไปเต็ม เจ้าหน้าที่บอกให้เราคอยไปเที่ยวบ่ายโมงจึงจะมีที่ว่าง ซึ่งจะทำให้เสียเวลาไปอีกครึ่งค่อนวัน ดังนั้น เราจึงเสี่ยงไปเข้าแถวรอขึ้นเรือแบบ Stand-by ซึ่งมีรถรออยู่ 5 คัน โดยเราเป็นคันสุดท้าย แต่โชคดีที่ยังพอมีที่ว่างที่ชั้นล่างสุด ซึ่งปกติเป็นที่สำหรับรถไฟ เราก็เลยได้ข้ามไป Wellington เช้าวันนั้น

            เรือ Ferry ที่ใช้ข้ามช่องแคบ Cook Straight ระหว่างเกาะเหนือกับเกาะใต้ของนิวซีแลนด์นั้น เป็นเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ สามารถจุรถยนต์และรถบรรทุกได้ร่วมร้อยคัน และชั้นล่างสุดสำหรับรถไฟได้อีกนับขบวน ส่วนด้านบนเป็นที่สำหรับผู้โดยสาร ซึ่งกว้างใหญ่ขนาดมีห้องอาหารแบบ Food Court โรงภาพยนตร์ขนาดเล็ก บาร์ และที่นั่งสำหรับผู้โดยสารหลายร้อยคน ซึ่งใหญ่กว่าเรือ Ferry ที่ข้ามจาก ดอนสักไปเกาะสมุย (ซึ่งผมเพิ่งข้ามมาเมื่อก่อนเดินทางไม่ถึงอาทิตย์) กว่า 10 เท่า  ใช้เวลาในการเดินทาง 3 ชั่วโมง โดยในช่วงแรกต้องล่องเรือผ่านช่องเขาที่ลักษณะคล้าย Fjord ซึ่งเรียกว่า Marlborough Sounds เป็นเวลาประมาณ 1 ชั่วโมงก่อนที่จะออกไปถึงบริเวณที่เป็นช่องแคบจริงๆ ทิวทัศน์ในช่วงนี้สวยงามมาก ทั้งด้านซ้ายและขวาเป็นภูเขาสูงต่ำ สลับด้วยชายหาดเล็กๆ บางแห่งก็มีกระท่อมหลังน้อยๆ อยู่อย่างโดดเดี่ยว ซึ่งคงจะเป็นบ้านของชาวประมงแถวนั้น ช่องทางที่เรือแล่นไปก็กว้างตั้งแต่ 300-400 เมตร จนไปถึงประมาณ 1,000 เมตรเห็นจะได้  และเป็นช่วงที่ดวงอาทิตย์กำลังขึ้นพอดี จึงเพิ่มความงดงามและความประทับใจให้กับการเดินทางครั้งนี้มาก เมื่อถึงส่วนที่เป็นช่องแคบ ก็ได้พบกับความตื่นตาตื่นใจอีก เมื่อมีปลาโลมาฝูงใหญ่ราว 30 ตัวว่ายผ่านใกล้ๆ กับตัวเรือ ก็ต้องนับว่าเป็นโชคดีของเราอีก เพราะวันนี้ทะเลเรียบ จึงไม่ทำให้รู้สึกคลื่นไส้เมาเรือแต่อย่างใด แตกต่างจากครั้งหนึ่งที่ผมเดินทางข้ามเรือเฟอรี่จากกรุง Oslo ประเทศนอร์เวย์ ไปเมืองนิวคาสเซิล ประเทศอังกฤษ ซึ่งตอนนั้นผมเมาเรือตลอดทั้งวันทั้งคืน จนไม่สามารถรับประทานอะไรได้เลย

 ช่องแคบ Cook Straight / Marlborough Sounds

            เมื่อเดินทางถึงกรุง Wellington ก็มีนักเรียนเก่าวชิราวุธฯ (OV) คนหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันเป็นนักเรียนทุนที่มหาวิทยาลัยวิคตอเรีย มารับและพาเที่ยวชมเมือง โดยเราไปดูพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ Te Papa และยอดเขา Victoria ซึ่งสามารถมองเห็นทุกส่วนของเมือง ได้อย่างชัดเจน กรุง Wellington นี้ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่มีลมแรงมากเป็นประจำ แต่วันที่เราไปถึงนั้นลมสงบและท้องฟ้าแจ่มใสอย่างน่าอัศจรรย์

              มีข้อสังเกตเกี่ยวกับชื่อของสถานที่ในบริเวณนี้ว่าเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นประเทศที่ผู้คนอพยบมาตั้งถิ่นฐานที่นิวซีแลนด์เป็นอย่างมาก คือ เมือง Nelson ตั้งชื่อตาม Lord Nelson วีรบุรุษแห่งราชนาวีอังกฤษ เช่นเดียวกับ Wellington ที่ตั้งตามชื่อ Duke of Wellington ที่สามารถเอาชนะกองทัพฝรั่งเศสของ Napoleon Bonaparte ส่วน Marlborough ก็ตั้งตามชื่อวีรบุรุษอีกคนหนึ่งของอังกฤษที่มีชัยเหนือทัพฝรั่งเศสของพระเจ้า Louis XIV คือท่าน Duke of Marlborough ในสงครามที่เมือง Blenheim ปัจจุบันอยู่ทางตอนใต้ของประเทศเยอรมันนี และเป็นที่มาของชื่อเมือง Blenheim เพียงแต่ที่นิวซีแลนด์ออกเสียงเมืองนี้ว่า เบลน-เน็ม สำหรับช่องแคบ Cook Straight ตั้งชื่อตามกัปตันนักสำรวจรอบโลก James Cook แต่ชื่อที่เราพบบ่อยที่สุดทุกๆ แห่งที่เราเดินทางไป ไม่ว่าจะเป็นเมืองเล็กหรือเมืองใหญ่คือ Victoria ซึ่งตั้งตามพระนามของ Queen Victoria ซึ่งครองบัลลังก์อังกฤษและเครือจักรภพยาวนานกว่า 60 ปี

            ช่วงเย็นของวันที่ 17 มี.ค. เราได้เดินทางต่อไปยังเมือง Masterton ซึ่งอยู่ห่างออกไปทางเหนือราว 90 กิโลเมตร และได้เข้าเยี่ยมชมโรงเรียน Rathkeale College ในวันต่อมา ที่นี่เป็นโรงเรียนประจำขององค์กรเอกชนสำหรับนักเรียนชายล้วนจำนวน 277 คน แต่สำหรับชั้นมัธยมปลาย (Year 12 – 13) มีนักเรียนหญิงจากโรงเรียน St. Matthew’s Collegiate ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำหญิงมาเรียนด้วย โดยจะอยู่ที่ Rathkeale เฉพาะเวลาเรียนเท่านั้น ส่วนกิจกรรมและกีฬาจะแยกออกจากกัน ที่นี่เคยเป็นฟาร์มมาก่อน มีพื้นที่ราว 300ไร่ ล้อมรอบไปด้วยป่าเขา และลำธาร การศึกษาของที่นี่ก็จัดได้ว่าก้าวหน้ามาก มีการนำกระดาน Smart Board มาใช้ในแทบทุกห้องเรียน ไม่ว่าจะเป็นห้องเรียนดนตรี วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ หรือศิลปะ

            หลังจากเยี่ยมชมโรงเรียน Rathkeale แล้ว เราก็เดินทางต่อไปยังเมือง Palmerston North ซึ่งอยู่ห่างจาก Masterton ประมาณ 70 กิโลเมตร เมืองนี้มีขนาดค่อนข้างใหญ่ (สำหรับนิวซีแลนด์) เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัย Massey ซึ่งมีชื่อเสียงทางด้านเกษตรกรรม และยังเป็นที่ฝึกซ้อมของทีมรักบี้ New Zealand – All Blacks ที่มีชื่อเสียง สำหรับชื่อที่ฟังดูแปลกๆ ว่าทำไมต้องมี North ตามมาด้วยนั้น ก็เพราะเหตุว่ามีเมืองชื่อ Palmerston ที่เกาะใต้ใช้ชื่อนี้อยู่แล้ว พอมาตั้งชื่อซ้ำกัน ชาวเมือง Palmerston ที่เกาะใต้ซึ่งใช้ชื่อมาก่อนไม่ยอม เนื่องจากอาจเกิดความสับสน เมืองที่ตั้งใหม่ก็เลยต้องยอมเปลี่ยนชื่อ โดยเติมคำว่า North ต่อท้าย แต่ความจริงแล้ว เมือง Palmerston ที่เกาะใต้ ปัจจุบันเป็นเพียงแค่หมู่บ้านเล็กๆ ใกล้ๆกับเมือง Dunedin มีประชากรอยู่เพียงนับร้อยคนเท่านั้น ในขณะที่ Palmerston North เป็นเมืองใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางของการคมนาคม การศึกษา และการกีฬา

            วันพฤหัสฯ ที่ 19 มี.ค. เราเข้าเยี่ยมชมโรงเรียน Palmerston North Boys’ High School ซึ่งเป็นโรงเรียนชายล้วนขนาดใหญ่ มีนักเรียนประมาณ 1,650 คน โดยมีหอพักสำหรับนักเรียนที่อยู่ประจำประมาณ 160 คน ที่เหลือเป็นนักเรียนไป-กลับ ซึ่งรวมทั้งนักเรียนของเราด้วย ทั้งนี้ เนื่องจากโรงเรียนนี้ค่อนข้างจะเป็นที่นิยมของชาวนิวซีแลนด์ในบริเวณโดยรอบ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นครอบครัวที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และนิยมส่งบุตรหลานให้อยู่ประจำ หอพักของโรงเรียนจึงค่อนข้างเต็ม และไม่ค่อยมีที่ว่างเหลือสำหรับนักเรียนจากต่างประเทศ จึงต้องอยู่กับครอบครัวชาวท้องถิ่นในแบบที่เรียกว่า Home Stay ซึ่งก็ดีไปอีกแบบหนึ่ง เพราะนักเรียนจะได้รับความอบอุ่นเช่นเดียวกับอยู่บ้าน แม้ว่าบางครั้งอาจจะเงียบเหงาบ้าง เนื่องจากไม่มีเพื่อนๆ อยู่ร่วมกันจำนวนมากๆ อย่างที่หอพัก

            หลังจากเยี่ยมชมโรงเรียน PNBHS เสร็จเรียบร้อยแล้ว เราออกเดินทางต่อไปยังเมือง Hamilton ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือใกล้ๆ กับ Auckland ซึ่งเป็นช่วงที่มีระยะทางยาวที่สุด คือประมาณ 350 กิโลเมตร และใช้เวลาเดินทางไม่ต่ำกว่า 6 ชั่วโมง ความจริงถ้าเป็นถนนบ้านเราก็คงไม่ใช้เวลามากขนาดนั้น แต่ที่นี่คือนิวซีแลนด์ซึ่งเขาเข้มงวดมากเกี่ยวกับการจำกัดความเร็ว จะเห็นได้จากเวลาผ่านเมืองที่มีเขตจำกัดความเร็ว รถทุกคันก็จะวิ่งตามความเร็วที่กำหนด ไม่ใช่แบบบ้านเราที่กำหนดเองตามความถนัดของแต่ละคน  ช่วงนี้เส้นทางผ่านจุดที่น่าสนใจหลายแห่ง เช่น Mt. Raupehu และ Mt. Ngaunuhoe ภูเขาไฟที่ยอดสูงจนปกคลุมไปด้วยหิมะขาวโพลน ตลอดจนทุ่งลาวาในบริเวณโดยรอบก็สร้างความรู้สึกที่แตกต่างจากที่อื่นๆ ในนิวซีแลนด์อย่างสิ้นเชิง และบริเวณนี้ก็เป็นจุดที่ใช้เป็นที่ถ่ายทำภาพยนตร์ดังเรื่อง Lord of The Ring ส่วนทะเลสาบ Taupo ซึ่งเป็นทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดของนิวซีแลนด์ มีพื้นที่กว้างไกลครอบคลุมอาณาเขตนับพันตารางกิโลเมตร

 Mt. Ngaunuhoe, New Zealand 

            ช่วงจาก Taupo ไป Hamilton รถของเราประสบอุบัติเหตุยางแตก และต้องเสียเปลี่ยนยางอีกประมาณครึ่งชั่วโมง แต่ก็ทำให้เราได้เห็นน้ำใจของชาวนิวซีแลนด์ ซึ่งหลายคนหยุดให้ความช่วยเหลือคณะของเราโดยไม่เรียกร้องสิ่งตอบแทน คณะไปถึง Hamilton ประมาณทุ่มเศษ และเข้าพักในโรงแรมซึ่งเราจองไว้ตั้งแต่อยู่กรุงเทพฯ ซึ่งปัจจุบันนับว่าการจองผ่าน Internet เป็นความสะดวกอย่างยิ่ง เพราะสามารถเปรียบเทียบราคา  และเลือกจองที่พักทั่วโลกได้ตามอัธยาศัย

            วันรุ่งขึ้น เราได้ไปเยี่ยมชมโรงเรียน Hamilton Boys’ High School ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงมากทั้งทางด้านวิชาการและการกีฬา มีนักเรียนประมาณ 2,000 คน และมีหอพักสำหรับนักเรียนประจำประมาณ 160 คน โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนชายล้วนก็จริง แต่มีครูใหญ่เป็นผู้หญิง ซึ่งประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากผลงาน และการพัฒนาโรงเรียนจนอยู่หัวแถวในบรรดาโรงเรียนของรัฐ ที่นี่นอกจากจะมีนักเรียนที่เก่งขนาดสอบได้ที่หนึ่งของประเทศแล้ว ยังมีการจัดการที่ดีมากสำหรับนักเรียนที่ประสบปัญหาทางด้านการเรียนรู้ หรือ Learning Deficiency – LD โดยการจัดห้องเรียนให้มีนักเรียนน้อยกว่าปกติ มีครูช่วยสอนให้ความช่วยเหลือ 2 3 คน เรียนเฉพาะในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ และมีการจัดการเรียนพิเศษแบบตัวต่อตัว ตลอดจนมีครูแนะแนวคอยให้คำปรึกษาและแนะนำวิชาเลือก ซึ่งที่นี่มีมากมาย เนื่องจากเป็นโรงเรียนที่มีนักเรียนจำนวนมากนั่นเอง ทั้งนี้ รวมถึงวิชาช่างไม้ ช่างโลหะ Computer Design และวิชาประกอบอาหารเป็นต้น

            ในช่วงบ่าย เราได้ไปเยี่ยมชมสวน Hamilton Garden ซึ่งมีชื่อเสียงในการจัดทำสวนดอกไม้นานาชาติตามแบบราชสำนักโบราณ เช่นสวนญี่ปุ่น สวนจีน สวนอินเดีย สวน Renaissance สไตล์อิตาเลียน และสวนแบบอังกฤษ เป็นต้น ซึ่งทำได้งดงามไม่แพ้สวนต้นแบบตามพระราชวังและสถานที่สำคัญๆ ของประเทศดังกล่าว

            วันเสาร์ที่ 21 มี.ค. เนื่องจากวันนี้เป็นวันหยุดสุดสัปดาห์ เราจึงเดินทางไปยังเมือง Rotorua ซึ่งเป็นเมืองตากอากาศเก่าแก่ของนิวซีแลนด์ ใช้เวลาเดินทางจาก Hamilton ประมาณ 2 ชั่วโมงเศษ ที่นี่มีชื่อเสียงมากด้านน้ำพุร้อน โคลนเดือด และการนำพลังงานจากใต้พื้นพิภพมาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ทั้งนี้เนื่องจากบริเวณโดยรอบทะเลสาบ Rotorua ซึ่งเป็นทะเลสาบที่มีรูปร่างค่อนข้างกลม มีความยาวโดยรอบมากกว่า 20 กิโลเมตรนั้น เคยเป็นปล่องภูเขาไฟขนาดยักษ์มาก่อน และยังมีความร้อนที่พุ่งออกมาให้เห็นได้หลายจุดโดยรอบเมือง ซึ่งโดยมากมักมีกลิ่นกำมะถันออกมาด้วย และเป็นกลิ่นที่พบได้ทั่วไปในเมืองนี้ อย่างไรก็ตาม น้ำพุร้อนธรรมชาติที่นี่มีสรรพคุณในการรักษาโรคผิวหนังบางชนิด จนมีการสร้างสถานบำบัดขนาดใหญ่ ซึ่งปัจจุบันกลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์ Rotorua

            วันต่อมาคือวันอาทิตย์ที่ 22 เราเดินทางต่อไปเยี่ยมชมเมืองท่าชายทะเลฝั่งตะวันออก คือเมือง Tauranga และเมือง Mt. Muanganui ก่อนที่จะเดินทางต่อเข้าเมือง Auckland เพื่อเยี่ยมชมโรงเรียนอีก 2 แห่งที่นั่นก่อนที่เราจะเดินทางกลับประเทศไทย ที่ Tauranga นี่มีร้าน Fish & Chips อยู่ร้านหนึ่งสร้างอยู่บนท่าเทียบเรือประมง พอเดินเข้าไปก็ต้องตะลึงเพราะมีปลาและอาหารทะเลอื่นๆ ให้เลือกมากมายหลายชนิดให้เลือก เรียกว่าถ้าจะสั่ง Fish & Chips ก็คงต้องเลือกอยู่นานกว่าจะเข้าใจว่าตัวไหนเป็นตัวไหน เพราะความที่บางตัวมีชื่อเรียกเป็นภาษาท้องถิ่น (Maori) ซึ่งออกเสียงยากและไม่คุ้นหู

บ่ายวันนี้ตอนที่เราไปถึง Auckland มีฝนตกหนักประมาณ 1 ชั่วโมง นับว่าเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่เราเจอกับอากาศไม่ดีระหว่างที่อยู่ที่นั่น อย่างไรก็ตาม ที่นี่อุณหภูมิจะอุ่นกว่าทางเกาะใต้เล็กน้อย หลังจากฝนหยุด เราก็เดินไปหาอาหารเย็นรับประทานกันในตัวเมือง ซึ่งเราไปพบศูนย์อาหารนานาชาติแถวย่าน Queen’s Street มีอาหารไทย และอาหารเอเชียอื่นๆ มากมาย และราคาก็ไม่แพงด้วย ทุกคนก็เลยรับประทานกันอย่างเอร็ดอร่อย

            วันจันทร์ที่ 23 เป็นวันสุดท้ายที่เราจะไปเยี่ยมชมโรงเรียน 2 แห่งใกล้ตัวเมือง Auckland แห่งแรกคือโรงเรียน Rangitoto College ซึ่งเป็นโรงเรียนที่แตกต่างไปจากโรงเรียนอื่นๆ ก็คือเป็นโรงเรียนสหศึกษา และไม่มีที่พักสำหรับอยู่ประจำ อีกทั้งยังเป็นโรงเรียนที่ใหญ่ที่สุดของนิวซีแลนด์อีกด้วย มีนักเรียนชายหญิงรวมกันประมาณ 3,000 คน เป็นโรงเรียนชั้นนำที่มีคุณภาพ มีวิชาให้เลือกมากมาย ซึ่งรวมทั้งวิชาชีพเช่น การออกแบบเสื้อผ้า การปรุงอาหาร และงานช่างโลหะ เป็นต้น อีกทั้งยังมีศูนย์ฝึกกีฬาขนาดใหญ่ที่ทันสมัย ซึ่งรวมทั้งสระว่ายน้ำ 50 เมตร ลู่วิ่งยางสังเคราะห์ 400 เมตร สนามฮอกกี้หญ้าเทียมแบบ Water-base (แบบใช้ในการแข่งขันระหว่างประเทศ) เป็นต้น โรงเรียน Rangitoto นี้ตั้งชื่อตามเกาะภูเขาไฟขนาดใหญ่ชื่อเดียวกัน ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับอ่าว Auckland และสามารถมองเห็นได้จากระยะไกล  

เกาะภูเขาไฟ Rangitoto

            ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน คณะได้เข้าเยี่ยมชมโรงเรียน Westlake Boys’ High School เป็นโรงเรียนสุดท้ายของการเยือนประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งที่นี่ก็เป็นโรงเรียนชายล้วนขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงทั้งทางด้านวิชาการและการกีฬา มีนักเรียนประมาณ 2,200 คน เป็นนักเรียนไปกลับทั้งสิ้น โรงเรียน Westlake นี้ให้นักเรียนเลือกสอบได้ทั้งระบบของนิวซีแลนด์ และระบบ Cambridge Board ซึ่งใช้กันทั่วโลก และเคยมีนักเรียนของที่นี่สอบได้คะแนนเป็นอันดับ 1 ของโลกมาแล้ว และที่นี่มีอาจารย์ผู้ช่วยดูแลนักเรียนต่างชาติเป็นคนไทย นักเรียนจากประเทศไทยจึงได้รับความสะดวกเป็นพิเศษ เนื่องจากไม่ต้องประสบปัญหาด้านการสื่อสาร โดยเฉพาะในช่วงแรกๆ ที่เพิ่งไปถึง ซึ่งอาจยังใช้ภาษายังไม่คล่อง

            วันสุดท้ายที่คณะของเราอยู่ที่นิวซีแลนด์คือวันอังคารที่ 24 มี.ค. ซึ่งภารกิจส่วนใหญ่ของทุกคนเช้าวันนี้คือการเก็บสัมภาระ และจัดกระเป๋าเดินทาง หลังนั้นก็ไปคืนรถเช่าที่สำนักงานใกล้สนามบินแห่งชาติ Auckland แล้วจึงเดินทางกลับกรุงเทพฯ โดยสวัสดิภาพ 

ภาพรวมของโรงเรียนทั้ง 7 แห่งที่คณะได้ไปเยี่ยมชมนั้น ทุกแห่งมีจุดเด่นที่แตกต่างกันออกไป แต่ที่เหมือนกันอย่างหนึ่งก็คือมาตรฐานการศึกษาที่สูง เพราะทั้ง 7 โรงเรียนมีการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ห้องเรียนส่วนใหญ่มีนักเรียนไม่เกิน 25 คน อุปกรณ์การเรียนการสอนทันสมัย และข้อดีอีกอย่างหนึ่งคือ ทุกโรงเรียนจะมีการประชุม Staff Meeting สัปดาห์ละ 2 3 ครั้ง ซึ่งครูและผู้บริหารทุกคนได้พบปะและแลกเปลี่ยนข้อมูลกันอย่างเปิดเผย ในบรรยากาศที่เป็นกันเอง ทำให้การดำเนินกิจการของโรงเรียนตามนโยบายของผู้บริหารเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

            การเดินทางเพื่อเยี่ยมชมโรงเรียนที่ประเทศนิวซีแลนด์ของผมและคณะก็สิ้นสุดลง โดยได้ทั้งความรู้ และข้อมูลที่เกี่ยวกับโรงเรียนต่างๆ ตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ อีกทั้งยังได้รู้เห็นสิ่งใหม่ๆ ของนิวซีแลนด์ที่งดงามและประทับใจจนไม่รู้ลืม

_______________

 

คำสำคัญ (Tags): #eti5301-3#new zealand
หมายเลขบันทึก: 254813เขียนเมื่อ 10 เมษายน 2009 01:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

แวะมาดูโรงเรียนในต่างแดนค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท