ผู้วิจัยเพิ่งเดินทางกลับมาถึงลำปางเมื่อตอนเวลาประมาณตีห้าครึ่งค่ะ (ของวันที่ 21 เมษายน 2549) หลังจากกลับถึงห้องพักก็ (พัก) นอนอีกรอบค่ะ ก่อนที่จะตื่นมาตอนสายๆแล้วออกเดินทางไปที่อำเภอเถินต่อ อาจารย์พิมพ์ไม่ได้ไปด้วย เพราะ ติดนิเทศน์งานนักศึกษาที่เชียงใหม่ ผู้วิจัยก็เลยขาดคู่หู แต่ไม่เป็นไร เพราะ พวกเรามาที่นี่หลายครั้งแล้ว ที่นี่เปรียบเสมือนบ้านหลังที่ 3 ของพวกเราค่ะ (บ้านหลังที่ 1 คือ บ้านที่อยู่กับครอบครัว หลังที่ 2 คือ บ้านที่อยู่เมื่อมาทำงาน) สำหรับจุดประสงค์ของการเดินทางมาที่เถินในครั้งนี้มีอยู่หลายข้อค่ะ คือ
1.สังเกตการณ์และเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการรับสมาชิกใหม่ (วันนี้องค์กรออมทรัพย์ชุมชนบ้านดอนไชยเปิดรับสมาชิกใหม่ค่ะ)
2.พูดคุย ปรึกษาหารือกับคณะกรรมการเกี่ยวกับหนังสือ 5 เล่ม และการลงพื้นที่ของทีมกลาง
3.กระตุ้นให้กลุ่มมาวางแนวทางการบริหารจัดการรูปแบบใหม่ เพราะ ตอนนี้มีทั้งกลุ่มที่อยากเปิดใหม่ และกลุ่มที่ตั้งขึ้นมาใหม่ในพื้นที่ ดังนั้น กลุ่มที่เป็นหลักต้องมาพูดคุยในการบริหารจัดการให้ชัดเจน ไม่อย่างนั้นอาจเกิดปัญหาได้
สิ่งที่ผู้วิจัยได้รับก่อนที่จะเดินทางกลับเข้ามาในเมืองนั้น นอกจากจะได้เก็บภาพ พูดคุยกับกรรมการในเรื่องการรับสมัครสมาชิกใหม่ รวมทั้งให้การบ้านกลุ่มในการที่จะไปปรึกษาหารือเรื่องรูปแบบและเนื้อหาของหนังสือ 5 เล่ม อีกทั้งกระตุ้น (ได้ผลด้วยค่ะ) ให้กลุ่มวางแนวทางในการบริหารจัดการแล้ว ผู้วิจัยยังได้รับอีกสิ่งหนึ่งที่รู้สึกว่านี่คือสิ่งที่เราต้องการจริงๆจากการทำงาน นั่นก็คือ มิตรภาพ และ (เค้าลาง) ความยั่งยืน
ผู้วิจัยเคยได้ยินประโยคที่ว่า “ต้องทำให้ KM เนียนไปกับงาน” บ่อยๆ ซึ่งตัวเองก็เห็นด้วย ดังนั้น ตลอดเวลาของการทำวิจัยในโครงการนี้จำได้ว่าผู้วิจัยกับอาจารย์พิมพ์แทบจะไม่ได้พูดคำว่า “KM” หรือ “การจัดการความรู้” เลย (นับครั้งได้) เพราะ รู้สึกว่าเป็นคำที่เข้าใจยากจัง ขนาดเรายังไม่รู้ว่าตัวเองเข้าใจหรือเปล่า และสิ่งที่เข้าใจนั้นเข้าใจถูกต้องหรือเปล่า แต่ผู้วิจัยกับอาจารย์พิมพ์จะมีประโยคติดปากหากมีคนมาถามว่าการจัดการความรู้คืออะไร? พวกเราจะบอกว่า “คือ การที่เราสร้าง หา ค้น คิด ประยุกต์ หรือทำยังไงก็ได้ที่จะนำความรู้มาใช้ในการพัฒนาการทำงานของเรา” และพวกเราจะบอกกับคนถามต่อว่า “ไม่ต้องไปสนใจหรอกว่าความรู้คืออะไร เอาเป็นว่าไม่ทำก็ไม่รู้ก็แล้วกัน” (ที่ต้องออกตัวไว้ก่อน เพราะ กลัวว่าถ้ามีการตั้งคำถามกลับมาว่าความรู้คืออะไร พวกเราจะตอบกันไม่เคลียร์อีก เดี๋ยวจะสับสนไปกันใหญ่) ผู้วิจัยกับอาจารย์พิมพ์เคยคุยกันบ่อยๆว่าไม่อยากจะทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่างานวิจัยจัดการความรู้เป็นงานเฉพาะกิจที่ต้องทำ ทำเพราะมีงบประมาณมาก็เลยต้องทำ แต่อยากให้รู้สึกว่าทำแล้วมีประโยชน์ ทำแล้วไม่เห็นว่าจะยุ่งยากอะไร ทุกวันนี้ก็ทำกันอยู่แล้ว แม้จะไม่มีงบประมาณมาให้ก็ต้องทำ งบประมาณเป็นเพียงส่วนที่เข้ามาช่วยเสริมทำให้ทำอะไรได้เร็วขึ้น ได้มากขึ้นเท่านั้น
มาที่เถินในวันนี้ทำให้ผู้วิจัยได้รับสิ่งใหม่ๆเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับ KM คือ นอกจาก “ต้องทำให้ KM เนียนไปกับงานแล้ว” สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่คณะกรรมการสะท้อนออกมา คือ “ต้องทำให้ KM เนียนเข้าไปในความรู้สึก” ด้วย
มีหลายเหตุการณ์ หลายคำพูด ที่เมื่อฟังแล้วผู้วิจัยหายเหนื่อย วันนี้จะขอเล่าแค่เรื่อง Blog อย่างเดียวนะคะ มีคณะกรรมการคนหนึ่งถามผู้วิจัยว่า “ถ้าหมดโครงการนี้ไปแล้วจะเขียนบันทึกลงใน Blog ได้อีกหรือเปล่า ตัวเองอยากเขียนไปเรื่อยๆ” ผู้วิจัยถามว่า “ไม่รู้สึกว่าเป็นภาระหรือคะที่ต้องมานั่งเสียเวลาเขียน?” คำตอบที่ได้รับ คือ “ไม่เลย สนุกดี ตั้งใจจะเขียนไปเรื่อยๆ ไม่ได้หนักหนาอะไร เพราะ ทำงานชุมชนทุกวันนี้ก็ทำด้วยใจ ทำจนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว”
ส่วนกรรมการอีกคนหนึ่งถูกผู้วิจัยแหย่ว่าให้ช่วยเขียนบันทึกลงใน Blog ให้หน่อย ถ้าไม่เขียนอัดเทปก็ได้ อยู่ดีๆท่านก็เดินไปที่รถ แล้วหยิบเครื่องบันทึกเสียงมาส่งให้ผู้วิจัยพร้อมกับบอกว่าเครื่องบันทึกเสียงเสีย ว่าจะเอาไปซ่อมในเมือง ผู้วิจัยก็เลยอาสาจะไปเอาไปซ่อมให้ แล้วจะแวะเอามาให้ในวันหลัง กรรมการท่านนี้บอกว่าดีเลย ซ่อมเสร็จให้ออกบิลชื่อ…….. นะ เดี๋ยวจะเอาเทปมาอัดเสียงให้จะได้เอาไปลง Blog
แค่นี้ผู้วิจัยก็เป็นปลื้มมากแล้วค่ะ ตั้งใจว่าจะรีบเอาเครื่องบันทึกเสียงไปซ่อมให้เสร็จเร็วๆ แล้วจะออกสตางค์ค่าซ่อมให้ด้วยค่ะ เพราะ เห็นความตั้งใจจริงในการทำงาน เพียงแต่มีอุปสรรคตรงที่มีภารกิจมาก ทำให้ไม่สามารถทำอะไรได้ตามที่ตั้งใจไว้ได้ทั้งหมด ดังนั้น ในฐานะคุณอำนวย (จำเป็นและชั่วคราว) คงต้องอำนวยความสะดวกให้หน่อยค่ะ