หัวรถไฟไปทำฝาย (๒)


การทำฝายต้นน้ำลำธารมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อฟื้นฟูผืนป่าที่เสื่อมโทรม ไม่ชุ่มชื้น และทำตามธรรมชาติของแนวร่องน้ำ ดังนั้น ฝายต้นน้ำลำธารจึงไม่ได้ทำให้สายน้ำเปลี่ยนทางแต่อย่างใด

 หัวรถไฟไปทำฝาย (๒)

                ทิ้งท้ายจากตอนก่อนว่า ๕ ฝายที่พ่อหลวงอยากให้ทำ เด็กๆ จะทำสำเร็จหรือไม่ ต้องติดตามค่ะ

 

                นักศึกษาที่ไปทั้งหมด ๑๙ คน (ป้าต๊อกกับแม่ไปเกะกะ ไม่ได้ทำอะไรเลย -_-') แบ่งเป็น ๓ กลุ่ม ในแต่ละกลุ่มต้องจับคู่เป็นบัดดี้กัน เพื่อช่วยเหลือดูแลซึ่งกันและกัน หลายๆ คนยังงง เมื่อไปเห็นพื้นที่ เพราะไม่เห็นมีน้ำเลย เพราะเข้าใจว่า ไปทำฝายก็ต้องไปในที่ที่มีน้ำ แต่เราได้รับการยืนยันว่า การเข้าใจเช่นนั้นน่ะ ผิด

                การทำฝายต้นน้ำลำธารมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อฟื้นฟูผืนป่าที่เสื่อมโทรม ไม่ชุ่มชื้น และทำตามธรรมชาติของแนวร่องน้ำ ดังนั้น ฝายต้นน้ำลำธารจึงไม่ได้ทำให้สายน้ำเปลี่ยนทางแต่อย่างใด นอกจากนี้ ต้องทำก่อนฝนจะมา เพราะเราหวังให้น้ำที่ไหลจากบนดอย บนภูเขา ถูกกักเป็นระยะๆ ด้วยฝายที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นไม้ไผ่ หิน หรือดิน ที่หาจากพื้นที่นั้นแหละ ระหว่างกำแพงไม้ไผ่ เราก็อัดดิน แทรกหินเข้าไปจนแน่น แต่น้ำก็ยังสามารถซึมผ่านลงไปสู่ด้านล่างได้ แต่ระยะเวลาการไหลผ่านจะช้าลง เมื่อช้า ผืนดินแถบนั้นก็จะซึมซับน้ำ ก่อให้เกิดความชุ่มชื้น และป่าไม้ก็จะอุ้มน้ำ ทำให้ชะลอความเร็วของน้ำที่ไหลลงมาจากดอย เมื่อมีน้ำ ก็มีสิ่งมีชีวิต ส่งผลดีต่อระบบนิเวศของป่า ผลพลอยได้อีกประการหนึ่ง คือ ฝายต้นน้ำลำธารช่วยบรรเทาความรุนแรงของการเกิดไฟป่าได้ด้วย เพราะเมื่อผืนดินไม่แห้งแล้ง ความร้อนย่อมลดลง แม้จะเกิดไฟป่า แต่ความรุนแรงจะไม่มาก หากพื้นที่นั้นๆ อิ่มน้ำ

                พี่บัว[1] บอกว่าเมื่อผืนป่าแถบนั้นได้รับการฟื้นฟูแล้ว ลักษณะของฝายก็จะเปลี่ยนไป ไม่ใช่ฝายต้นน้ำลำธารแบบที่เราทำ ส่วนระยะเวลาในการฟื้นฟูผืนป่า ก็ต้องแล้วแต่ความเสื่อมโทรมของที่นั้นๆ ถ้าหนักๆ ก็หลายปีอยู่ แต่แถบที่เราไปทำกัน น่าจะอยู่ประมาณ ๓ ปีคงเห็นผล

 

                ประมาณเที่ยงกว่าๆ เด็กๆ ก็ทยอยแบกสัมภาระลงมาพร้อมใบหน้า เนื้อตัวที่เปื้อนเหงื่อ ภารกิจสำเร็จ ได้ฝายไปทั้งหมด ๖ ฝาย ไม่น่าเชื่อเลย !! พื้นที่ที่พวกเราไปทำค่อนข้างชัน แต่ไม่กว้าง ลักษณะของฝายจึงมีทั้งสูง และต่ำ แล้วแต่ลักษณะของร่องน้ำตรงนั้น โดยชาวบ้านจะเป็นพี่เลี้ยงคอยบอกว่าควรจะทำอย่างไร รวมถึงคอยช่วยตัดไม้ไผ่เป็นท่อนๆ ให้บ้าง สงสัยคงจะรำคาญท่าทางเก้ๆ กังๆ ของพวกเรา ..อิอิ

                อาหารกลางวันมื้อนี้ คือ ข้าวเหนียวหมูปิ้ง ตับปิ้ง กับน้ำพริกหนุ่ม หรือน้ำพริกตาแดง พวกผู้ชายห่อเดียวไม่พอ ต้อง ๒ ห่อเป็นอย่างต่ำ กินเข้าไปได้ไงหมดก็ไม่รู้ หลังอาหาร พวกเราขอบคุณชาวบ้าน และถ่ายรูปร่วมกันเป็นที่ระลึก และกลับไปยังบ้านพ่อหลวง ลาพ่อหลวงกับพี่บัวอีกครั้ง ครั้งหน้าอาจจะมีโอกาสได้มาพบปะกันอีก คุณสวิงบอกป้าต๊อกว่า สำหรับการทำงานร่วมกันระหว่างสถาบันการศึกษากับชาวบ้านที่หมู่บ้านนี้ คณะนี้เป็นคณะแรก ป้าต๊อกเลยคิดว่า เราควรจะติดตามดูผลงานที่เราทำอย่างต่อเนื่องจะดีมั้ยนะ หรือมีกิจกรรมอื่นที่เราอาจทำร่วมกันได้อีก เด็กๆ ว่าไงจ๊ะ

 

                เราแวะเล่นน้ำกันที่อุทยานแม่ตะไคร้ประมาณครึ่งชั่วโมง แล้วเดินทางกลับที่ศูนย์ห้วยฮ่องไคร้ เก็บเต็นท์ เก็บของ และพูดคุยสรุปงาน ซึ่งป้าต๊อกเก็บประเด็นต่างๆ ได้ดังนี้

๑.       มีความร่วมมือกันดีมาก แม้จะมีความไม่ชัดเจนอยู่บ้างในเรื่องการแบ่งงาน และได้ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำอีกด้วย

๒.      ประทับใจในความช่วยเหลือ ดูแลซึ่งกันและกัน

๓.     ได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีม และรู้จักกันมากขึ้นระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง

๔.     รู้วิธีการทำฝายต้นน้ำลำธาร

๕.     เปลี่ยนความคิดที่เคยรู้มาว่าชาวเขาเป็นผู้ทำลายป่า เพราะที่พบเห็นกลับกลายเป็นว่า ชาวเขากำลังรักษาฟื้นฟูป่า เพราะป่าคือปากท้องของเขา

 

                ส่วนสิ่งที่เห็นว่าเป็นปัญหา คือ

๑.       การชี้แจงทำความเข้าใจไม่ชัดเจนว่าพื้นที่เป็นอย่างไร ทำให้แต่งตัวไม่เหมาะสม[2]

๒.     อุปกรณ์ที่ใช้ทำฝายไม่เพียงพอ

๓.     ความใส่ใจ การให้ความเคารพกับวิทยากร

๔.     การเดินทางไม่สะดวกสบาย

 

                ป้าต๊อกถอดประสบการณ์ให้กับเด็กๆ ว่า

๑.       นักศึกษาได้เรียนรู้ถึงบทบาทหน้าที่ของตนเอง ได้แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า มีความสามัคคีและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

๒.     ได้รู้ว่า รู้หน้า อาจไม่รู้ใจ ไม่คิดว่าน้องผู้หญิงตัวเล็กๆ จะทำได้ ก็ได้เห็นว่า หนูทำได้ ดังนั้น อย่าตัดสินใครที่รูปร่างหน้าตา

๓.     ได้ลองผิดลองถูกในการทำฝาย และมีพี่เลี้ยงเป็นชาวบ้านในการให้คำแนะนำ แต่ชีวิตจริงอาจไม่เป็นอย่างนั้น จึงควรใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท

๔.     การเรียนรู้สิ่งอื่นที่นอกเหนือจากการเรียนในห้อง ทำให้เรารู้ รอบ และสามารถปรับใช้ในการดำรงชีวิตได้

 

                นอกเหนือจากให้เด็กๆ พูดคุย และเขียนบอกเล่าลงในกระดาษ ป้าต๊อกก็ยังขอให้เขียนบันทึกลงใน learners หรือ gotoknow อีกด้วย ไม่รู้ว่าขอมากไปหรือเปล่า แต่ที่ขอให้เด็กๆ ทำ ป้าต๊อกก็ทำนะ นี่ไง...บันทึกป้าต๊อกเสร็จแล้ว ของเด็กๆ ล่ะเสร็จหรือยังเอ่ย

 

ป.ล.๑      ต้องชื่นชมสปิริตของหนูเจนี่ อุตส่าห์มาร่วมวันแรก และกลับไปตอนตีห้าของวันรุ่งขึ้น เพราะต้องไปฝึกงาน

ป.ล.๒    ต้องปรบมือให้นายโดดที่อุตส่าห์ตื่นตั้งแต่ตีห้า ขับรถไปส่งน้องที่คิวรถ เดี๋ยวน้องจะไปฝึกงานไม่ทัน

 

 



[1] พี่บัวเป็นแกนนำของบ้านป่าสักงาม เคยพบกันเมื่อครั้งพานักศึกษาปริญญาโทไปดูงาน และครั้งนี้ พี่บัวพาชาวบ้านป่าสักงามมาช่วยทำฝายให้กับบ้านปางแดง หมู่บ้านแถบนี้จะรวมตัวกันเป็นเครือข่าย เพื่อช่วยเหลือดูแลผืนป่าที่ถือเป็นปากท้องของเขาร่วมกัน

[2] วันประชุมทำความเข้าใจ มีการพูดถึงประเด็นนี้แล้ว แต่ก็ยังมีผู้ไม่เข้าใจอยู่

หมายเลขบันทึก: 254486เขียนเมื่อ 8 เมษายน 2009 20:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2012 06:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

^^.... อิอิ ทำฝายสนุกดีครับ แม้เหนื่อยแต่ก็สนุก อิอิ

แต้ ๆๆ

ม่วน ขนาด

แต่ก็ เหนื่อ ย ขนาด **

นายต้น

ที่เราเขียนในบล็อก http://gotoknow.org/blog/romnoy/254562 นะ รายละเอียดดีมาก และขอให้ผู้อ่านช่วยเปิดบล็อกของนายต้นโป๊ยเซียนโดยพลัน แล้วท่านจะคาดไม่ถึง

หนูยีน เหนื่อย สนุก ถ้าจัดแบบนี้อีก จะไปอีกมั้ยจ๊ะ

ขอบคุณครับผม ^^ แต่ก็ยังผิดมากมาย ที่ต้องปรับปรุง ขอบคุณมากๆครับผม ผมจะใช้คำแนะนำที่ได้รับจาก อาจารย์ ไป พยายามต่อไปครับผม ^^

ขอบคุณครับผม ^^ แต่ก็ยังผิดมากมาย ที่ต้องปรับปรุง ขอบคุณมากๆครับผม ผมจะใช้คำแนะนำที่ได้รับจาก อาจารย์ ไป พยายามต่อไปครับผม ^^

อาจารย์ เป็นไง บ้างครับ สงกรานต์ ไปเที่ยวไหน ครับผม ^o^ ผมเล่นน้ำอยู่แต่บ้าน ไม่ได้ไปไหน เลยครับ อากาศร้อนมากๆครับ ^^

โอ้โหอาจารย์ยาวจัง...

อ่านไม่หมดเลย

แต่กิจกรรมนี้ก็สนุกม๊ากมาก

เราจะกลับได้ดูงานที่ได้สร้างไว้ หรือไปเพิ่มเติมฝายดีครับ ?

สวัสดีค่ะ ทำฝาย เหนื่อยมั้ยค่ะ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท