ชาครธมโม
นาย สมชาย ชาครธมโม ชินวานิชย์เจริญ

ประชาคมหมอสมุนไพรบ้านตลิ่งชัน ภาคสรุปเพื่อไปต่อ 3/2552


ผมประทับใจที่สุดในตัวของชุมชนเองที่มีความเป็นผู้นำสูง

เล่าเรื่องป่าบ้านตลิ่งชัน ภาคสรุปเพื่อไปต่อ

30 ตุลาคม 2552  ผมและทีมงาน (เจี๊ยบ / ปุ๊ก) หลังจากที่ได้เตรียมการจัดทำเอกสาร หนังสือสารานุกรมสมุนไพรท้องถิ่นในป่าตลิ่งชัน (บ้านตลิ่งชัน)  ตำบลหินโงม อำเภอสร้างคอม ในโครงการศึกษาข้อมูลสมุนไพรเพื่อเตรียมการจัดการแผนคุ้มครองสมุนไพร  ซึ่งหัวหน้าอนามัยคือพี่ร่าเริง  สิงห์สัตย์  รวมทั้งเภสัชโต้ง   หมออุ้ม (เป็นหมอนวดและผู้ช่วยดูแลงานบริการแพทย์แผนไทย ของโรงพยาบาลสร้างคอม) ได้รับการติดต่อประสานงานจากทางเรา (ปุ๊ก)  ในการที่เราจะได้สรุปงานเพื่อวางแผนต่อไป และมอบหนังสือสารานุกรมให้แก่พื้นที่  เริ่มออกเดินทางเอาเกือบเก้าโมงเช้า เนื่องจากไม่ได้ขอใช้พาหนะเอาไว้ ได้น้าตุ้มเป็น พขร.เห็นว่าต้องไปเติมน้ำมันก่อน พวกเราก็เตรียมข้าวของออกมารอที่ด้านหน้า  ผมเห็นแกอยู่แว๊บ ๆ แต่ก็ไม่เร่งรัดอะไร รอไปรอมาเกือบเก้าโมงเช้า เจ้าเจี๊ยบทนไม่ไหวเลยเดินไปดูที่โรงรถ อ้าวน้าตุ้มยังไม่ไปไหน ไอ้เราก็นั่งรอกันอยู่ ก็เลยพากันขึ้นรถ เช้านั้นมีเภสัชโต้ง (วัชรานุกูล บุญเลิศ) ขอติดรถไปด้วย  ไม่เป็นไร อย่างน้อยรถก็ได้เคลื่อนแล้ว  รถวิ่งไปถึงแยกบ้านด่าน พ่ออำนวยประธานชมรมหมอพื้นบ้านสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นอำเภอบ้านดุง กับพี่สมัยที่เป็นเลขาชมรมโทรมาถามว่าถึงไหนกันแล้ว ก็เลยขอให้เพิ่นช่วยพูดคุยไปก่อน เดินทางไปถึงประมาณสิบโมงครึ่ง  พี่ร่าเริง (ชื่อดีมั้ยครับ) กับพี่สมร (เจ้าหน้าที่จากสำนักงานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจังหวัด)  และคณะชาวบ้าน ผู้นำชุมชน บ้านตลิ่งชัน มารอกันอยู่แล้ว และคิดว่าน่าจะนานพอสมควร  พอคณะเราไปถึงก็เริ่มพูดคุย โดยเริ่มจากที่พ่อผู้ใหญ่บ้านเกริ่นนำ ออกตัวเกี่ยวกับจำนวนคนที่มาร่วมเวที เนื่องจากทำนาปรังต้องไปเกี่ยวข้าวกัน  และผมก็ได้เปิดฉากการพูดคุยเกี่ยวกับการทำงานที่ผ่านมา ทบทวนย้อนไปตั้งแต่เริ่มแรก เดือนพฤษภาคม  2551 มาแหย่รังแตนในพื้นที่คือมาชวนให้คิดกับป่าปู่ตา บ้านตลิ่งชัน ซึ่งจำได้ว่าพ่อเสถียร (ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านตอนนั้น) ทิ้งท้ายไว้ว่า อย่าเล่นเฮือนน้อยนะหมอ  แล้วเราก็วางแผนกันออกมาสำรวจสมุนไพร (เคยเล่าแล้ว) เมื่อเดือนกันยายน  2551  จากนั้นก็นำข้อมูลที่ได้ไปประมวลสรุปออกมา โดยมีปุ๊กเป็นผู้ดำเนินการออกแบบและติดต่อโรงพิมพ์ ซึ่งมาวันนี้มาสรุปงาน พูดไปถึงแผนงาน 4 ด้าน แล้วจะแบ่งกลุ่มให้ช่วยกันออกความเห็นเกี่ยวกับถ้าจะทำแผนงานทั้ง 4 ด้านนั้น  (อ่านดูตอนหลัง)  เราลองเอา 3 ก.มาคิดดู ได้แก่ กรรมการหรือคนทำงาน  กิจกรรม  และกองทุนหรือธนาคารโครงการ  ช่วงนั้นพี่สมัยมากระซิบว่า นายกอบต.มาร่วมด้วยก็เลยยกเวทีให้ท่านได้พบปะกับชุมชนก่อน  ขอบอกว่านายกท่านนี้น่ายกนิ้วให้ครับ เพราะเนื้อหาที่มาพูดนั้นดูเหมือนท่านจะเข้าใจในกิจกรรมและมองเห็นว่าจะทำอะไรต่อได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นกับพื้นที่เองด้วย (ซึ่งพื้นที่เองเท่าที่ผมประเมินก็มีความเป็นผู้นำ เป็นคนทำงานอยู่แต่เดิมแล้วด้วย )  พอท่านลง ผมก็ไปพูดต่อโดยก่อนจะแยกกันพูดคุยผมก็ลองยกตัวอย่างหนังสือที่ไปซื้อมาจากร้านหนังสือ คือพืชกินได้ในป่าสะแกราช  ซึ่งเป็นเรื่องหนึ่งในป่าสะแกราช เพราะผมมีอีก 2 เล่มของป่าสะแกราช คือพืชสมุนไพร , นก  นั้นก็เลยคิดว่า ในพื้นที่หนึ่ง ๆ นั้นเราสามารถทำได้หลายเรื่องเหมือนป่าสะแกราช เช่น ของป่า , สัตว์ , นก , แมลง , เห็ด เป็นต้น  แล้วก็แบ่ง 2  กลุ่มเริ่มพูดคุย โดยมีเจี๊ยบ ปุ๊ก อุ้ม โต้ง ช่วยเป็นนวัตกร / ผู้นำการพูดคุย  มีนักศึกษามา 4 คน มาช่วยจดบันทึกและนำเสนอด้วย (ดีจริง ๆ )   ทราบมาจากปุ๊กว่าพี่สมรแนะนำเรื่องชื่อวิทยาศาสตร์ของพืชสมุนไพรนั้นสามารถประสานงานขอความร่วมมือไปยังสำนักงานได้  (ดีอีกแล้ว)  แล้วเราก็เริ่มแบ่งกลุ่ม บรรยากาศช่วงแรก ๆ ดูเงียบ ๆ ครับ ผมให้เวลา 15 นาที จับหน้าปัดนาฬิกาหมุนแกร็ก   พอคุยกันไปสักพัก สาธารณสุขอำเภอ (พี่แก้ว เศวตวงศ์) มาถึง ผมก็เลยขอขัดจังหวะ ให้สาธารณสุขอำเภอทำการมอบหนังสือสารานุกรมสมุนไพรท้องถิ่นป่าตลิ่งชัน ให้นายก อบต. จำนวน 50 เล่ม เพื่อจะได้ใช้ในการเผยแพร่ต่อไป  แล้วก็ร่วมถ่ายรูป  ซึ่งเรื่องที่พูดคุยกันยังไม่เสร็จดีเท่าไรแบ่งกลุ่มก็เลยคุยกันต่ออีกประมาณ 20 นาที แต่ละกลุ่มมานำเสนอความคิด ผมก็เขียนแผนที่ความคิดบนกระดาษฟลิ๊บชาร์ต ว่าแต่ละกลุ่มพูดคุยถึงเรื่องอะไรบ้าง  แล้วเตรียมจะสรุปก็พอดีเที่ยง อาหารเที่ยงมาถึง ผมเลยพักเวทีเสียก่อน และจะได้มาสรุปหลังกินข้าวเที่ยง   ระหว่างที่รอจัดสำรับนั้น ผมก็เลยไปเขียนกระดานเกี่ยวกับทีมทำ  ทีมนำ  ทีมหนุน ในเรื่องนี้ ซึ่งจากการพูดคุยกับพ่อผู้ใหญ่ ท่านว่าในกมู่บ้านก็มีคณะกรรมการหมู่บ้าน และคณะกรรมการย่อย ๆ มีคณะกรรมการหนึ่งน่าสนใจครับ คือคณะกรรมการการศึกษาและสิ่งแวดล้อม ในวันนี้พ่อสุธรรม ก็มานั่งอยู่ด้วย และเป็นตัวตั้งตัวตีได้ดี น่าจะเป็นทีมนำให้กับคณะก่อการดี (ทีมทำ) ได้   โดยมีทีมหนุน พี่เลี้ยงในส่วนของเจ้าหน้าที่ หมอร่าเริง คุณสมร (สิ่งแวดล้อม)  หมอต้น หมอปุ๊ก หมอเจี๊ยบ 

เนื้อหาที่เราสรุปกันได้จาก 4 แผนงานได้แก่

แผนงานด้านกฎหมาย นั้น ในพื้นที่มีการตั้งให้ จ้ำ คอยดูแลรักษาระเบียบข้อบังคับ เช่น ห้ามตัดไม้วันศีล ห้ามยิงปืนในหมู่บ้าน ห้ามฆ่าสัตว์ในหมู่บ้าน  ห้ามจับสัตว์ทุกชนิด ห้ามเผาป่า ห้ามทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทาง

แผนงานด้านการอนุรักษ์ น่าจะมีทีมเยาวชนมาช่วยงาน มีการจัดสิ่งแวดล้อม รณรงค์การดูแลสมุนไพร การหาสมุนไพรเพิ่มเติม

แผนงานด้านการสำรวจ ให้มีการทำป้ายอนุรักษ์ มีการอบรมวิธีการสำรวจ

แผนงานตรวจสอบ ติดตาม และประเมินการทำงาน มีการประเมินพื้นที่ป่า มีข้อมูลการใช้สิ่งแวดล้อม

ซึ่งจากแผนงานทั้งสี่ด้านนั้น (ตัวร่างที่นำมาให้ไทบ้านใช้เป็นต้นเรื่องโสเหล่ ปุ๊กได้สรุปออกจากงานของทางภูผากูด และจาก พรบ.คุ้มครองและส่งสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พศ.2542 )   ได้นำมาปรับเป็นแผนงาน โครงการเพื่อนำเสนอขอสนับสนุนงบประมาณจากท้องถิ่น ซึ่งน่าจะสอดรับกับนโยบายการส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน   โดยยึด 4 แผนงานนี้เป็นกิจกรรมหลักหรือเป้าหมายหลักของกลุ่มที่จะได้พูดคุยกันต่อไป  ลองมาดูยุทธศาสตร์ที่ปรับแล้วดูนะครับ ได้แก่

ยุทธศาสตร์ด้านการบริหารจัดการ มีกิจกรรม ได้แก่

-การพัฒนาคนทำงาน โดยประชุมโสเหล่ปีละ 4-6 ครั้ง อาจจะเป็นรูปแบบของการประชุมคณะกรรมการกลุ่ม โดยแรก ๆ ควรมีวัตถุประสงค์เพื่อตั้งคณะทำงาน จะได้แบ่งงานแบ่งหน้าที่ตามแผนงาน 4 แผนดังกล่าว , มีการเตรียมแผนงานที่ต่อเนื่อง , มีการติดตามการทำงาน  

-ด้านการดูงาน เพื่อเสริมภูมินั้น  ถ้าเรามีคณะกรรมการ คณะทำงานที่มั่นแก่นในแง่ของตัวจริงแล้ว เราจะไปดูงาน อาจจะเป็นที่ป่าสะแกราช ปักธงชัย นครราชสีมา หรือดูงานการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งผมได้เสนอแพนด้าแค้มป์ บ้านไร่ อุทัยธานีเอาไว้ เพราะอย่างน้อยก็เป็นเครือข่ายที่เรารู้จักหน้าค่าตากัน (พี่มด คุณศิริพงษ์ โทหนองตอ 056-596014 )  

                ยุทธศาสตร์ด้านการเผยแพร่และกระตุ้นพื้นที่ มีกิจกรรมได้แก่

                                -เวทีคืนข้อมูล  เป็นการจัดเวทีในหมู่บ้านเพื่อให้ชุมชนได้รับรู้กิจกรรมหรือผลงานของกลุ่มที่ได้ทำมา (ผู้ใหญ่ชัยพฤกษ์ชอบใช้คำว่า เวทีคืนความรู้สู่ชุมชน)  แต่คนทำงานต้องทำการบ้านก่อน เช่น รู้มั้ยว่าเขา(คนนอกที่เข้ามาในพื้นที่ หรือคนในพื้นที่เอง) มาเอาไปเท่าไร หมายถึงว่ามาเก็บของป่า หรือเห็ด หรือสารพัดที่อยู่ในป่าบ้านตลิ่งชันเอง (ในเวทีนั้น ท่านนายก อบต.เองพูดหยอกว่า ห้ามเก็บเห็ด )  

                                -พิมพ์สารานุกรมเพิ่มดีหรือไม่ เพื่อให้เป็นเครื่องมือสื่อสารกับคนรุ่นต่อไป แต่อาจจะต้องมีการพัฒนาเช่นการเพิ่มข้อมูลที่น่าเชื่อถือมากขึ้น ชื่อวิทยาศาสตร์ ข้อมูลทางพฤกษศาสตร์ 

                                -ถ้าเรามีข้อมูลอื่น ๆ เราลองทำหนังสือทำมือมั้ย  เป็นเรื่องราวสั้น ๆ แบบชาวบ้านทำเองได้ เช่น นกในป่าตลิ่งชัน  เห็ดในป่าตลิ่งชัน

                                -การทำป้ายต่าง ๆ ข้อบังคับ อนุรักษ์  ผ้าป่าสมุนไพร

                เรื่องราวที่เล่ามาทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องที่ต้องใช้เงินทั้งนั้น  ซึ่งหากจะทำกันจริง ๆ คงต้องมีการคุยกันมากกว่านี้ พอจะปิดเวทีเพื่อสรุปความคาดหวังจากการที่เราได้ร่างความคิด ร่างโครงการออกมานั้น องค์ประกอบหลักคือคนทำงานได้แก่คณะก่อการดี (ทีมทำ) , ทีมนำ (คณะกรรมการหมู่บ้าน) , ทีมหนุน (พี่เลี้ยง)  ซึ่งคณะก่อการดีนั้นน่าจะมีชื่อใครบ้าง พ่อผู้ใหญ่และพ่อสุธรรม ก็ว่ามีไว้แล้วในใจแต่ต้องไปคุยกันก่อน (ตรงนี้แหละที่ผมค่อนข้างประทับใจในความเป็นผู้นำชุมชน)  ส่วนทีมเรา (ผม ปุ๊ก เจี๊ยบ) คิดว่าหลังจากนี้คงจะได้มาอีกเพื่อติดตามความก้าวหน้า และพี่ร่าเริงก็ดูจะมี แรงจูงใจใคร่อยากทำ สูงเหมือนกัน จะได้เจอกันอีกน่าจะเป็นเดือนกรกฎาคม 2552 หลังสมัยประชุม อบต. นั่นคือน่าจะได้นำเสนอร่างโครงการเข้าสมัยประชุม อบต.เพื่อขอรับงบสนับสนุนตามเนื้อหาที่เราคุยกันได้

ปิดเวทีวันนั้นส่วนตัวผมเองคิดว่าผมประทับใจที่สุดในตัวของชุมชนเองที่มีความเป็นผู้นำสูง พี่แก้วก็มีคำชื่นชมจากสาธารณสุขอำเภอสร้างคอม เกี่ยวกับการประสานงานที่ดี (ปุ๊กเขาจะโทรตลอด)  และท้ายที่สุดคือเราหวังว่าไทบ้านคงไม่คิดอีกแล้วว่าเราจะมา เล่นเฮือนน้อย

หมายเลขบันทึก: 254068เขียนเมื่อ 7 เมษายน 2009 15:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 22:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ่านตั้งแต่ต้นจนจบ มองเห็นภาพชัดเจนมากครับ

ขอบคุณทีมงานที่ช่วยนำเสนออีกมิติหนึ่งของสังคมครับ

คิดถึงอดีตสมัยก่อนที่เคยอยู่ในพื้นที่นั้นครับ

สิบห้าปีที่อยู่ในชุมชนนั้นขอบอกว่าสุดยอดครับ

จะติดตามตอนต่อไปนะครับ ถ้าอย่างไรวานแจ้งไปทางเมล์ด้วยนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท