Care givers


สู้อ้อมอกพ่อ

สู่อ้อมกอดพ่อ...

เป็นที่น่าปราบปลื้มใจยิ่งนักที่ทำให้พ่อลูกคู่หนึ่งเจอกันอีกครั้ง     เบื้องหลังของความภาคภูมิใจนั้น  เต็มไปด้วยขวากหนามที่ลายล้อม....ถึงแม้ว่ามันจะเป็นเพียงความทรงจำครั้งหนึ่งของชีวิตพยาบาล  แต่มันน่าจนจำเสียจริง 

                ท่ามกลางความมืด  สะหรัว  ใกล้รุ่งอรุณของเช้าวันหนึ่ง วันใหม่ของการทำงานของทุกคน แต่เป็นเช้าที่ใกล้เวลาสิ้นสุดของการทำงานแล้ว เพราะเธอทำงานมาตั้งแต่ 24.00 น. ไม่น่าเชื่อนะค่ะว่าความรู้สึกเหนื่อยล้าที่เกิดขึ้นทำให้บางครั้งรู้สึกท้อ  เพราะเธอมีจุดมุ่งหวังว่าอยากดูแลเยียวยา รักษาผู้ป่วยจิตเวชให้หายจากการเจ็บป่วย  ทั้งๆที่รู้ว่าผู้ป่วยจิตเวชไม่มีวันจะรักษาให้หายขาดได้  การรักษาแค่บันเทาเบาบาง อาการให้สงบลงเท่านั้นเอง....  แต่เธอก็ยังหวังว่าการฟื้นฟูจะเยียวยาให้พวกเขาเหล่านั้นกลับไปอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข 

ขณะที่เธอกำลังพยุงผู้ป่วยชื่อชายไทยไม่ทราบชื่อ  เดินขึ้นบันไดกลับจากทานอาหารเช้า  แววตาอันเศร้าหม่อง ของผู้ป่วยพยายามที่จะบอกกล่าวอะไรบางอย่างกับเธอ  แต่ว่าน่าเสียดายที่เขาไม่สามารถพูดได้  สามารถทำตามคำสั่งได้ สื่อสารโดยการใช้ท่าทาง  เธอจึงสนใจศึกษาประวัติของผู้ป่วยรายนี้เพิ่มเติม ประวัติโดยสังเขปของผู้ป่วยรายนี้.......ชายไทยไม่ทราบชื่อ ถูกตำรวจจับส่งโรงพยาบาลฉะเชิงเทรา ด้วยอาการเดินเร่ร่อน ทำร้ายคนอื่น  อยู่โรงพยาบาลฉะเชิงเทราวุ่นวายมาก จึงนำส่งโรงพยาบาลศรีธัญญา แพทย์จึงรับไว้รักษาเป็นผู้ป่วยใน  สภาพทั่วไปแรกรับ พูดคุยสับสน ผมเผ้ายาวรุงรังเป็นรอน มีกลิ่นเหม็น ร่างกายไม่สะอาด สีหน้าเฉย แววตาระแวงไม่ไว้วางใจ ซึม แยกตัว แพทย์ให้ยาทางจิต และให้การรักษาด้วย ECT หลังจาก ECT อาการดีขึ้น ร่วมมือในการรักษา ไว้วางใจ แต่สีหน้าเฉย ยังแยกตัว พูดคุยด้วยถามคำตอบคำ ไม่พูดคุยกับผู้ป่วยอื่น  รับย้ายผู้ป่วยมาไว้ในความดูแลวันที่.........แรกรับชายไทยวัยกลางคนสีหน้าเฉย พูดคุยไม่ค่อยรู้เรื่อง  ทำตามคำสั่งได้ ท่าทางระแวง เดินไปมาเรื่อยเปื่อย   เดินช้าเซเล็กน้อย ขณะสนทนา เวลาเรียกชื่อจะสดุ้ง ช่วยเหลือตัวเองได้น้อย  เธอดูแลผู้ป่วยรายนี้พร้อมกับความสงสัยในใจ

ในขณะนั้นมีความคิดชั่ววูบที่แว๊บเข้ามาในสมองบอกเธอว่า...”คนเราต้องมีพ่อแม่”... เชื่อไหมค่ะว่า  เธอพยายามด้วยการเข้าไปพูดคุยกับคนไข้รายนี้...แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ...เพราะเขาไม่ยอมพูด  เอาแต่พยักหน้า ส่ายหน้า ขณะสนทนากับเธอ  การพยายามครั้งแล้วครั้งเล่าก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ  จนกระทั่งความคิดก็แว๊บเข้ามาอีก  ซึ่งเป็นความสงสัย พร้อมด้วยคำถามมากมายเลยล่ะค่ะ “ ถ้าฟังไม่รู้เรื่องแล้วจะพยักหน้าทำตามคำสั่งได้อย่างไร”  “แสดงว่าต้องฟังรู้เรื่อง”  “หูไม่น่าจะหนวกเพราะว่าทำตามคำสั่งได้เหมือนคนปกติ”  “แล้วเพราะอะไรถึงไม่ยอมพูด  หรือว่าสมองมีปัญหา”  “ไม่ได้พูดมานานแล้ว”  เกิดข้อสงสัยในใจที่เก็บไว้มาตลอดที่ดูแลผู้ป่วยรายนี้   เธอตัดสินใจเปิดประเด็น เพราะลำพังเธอคนเดียวคงช่วยอะไรผู้ป่วยรายนี้ไม่ได้แน่ๆ  ในวันประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Knowledge Sharing) ในตึกนั้นเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ  Knowledge management  ของโรงพยาบาลศรีธัญญา  ซึ่งเป็นเวทีที่ทุกคนในทีมต้องมาพูดคุยกัน โดยนำเรื่องที่น่าสนใจภายในองค์กรที่เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยจิตเวชมาอภิปราย นำเสนอ เพื่อตกลงพัฒนาการดูแลผู้ป่วยต่อไป  และการประชุมครั้งนี้มีคำกล่าวที่เป็นแรงบันดาลใจว่า....”ถ้ามันเป็นสิ่งที่ดีในการช่วยเพื่อนมนุษย์ เราทำได้ เราก็ควรทำ  บุญกุศลถึงไม่มีตัวตน แต่เราได้ทำความดี” คำกล่าวนี้ได้สกิดใจลูกน้องทุกคน และเป็นกำลังใจที่สำคัญมากสำหรับเด็กผู้หญิงอ่อนประสบการณ์อย่างดิฉันที่พึ่งทำงานมาได้ไม่นานนัก เป็นตัวขับเคลื่อนอย่างดีในการเป็นพลังพลักดันที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยทุกคนที่แพทย์รับเข้ารักษาในโรงพยายาบาลศรีธัญญา  

จงมุ่งมั่นความสำเร็จจากงานด้วยตัวคุณ...

หลังจากการประชุม  หัวหน้าทีมได้สรุปว่า...ให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยรายนี้  โดยแบ่งหน้าที่อย่างชัดเจน  ความร่วมแรงร่วมใจของพวกเราทุกคนในทีม ที่มีหัวหน้าทีม รองหัวหน้า พยาบาลวิชาชีพ และเจ้าหน้าที่ทุกคน ได้เริ่มต้นขึ้นในฤดูหนาว  ทุกเช้า เวรดึกเราจะสอนชายไทยให้อาบน้ำ แปรงฟัน ใส่เสื้อผ้า เข้าห้องน้ำ และตักอาหารรับประทาน โดยไม่ให้ใช้มือหยิบอาหาร  บรรยากาศก่อนรับเวรเช้า ทุกคนจะเข้าไปทักชายไทยกันอย่างสนุกสนาน เป็นภาพที่อิ่มเอมใจที่ใครพบเห็น ต้องรู้สึกเชียวล่ะค่ะ  สายๆหน่อยเราก็มีกิจกรรมพูดคุยยามเช้า  สอนสุขศึกษา  ออกกำลังกาย พระอาทิตย์ใกล้สุดขอบฟ้าแล้ว ความมืดและความเงียบกำลังจะเริ่มขึ้นอีกครั้ง ในช่วงค่ำๆ เธอจึงจัดกิจกรรมบำบัด เน้นการสร้างสัมพันธภาพจากการทำความดี เพื่อสะท้อนให้ผู้ป่วยรู้สึกมีคุณค่า และตามด้วยดนตรีบำบัด เปิดเพลงที่ผู้ป่วยชื่นชอบให้ฟัง  และตามด้วยการฝึกให้ชายไทยพูดออกเสียง ในช่วงแรกผู้ป่วยไม่ร่วมมือ เลยใช้วิธีให้รางวัล  1 เดือนแรกและเดือนที่สอง เราฝึกออกเสียงเป็นคำๆ   ชายไทยสามารถบอกคำง่ายๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน  เช่น กินข้าว หิวข้าว ง่วงนอน ปวดชี่   แต่กระนั้นการดูแลตนเองง่ายๆ ในชีวิต อาบน้ำ แปรงฟัน เข้าห้องน้ำล่างมือ ดื่มน้ำ ป้อนอาหาร ยังต้องดูแลใกล้ชิด ทำเอาพวกเราในทีมเหนื่อยตามๆ กัน   แต่สิ่งดีๆ ที่ผู้ป่วยได้รับนี้ทำให้ทีมงานมีความภูมิในใจ  ถึงแม้ว่าจะเพียงเล็กน้อยก็ตามที  ทีมเริ่มทกเถียงถึงกลยุทธที่จะพิชิตปัญหา และในแต่ละเวร เราจะมีการหาลือกันว่าจะทำอย่างไรต่อดี   ซึ่งหัวหน้าทีมนั้นคาดไม่ถึง  และอาจจะไม่รู้ถึงรุ่มลึกภายในที่แฝงไว้  เฉลยให้ฟังก็ได้ค่ะ  เราใช้กลยุทธในการสอนเด็กอนุบาล ที่คุณครูอนุบาลก็คาดไม่ถึงเช่นกัน

3 เดือนต่อมาในต้นฤดูร้อน ชายไทยผู้ซึ่งไม่มีชื่อ ไม่มีพ่อแม่ ไม่มีบ้าน ไม่มีอนาคต เริ่มดีขึ้น พูดคำง่ายๆ ได้ และพูดเป็นประโยคสั้นๆ ได้  ถือถาดจับช้อนรับประทานอาหารได้  กดน้ำ เปิดน้ำจากก๊อก  เข้าห้องน้ำเองได้  จับแปรงสีฟันแปรงฟันได้ ฟอกสบู่ สระผม แต่แน่นอนค่ะความสะอาดคงไม่ต้องพูดถึงว่าดีหรือไม่  รอยยิ้มแก้มแทบปริบนใบหน้าของผู้หญิงวัยกลางคนที่รู้ว่าลูกทีม  มีความตั้งใจในการดูแลผู้ป่วยแสดงออกทางสีหน้าอย่างชัดเจน  และ 6 เดือนต่อจากนั้น  ชายไทยมีพัฒนาการการเรียนรู้อย่างน่าทึ่ง  เขาช่วยเหลือตัวเองอย่างง่ายๆ เช่น ตักอาหารรับประทานเอง โดยไม่ใช้มือหยิบเลอะเทอะ และก็ตามด้วยการพูดประโยคที่ยาวขึ้น จนสื่อสารได้รู้เรื่องมากขึ้น

9 เดือน ต่อมา  ขณะกำลังป้อนข้าวผู้ป่วยรายหนึ่งอยู่ที่ระเบียงตึก พยาบาลลืมกดน้ำมาให้ผู้ป่วยรายหนึ่งที่เดินไม่ได้ จึงขอร้องให้ผู้ป่วยที่รู้เรื่องกดน้ำให้ 1 แก้ว เสียงเงียบหายไปชั่วครู่ พยาบาลหันไปมองชายไทยผู้นี้ และรู้สึกว่า...ภาพที่เห็นนั้นไม่ใช่ความฝัน เพราะชายไทยนั้นเอง กำลังกดน้ำลงบนแก้ว แล้วก็เดินมาอย่างช้าๆ พร้อมกับยื่นมือ และแก้วน้ำมาให้พยาบาลค่ะ  มาวันนี้เขาสามารถเรียนรู้ในการให้ของคนอื่นและขอของจากผู้อื่นแล้ว  ทุกเวรเวลาส่งเวร ถึงชายไทยพยาบาลจะเล่าเรื่องชายไทยว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง ทำเอาหัวใจของพวกเราพองโตจากบุญไปตามๆ กันเลยล่ะค่ะ

1 ปี ผ่านมาช่างเร็วเหมือนฝัน มันช่างเลือนรางกับความพยายามของพวกเรา แต่กระนั้นก็ตาม  เรายังไม่ท้อค่ะ  ชายไทยผู้นี้ยังอยู่ในความดูแลของทีมเช่นเคย  จนกระทั้งเช้าวันหนึ่ง พยาบาลได้พูดคุยสนทนากับเขาอย่างเช่นทุกวัน แต่วันนี้เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น

พยาบาล :  คุณคิดถึงพ่อแม่ไหม   คุณต้องมีพ่อแม่ทุกคนมีพ่อแม่   แล้วพี่น้องคุณล่ะค่ะ?

ชายไทย  :  เงียบ ไม่ตอบอะไรเลย

พยาบาล :  อยากกลับบ้านไหมค่ะ  บ้านอยู่ที่ไหน  ที่นี้ไม่ใช่บ้านน่ะค่ะ ที่นี้คือโรงพยาบาล  พยาบาลเชื่อว่าทุกคนต้องมีบ้าน  เราช่วยคุณได้น่ะ 

ชายไทย  :  แววตาที่เศร้าเลือบมองพยาบาล พร้อมกับเอ่ยขึ้นว่า มีพี่น้อง 4 คน ใช้ชื่อ สอ นำหน้า 

พยาบาล :  คุณก็ชื่อสอ นำหน้า ด้วยใช่ไหมค่ะ  ลองนึกซิค่ะ ว่าชื่ออะไร  

ชายไทย  :  นั่งนิ่งเงียบไปอีกไม่ยอมบอกอะไร  สีหน้าครุ่นคิดอะไรบางอย่างในใจอยู่

พยาบาล :  “งั้นคุณลองเขียนซิว่า”  “คุณชื่ออะไร และนามสกุลอะไร” พูดจบยื่นปากกาและกระดาษให้เขียน  ในขณะที่รอใจพยาบาลเต้น และรุ้นว่าจะเขียนได้หรือไม่เพราะเราไม่เคยฝึกเขียนหนังสือให้เขาเลย...

แต่ต้องตกใจ และดีใจที่ชายไทยนั้น สามารถเขียนชื่อตนเองและนามสกุลได้อย่างสวยงาม  ชื่อนาย............บ้านอยู่ปราจีนบุรี 

พยาบาล : ชมเชยว่า “ลายมือคุณสวยมากนะค่ะ”ชายไทยที่บัดนี้ชื่อคุณ..................

ชายไทย  :  บอกว่าเคยเรียนโรงเรียนช่างศิลป์ไทยวิจิตร 1 ปี

พยาบาล :  เน้นอีกครั้งว่า ดิฉันอยากช่วยเหลือคุณจริงๆ พร้อมยื่นกระดาษให้เขียนต่อ

ชายไทย  :  ได้เขียนชื่อพ่อชื่อ..........ยังมีชีวิตอยู่  อยู่จังหวัดปราจีน  แม่เสียชีวิตไปแล้ว เมื่อเขียนเสร็จนิ่งคิดไปนานมาก  แล้วบอกว่า ”หนีทหารมา กลัวถูกจับไปลงโทษ” เคยหนีไปอยู่วินบ่อบัว” “ใช้ยาเสพติด”

เมื่อได้ข้อมูลดังกล่าว  ทีมงานไม่รอช้าประสานงานกับทีมงานสิทธิประโยชน์ เพื่อค้นหาครอบครัวของผู้ป่วยรายนี้  โดยค้นหาจากทะเบียนราษฎร์  เดชะบุญ  เราพบว่าพ่อของผู้ป่วยอยู่จังหวัดสระแก้ว  เป็นความดีของสิทธิประโยชน์ที่อุตสาหะในการติดตามอย่างต่อเนื่องจนได้รับความช่วยเหลือจากผู้ว่าราชการจังหวัด และได้ประสานงานกับ อบต. จนในที่สุด การทำงานในครั้งนี้ก็ประสบความสำเร็จ อบต. ได้ค้นหาและติดต่อพ่อของผู้ป่วยรายนี้  และเมื่อรู้ข่าวว่าลูกชายยังมีชีวิตอยู่  ไม่ตายจากไป  หัวอกผู้เป็นพ่อสุดแสนดีใจอย่างท้วมท้น  รีบเมารถมารับลูกชายสุดที่รักกลับคืนสู่อ้อมกอดของตนทันที 

ภาพต่อไปนี้  สุดที่จะบรรยายด้วยคำพูดใดๆ  นอกเสียจากคำบอกเล่าจากหัวใจของมนุษย์ที่ทำงานด้วยใจจริง  พ่อสวมกอดลูกรักพร้อมกับหลั่งน้ำตาออกมา  ด้วยความปลื้มปิติดีใจเป็นล้นพ้นที่ได้พบหน้าลูกอีกครั้ง  และสารภาพว่าเขาได้ตามหาลูกไปทั่ว  เคยแจ้งความคนหาย แต่สุดท้ายก็ผิดหวัง  จนกระทั่งวันนี้เขาไม่รู้จะกล่าวหรือหาคำพูดอะไรแทนคำขอบคุณที่วันนี้เขาได้เจอลูกชาย  ภาพที่เกิดขึ้นนี้ยังตาตรึงอยู่ในความทรงจำของพยาบาลทุกคน และเปี่ยมล้นด้วยพลัง  เป็นแรงบันดาลใจในการดูแลฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชต่อไป

Nittaya Suriyapan,Bsc.Nursing,MS Comunity PsyChology

คำสำคัญ (Tags): #humanized health care
หมายเลขบันทึก: 253661เขียนเมื่อ 5 เมษายน 2009 20:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2012 21:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

การทำงานที่ยึดบุคคลเป็นศุนย์กลางและหัวใจความเป้นมนุษย์น่ายกย่องมาก

การดูแลด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์เป็นสิ่งที่ดีงาม

ขอชื่นชมทีมงานของคุณนะคะ เก๋งมาก จากจัยจริง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท