ก. มีสัญชาติไทยโดยการสมรสหรือการถือสัญชาติไทยของหญิงตามสามี


          

 

              จากการศึกษาในเรื่องนี้ ผู้เขียนเห็นได้ว่ากฎหมายสัญชาติของแต่ละประเทศก็ได้รับรองว่าบุคคลอาจได้สัญชาติโดยการสมรสไว้แตกต่างกัน กล่าวคือ แนวความคิดแรกเห็นว่า การสมรสเป็นเหตุให้หญิง(ภริยา)ได้สัญชาติตามสามีโดยอัตโนมัติ ส่วนแนวความคิดที่สอง กลับพิจารณาว่า การสมรสไม่เป็นผลทำให้ผู้นั้นได้สัญชาติของสามีโดยทันทีแต่กลับต้องอาศัยเจตนารมณ์ของหญิงนั้นประกอบด้วย[1] กฎหมายไทยในอดีต เช่น พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2456[2] และพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2495[3] นั้นยอมรับว่าหญิงต่างด้าวอาจถือสัญชาติไทยได้โดยการสมรสกับชายคนไทยและการได้สัญชาติไทยนี้เป็นการได้มาโดยอัตโนมัติโดยที่หญิงนั้นมิต้องแสดงความประสงค์แต่ประการใด สัญชาติที่ได้รับใหม่นี้เป็นสัญชาติที่ได้มาโดยการสมรส ดร.ปรีดี พนมยงค์ อธิบายว่า ในกรณีหญิงต่างด้าวผู้นั้นย่อมมีสัญชาติไทยโดยการแต่งงาน โดยหาจำต้องทำพิธีการแปลงสัญชาติอีกไม่[4] เช่นเดียวกับอาจารย์ บุณย์ เจริญไชย ที่เห็นว่า การที่หญิงต่างด้าวสมรสกับชายไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติ ฉบับปี พ.ศ.2546 และ พ.ศ.2495 นั้นเป็นการได้สัญชาติไทยโดยการสมรส โดยมิต้องมีแบบพิธีขอถือสัญชาติแต่อย่างใด[5]

              อย่างไรก็ตาม เป็นครั้งแรกที่ พระราชบัญญัติ พ.ศ.2495 แก้ไขในปี พ.ศ.2503 มาตรา 8 มิได้รับรองว่า การสมรสกับชายคนไทยเป็นวิธีการได้สัญชาติไทยโดยอัตโนมัติ การสมรสเป็นเพียงเงื่อนไขที่ให้สิทธิแก่หญิงที่จะยื่นคำร้องขอถือสัญชาติตามสามีเท่านั้น และเป็นดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ปกครองอนุมัติหรือไม่อนุมัติตามคำขอนั้น[6]

              นอกจากนี้ ตามกฎหมายสัญชาติไทยปี พ.ศ.2508 ก็เดินตามพ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2495 แก้ไขปี พ.ศ.2503 กล่าวคือ หลักการได้สัญชาติไทยโดยการสมรสโดยอัตโนมัติไม่เป็นที่รับรองอีกต่อไป พ.ร.บ.สัญชาติ ฉบับปี พ.ศ.2508 เห็นว่าลำพังการสมรสอย่างเดียวไม่มีผลทางกฎหมายให้หญิงต่างด้าวนั้นได้สัญชาติไทยโดยทันที แต่ถ้าหญิงนั้นต้องการถือสัญชาติไทยนั้นจะต้องแสดงเจตจำนง จะต้องยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบและวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง[7] และจะเป็นดุลพินิจของฝ่ายปกครองที่จะออกคำสั่งทางปกครองอนุญาตให้หญิงนั้นได้สัญชาติไทย โดยมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 ได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า หญิงซึ่งเป็นคนต่างด้าวและได้สมรสกับผู้มีสัญชาติไทย ถ้าประสงค์จะได้สัญชาติไทย ให้ยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบและวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง การอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ได้สัญชาติไทยให้อยู่ในดุลพินิจของรัฐมนตรี และยังได้มีพระราชบัญญัติ สัญชาติฉบับที่ 4 ใหม่ล่าสุด ที่ได้มีการแก้ไขในปี พ.ศ.2551 จากเดิมมีแต่ หญิงต่างด้าวเท่านั้นที่จะมีสัญชาติได้โดยการสมรส แต่พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2551 ยังได้ให้ชายหรือหญิงที่ได้สมรสกับคนต่างด้าวอาจถือสัญชาติของภริยาหรือสามีก็ได้[8] 

              จากมาตรา 13 มาตรา 9 พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ.2508 และมาตรา 13 ของพ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. 2551 นั้นจะไม่เป็นเหตุที่ทำให้การได้สัญชาติจากการสมรสได้โดยอัตโนมัติ แต่การที่จะได้สัญชาตินั้นต้องมีการแสดงความจำนงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบและวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง       



[1] รองศาสตราจารย์ ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนานิช, คำอธิบายกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล, ภาควิชากฎหมายระหว่างประเทศคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,พ.ศ. 2548, น.23

[2] มาตรา 3 พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2456                       

               “บุคคลเหล่านี้ได้บัญญัติว่าเป็นคนไทย คือ

               (๔)      หญิงผู้ได้ทำงานสมรสกับคนไทยตามกฎหมายประเพณี

[3] มาตรา 8 พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2495 บัญญัติว่า หญิงต่างด้าวที่ทำการสมรสกับคนไทย ย่อม ได้สัญชาติไทย                      

[4] หลวงประดิษฐ์มนูธรรม, คำอธิบายกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล,น.87.

[5] บุณย์ เจริญไชย, คำอธิบายกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล,พ.ศ. 2496 น. 144.

[6] รองศาสตราจารย์ ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนานิช, คำอธิบายกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล, ภาควิชากฎหมายระหว่างประเทศคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,พ.ศ. 2548, น.22

[7] พันธ์ทิพย์ กาญจนะจิตตรา สายสุนทร. คำอธิบายกฎหมายสัญชาติไทย.พิมพ์ครั้งที่4, กรุงเทพฯ: วิญญชน,2548.๙๙

[8] มาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติไทย พ.ศ. 2551

หมายเลขบันทึก: 253248เขียนเมื่อ 4 เมษายน 2009 09:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท