ก. การมีสัญชาติไทยตามหลักสืบสายโลหิต(jus sanquinis)


          

 

              ผลการศึกษาพบว่าบุคคลที่จะได้มีสัญชาติไทยตามหลักสืบสายโลหิต(jus sanquinis)เป็นข้อเท็จจริงที่กฎหมายรับรองให้เป็นเหตุของการได้สัญชาติไทยโดยการเกิดจากสายโลหิตซึ่งมีอยู่ 2 กรณีด้วยกันกล่าวคือ  สายโลหิตจากบิดา และสายโลหิตจากมารดาก็ได้ ซึงผู้เขียนจะได้ทำการศึกษาดังต่อไปนี้

 

              * หลักสืบสายโลหิตจากบิดา

 

                จากการศึกษาผู้เขียนพบว่า บุคคลที่จะได้ชื่อว่าเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตนั้นจะต้องฟังได้ว่ามีข้อเท็จจริงดังต่อไปนี้ ประการแรก ผู้นั้นจะต้องปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายในขณะที่เกิด และ ประการที่สอง ผู้นั้นจะต้องมีบิดาที่มีสัญชาติไทยอยู่แล้วในขณะที่เกิด[1] องค์ประกอบสองข้อนี้มีความสำคัญมากอันจะขาดเสียมิได้ หากขาดข้อหนึ่งข้อใดเสียแล้ว ผู้นั้นย่อมไม่ได้สัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิต องค์ประกอบทั้งสองนี้สามารถอธิบายได้ดังนี้

                ประการที่หนึ่ง คำว่า เกิดตามกฎหมายสัญชาตินั้นหมายถึง การคลอดจากจากครรภ์มารดาแล้วเป็นทารก ตามมาตรา15 วรรคแรกแห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์[2] หาได้หมายถึงการปฏิสนธิไม่ อนึ่ง มีข้อสังเกตว่าในอดีตกฎหมายว่าด้วยสัญชาติของไทยฉบับแรกคือ พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. 2456 มาตรา 3 วรรค 1 [3] ใช้คำว่า กำเนิดแทนคำว่า คลอดทำให้นักกฎหมายบางท่านตีความว่า ได้กำเนิดหมายถึง เมื่อเด็กปฏิสนธิในครรภ์มารดา[4] แต่เมื่อกฎหมายว่าสัญชาติที่มีผลใช้บังคับในปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้คำว่า เกิดแทน จึงหน้าจะเข้าใจว่าหมายถึงการคลอดตามมาตรา 15 วรรคแรก แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  ดังนั้น การพิจารณาว่าบุคคลใดจะมีสัญชาติไทยโดยสืบสายโลหิตตามบิดาหรือไม่จะต้องพิจารณาว่า ในขณะที่ผู้นั้นเกิด บิดาของผู้นั้นมีสัญชาติไทยหรือไม่ หากปรากฏว่าขณะเกิดบิดามีสัญชาติไทย แม้ว่าภายหลังบิดาจะไม่มีสัญชาติไทยอีกต่อไป ก็หามีผลกระทบต่อความสมบูรณ์ที่บุตรได้สัญชาติไทยไม่

                ประการที่สอง ประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อมาก็คือ คำว่า บิดา[5] ตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาตินั้นหมายถึง บิดาที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น และบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายนั้นจะต้องปรากฏขณะหรือก่อนบุตรเกิด หมายความว่า บิดามารดาต้องจดทะเบียนสมรสก่อนบุตรเกิดจึงจะมีผลทำให้บุตรได้รับสัญชาติไทย[6] และอาจได้สัญชาติไทยก็ได้[7] การจดทะเบียนภายหลังก็ดี บิดารับรองบุตรก็ดี ศาลพิพากษาว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายก็ดี หามีผลทำให้บุตรที่เกิดได้รับสัญชาติโดยหลักสืบสายโลหิตตามบิดาไม่ หลักที่ว่าบิดาจะต้องเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายขณะหรือก่อนบุตรเกิดนั้นเป็นหลักที่ศาลไทยยึดถือมาโดยตลอด[8]    

 

              * หลักสืบสายโลหิตจากมารดา

 

                ในส่วนนี้ ผู้เขียนจะได้ศึกษาถึงกฎหมายสัญชาติไทยว่าเด็กที่เกิดมาจะได้สัญชาติไทยตามหลักสืบสายโลหิตจากมารดาหรือไม่ ในขณะที่เกิดนั้นไม่ปรากฏมารดาที่ชอบด้วยกฎหมายหรืออีกฝ่ายหนึ่งเป็นคนต่างด้าวหรือไร้สัญชาติ ซึ่งผู้เขียนจะได้ทำการศึกษาดังต่อไปนี้

                จากการศึกษาพบว่ากฎหมายว่าด้วยสัญชาติไทยในอดีต ตั้งแต่พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2456,พ.ศ.2495,พ.ศ.2508 และได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2551  นั้นได้ยึดถือหลักสืบสายโลหิตของมารดาเป็นบทรองจากหลักสืบสายโลหิตของบิดา กล่าวคือ กฎหมายจะกำหนดข้อเท็จจริงเพิ่มเติมอันเป็นเงื่อนไขที่จะได้รับสัญชาติไทยโยดหลักสืบสายโลหิตของมารดา ตามมาตรา 7 พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. 2508[9] และได้มีการแก้ไขในพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2551 ซึ่งโปรดดูในเชิงอรรถที่14ข้างบน

                ตัวอย่าง นางสาว น้อย เกิดเมื่อ วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2535 เกิดที่ประเทศไทย  ในขณะที่เกิด บิดาเป็นคนต่างด้าว และมารดาเป็นคนไทย[10] นางสาว น้อย เกิดมาย่อมได้สัญชาติไทยโดยหลักสายโลหิตจากมารดา ตามมาตรา 7 วรรค 1  แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘



[1] มาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด

     (๑) ผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย

   (๒) ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย ยกเว้นบุคคลตามมาตรา ๗ ทวิ วรรคหนึ่ง

[2] หยุด แสงอุทัย, คำอธิบายกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล, กทม: สำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2527, น.145

[3] มาตรา 3 พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2456                       

               “บุคคลเหล่านี้ได้บัญญัติว่าเป็นคนไทย คือ

               (๑)      บุคคลนั้นได้กำเนิดแต่บิดาเป็นคนไทย แม้เกิดในราชอาณาจักรก็ดี เกิดนอกพระราชอาณาจักรก็ดี

               (๒)      บุคคลนั้นได้กำเนิดแต่มารดาเป็นคนไทย แต่ฝ่ายบิดาไม่ปรากฏ

               (๓)      บุคคลผู้กำเนิดในพระราชอาณาจักรสยาม

               (๔)      หญิงผู้ได้ทำงานสมรสกับคนไทยตามกฎหมายประเพณี

               (๕)      คนต่างประเทศผู้ได้แปลงชาติมาถือเอาสัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติ

[4] หลวงประดิษฐ์มนูธรรม, คำอธิบายกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล,น.35

[5] มาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑ บัญญัติไว้ว่า ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสองของมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕0๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่๒) พ.ศ. ๒๕๓๕

คำว่าบิดาตาม (๑) ให้หมายรวมถึงผู้ซึ่งได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นบิดาของผู้เกิดตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง แม้ผู้นั้นจะมิได้จดทะเบียนรับรองผู้เกิดเป็นบุตรก็ตาม

[6] มาตรา 7 (2)  พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508           

                 “ผู้เกิดนอกราชอาณาจักรโดยมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย แต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือบิดาไม่มีสัญชาติ

[7] มาตรา๗ วรรค แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘. ซึ่งได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมใหม่ในพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๕๑. ซึ่งได้ใช้ข้อความต่อไปนี้ว่า ในกรณีที่เห็นสมควร รัฐมนตรีจะพิจารณาและสั่งเฉพาะรายหรือเป็นการทั่วไปให้บุคคลตามวรรคหนึ่งได้สัญชาติไทยก็ได้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยซึ่งไม่ได้สัญชาติไทยตามวรรคหนึ่งจะอยู่ในราชอาณาจักไทยในถานะใด ภายใต้เงื่อนไขใด ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรและสิทธิมนุษยชนประกอบกัน ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎกระทรวงดังกล่าว ให้ถือว่าผู้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

[8] รองศาสตราจารย์ ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนานิช, คำอธิบายกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล, ภาควิชากฎหมายระหว่างประเทศคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,พ.ศ. 2548,น.14

[9] มาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508  บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด

(๑) ผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย

(๒) ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย ยกเว้นบุคคลตามมาตรา ๗ ทวิ วรรคหนึ่ง

[10] โปรดอ่านต่อในบทที่๓

หมายเลขบันทึก: 253240เขียนเมื่อ 4 เมษายน 2009 08:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 14:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท