มาตรฐานการฝึกอบรมอยู่ที่ไหน


“แล้วคุณจะทราบได้อย่างไรว่าการอบรมที่คุณไม่ได้ทำเองมีมาตรฐานตามที่ต้องการ”

ช่วงนี้เป็นช่วงงานเร่งบีบหัวใจ เนื่องจากบริษัทต้องทำการเดินรถข้ามไปยังฝั่งธนฯ อีก 2 สถานีในวันที่ 15 พฤษภาคม 2552 นี้ คนที่เดินทางไปมาช่วงสะพานตากสินอาจจะเห็นขบวนรถไฟฟ้าวิ่งไปมาบ้างแล้ว อาจจะนึกว่าอีกไม่นานคงจะได้นั่งรถไฟฟ้าจากฝั่งพระนคร ข้ามไปยังผั่งธนฯ ในเร็วๆ นี้ตามข่าวที่ออกไปตามสื่อต่างๆ

 

แต่จะมีใครทราบบ้างว่าเบื้องหลังกว่าจะเดินรถได้ต้องมีอะไรบ้าง มันไม่ได้มีแค่ระบบสร้างเสร็จแล้ว รถวิ่งได้แล้ว ก็จะทำการเปิดให้บริการได้ การที่จะให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยนั้น ต้องให้เวลากับการทดสอบระบบด้านการปฏิบัติการ การบริหารงานระบบ ให้ราบรื่น ไม่ใช้แค่ด้านวิศวกรรมเท่านั้น  และแน่นอน จะต้องมีการเตรียมทรัพยากรบุคคลให้พร้อม และหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบในส่วนนี้คือ หน่วยงานฝึกอบรม และก็เป็นหน่วยงานที่ต้องถูกด่าเป็นหน่วยงานแรก ถ้าคนทำงานไม่ได้ตามที่ต้องการ หรือมีข้อผิดพลาด

 

ผมต้องดูแลการฝึกพนักงานขับรถไฟฟ้าที่มีอยู่ทั้งหมดเกือบ 200 คน ให้สามารถทำงานได้ภายใต้เวลาที่จำกัด ดังนั้นในทีมงานของผมทีมีอยู่แค่ 3 คน ย่อมทำได้ไม่ทันอย่างแน่นอน จึงต้องให้ต้นสังกัดมาช่วยสอน ผู้ใหญ่จึงมีคำถามต่อมาว่า แล้วคุณจะทราบได้อย่างไรว่าการอบรมที่คุณไม่ได้ทำเองมีมาตรฐานตามที่ต้องการ ผมจึงต้องอธิบายและจัดทำแผนให้เห็นชัดเจนเป็นรูปธรรม เพื่อให้ผู้บริหารมองภาพในมุมมองของการฝึกอบรมให้ชัดเจน นั่นคือ ต้องเขียน Course Outline ให้ชัดเจน ทั้งวัตถุประสงค์ เนื้อหา เวลา ผู้เข้าอบรม ความรู้พื้นฐาน เตรียมแผนการสอนให้สอนไปในทิศทางเดียวกัน (MIAP) (อ่านรายละเอียดได้ใน Link  http://gotoknow.org/blog/attawutc/237875  และ http://gotoknow.org/blog/attawutc/237900 ) มีการวัดผลตามวัตถุประสงค์ โดยเฉพาะต้องเป็นวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมเท่านั้น  ข้อสอบต้องสามารถวัดพฤติกรรมให้ครบได้ทั้ง 4 ด้าน คือ ความรู้ ความเข้าใจ ทักษะ และเจตคติ (KUSA) และเน้นระดับความเข้าใจขึ้นไป จนถึงขั้นประเมินผล ( จำ, เข้าใจ, นำไปใช้, วิเคราะห์, สังเคราะห์, ประเมินผล) ที่ผ่านมาข้อสอบทฤษฎีผมเคยออกสอบแบบ Open คือให้เปิดเอกสารอ้างอิงได้ แต่ต้องตอบให้ได้ในเชิงวิเคราะห์และประเมินผล บางครั้งผมก็ใช้มุกอาจารย์วรภัทร์ เช่น จงออกข้อสอบเรื่อง.....ให้ได้อย่างน้อย 10 ข้อ พร้อมทั้งเฉลยให้ถูกต้อง แต่ต่อยอดของอาจารย์ไปอีกนิดหนึ่งก็คือ มาตรฐานข้องข้อสอบที่ผู้เข้าอบรมทำมาส่งต้องให้ครอบคลุมตั้งแต่ระดับระดับความเข้าใจขึ้นไป จนถึงขั้นประเมินผล ตามความยากง่าย ที่ผ่านมายังไม่ค่อยเป็นที่น่าพอใจ เพราะข้อสอบที่ออกมายังอยู่ในระดับความจำเสีย เป็นส่วนมาก ยังไม่เคยเห็นข้อสอบระดับประเมินผลที่โดนๆ เลย

เมื่อมี Course Outline ที่ชัดเจนแล้ว จากนั้นจึงร่างโครงการฝึกอบรม ให้ต้นสังกัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับรอง เพื่อเป็นการยืนยันว่านนี่คือความประสงค์ของลูกค้า จะได้ไม่ต้องมาด่ากันทีหลังว่า อบรมกันยังไง ทำไมไม่ได้เรื่องเลย ซึ่งเป็นคำเสียดแทงหัวใจ ที่คนฝึกอบรมต้องกล้ำกลืนฝืนทนมาช้านาน

  

ระหว่างการอบรมเราก็จะมีการ ทั้งทางด้านทฤษฎี  ปฏิบัติ OJT (On The Job Training) และดูพฤติกรรมการเข้าอบรมของแต่ละบุคคลด้วย เปรียบเสมือนผู้เข้าอบรมเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาเลยทีเดียว ซึ่งต้องใช้หลักการบริหารด้วยพรหมวิหาร 4  ด้วย และหลักการบริหารอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการบริหารผู้ใต้บังคับบัญชา  

การวัดประเมินผล เราจะมีทั้งการสอบ ทั้งภาคทฤษฎี ปฏิบัติ และ Final Interview (http://gotoknow.org/blog/attawutc/241201) นอกจากนี้เรายังวัดเวลาการเข้าอบรมด้วย อย่างน้อย 80-100 % หลังจากที่ฝึกอบรมกันจบแล้วก็จะส่งพนักงานเข้าทำงาน ซึ่งต้องมีการติดตามผลด้วยว่า สิ่งที่สอนไป สอดคล้องกับงานที่ทำหรือไม่ ได้นำไปใช้จริงหรือไม่ และต้นสังกัดต้องให้ความร่วมมือในการเก็บข้อมูล เพื่อส่วนฝึกอบรมจะได้นำข้อมูลส่วนนี้ไปพัฒนางานให้ดีขึ้นต่อไป

 

หมายเลขบันทึก: 252721เขียนเมื่อ 2 เมษายน 2009 11:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 09:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท