เด็กได้อะไรจากดนตรี


ดนตรีให้อะไร

ดนตรี : สร้างสรรค์อะไรให้เด็กบ้าง

------------------------------------

             ไม่มีใครในโลกนี้ไม่ชอบเสียงเพลง สื่อของเสียง ถือเป็นสิ่งเดียวในโลกที่สามารถสื่อสาร  ความเข้าใจได้ดีกว่าสื่ออื่นๆ   โดยเฉพาะเสียงดนตรี ซึ่งเป็นสื่ออันทรงพลังยิ่งกว่าอื่นใด 

               พัฒนาการของเด็ก  ควรให้การศึกษาเสริมกับเขาด้วยการสอนดนตรีก่อนการสอนอย่างอื่น  การศึกษาทางวิทยาศาสตร์พบว่า การให้เด็กฟัง และเรียนดนตรีตั้งแต่อายุยังน้อยจะช่วยในการเจริญของสมอง และเสริมประสิทธิภาพในการเรียนช่วยพัฒนาความคิด ที่เป็นเหตุเป็นผล ความคิดสร้างสรรค์และความจำ

               ดนตรีมีผลต่อสมองของทารก    โดยที่สมองของเด็กทารก     มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เด็กอยู่ในท้องแม่ จนกระทั่งคลอด  สภาพแวดล้อมและประสบการณ์ เป็นตัวที่ก่อให้เกิดวงจรของประสาทในสมอง  รวมทั้งการเชื่อมโยงระหว่างเซลล์ประสาทเล็ก ๆ ที่ติดต่อโยงใยและสื่อสารกัน  โดยมีประจุไฟฟ้าเป็นตัวนำสัญญาณไปสู่ส่วนต่าง ๆ ของสมอง  สมองเด็กแรกเกิด มีเซลล์ประสาทมากมายนับล้านตัวที่รอการประสาน  เชื่อมโยงเพื่อพัฒนาการรับรู้  นักวิทยาศาสตร์พบว่าถ้าเซลล์ประสาทไม่ได้ใช้งาน และไม่มีการเชื่อมโยง  วงจรประสาทระหว่างเซลล์สมองก็จะค่อย ๆ  กำจัดเซลล์เหล่านี้ไป  ดังนั้นเด็กที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสมองมากเท่าใด ส่วนที่เชื่อมโยงยิ่งมากขึ้นเท่านั้น  เปรียบร่างแหการเชื่อมโยงเหล่านี้ได้กับรากต้นไม้ที่แตกแขนงออกมากมาย เพื่อดูดซับอาหารในสภาพดินที่สมบูรณ์

               ดนตรีจึงมีส่วนสำคัญในการเพิ่ม วงจรประสาทในสมอง  ผ่านทางหู พ่อแม่ ที่ร้องเพลงหรือเล่นดนตรีให้ทารกฟังมากเท่าใด สมองของลูก ยิ่งมีร่างแหเชื่อมโยงมากเท่านั้น  การทำงานของสมองมีกลไกที่สัมพันธืเกี่ยวขิ้องกับเซลล์ประสาทที่ใช้ในการเล่น ดนตรี พูดคุย คิดเลข และคิดอย่างใช้เหตุผล  และผู้ที่จะสร้างสภาพแวดล้อมดังกล่าวให้กับเด็กตั้งแต่แรกเกิด คือ แม่ ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัสโอบกอดลูก ให้นมแก่ลูก  หรือพูดคุยส่งภาษา ร้องเพลงให้ฟัง  เด็กจะสามารถรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสทุกด้านไม่ว่าจะเป็นตา หู จมูก ลิ้น และผิวหนัง ดังนั้น การออกกำลังกายสมอง โดยการเล่นดนตรี จึงเสริมความสามารถด้านอื่น ๆ ด้วย

               นักวิจัยจึงเกิดความคิดว่า ถ้าเป็นเช่นนั้น  ดนตรีอาจทำให้เซลล์ประสาทสื่อสารเชื่อมโยงกันได้  จึงมีนักวิจัยได้ศึกษาเด็กในวัยเรียนว่า ดนตรีมีผลต่อการพัฒนาสมองอย่างไร จากการเรียนตามปกติ โดยแบ่งเด็กเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 เรียนดนตรีที่ใช้คีย์บอร์ด  กลุ่มที่ 2 เรียนคอมพิวเตอร์ กลุ่มที่ 3 เรียนร้องเพลง กลุ่มที่ 4 ไม่เรียนเพิ่มเติม   แล้วทำการวัดผลหลังจากนั้น 6 เดือนต่อมา พบว่า กลุ่มที่เรียนคีย์บอร์ด ทำการทดสอบได้ดีกว่ากลุ่มอื่น ๆ ถึง 34%

               ในเด็กวัยประถมศึกษา การเรียนดนตรีช่วยให้เด็กมีสมาธิในการทำงานที่ได้รับมอบหมายดีขึ้น  มีความมั่นใจในตนเองมากขึ้น  เด็กจะมีความภาคภูมิใจที่เล่นดนตรีได้  การสอนลูกให้รักดนตรี  สามารถเริ่มได้ตั้งแต่วัยทารก จะสังเกตเห็นว่า เด็กทารกจะให้ความสนใจกับสิ่งต่าง ๆ  ที่มีเสียง เช่น เวลาที่คนพูดคุยกัน เขาจะหันมองทันที  คุณสามารถสอนให้ลูกชอบเสียงเพลงได้โดยเริ่มจากการให้เขาฟังเพลงก่อนนอน  จากการร้องของคุณเอง  ในขณะที่ร้อง ถ้าลูกยังไม่ง่วงนัก คุณสามารถจับแขนขาลูกขยับตามจังหวะได้  ในเด็กเล็กควรเริ่มด้วยเพลงเบา ๆ ไม่มีจังหวะกระตุ้นมากเกินไป

               จังหวะเพลง คือสิ่งที่ช่วยพัฒนาเด็กได้มากที่สุด  การให้เด็กเล็กรู้จังหวะด้วยการเคาะตาม  จะช่วยให้เขาเรียนรู้ได้เร็วยิ่งขึ้น  ในเด็กวัย 1-2 ปี  ควรเสริมกิจกรรมดนตรีให้ เช่น ตบมือตามจังหวะดนตรี เริ่มให้เขาเรียนรู้ด้วยการสัมผัสเครื่องดนตรีหลาย ๆ ประเภท เช่น กลอง ลูกกระพรวนที่มีขนาดใหญ่ เพื่อความปลอดภัย  ให้เด็กเล่นเครื่องตี  เคาะ ที่มีเสียงต่างกันด้วย อาจเลือกเคาะสิ่งที่ใกล้ตัว ที่มีขนาดต่างกัน ตีแล้วไม่แตกหักง่าย จนเมื่อเริ่มเข้าโรงเรียน  ควรให้เด็กได้เรียนดนตรีอย่างมีความสุขและสนุกสนาน  ไม่ควรบังคับให้เรียน  อาจให้เล่นเครื่องดนตรีง่าย ๆ ร้องเพลง และเต้นหรือตบมือตามจังหวะ  ฉะนั้นเด็กวัยประถมศึกษาจึงควรมีชั่วโมงเรียนดนตรีอยู่ในหลักสูตรด้วย

               หลักสูตรการศึกษาของไทย การให้ความสำคัญในการสอนดนตรีมีน้อยมาก หลักสูตรวิชาดนตรี พุทธศักราช  2435 มีเพียงวัตถุประสงค์ของการสอน แต่ไม่มีเหตุผลว่าทำไมต้องสอนวิชาดนตรี ต่อมาหลักสูตรวิชาดนตรี พุทธศักราช 2450 เพิ่มปรัชญาในการสอนดนตรีขึ้น สอนเพื่อให้รู้ไว้เป็นเครื่องแก้รำคาญ  สำหรับบ้านเรือนในเวลาว่างเปล่า หรือเป็นเครื่องล้างความขุ่นมัวใจ  คือหัดร้องเพลงที่ง่าย ๆ  ส่วนเพลงที่ยาก ๆ และการดีด สี ตี เป่านั้น ตามแต่จะสอนได้และตามใจรักหลักสูตรวิชาดนตรี พุทธศักราช 2452  มีปรัชญาในการสอนขับร้อง  วิธีสอนคือ หัดร้องเพลงเพราะ ๆ ง่าย ๆ ที่พอสอนได้ เช่น บทดอกสร้อย เป็นต้น ปรัชญาการเรียนดนตรีลอกเลียนแบบกันเรื่อยมา  กระทั่งหลักสูตร พุทธศักราช 2501 และ 2503 จึงมีการเปลี่ยนแปลง เพิ่มวัตถุประสงค์มากขึ้น ปรัชญาการสอนดนตรีในหลักสูตร พุทธศักราช 2521 ไม่ได้แตกต่างจากฉบับก่อน ๆ  และหลักสูตรพุทธศักราช 2521 (ฉบับปรับปรุง พ.. 2533) ปรับปรุงการสอนดนตรีโดยใช้หลักบูรณาการ 

               ปัจจุบัน พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 มีผลบังคับใช้ หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 มีผลบังคับใช้ ดนตรี ถูกกำหนดอยู่ในสาระการเรียนรู้พื้นฐาน กลุ่มศิลปะ จึงเป็นการคาดเดาได้ยากว่า  ดนตรี จะมีส่วนช่วยสร้างสรรค์ พัฒนาเยาวชน ที่จะเติบโตเป็นกำลังของชาติ  ต่อไปในลักษณะใด เพราะปัจจุบันบุคลากรทางการศึกษา ให้ความสำคัญวิชาดนตรี อยู่ในลำดับสุดท้ายอยู่แล้ว

หมายเลขบันทึก: 252486เขียนเมื่อ 1 เมษายน 2009 14:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 17:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท