หมอน้อย


หมอน้อย

เรื่องเล่าจาก    นางสาวสุมล  ฉัยยา  อสม.ดีเด่น สาขาการจัดการสุขภาพในชุมชน

 

เริ่มต้นของชีวิต            เริ่มต้นเป็น อสม.

                        ฉันเป็นผู้หญิงตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งที่เกิดมาจากครอบครัวของเกษตรกรรมโดยแท้  พ่อแม่มีอาชีพทำนา  ฉันมีพี่น้องหลายคน  ฉันเป็นลูกคนโตซึ่งก็แน่นอนอยู่แล้วต้องมีความเสียสละ  ผ่อนแรงของพ่อแม่  หลังจากเรียนจบชั้นประถมปีที่  6  ฉันไม่ได้เรียนหนังสือต่อเพราะต้องเสียสละให้น้อง ๆ ได้เรียน  แต่ก็ไม่เป็นไร เพื่อน้อง ๆ ฉันทนได้เสมอ   ฉันต้องรับผิดชอบงานในหน้าที่ของการเป็นลูกที่ดีและเป็นพี่ที่ดีตั้งแต่อายุยังไม่ถึง  20  ปี   เมื่อหมดจากหน้าทำนาทำไร่ ก็ค่อนข้างจะมีเวลาว่างอยู่เหมือนกัน   ฉันถูกน้าชักชวนให้สมัครเป็น อสม.     ซึ่งก่อนหน้านี้ฉันก็เห็นน้าเขาทำงานเกี่ยวกับ อสม. อยู่บ้างแล้ว   “บ้านเรามันอยู่ไกลอนามัย  มี อสม. จะได้ช่วยกันดูแลสุขภาพของคนบ้านเราเอง”   ฉันเป็น อสม.ตั้งแต่ปี  2529  ด้วยความที่บ้านของฉันอยู่ไกลจากอนามัย  ฉันจึงเป็นเสมือนตัวแทนของหมออนามัย   “ต่ายชั่งน้ำหนักเด็กให้พี่หมอด้วยนะ”    พี่หมอที่อนามัยบอกฉันเมื่อถึงรอบการชั่งน้ำหนัก  ซึ่งฉันก็ช่วยพี่หมอชั่งน้ำหนักอยู่แล้วทุก  3  เดือน   “ต่ายเดี๋ยวเดือนหน้าช่วยหมอสำรวจข้อมูลด้วยนะ”   ฉันช่วยพี่หมอสำรวจข้อมูลต่าง ๆ ที่หมออนามัยจำเป็นต้องใช้  จนทำให้ฉันรู้จักคุ้นเคยกับเพื่อนบ้านในหมู่บ้านเป็นอย่างดี  ซึ่งโดยปกติฉันก็คุ้นเคยดีอยู่แล้ว   แต่ความคุ้นเคยกับความรู้จักมากขึ้นเปลี่ยนไป  เดิมคุ้นเคยเพราะเป็นคนบ้านเดียวกัน แต่เมื่อฉันได้เป็น อสม. มันเพิ่มจากความคุ้นเคยกลายมาเป็นรู้จักเป็นอย่างดี  คือรู้ว่าคนในหมู่บ้านที่ฉันอยู่มีสุขภาพเป็นอย่างไร  มีเด็กกี่คน  มีคนสูงอายุกี่คน  มีผู้พิการกี่คน  มีคนป่วยเป็นโรคเบาหวาน  ความดันโลหิตกี่คน   คนไข้โรคจิตกี่คน   ผู้หญิงแต่งงานแล้วกี่คน  คนท้องกี่คน  หลังคลอดกี่คน  ฉันไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่านี่คืองานที่หมออนามัยต้องทำ   “มันมีมากกว่านี้อีกเยอะ”  หมออนามัยบอกฉันเมื่อคราวที่ฉันสัพยอกว่า    “ทำไมเราต้องไปรู้เรื่องราวของชาวบ้านมากกมายขนาดนี้”

 

เข้าใจงาน  เข้าใจคน

                         ฉันเริ่มรู้แล้วว่าความจำเป็นด้านสุขภาพของคนเราที่ควรจะได้รับนั้นมีอะไรบ้าง  และอะไรบ้างที่คนเราต้องใส่ใจตัวเอง  ซึ่งการที่จะใส่ใจตัวเองได้นั้นก็ต้องมีความรู้เสียก่อน    แต่สำหรับคนในหมู่บ้านของฉันที่มันช่างห่างอนามัยเสียเหลือเกิน    ฉันคิดว่า อสม.นี่แหละที่จะช่วยให้คนในชุมชนของฉันได้รับการดูแลสุขภาพได้มากกว่าที่เคยเป็นอยู่   

                    ฉันได้รับการฝึกฝนให้สามารถที่จะวัดความดันโลหิต  เจาะน้ำตาลในเลือดที่ปลายนิ้ว   แรก ๆ ฉันก็รู้สึกกลัวเหมือนกัน สำหรับผู้หญิงตัวเล็ก ๆ ใจเด็ดอย่างฉัน ถ้าไม่ลองก็ไม่รู้  ถึงอย่างไรหมอเขาก็ต้องสอนและแนะนำเราจนชำนาญนั่นแหละ  ฉันนึกในใจ  การให้ความรู้จากหมออนามัยไม่เพียงแต่สอนให้ฉันวัดความดันเป็น หรือเจาะเลือดเป็นเท่านั้น  หมอยังบอกฉันด้วยว่าระดับความดันโลหิตเท่าไรจึงเรียกว่าผิดปกติ  และระดับน้ำตาลเท่าไรถึงผิดปกติ   “ถ้าความดันมากกว่า  140/90  มิลลิเมตรปรอท  ก็ต้องแนะนำชาวบ้านเขาด้วยนะว่าให้มาหาหมอที่สถานีอนามัยอีก 2 อาทิตย์ข้างหน้า”  หมออนามัยสอนฉันจนฉันจำได้ดี  “ต้องลดอาหารพวกเค็ม ๆ และอาหารมัน ๆ ด้วยนะ”  เป็นคำพูดที่ฉันมักจะบอกคนในหมู่บ้านเสมอเมื่อฉันไปวัดความดันให้

                        สิ่งที่ฉันเรียนรู้จากหมออนามัยนอกจากวิธีการวัดความดัน และการเจาะเลือดดูเบาหวานแล้ว  สิ่งที่ฉันได้เรียนรู้และนำประสบการณ์เหล่านั้นมาใช้ดูแลสุขภาพของคนในหมู่บ้านของฉันก็คือ  “กลุ่มเสี่ยง”   ต่อการเกิดโรค   เมื่อฉันรู้ว่าใครบ้างที่เป็นกลุ่มเสี่ยงซึ่งได้แก่คนที่มีญาติป่วยเป็นโรค    และคนที่มีน้ำหนักเกิน    เมื่อฉันพบเจอพวกเขาเหล่านี้ฉันจึงมักให้คำแนะนำและให้ความรู้  พร้อมกับเชิญชวนให้พวกเขามาวัดความดันกับฉันเสมอ  “มีฉี่บ่อย  น้ำหนักลดหรือเปล่า  นี่คืออาการเบื้องต้นของเบาหวานนะ  รีบไปตรวจ  ยังพอรักษาทัน”  ฉันมักจะถามเพื่อนบ้านอยู่บ่อย ๆ ที่เจอหน้ากัน  ไม่ว่าจะเป็นที่ร้านค้า  ที่วัด หรือที่ใด ๆ ก็ตาม 

กำลังใจให้หมอน้อย

                       “ถ้าไม่ได้ต่าย  ลุงก็คงจะแย่เหมือนกัน”   ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงข้างบ้านบอกฉัน  ในวันที่ฉันไปวัดความดันให้เพราะเพื่อนบ้านบอกว่าลุงขาดยามาหลายวันแล้ว ลุงแสงเดินไม่ได้ และช่วงที่ยาแกหมดลูกหลานก็ไม่อยู่ด้วย  ฉันไปวัดความดันให้พร้อมกับมาบอกค่าความดันที่วัดได้  แล้วเอายาจากอนามัยไปให้ที่บ้าน  ฉันไม่คิดว่านี่คือภาระ แต่นี่คือหน้าที่ของฉันต่างหาก  อย่างน้อยลุงก็จะได้ไม่ขาดยา  เพราะถ้าลุงขาดยา  ความดันโลหิตของลุงแสงอาจจะเพิ่มมากขึ้นก็ได้  ฉันแอบเป็นปลื้มนิด ๆ กับคำพูดของลุงแสง

                       การให้การดูแลคนในหมู่บ้านบางครั้งก็ไม่ได้รับคำชมเหมือนกัน  เพราะอะไรนะหรือ ก็เพราะว่าคนที่ฉันช่วยเหลือเขาคน  เขาเป็นคนสติไม่ดีเลยไม่รู้จะชมฉันได้อย่างไร  ป้าใจป่วยเป็นจิตเวชไม่ยอมไปหาหมอ  ใครจะพูดอย่างไรก็ไม่ยอมไป  สุดท้ายก็ไม่พ้นหมอน้อยที่ชื่อต่ายอย่างฉัน  ฉันพูดปลอบโยนเป็นนานสองนานกว่าป้าแกจะยอมไป  “ต้องไปเป็นเพื่อนป้านะ”  ฉันรับปากว่าจะไปเป็นเพื่อนป้าใจแก  ฉันติดต่อให้หมอจากโรงพยาบาลบ้านโป่งเขียนหนังสือส่งตัวเป็นที่เรียบร้อยก่อนถึงวันที่ฉันจะพาป้าใจไป  ในวันที่ไปนั้นฉันมีธุระสำคัญเกี่ยวกับการขอไฟฟ้าเข้าหมู่บ้านกับปลัดเทศบาล ตอนช่วงเวลาประมาณ  10  โมงเช้า  ฉันคิดว่าอย่างไรเสียก็ไปทันแน่ ๆ   ฉันพาป้าใจไปที่คลินิกฟ้าใสที่โรงพยาบาลราชบุรี   พยาบาลมีการตรวจวัดความดันโลหิตให้ด้วย  ผลปรากฏว่าความดันของป้าใจ  180/100  มิลลิเมตรปรอท   หลังจากที่ได้ตรวจจากหมอจิตเวชแล้ว  คุณหมอก็แนะนำว่าควรจะได้รับการตรวจเรื่องความดันโลหิตจากหมออายุรกรรมด้วย   ฉันเหลือบมองนาฬิกาที่ข้อมือ  มันเป็นเวลาใกล้จะ 10 โมงเช้าอยู่แล้ว  ฉันจะกลับไปทำธุระที่เทศบาลตอนนี้ก็ไม่ทันอยู่ดี  นึกว่าไหน ๆ ก็ไหน ๆ  พาป้าใจแกไปตรวจที่แผนกอายุรกรรมด้วยดีกว่า  เพราะว่ากว่าจะเกลี้ยงกล่อมให้แกมาวันนี้ได้ก็ใช้เวลานาน  กลับไปแล้วต้องพาไปหาหมออีกที กลัวแกจะเปลี่ยนใจเสียก่อน  ฉันจึงต้องพาป้าใจแกไปตรวจต่อ  กว่าจะรับยาเสร็จก็เวลาล่วงเลยไปเกินเที่ยงวันแล้ว  วันนั้นฉันกลับถึงบ้านเกือบบ่ายสองโมง    ธุระสำคัญที่ต้องมาติดต่อกับเทศบาลมีอันต้องเลื่อนไป  ฉันโทรมาขอโทษปลัดเทศบาลพร้อมกับขอนัดวันใหม่  ฉันคิดดูแลเรื่องของป้าใจน่าจะสำคัญและเร่งด่วนกว่า   อาการของป้าใจดีขึ้น  ได้รับทั้งยาโรคจิตและยาความดัน  อย่างน้อยป้าใจก็พ้นภาวะฉุกเฉินของชีวิตไปได้  ถึงแม้ฉันจะเหนื่อย แต่ฉันก็อดภูมิใจไม่ได้เมื่อเดินอยู่ในหมู่บ้านและได้พบหน้าป้าใจพร้อมกับรอยยิ้มของแก

 

 

 

ความฝันที่ต่อยอดจากการเป็น อสม.

                    ฉันเป็น อสม. อยู่ประมาณ  15  ปี ในปี   พ.ศ. 2544  ฉันก็ได้รับเลือกตั้งให้เป็น อบต.ของหมู่บ้านที่ฉันอาศัยอยู่ ฉันได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้น  หลายคนในหมู่บ้านเทคะแนนเสียงให้ฉัน ทุกคนรู้จักฉันดีเพราะฉันทำงานบริการด้านสุขภาพให้กับคนในหมู่บ้านของฉันเอง  และในปี 2548  ฉันได้มีโอกาสสมัครเป็นสมาชิกเทศบาลตำบลกรับใหญ่  ฉันได้รับการเลือกตั้งอีกเช่นเคย  ฉันอดนึกไม่ได้ว่า “นี่คงเป็นเพราะผลแห่งการได้ช่วยเหลือคนในช่วงของการเป็น อสม. อย่างแน่นอน   ถึงแม้ตำแหน่งในหมู่บ้านของฉันจะเปลี่ยนไปอย่างไร  หน้าที่ในการดูแลสุขภาพของคนในหมู่บ้านฉันก็ยังคงทำต่อไป ฉันเองกลับรู้สึกว่าฉันช่วยเหลือคนในหมู่บ้านได้มากยิ่งขึ้น สะดวกยิ่งขึ้น

                     อย่างเกริ่นเล่ามาตังแต่ต้นแล้วว่าฉันต้องออกจากโรงเรียนตั้งแต่จบชั้นประถมปีที่ 6 เพราะพ่อแม่ไม่สามารถส่งลูกเรียนหลาย ๆ คนในเวลาเดียวกันได้  แต่เมื่อฉันได้สมัครเป็น อสม. แล้ว  ฉันก็ได้มีโอกาสพัฒนาตนเอง  ฉันเรียน กศน.  ในโครงการที่ส่งเสริมให้ อสม.ได้เรียนต่อเพื่อปรับวุฒิของตนเอง  ฉันเรียน กศน. จนจบมัธยมปีที่   6  ฉันรู้สึกดีใจมาก  แต่ที่ฉันดีใจมากกว่านั้นก็คือ  การเป็น อสม. ของฉันได้พาฉันไปสู่ฝันให้ฝันของฉันเป็นจริง  คือการได้รับพระราชทานปริญญาบัตร  หลังจากที่ฉันเรียน กศน. จนจบ ม.  6  แล้ว  ฉันก็มีโอกาสได้เรียนต่อในระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช   ในสาขา ........ วิชาสุดท้ายเพิ่งได้รับแจ้งผลการเรียนว่าผ่านเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา  ฉันใช้เวลาเรียนแค่สามปีครึ่งแค่นั้นเอง  ฉันรู้สึกดีใจมากที่ชีวิตการเป็น อสม. ให้พาให้ฝันของฉันเป็นจริงในหลาย ๆ เรื่อง  ไม่เพียงแต่ฉันเท่านั้นที่ภาคภูมิใน  แม้แต่บุคคลในครอบครัวของฉันก็ภูมิใจในตัวฉัน

ฝันแห่งอนาคต

                    เมื่อฉันได้เป็นสมาชิกเทศบาล  (สท.) บทบาทหน้าที่คือการทำงานในภาพรวมตั้งตำบล  แต่เมื่อฉันเหลียวกลับมามองหมู่บ้านตนเองที่ตั้งอยู่ไกลจากอนามัย ไม่มีวัด  ไม่มีโรงเรียน ซึ่งฉันคิดว่าแหล่งสาธารณประโยชน์ในหมู่บ้านมีน้อยเกินไป ต้องการพัฒนาและอีกมาก ฉันตั้งเป้าหมายในชีวิตใหม่ว่าฉันน่าจะสมัครเป็นผู้ใหญ่บ้านประจำหมู่บ้านที่ฉันอยู่มากกว่า  เพราะการเป็นผู้ใหญ่บ้านฉันสามารถที่จะช่วยหรือพัฒนาหมู่บ้านของฉันได้อย่างง่ายและสะดวกกว่า   สำหรับเรื่องการดูแลสุขภาพของประชาชนในหมู่บ้านแล้ว  ฉันตั้งเป้าหมายว่าฉันจะตั้งศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชน (ศสมช.)  ขึ้นในหมู่บ้านของฉัน  ฉันได้พูดคุยปรึกษาเรื่องนี้กับแม่แล้ว ว่าขอให้แม่บริจาคที่ดินเพื่อปลูกสร้างเป็นศาลาแล้วจัดตั้งเป็น  ศสมช.  ซึ่งแม่ก็ยินดียกที่ดินให้  ขณะนี้ศาลาได้สร้างเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  ยังคงเหลือแต่การปรับปรุงต่อเติมให้เป็นสถานที่ที่จะให้บริการด้านสุขภาพ หรือที่เรียกว่า ศสมช. ไว้คอยให้บริการแก่เพื่อนบ้านของฉันที่ช่างอยู่ห่างไกลจากอนามัยเสียเหลือเกินได้  โดยฉันคิดเอาไว้ว่าจะขอให้หมออนามัยจัดอบรมคนในหมู่บ้านให้เป็น อสม. เพิ่มขึ้นอีก 4 – 5 คน  แล้วฉันก็จะช่วยผลักดันให้ อสม. เหล่านั้นได้ทำหน้าที่ดูแลทุกข์สุขด้านสุขภาพของคนในหมู่บ้านของพวกเราเฉกเช่นอย่างที่ฉันได้ปฏิบัติมา    ฉันคิดว่าเรื่องของสุขภาพเป็นเรื่องของพวกเราเอง  ถ้าต้องพึ่งพาหมอไปเสียทุกเรื่อง  สุขภาพของเราจะดี  เราจะปลอดโรคได้อย่างไร 

                      ชีวิตการเป็น อสม. ที่ผ่านมา ถึงแม้บางครั้งฉันอาจจะได้ยินใครบางคนพูดว่า  “ทำงานเพื่อเอาหน้า”  ฉันก็ไม่หวั่นต่อคำพูดนั้น   การได้มีส่วนช่วยเหลือและช่วยดูแลสุขภาพของคนในหมู่บ้านตลอดช่วงเวลายาวนานมากกว่า  20  ปี  มันได้สร้างความภาคภูมิใจให้ฉันได้มากมายหลายเรื่องราว  นี่ต่างหากคือสิ่งที่บ่งบอกว่าฉันได้ทำหน้าที่ของฉันอย่างไรในหมู่บ้านที่ฉันอาศัยอยู่ …….

 

อรชร  โวทวี    ผู้ถ่ายทอดและบันทึกเรื่องเล่า

 

คำสำคัญ (Tags): #หมอน้อย
หมายเลขบันทึก: 252222เขียนเมื่อ 31 มีนาคม 2009 15:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 13:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สักวันความีที่ได้ทำวันละนิด จะเปล่งแสง เป็นพลังที่คาดไม่ถึง

ดีชั่วอยู่ที่ทำตัว สูงตำอยู่ที่ตัวทำ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท