เครื่องสำอางป้องกันแดด


หน้าร้อนนี้สู้แดดอย่างปลอดภัย
แสงจากดวงอาทิตย์ประกอบไปด้วยรังสีในรูปของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหลายชนิด เช่น รังสีแกมมา รังสีเอ็กซ์ รังสีอัลตราไวโอเลต (UV) รังสีที่มองเห็นได้ และรังสีอินฟราเรด เป็นต้น
โดยรังสีที่มีผลต่อร่างกายของเรามาก คือ รังสีอัลตราไวโอเลต ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นคลื่นแสงที่มองไม่เห็น มีความยาวคลื่นสั้นกว่าแสงที่ให้แสงสว่าง รังสีอัลตราไวโอเลตแบ่งเป็น รังสีคลื่นยาว (ยูวีเอ) และรังสีคลื่นสั้น(ยูวีบี) รังสีอัลตราไวโอเลตมีประโยชน์ต่อร่างกาย คือ ช่วยสร้างวิตามินดี ซึ่งการสร้างวิตามินดีปริมาณที่เพียงพอนั้น ต้องการแสงแดดเพียงแค่ 10 – 15 นาทีต่อวันเท่านั้น หากได้รับรังสีอัลตราไวโอเลตมากเกินไป จะทำให้ผิวหนังเหี่ยวย่นก่อนวัย เกิดผิวไหม้ และอาจทำให้เป็นมะเร็งผิวหนังได้ จึงควรหลีกเลี่ยงแสงแดดในช่วงเวลาที่แดดจัด หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ การใช้เครื่องสำอางป้องกันแสงแดดจะช่วยป้องกันผิวของเราจากรังสีอัลตราไวโอเลตได้
การหลีกเลี่ยงแสงแดด
หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งในช่วงเวลาที่แสงแดดจัดจ้า เช่นในเวลา 10.00 น. - 16.00 น. ถ้าไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ก็ไม่ควรถูกแสงแดดในระยะเวลานี้นานเกิน 20 นาที  หรือการอยู่ในอาคารบ้านเรือนที่มิดชิด รถยนต์ ร่มไม้ชายคา การสวมเสื้อผ้า หมวก ร่ม ตลอดจนการใช้เครื่องสำอางป้องกันแสงแดด ก็เป็นทางเลือกสำหรับหลีกเลี่ยงอันตรายจากแสงแดดได้

เครื่องสำอางป้องกันแสงแดด
การใช้เครื่องสำอางป้องกันแสงแดดมีจุดประสงค์เพื่อลดปริมาณรังสีอัลตราไวโอเลตที่จะมาถึงผิวหนังโดยการสะท้อนหรือดูดกลืนรังสี ดังนี้
1. ป้องกันโดยการสะท้อนโดยการใช้สารที่เป็นตัวสะท้อนแสง(Physical Sunscreen) เช่น ซิงก์ออกไซด์ (Zinc oxide) ไตตาเนียมไดออกไซด์ (Titaniumdioxide) แมกนีเซียมคาร์บอเนต(Magnesium carbonate) และ แมกนีเซียม ออกไซด์ (Magnesium oxide) เป็นต้น มีคุณสมบัติป้องกันไม่ให้รังสีอัลตราไวโอเลตถึงผิวหนัง โดยจะเคลือบอยู่ที่ผิวไม่ดูดซึมเข้าสู่ผิวหนัง เครื่องสำอางกลุ่มนี้เนื้อครีมจะมีสีขุ่น จึงไม่เป็นที่นิยม เพราะหน้าจะดูขาวไม่เป็นธรรมชาติและมีข้อเสียคือเหนอะหนะไม่น่าใช้ และมักจะอุดรูขุมขนทำให้เป็นผดหรือรูขุมขนอักเสบได้ แต่โอกาสที่จะทำให้เกิดการแพ้ ระคายเคืองน้อยกว่าชนิดดูดกลืนแสง
2. ป้องกันโดยการดูดกลืนแสง โดยใช้สารดูดกลืนรังสีอัลตราไวโอเลต ( Chemical sunscreen) ได้แก่ พาบา (PABA) แอนทรานิเลต (Anthranilate) เบนโซฟีโนน (Benzophenone) และซินนาเมต (Cinnamate) เป็นต้น ทำให้แสงแดดไม่สามารถผ่านไปทำอันตรายต่อผิวหนังได้ สารพวกนี้มีสีใส เมื่อทาผิวแล้วจะไม่เปลี่ยนสี แต่มีโอกาสซึมเข้าสู่ผิวหนัง ทำให้เกิดการแพ้ระคายเคืองได้ เครื่องสำอางป้องกันแสงแดดกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ จะเป็นเครื่องสำอางควบคุม

คุณสมบัติของสารป้องกันแสงแดด
ปัจจุบันเครื่องสำอางป้องกันแสงแดดมักใช้สารหลายชนิดร่วมกัน เพื่อป้องกันรังสีคลื่นยาว (ยูวีเอ) และรังสีคลื่นสั้น (ยูวีบี) แต่ประสิทธิภาพของสารป้องกันแสงแดดจะพิจารณาจากประสิทธิภาพในการป้องกันแสงแดดจากรังสียูวีบีเท่านั้น โดยใช้ค่า SPF (sun protective factor) ตัวอย่างเช่น เครื่องสำอางป้องกันแสงแดด ที่มีค่า SPF = 2 หมายความว่า เมื่อทาเครื่องสำอางป้องกันแสงแดดตัวนี้แล้วจะป้องกันผิวไหม้แดดเป็นเวลานาน 2 เท่า เมื่อเทียบกับ ตอนไม่ได้ทา เช่นถ้าไม่ทาเครื่องสำอางป้องกันแสงแดด แล้วออกแดดเป็นเวลา 10 นาที จึงเริ่มมีอาการแดงที่ผิว ซึ่งเป็นอาการของผิวไหม้แดด หากทาเครื่องสำอางป้องกันแสงแดดชนิดนี้ แล้วต้องใช้เวลาถึง 20 นาที ผิวจึงเริ่มไหม้แดด จะเห็นได้ว่ายิ่งมีค่า SPF สูงขึ้น ประสิทธิภาพในการกันแดดก็จะสูงขึ้นด้วยคือมีฤทธิ์ป้องกันยาวนานขึ้น

***การเลือกซื้อเครื่องสำอางป้องกันแสงแดด ***
เครื่องสำอางป้องกันแสงแดดที่มีจำหน่าย แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ
1. เครื่องสำอางควบคุม เป็นเครื่องสำอางป้องกันแสงแดดที่มีส่วนผสมของสารป้องกันแสงแดด ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดเป็นสารควบคุม จำนวน 19 ชนิด ซึ่งสามารถศึกษาได้จากรายละเอียดตามบัญชีท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 8 (พ.ศ.2536) ) และกำหนดอัตราส่วนสูงสุดที่ให้ใช้สำหรับสารแต่ละชนิดด้วย ผู้ผลิต ผู้นำเข้าเครื่องสำอางป้องกันแสงแดดที่มีส่วนผสมของสารป้องกันแสงแดดที่เป็นสารควบคุม ต้องแจ้งรายละเอียดต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ก่อนผลิต หรือนำเข้า และที่ฉลากต้องแสดงข้อความ เครื่องสำอางควบคุมและแสดงคำเตือน ดังนี้
- เก็บให้พ้นแสงแดด
- หากเกิดอาการคัน ระคายเคืองหรือมีเม็ดผื่นแดง ควรหยุดใช้และปรึกษาแพทย์
หากพบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางใด มีปริมาณสารควบคุมเกินกว่าอัตราสูงสุดที่กำหนดให้ใช้ ถือว่าเป็นเครื่องสำอางที่มีวัตถุห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง ไม่ปลอดภัยในการใช้ กฎหมายห้ามไม่ให้ผู้ใดผลิตเพื่อขาย นำเข้าเพื่อขาย หรือขายเครื่องสำอางเหล่านี้ หากฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน หกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. เครื่องสำอางทั่วไป เป็นเครื่องสำอางป้องกันแสงแดดที่ประกอบด้วยสารป้องกันแสงแดดชนิดที่ไม่ได้ประกาศเป็นสารควบคุม เช่น ไตตาเนียม ไดออกไซด์ และ ซิงก์ ออกไซด์ เป็นต้น
เครื่องสำอางทั้งสองกลุ่ม จะต้องมีฉลากภาษาไทยแสดงชื่อและประเภทของผลิตภัณฑ์ ชื่อและปริมาณส่วนประกอบสำคัญ ชื่อที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า เลขที่แสดงครั้งที่ผลิต วันเดือนปีที่ผลิต วิธีใช้ ปริมาณสุทธิ และคำเตือน (ถ้ามี)

การเลือกใช้เครื่องสำอางป้องกันแสงแดด
โดยทั่วไปการหลีกเลี่ยงแสงแดดเป็นสิ่งดีที่สุด  ในกรณีที่ต้องการใช้เครื่องสำอางป้องกันแสงแดด
มีข้อแนะนำในการเลือกใช้ดังนี้
1. เครื่องสำอางป้องกันแสงแดดที่มีประสิทธิภาพจะต้องบอกค่า SPF เช่น SPF 8, 12, 15, 25 หรือ 30 เป็นต้น การเลือกใช้ขึ้นกับจุดมุ่งหมาย เช่น ผู้ที่ต้องอยู่ในแดดจ้าเป็นเวลานานๆ ควรเลือกชนิดที่มี SPF สูง เช่น SPF 15 หรือมากกว่า สำหรับผู้ที่ใช้เครื่องสำอางทาผิวหน้าที่มีส่วนผสมของสาร เอ เอช เอ ต้องใช้เครื่องสำอางป้องกันแสงแดด ควบคู่ไปด้วยเนื่องจาก เอ เอช เอ จะทำให้ผิวหน้าไวต่อแสงแดดมากขึ้น
2. เลือกดูที่ฉลากระบุว่ากันน้ำหรือไม่ เพราะกรณีต้องการป้องกันแสงแดดขณะว่ายน้ำควรเลือกชนิดที่กันน้ำ (Water resistance) ถ้าใช้ขณะอากาศร้อนมากเหงื่อออกง่าย หรือป้องกันแสงแดดเมื่อเล่นกีฬา ควรเลือกชนิดทนต่อเหงื่อ (sweat resistance)
3. ควรเลือกชนิดที่ฉลากระบุว่าสามารถป้องกันรังสียูวีเอหรือยูวีบีหรือป้องกันได้ทั้งสองอย่าง เพราะรังสียูวีเอทำให้ผิวเหี่ยวย่น รังสียูวีบีทำให้ผิวไหม้แดดและทำให้เกิดมะเร็งของผิวหนัง

ข้อแนะนำการใช้
- ควรทาเครื่องสำอางป้องกันแสงแดด ก่อนออกแดดอย่างน้อย 30 นาที เพื่อให้เนื้อผลิตภัณฑ์เคลือบติดที่ผิวได้ดี ก่อนที่จะไปถูกแสงแดด สารป้องกันแสงแดดที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์ จะได้ปกป้องผิวไม่ให้เป็นอันตรายจากแสงแดดได้ดียิ่งขึ้น
- ควรทาเครื่องสำอางป้องกันแสงแดดให้ทั่วบริเวณที่จะต้องถูกแสงแดด ยกเว้นบริเวณรอบดวงตาและรอบริมฝีปาก หากต้องการปกป้องริมฝีปากในขณะออกแดด สามารถใช้ลิปสติกที่มีส่วนผสมของสารป้องกันแสงแดดได้
- ในกรณีเล่นกีฬากลางแจ้ง หรืออยู่กลางแจ้งมีเหงื่อออกหรือว่ายน้ำ ต้องทาเครื่องสำอางป้องกันแสงแดด ซ้ำทุก 1 ชั่วโมง
- ควรทาเครื่องสำอางป้องกันแสงแดดให้เหมาะกับการแต่งหน้า ถ้าเป็นเครื่องสำอางป้องกันแสงแดดประเภทสารที่เป็นตัวสะท้อนแสง( Physical sunscreen) ควรทาหลังสุดเพื่อไม่ให้ขัดขวางเครื่องสำอางหรือสิ่งที่ทาตามหลังได้ ส่วนประเภทสารดูดกลืนแสง(Chemical sunscreen) ควรทาก่อนครีมชนิดอื่นๆ เพื่อให้สารดูดกลืนแสงจับยึดกับผิวได้ ช่วยให้ประสิทธิภาพของการป้องกันแสงแดดของผลิตภัณฑ์ดี

ผลเสียของเครื่องสำอางป้องกันแสงแดด
เครื่องสำอางป้องกันแสงแดดที่ทำจากสารเคมีที่มีคุณสมบัติดูดกลืนรังสีอัลตราไวโอเลต อาจทำให้เกิดอาการคันยุบยิบและแสบแปลบๆ บางครั้งทำให้เกิดการแพ้ที่ผิวหนังหรือแพ้แสงแดด จะเป็นมากขณะถูกแดด ดังนั้น ควรทดสอบการแพ้ก่อนใช้ โดยทาเครื่องสำอางที่ต้องการทดสอบลงบนผิวบริเวณข้อพับด้านใน หรือผิวบริเวณติ่งหู ทิ้งไว้ 24 - 48 ชั่วโมง โดยไม่ต้องล้างออก หากมีอาการผิดปกติใดๆแสดงว่าแพ้เครื่องสำอางชนิดนั้น ห้ามใช้เครื่องสำอางนั้น แต่ถ้าไม่มีอาการผิดปกติก็สามารถใช้ได้ อย่างไรก็ตามเมื่อใช้ไปแล้วอาจเกิดการแพ้ในเวลาต่อมาได้ การใช้เครื่องสำอางชนิดใหม่ ๆ จึงต้องหมั่นสังเกตทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัย

 

หมายเลขบันทึก: 252193เขียนเมื่อ 31 มีนาคม 2009 14:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 11:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

แวะมาเยี่ยมค่ะ  ขอบคุณมากเลยค่ะสำหรับสาระดีๆที่นำมาฝาก 

                                     

ข้อความข้างบนนี้อ้างอิงมาจาก...บทความเผยแพร่ กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค

ดีจังเลยนำมาแนะนำ

จะไร้ประโยชน์และโทษของมัน

ได้สาระมากเลยค่ะ อยากให้มีเนื้อหามากกว่านี้นะค่ะ จุ๊บๆๆๆๆๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท