วิธีเรียนให้เก่ง


วิธีเรียนให้เก่ง


              หลังจากอ่านจบ   เราก็ไม่สามารถรับประกันได้ว่า    คนอ่านนั้นจะได้เกรด  4.00   หรือเกรดมากขึ้นกว่าเดิม  ( แต่ความจริงเราก็หวังให้เป็นงั้นนะ >< )    ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับตัวเธอเองด้วยว่าจะนำไปประยุกต์ใช้กับตัวเองให้ได้ผลดีแค่ไหน   ที่เขียนมาก็แค่แนะแนวทางให้    ส่วนการลงมือปฏิบัติจริงนั้นขึ้นอยู่กับตัวบุคคล    เพราะธรรมชาติของคนนั้นต่างกัน    บางคนอาจจะใช้วิธีนี้ได้ผล   แต่บางคนอาจจะไม่   ดังนั้น   ก่อนจะนำไปใช้กับตัวเอง   ควรพิจารณาดูด้วยว่าวิธีไหนจะเหมาะกับตัวเอง    เพื่อที่จะให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดในการเรียนของตัวเธอเอง
      


เทคนิคอ่านหนังสือ


    “อ่านแล้วเข้าใจ    เข้าใจแล้วจด    จดแล้วจำ    จำแล้วทำให้ได้”


    เป็นปรัชญาที่เราใช้มาตั้งนานแล้ว    บางคนก็อาจจะรู้อยู่แล้ว   ก็เขาใช้วิธีนี้กันมาไม่รู้กี่ปีแล้ว    การที่เราจะจำเนื้อหาของเรื่องที่เรียนไปได้แม่น   มันต้องเกิดจากความเข้าใจในเนื้อหานั้นก่อน    ไม่ใช่สักแต่ว่าจำ   จำอย่างเดียว   จำแบบไม่เข้าใจอะไรเลย  การจำแบบนี้เป็นการจดจำระยะสั้น    และไม่สามารถนำไปใช้ในการทำข้อสอบแบบวิเคราะห์ได้    เพราะในขั้นตอนการจำ  ไม่มีกระบวนการคิดวิเคราะห์ถึงสิ่งต่าง ๆ  ที่ทำให้เป็นไป  เลยทำให้ไม่รู้หลัก  เหตุและผล   ว่าทำไมถึงเป็นอย่าง   หากข้อสอบออกมาไม่ตรงกับที่จำไป   ก็จบเห่น่ะสิ


                การเขียนหรือการจดโน้ตเป็นวิธีที่จะทำให้เราจำได้ง่ายขึ้น   ซึ่งก่อนเขียนเราต้องเข้าใจอยู่แล้วว่าจะเขียนอะไรลงไป      อย่าลอกตามหนังสือไปทั้งดุ้น   และอย่าจดแบบให้มันเสร็จ ๆ ไป    หรือจดแบบให้มีตามเพื่อน (เป็นกระแสนิยม)   เพราะมันจะไม่ได้ผลอะไรเลย    ควรจะสรุปประมวลออกมาเป็นเนื้อความ   ตามที่เราเข้าใจ   ซึ่งต้องเข้าใจอย่างถูกต้องด้วย    อาจตรวจสอบโดยการผลัดกันตอบคำถามกับเพื่อน   หรือถามครูอาจารย์    ดังนั้นอย่าขี้เกียจเขียนเลย   เขียนเอง  อ่านเอง   ผลที่ได้ก็อยู่ที่ตัวเองทั้งนั้นแหละ


                 คราวนี้ก็มาถึงการท่องจำ    ส่วนใหญ่เมื่อเรารู้เรื่อง   เราก็จะจำบางส่วนของเนื้อหาได้แล้ว   นอกจากบางวิชา  เช่น   ชีวะ   สังคม   ที่เป็นวิชาท่องจำซะส่วนใหญ่   อาจต้องมีการมาท่องจำเพิ่มเติม    การอ่านออกเสียงดังๆ   ก็ช่วยให้จำดีขึ้น   แต่ไม่ควรจะรบกวนผู้อื่น  ( มิฉะนั้นอาจจะได้รับสิ่งไม่พึงปรารถนา )    การจำศัพท์ภาษาอังกฤษ    อาจใช้วิธีเขียนใส่กระดาษแล้วแปะตามข้างฝา   เช่น   ฝาห้องน้ำ   ประตูห้องสุขา ( ที่บ้านของตัวเองนะ)   ตามที่ที่เราต้องเห็นทุกวัน   อ้อ…ประตูของตู้เย็นก็ดีนะ   เพราะเปิดออกจะบ่อย    ก็หันมาเหลียวแลศัพท์ที่ตัวเองแปะไว้บ้าง   เห็นบ่อย ๆ   เดี๋ยวก็เข้าสมอง   มีอีกอย่างใครที่เรียน  ENTCONCEPT   เทคนิคเพลงช่วยจำศัพท์ได้ผลจริงๆ   ถ้าไม่ได้เรียนเอง   ก็ไปไรท์ของเพื่อน  แล้วอย่าลืมถ่ายเนื้อร้องมาด้วยล่ะ  (วิธีหลัง  อาจจะเอาเปรียบคนที่เขาไปเรียนมาหน่อย  คงต้องเคลียร์กับเพื่อนเอาเองนะ)


                 สุดท้ายการลงมือทำข้อสอบ   ก็นำทุกอย่างที่เราเข้าใจและจำได้   มาคิดวิเคราะห์เพื่อหาคำตอบที่ถูกที่สุด   คิดดีๆ  นะ  ระวังโดนโจทย์หลอก   ที่เหลือก็ตัวใครตัวมัน  >.<



เวลาที่ดีสำหรับการอ่าน


    เคยมีคนบอกว่าเวลาที่ดีที่สุด  คือ  ตอนเช้า   เพราะร่างกายเราได้พักผ่อน  รวมทั้งสมองก็ได้พัก   มีการจัดระเบียบเรียบร้อย  เพื่อให้พร้อมกับการใส่ข้อมูลใหม่ ๆ เข้าไป   อันนี้เป็นเรื่องจริง  แต่สำหรับคนที่ตื่นเช้าไม่ไหว    เวลาดึก ๆ  ที่เงียบ ๆ  ก็เหมาะ    คือว่ามันเงียบไง…สมองเราก็สามารถคิดสิ่งต่างๆ ได้ดี       แต่อาจจะไม่เท่าตอนเช้า   เพราะสมองเราต้องเหนื่อยจากการเรียนมาแล้วทั้งวัน    บางคนยังมีการเรียนพิเศษตอนเย็นอีก   สำหรับตัวเราเอง    อ่านตอนกลางคืนสักนิด    ได้เท่าไหนก็แค่นั้น   5  ทุ่มต้องเข้านอน    แล้วก็ตั้งนาฬิกาปลุกตอนตี 3 ตี 4  ตี 5   แนะนำให้ตั้งนาฬิกาปลุกก่อนเวลาที่ต้องตื่นไปสักครึ่งชั่วโมง  เพื่อที่เราจะได้มีเวลาเกลือกกลิ้งอยู่บนที่นอนก่อนสักพัก    ถึงค่อยลุกไปล้างหน้าล้างตา   มานั่งอ่าน   ขอย้ำว่าควรทำให้ตัวเองตื่นเต็มที่ก่อนจะอ่าน   เพราะไม่งั้นเดี๋ยวก็หลับคาหนังสืออีกจนได้  


    เวลาที่ไม่เหมาะสำหรับการอ่านหนังสือเรียนเลย    คือ  ช่วงบ่ายหลังจากกินข้าวเสร็จอิ่ม ๆ   เคยได้ยินสุภาษิตไทยที่ว่า   “พอหนังท้องตึง  หนังตาก็หย่อน”   ไหม   ช่วงบ่ายจะเป็นช่วงที่คนเรามีความง่วงนอน   อ่านไปก็หลับ   ยิ่งหนังสือเรียนด้วย    และไม่ควรนอนอ่านหนังสือ   โดยเฉพาะบนเตียง    ขอบอกว่าหลับแน่ๆ   ไม่ใช่อ่านนิยายนี่   มันจะน่าติดตาม  จนอยากอ่านให้จบ   เรามีเพื่อนคนหนึ่ง    เขาบอกว่าหนังสือเรียนคือยานอนหลับขนานเอก   เห็นจะจริง   อ่านไม่กี่หน้าก็หลับแล้ว  


    การอ่านควรจะเป็นในสถานที่ที่สงบ  เงียบ   และสมองเราพร้อมที่จะรับเรื่องใหม่ ๆ  นั่นแหละการอ่านถึงจะได้ผลสูงสุด



วิธีแก้ง่วง

  
    ความง่วงนอนนั้นมีหลายขั้น   ตามที่เราแบ่งเอง   ได้แก่


1. ความง่วงนอนขั้นต้น


                อาการ   - เป็นความง่วงที่ค่อย ๆ เกิดขึ้น   จะทำให้สติของเราล่องลอยไปเที่ยวสักพัก ไม่กี่นาทีหรอก   แล้วก็จะกลับมาที่เดิม   อาจมีอาการอ้าปากหาวบ้างเล็กน้อย   แต่จะไม่บ่อยนัก      


                วิธีแก้   -  ควรจะลุกขึ้นไปล้างหน้าล้างตาให้สดชื่น   หรือออกแรง  เช่น   การบิดขี้เกียจให้ร่างกายมีความตื่นตัว  กระปรี้กระเปร่า   พูดง่าย ๆ  คือ  ทำอะไรก็ได้   ที่ทำให้ร่างกายเราสดชื่นขึ้น


2. ความง่วงขั้นกลาง


                อาการ  -  เป็นความง่วงที่สะสมมาจากความง่วงขั้นต้น    สติเริ่มหายไปเที่ยวนานขึ้น   อาการหาวก็มีถี่ขึ้น   อาจมีอาการสัปหงกเล็กน้อย
          

                วิธีแก้   -  ควรจะหลับตาลงพักผ่อนสักครู่    อาจะ  10-15  นาที   แล้วตื่นขึ้นมาไปล้างหน้าล้างตา  เพื่อให้สดชื่น   หรือไปทำอะไรสักอย่าง   ไปเดินเล่น   หรือฟังเพลง   ดื่มนม   กาแฟนี่ไม่แนะนำเท่าไรนัก   เพราะ  อาจเกิดอาการหลับในได้   ก็ง่วงมาก   แต่ตายังค้าง   เสียสุขภาพกายเปล่า ๆ น่า


3. ความง่วงขั้นรุนแรง


                อาการ -  เป็นความง่วงที่ไม่อาจทัดทานได้ไหว   สติแทบจะไม่มีแล้ว   หัวอาจสัปหงกลงไปจูบกับโต๊ะได้ทุกเมื่อ   หรืออาจเกิดอาการฟุบหลับคาหนังสือ


                วิธีแก้ -  ไปนอนซะ    ถึงอ่านไปก็ไม่เข้าหัวอยู่ดี   เลิกทรมานตัวเองได้แล้ว   ถ้ายังอ่านไม่จบก็ปลงซะ   มาถึงขั้นนี้แล้ว  ไม่ว่าจะทำไง   สมองก็ไม่พร้อมจะรับอะไรอีกแล้วทั้งนั้นแหละน่า



คาถาก่อนเข้าห้องสอบ


    จริง ๆ ก็เป็นแค่ความเชื่อที่ทำแล้วสบายใจเท่านั้นเอง   เล่นกับดวงไง   หากอ่านหนังสือมาเต็มที่แล้ว    อย่ากลัวข้อสอบเลย    นี่เป็นแค่สิ่งที่ช่วยเสริมกำลังใจสำหรับบางคนที่อ่านมาแล้ว   แต่ไม่รู้เรื่อง  ไม่เข้าหัว   ก็ต้องอาศัยสิ่งศักดิ์สิทธิ์   รวมกับบุญที่เคยมีมาแต่ชาติปางก่อนนะ


    ขั้นแรก   ออกจากบ้าน   ไหว้พ่อ  ไหว้แม่ให้งามๆ   ขอพรมาสักหน่อยก็ดี  


    ขั้นสอง   เดินเข้าโรงเรียน  ซึ่งในแต่ละแห่งจะมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์  หรือสิ่งที่เป็นที่เคารพนับถือของคนในโรงเรียน    ก็ทำความเคารพ    อาจจะมีการบนบานเล็กน้อย


    ขั้นสาม   เข้าห้องสอบ   ให้ก้าวเท้าซ้ายเข้าไปก่อน   เข้าตำราที่ว่า   “ขวาร้าย   ซ้ายดี” ไง


    ขั้นที่สี่    ทำข้อสอบ   ก่อนลงมือเขียน   ท่องนะโม   หรือบทอะไรสักอย่าง  อย่าให้ยาวนัก  เดี๋ยวจะเสียเวลามากไป   ขั้นนี้เล่นกับศาสนาแล้ว   ( ความจริงก็เป็นวิธีที่ช่วยลดอาการตื่นเต้น   เป็นการรวบรวมสมาธิน่ะ )


    ขั้นสุดท้าย   ก็ตัวใครตัวมันนะจ๊ะ    ถ้าทำข้อสอบไม่ได้  ก็ปลงซะเถอะ   ว่าทำบุญมาแค่นี้   อย่าหวังโพยจากเพื่อนเลย  เพราะเพื่อนก็อาจจะหวังโพยจากเราอยู่ก็ได้    อิอิ…>.<
    



ก่อนจบเรื่อง


                ด้วยเนื้อหาในบางตอน   อาจไม่ถูกต้องหรือชัดเจนทีเดียว  หากคนอ่านคนใดมีข้อติเตียน   หรือข้อแนะนำประการใด   สามารถบอกมาได้    เรายินดีรับฟังทุกข้อทั้งคำชมและคำติ  ( ส่วนคำด่า...ไม่เอานะ  TOT )  ด้วยตัวเราเองยังเป็นแค่นักเรียน  ม.ปลาย   ดังนั้น  เทคนิควิธีต่าง ๆ  จึงอาจเหมาะสมในขอบเขตของผู้เป็นนักเรียน ( มั้ง )


               ขอเป็นกำลังใจให้เพื่อน ๆ ทุกคนที่อยู่ในวัยเรียน จริงอยู่ที่สติปัญญาของคนเราอาจไม่เท่ากัน   อย่าเพิ่งท้อในการอ่านหนังสือ   อย่าท้อเมื่อเห็นคนอื่นอ่านแค่รอบเดียวก็จำ  รอบแรกไม่จำ   ก็อ่านรอบสองสิ   หากยังไม่จำ   ก็อ่านไปเรื่อย ๆ  คนเรามีความพยายามได้  อ่านมาหลายรอบ  ผ่านตาหลายรอบ   อาจจะจำแม่นกว่าก็ได้    ทั้งนี้เทคนิคต่าง ๆ หากไปประยุกต์ใช้แล้ว   ได้ผลหรือไม่อย่างไร   ก็มาบอกกล่าวกันบ้างนะ  >.<

คำสำคัญ (Tags): #เรียนให้เก่ง
หมายเลขบันทึก: 251967เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2009 16:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 05:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท