na_nu
ดร. สุวรรณา ถาวรรุ่งโรจน์

metabolic syndrome ในผู้ที่ออกกำลังกายด้วยความหนักที่แตกต่างกัน


กลุ่มอาการเมตาบอลิก, metabolic syndrome, ออกกำลังกาย

ตีพิมพ์ในวารสารพยาบาลสาธารณสุข ฉบับที่ 1 ปีที่ 23 มกราคม-ธันวาคม 2552

 

กลุ่มอาการเมตาบอลิกในผู้ออกกำลังกายด้วยความหนักที่แตกต่างกัน

The Metabolic Syndrome in Persons Exercising at Various Intensities

 

สุวรรณา ถาวรรุ่งโรจน์* ปิยะมิตร ศรีธรา** สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์***จันทร์จิรา วสุนธราวัฒน์****

Suwanna Tawonrungrojn[*], Piyamitr Sritara**, Somkiat Sangwatanaroj***, Chanchira Wasuntarawat****

บทคัดย่อ

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการออกกำลังกายต่อการเกิดกลุ่มอาการเมตาบอลิกและความชุกของกลุ่มอาการนี้ในผู้ที่ออกกำลังกายด้วยความหนักที่ต่างกัน โดยใช้ข้อมูลทุติยภูมิของโครงการวิจัยในพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2528 และผู้วิจัยเก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่างนี้จำนวน 1,342 คน ในปี พ.ศ. 2550  แบ่งความหนักการออกกำลังกายเป็น 3 กลุ่ม โดยใช้ tertile แยกเพศชายและเพศหญิง ใช้เกณฑ์วินิจฉัยกลุ่มอาการนี้ของ AHA/NHLBI ผลการศึกษาพบว่าผู้ที่ใช้พลังงานในการออกกำลังกายระดับหนักพบกลุ่มอาการเมตาบอลิกน้อยกว่าผู้ที่ใช้พลังงานระดับเบาแต่พบความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) เฉพาะในกลุ่มออกกำลังกายระดับเบาใน ปี พ.ศ. 2528 และผู้ที่เป็นกลุ่มอาการนี้แล้วในปี พ.ศ. 2528 ในกลุ่มที่ออกกำลังกายระดับหนักพบผู้ที่หายจากกลุ่มอาการนี้มากกว่าผู้ที่ใช้พลังงานระดับเบา การเพิ่มความหนักของการออกกำลังกายในปี พ.ศ. 2528 มากขึ้นทุก 1 MET/wk ช่วยลดโอกาสเกิดกลุ่มอาการนี้ใน พ.ศ. 2550 ได้ 1.6% ผู้ที่ไม่เกิดกลุ่มอาการนี้ตลอด 22 ปี ใช้พลังงานในการออกกำลังกาย 250-450 METs-min/wk การเดินเร็วและการวิ่งเหยาะที่ใช้เวลาตั้งแต่ 20 นาทีและ 2 วันต่อสัปดาห์ช่วยลดโอกาสเกิดกลุ่มอาการนี้ ซึ่งช่วยรณรงค์การสร้างเสริมสุขภาพเนื่องจากเป็นการออกกำลังกายที่สะดวกและเกิดการบาดเจ็บต่อกล้ามเนื้อได้น้อย ดังนั้นประชาชนสามารถออกกำลังกายได้นานพอที่จะเกิดประโยชน์ต่อสุขภาพ

คำสำคัญ:  กลุ่มอาการเมตาบอลิก, การออกกำลังกาย

Abstract

 This study aimed to evaluate the effect of exercise on metabolic syndrome and the prevalence of MS in persons who exercised at various intensities. The secondary data from the Electricity Generating Association of Thailand (EGAT) project in 1985 were studied, and then the researcher collected data from 1,342 EGAT subjects in 2007. Exercise energy was divided in 3 levels of intensity by tertile, separately sex. The criterion of AHA/NHLBI was used to diagnose metabolic syndrome. The result indicated that metabolic syndrome in the vigorous intensity group was found less than low exercise intensity, but there was significantly different (p<.05) only in 1985. In addition, in metabolic syndrome subjects in 1985, there were more non metabolic syndrome subjects in vigorous intensity group than low intensity.  Increasing intensity of exercise in 1985 every 1 ME/wk decreased metabolic syndrome 1.6% in 2007. Non metabolic syndrome subjects throughout 22 years expensed exercise energy 250-450 METs-min/wk. Brisk walking and jogging since 20 minutes and 2 days per week could decrease metabolic syndrome. This could encourage health promotion because these two types of exercise were comfortable for people to exercise and rarely causes muscle injury. Therefore people could exercise with enough duration for getting health benefit.

Key word:  metabolic syndrome, exercise

 

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหาในการวิจัย

กลุ่มอาการเมตาบอลิก (metabolic syndrome) มีความผิดปกติด้าน metabolism ประกอบด้วยกลุ่มของปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่ภาวะอ้วน ความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง, triglyceride สูง และ HDL ต่ำ  การศึกษาของอรวรรณ วรวงศ์ประภา (Worawongprapa, 2006, pp.641-647) โรงพยาบาลห้างฉัตรจังหวัดลำปางพบความชุกของกลุ่มอาการนี้มากถึง 84% ในผู้ป่วยเบาหวาน และการศึกษาในพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยพบความชุกของกลุ่มอาการนี้ 16.4% เมื่อใช้เกณฑ์ของ NCEP (Tanomsup, 2007, pp.2138-2140) การป้องกันและการรักษากลุ่มอาการดังกล่าวโดยการป้องกันปัจจัยเสี่ยงและการออกกำลังกาย เนื่องจากการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอช่วยลดความดันโลหิต ลดไขมันในร่างกายและการสะสมของไขมันที่หน้าท้อง จึงช่วยลดน้ำหนักตัว  (Liu&Manson, 2001, pp.395-404) ลดไขมัน LDL, เพิ่ม HDL (Heim et al., 2000, pp.1347-1353) ลด triglyceride (Pescatello et al., 2000, pp.433-439)  ลดน้ำตาลและเพิ่มการตอบสนองต่อ insulin (Pratley et al., 2000, pp. 1055-1061) ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดกลุ่มอาการเมตาบอลิก

อย่างไรก็ดีการศึกษาของวิฑูรย์ โล่สุนทร และคณะ (Lohsoontorn et al., 2006) ในปี พ.ศ.2543 ศึกษากลุ่มอาการนี้ในผู้ที่มาตรวจร่างกายประจำปีที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จำนวน 1,383 คน ใช้เกณฑ์วินิจฉัยกลุ่มอาการนี้ของของ NCEP แต่ปรับใช้ BMI แทนรอบเอว พบมีกลุ่มอาการเมตาบอลิกในผู้ที่ออกกำลังกาย 12.8% (เพศชาย 15.7% และเพศหญิง 11.7%) (Lohsoontorn et al., 2006, pp. 339-345) และการศึกษาของ Rennie และคณะ (Rennie et al., 2003, pp.600-606) ศึกษาในประเทศอเมริกา (Whitehall II study)..1985-1988 ในคนงานผิวขาวอายุ 45-68 ปี จำนวน 5,153 คน พบความสัมพันธ์ของการออกกำลังกายกับการเกิดกลุ่มอาการเมตาบอลิกในกลุ่มที่ออกกำลังกายที่มีความหนักต่างกัน ในกลุ่มออกกำลังกายหนัก ได้ odds ratio เท่ากับ 0.52 (95% CI: 0.40, 0.67) และในกลุ่มออกกำลังกายระดับปานกลาง 0.78 (95% CI: 0.63, 0.96)

ผู้วิจัยจึงสนใจที่จะศึกษากลุ่มอาการเมตาบอลิกในผู้ที่ออกกำลังกายโดยใช้ข้อมูลทุติยภูมิจากโครงการวิจัยในพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ พ..2528 และผู้วิจัยเก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่างนี้ในปี พ.ศ.2550 เพื่อติดตามผลกลุ่มตัวอย่างนี้โดยใช้เกณฑ์วินิจฉัยของ The American Heart Association/National Heart Lung Blood Institute (AHA/NHLBI) ซึ่งกำหนดระดับค่าของน้ำตาลในเลือดต่ำกว่าเกณฑ์ของ NCEP และใช้ระดับค่ารอบเอวของคนเอเชีย

 

วัตถุประสงค์การวิจัย

1.       เพื่อศึกษาผลของการออกกำลังกายที่ระดับความหนักต่างกันต่อการพบปัจจัยของกลุ่มอาการเมตาบอลิกและการเกิดกลุ่มอาการเมตาบอลิก พ.ศ.2550

2.       เพื่อศึกษาความชุกของกลุ่มอาการเมตาบอลิกในผู้ที่ออกกำลังกายด้วยความหนักที่แตกต่างกัน

 

วิธีการดำเนินการวิจัย

รูปแบบการวิจัยเป็นแบบการศึกษาย้อนหลังและศึกษาไปข้างหน้า (Historical cohort study) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาคือพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จังหวัดนนทบุรี ที่เข้าร่วมในโครงการวิจัยโครงการวิจัยโรคหัวใจและหลอดเลือด พ.ศ.2528 (EGAT study) ช่วงอายุ 35-54 ปี ทั้งหมด 3,499 คน เกณฑ์คัดเข้าในการศึกษานี้คือผู้ที่มีข้อมูลการออกกำลังกาย ผลการตรวจร่างกาย และผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่เป็นปัจจัยกำหนดไว้ในเกณฑ์วินิจฉัยกลุ่มอาการเมตาบอลิกตามเกณฑ์ของ AHA/NHLBI ครบถ้วน ได้แก่ รอบเอว ความดันโลหิต น้ำตาลในเลือด, triglyceride และ HDL  และเข้าร่วมในการศึกษาทั้ง พ.ศ.2528 และ พ.ศ.2550 และผู้วิจัยคัดผู้ที่ตั้งครรภ์ในปี พ.ศ.2528 ออก จึงเหลือจำนวน 1,342 คน เป็นเพศชาย 1,040 คน และเพศหญิง 302 คน

ผู้วิจัยเก็บข้อมูลด้วยแบบเก็บข้อมูลที่สร้างขึ้นและผ่านการตรวจความตรงตามวัตถุประสงค์จากผู้เชี่ยวชาญ 3 ท่าน ข้อมูลที่เก็บประกอบด้วยอายุ เพศ รายได้ สถานภาพสมรส ประวัติการเจ็บป่วยในครอบครัว การออกกำลังกาย ข้อมูลจากผลการตรวจร่างกายได้แก่น้ำหนัก ส่วนสูง รอบเอว และความดันโลหิต และข้อมูลจากผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่ระดับน้ำตาลในเลือด ไขมันในเลือดชนิด Triglyceride, LDL, HDL, และ total cholesterol โดยเก็บจากพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยที่เข้าร่วมการศึกษา EGAT study ใน พ.ศ.2528 ซึ่งมาร่วมในการศึกษานี้ทั้งหมดมี 1,884 คน และผู้วิจัยคัดเข้าในการศึกษานี้ 1,342 คนตามเกณฑ์ข้างต้น

            ผู้วิจัยต้องการศึกษากลุ่มอาการเมตาบอลิกในผู้ที่ออกกำลังกายด้วยความหนักที่แตกต่างกัน ผู้วิจัยจึงคำนวณปริมาณพลังงานตามข้อมูลที่มีในปี พ.ศ.2528 โดยใช้ค่า metabolic equivalents (METs) ของการออกกำลังกายแต่ละรูปแบบคูณจำนวนวันที่ใช้ในการออกกำลังกายใน 1 สัปดาห์ แบ่งกลุ่มตัวอย่างตามพลังงานที่คำนวณได้เป็น 3 กลุ่มโดยใช้ tertile ดังนี้กลุ่มที่ใช้พลังงานระดับเบาในเพศชายใช้พลังงานน้อยกว่า 12 METs/wk และเพศหญิงน้อยกว่า 7 METs/wk,ระดับปานกลางในเพศชายใช้พลังงาน 12-24 METs/wk และเพศหญิง 7-16 METs/wk, และระดับหนักในเพศชายใช้พลังงานมากกว่า 24 METs/wk และเพศหญิงมากกว่า 16 METs/wk แล้วติดตามกลุ่มตัวอย่างทั้ง 3 กลุ่มนี้ในปี พ.ศ.2550

            ในการศึกษานี้ผู้วิจัยใช้เกณฑ์วินิจฉัยกลุ่มอาการเมตาบอลิกของ AHA/NHLBI เกณฑ์ดังกล่าวกำหนดว่าต้องพบปัจจัยดังต่อไปนี้ตั้งแต่ 3 ปัจจัยขึ้นไป ได้แก่รอบเอวในเพศชายมากกว่า 90 ซม. เพศหญิงมากกว่า 80 ซม. ความดันโลหิตมากกว่าหรือเท่ากับ 130/85 มิลลิเมตรปรอท ระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่าหรือเท่ากับ 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ระดับ Triglyceride มากกว่าหรือเท่ากับ 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร และระดับ HDL ในเพศชายน้อยกว่าหรือเท่ากับ 40 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ในเพศหญิงน้อยกว่าหรือเท่ากับ 50 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

วิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรมการวิเคราะห์สถิติสำเร็จรูป ใช้สถิติ chi-square test และ binary logistic regression โดยกำหนดระดับนัยสำคัญที่ .05 (p<.05)

 

ผลการวิจัย

            พนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยที่เข้าร่วม EGAT study ใน พ.ศ. 2528 มี 3,499 คน แต่ผู้วิจัยคัดเข้าการศึกษานี้ 1,342 คน คิดเป็น 38.35% ของทั้งหมด โดยส่วนใหญ่มีสถานภาพสมรส 1,158 คน (86.3%) และการศึกษาระดับมัธยมศึกษา 515 คน (38.4%) ค่ากลางของดัชนีมวลกาย 22.8±2.9 กิโลกรัมต่อตารางเมตร มีผู้สูบบุหรี่ 500 คน (37.26%) และค่ากลางของปัจจัยต่างๆ ที่กำหนดในเกณฑ์วินิจฉับของกลุ่มอาการเมตาบอลิก แสดงในตารางที่ 1 รูปแบบการออกกำลังกายที่มีจำนวนกลุ่มตัวอย่างใช้มากที่สุดในปี พ.ศ.2528 คือการวิ่ง มี 951 คน (70.86%) (ตารางที่ 2) และในปี พ.ศ. 2550 คือการเดินเร็ว มี 298 คน (22.01%) (ตารางที่ 3)  เมื่อติดตามกลุ่มตัวอย่างที่ไม่เป็นกลุ่มอาการเมตาบอลิกในปี พ.ศ.2528 พบความชุกของผู้ที่เป็นกลุ่มอาการเมตาบอลิกในปี พ.ศ. 2550 มากที่สุดในกลุ่มที่ใช้พลังงานในการออกกำลังกายระดับเบา โดยพบความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในกลุ่มที่ออกกำลังกายระดับเบาในปี พ.ศ.2528 เมื่อวิเคราะห์ด้วย chi-square test  ทั้งค่าที่ยังไม่ปรับและค่าที่ปรับตามอายุและเพศ (age-sex adjusted) (ตารางที่ 4) สำหรับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นกลุ่มอาการเมตาบอลิกในปี พ.ศ.2528 แล้วเมื่อติดตามในปี พ.ศ.2550 มีผู้ที่พบปัจจัยของกลุ่มอาการนี้ลดลงเหลือน้อยกว่า 3 ปัจจัย คือไม่เป็นกลุ่มอาการนี้ตามเกณฑ์วินิจฉัยของ AHA/NHLBI โดยพบว่าร้อยละของผู้ที่ไม่เป็นกลุ่มอาการเมตาบอลิกแตกต่างกันในกลุ่มที่ใช้พลังงานในการออกกำลังกายด้วยความหนักที่แตกต่างกันแต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อวิเคราะห์ด้วย chi-square test  (ตารางที่ 5) (ในตารางที่ 5 เพศหญิงที่เป็นกลุ่มอาการเมตาบอลิกในปี พ.ศ.2528 มีจำนวนน้อยมากจึงไม่ได้นำมาปรับค่า) การศึกษานี้พบว่ากลุ่มที่เคยออกกำลังกายระดับหนักในปี พ.ศ.2528 แล้วลดความหนักของการออกกำลังกายลงเป็นระดับเบาในปี พ.ศ.2550 จะพบความชุกของผู้ที่มีปัจจัยของกลุ่มอาการเมตาบอลิกมากกว่ากลุ่มที่ยังคงออกกำลังกายด้วยระดับหนักในทุกปัจจัย (ตารางที่ 6) และผู้วิจัยพบความสัมพันธ์ของปริมาณพลังงานที่ใช้ในการออกกำลังกายในปี พ.ศ.2528 ที่เพิ่มขึ้นทุก 1 MET/wk กับโอกาสเกิดกลุ่มอาการเมตาบอลิกในปี พ.ศ.2550 ที่ลดลง 1.6% วิเคราะห์ด้วย binary logistic regression (ตารางที่ 7) โดยปรับอายุ เพศ BMI การสูบบุหรี่ ระดับรายได้ ระดับการศึกษา สถานภาพสมรส ประวัติการเจ็บป่วยในครอบครัว และชนิดของยาที่ได้รับในปี พ.ศ.2528 นอกจากนี้เมื่อติดตามกลุ่มตัวอย่างที่ไม่เป็นกลุ่มอาการเมตาบอลิก ตั้งแต่ พ.ศ.2528 ถึง พ.ศ.2550 พบว่ากลุ่มที่อายุมากขึ้นจะใช้พลังงานในการออกกำลังกายน้อยลงแต่ก็ยังมากกว่ากลุ่มที่เป็นกลุ่มอาการเมตาบอลิก ปริมาณพลังงานที่ช่วยป้องกันการเกิดกลุ่มอาการนี้ในกลุ่มตัวอย่างที่ไม่เป็นกลุ่มอาการเมตาบอลิกตลอด 22 ปี คือ 250-450 METs-min/wk (ตารางที่ 8) ผู้วิจัยแบ่งพลังงานที่กลุ่มนี้ใช้เป็น 10 ช่วงพร้อมกับค่าความไวและความจำเพาะต่อการไม่เป็นกลุ่มอาการเมตาบอลิก (ตารางที่ 9) สำหรับรูปแบบการออกกำลังกายในปี พ.ศ.2550 ที่พบความสัมพันธ์กับการลดโอกาสเกิดกลุ่มอาการเมตาบอลิกคือการเดินเร็ว (ค่าสัมประสิทธิ์ -.35, OR=.708, 95%CI.519-.966) และวิ่งเหยาะ (ค่าสัมประสิทธิ์ -.58, OR 598, 95%CI.399-898) รวมทั้งระยะเวลาที่ใช้ในการวิ่งเหยาะตั้งแต่ 20 นาทีขึ้นไป (ค่าสัมประสิทธิ์ -.948, OR 387, 95%CI.215-.698) และความถี่ตั้งแต่ 2 วันต่อสัปดาห์ (ค่าสัมประสิทธิ์ -.802, OR.448, 95%CI.264-.761) เมื่อวิเคราะห์ด้วย binary logistic regression  โดยควบคุมอายุ เพศ และ  BMI โดยควบคุมอายุ เพศ BMI การสูบบุหรี่ ระดับรายได้ ระดับการศึกษา สถานภาพสมรส ประวัติการเจ็บป่วยในครอบครัว และชนิดของยาที่ได้รับในปี พ.ศ.2550

 

การอภิปรายผล

    การศึกษานี้พบกลุ่มอาการเมตาบอลิกในผู้ที่ออกกำลังกายเช่นเดียวกับการศึกษาที่พบก่อนหน้านี้ หากพิจารณาระดับความหนักของการออกกำลังกาย ผู้ที่ใช้พลังงานในการออกกำลังกายระดับความหนักมากกว่าจะพบความชุกน้อยกว่าเล็กน้อยโดยแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ แต่การเพิ่มความหนักจะลดโอกาสพบปัจจัยของกลุ่มอาการเมตาบอลิกและลดโอกาสเกิดกลุ่มอาการนี้ สอดคล้องกับการศึกษาของ Warburton และคณะ (2006) ที่พบว่าการออกกำลังกายระดับเบาจะเพิ่มโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และภาวะอ้วนเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ออกกำลังกายระดับที่หนักกว่า เช่นเดียวกับการศึกษาอื่นๆ พบว่าการออกกำลังกายลดปัจจัยของกลุ่มอาการเมตาบอลิกคือรอบเอว น้ำตาลในเลือด systolic blood pressure, และ triglyceride (Park et al., 2007, pp.197-203; Mohan et al., 2005, pp.1206-1211) และเพิ่ม HDL (Stewart et al., 2002, pp.1622-1631) เมื่อติดตามผู้ที่เป็นกลุ่มอาการเมตาบอลิกแล้วพบว่ามีผู้ที่พบปัจจัยของกลุ่มอาการนี้ลดลงเหลือน้อยกว่า 3 ปัจจัยหรือไม่เป็นกลุ่มอาการนี้ตามเกณฑ์วินิจฉัยของ AHA/NHLBI โดยร้อยละของผู้ที่ไม่เป็นกลุ่มอาการเมตาบอลิกพบมากกว่าในกลุ่มออกกำลังกายด้วยระดับหนักกว่าแม้จะแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ แต่สอดคล้องกับผลการศึกษาของ Stewart และคณะ (Stewart et al., 2002, pp.1622-1631)  ซึ่งให้ผู้ที่เป็นกลุ่มอาการเมตาบอลิกที่มีอายุ 55-75 ปี ออกกำลังกายแล้วติดตามใน 6 เดือนต่อมา พบคนที่หายจากกลุ่มอาการเมตาบอลิก 17.7% และไม่พบคนเป็นโรคเพิ่มขึ้น  

เมื่ออายุมากขึ้นโอกาสเกิดกลุ่มอาการเมตาบอลิกมากขึ้นเนื่องจากความเสื่อมของระบบต่างๆ ในร่างกาย หากลดการออกกำลังกายด้วยจะเพิ่มโอกาสเกิดกลุ่มอาการนี้มากขึ้นอีก ดังผลการศึกษานี้พบว่ากลุ่มที่เคยออกกำลังกายด้วยระดับหนักแล้วลดความหนักลงจะพบปัจจัยของกลุ่มอาการนี้มากกว่ากลุ่มที่ยังคงออกกำลังกายด้วยระดับหนักสอดคล้องกับการศึกษาของ Mohan และคณะ (Mohan et al., 2005, pp.1206-1211) พบว่าเมื่อออกกำลังกายน้อยลง ระดับค่าของรอบเอว น้ำตาลในเลือด และความดันโลหิตเพิ่มขึ้น

            การเดินเร็ว และการวิ่งเหยาะเป็นการออกกำลังกายในรูปแบบแอโรบิค รวมทั้งการใช้เวลาตั้งแต่ 20 นาทีขึ้นไปและตั้งแต่ 2 วันต่อสัปดาห์ให้ความหนักที่เพียงพอที่จะเกิดประโยชน์ต่อสุขภาพ สอดคล้องกับการศึกษาของ Halbert และคณะพบว่าการออกกำลังกายแบบแอโรบิค 3 ครั้งต่อสัปดาห์ นาน 4 สัปดาห์  สามารถลดความดันโลหิต systolic และ diastolic (Halbert et al., 1997, pp.641-649)  การศึกษาของ Loreto และคณะ (Loreto et al., 2005, pp.1295-1302)  พบการใช้พลังงานมากกว่า 10 METs/h/wk ให้ผลดีต่อผู้ป่วยเบาหวานและได้ผลดีมากเมื่อใช้พลังงานมากกว่า 37±5 METs/h/wk  โดยช่วยลดน้ำหนักตัว รอบเอว น้ำตาลในเลือด ความดันโลหิต, LDL และการเพิ่มขึ้นของ HDL  และยิ่งใช้พลังงานมากขึ้นยิ่งมีผลดีต่อจำนวนปัจจัยมากปัจจัยมากขึ้น

ผู้วิจัยต้องการศึกษาผลของความแตกต่างของการใช้พลังงานภายในกลุ่มตัวอย่างนี้จึงแบ่งกลุ่มตามข้อมูลที่มี การแบ่งระดับความหนักช่วยให้เห็นแนวโน้มว่าการออกกำลังกายที่ใช้พลังงานมากกว่าจะเกิดผลดีต่อสุขภาพมากกว่า โดยผลการศึกษาพบว่าในผู้ที่ใช้พลังงานระดับหนักและระดับปานกลางพบความชุกของผู้ที่เป็นกลุ่มอาการเมตาบอลิกน้อยกว่าผู้ที่ใช้พลังงานระดับเบา รวมทั้งพบความสัมพันธ์ของการเพิ่มการใช้พลังงานในการออกกำลังกายกับการลดโอกาสเกิดกลุ่มอาการเมตาบอลิกได้ นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างที่ไม่เกิดกลุ่มอาการเมตาบอลิกตลอด 22 ปีพบว่าใช้พลังงานในการออกกำลังกายในปี พ.ศ.2550 คือ 250-450 METs-min/wk ผู้วิจัยแบ่งพลังงานนี้ออกเป็น 10 ช่วงพร้อมค่าความไวและความจำเพาะต่อการไม่เกิดกลุ่มอาการเมตาบอลิกกับผลการวินิจฉัยด้วยเกณฑ์ของAHA/NHLBI เพื่อให้ผู้สนใจเลือกนำไปใช้ต่อไป โดยพบว่ายิ่งใช้พลังงานมากขึ้นค่าความจำเพาะต่อการไม่เกิดกลุ่มอาการเมตาบอลิกยิ่งมากขึ้นแต่ค่าความไวจะลดลง สำหรับรูปแบบการออกกำลังกายที่ช่วยลดโอกาสเกิดกลุ่มอาการเมตาบอลิกคือการเดินเร็วและการวิ่งเหยาะที่ใช้เวลาตั้งแต่ 20 นาที และตั้งแต่ 2 วันต่อสัปดาห์ หากใช้การเดินเร็วซึ่ง 1 นาทีใช้พลังงาน 5 METs หรือการวิ่งเหยาะ 1 นาทีใช้พลังงาน 8 METs หากใช้เวลา 20-30 นาทีต่อวันและ 2-3 วันต่อสัปดาห์ก็เพียงพอแล้ว ซึ่งไม่หนักเกินไปสำหรับผู้สูงอายุ ไม่ต้องใช้อุปกรณ์ประกอบในการออกกำลังกายและโอกาสเกิดบาดเจ็บต่อกล้ามเนื้อเกิดได้น้อย ซึ่งสามารถใช้ในการรณรงค์การสร้างเสริมสุขภาพได้เพราะประชาชนอาจมีกำลังใจในการออกกำลังกายมากขึ้น เพราะไม่ต้องใช้เวลามาก ไม่ต้องใช้พลังงานหนักมาก กระทำได้ทุกเวลาที่สะดวก ไม่ยุ่งยากและไม่เสียค่าใช้จ่าย รวมทั้งสามารถกระทำได้ลำพัง เมื่อออกกำลังกายในระดับนี้จนร่างกายทนทานได้ดีแล้วจึงค่อยๆ เพิ่มระยะเวลาและความถี่ของการออกกำลังกายในแต่ละสัปดาห์ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกายมากขึ้นเพราะยิ่งใช้เวลาต่อเนื่องนานมากขึ้นจะลดปัจจัยเสี่ยงของกลุ่มอาการนี้และโรคเรื้อรังต่างๆ ได้มากขึ้น

 

ประโยชน์ที่ได้รับจากการวิจัย

            การออกกำลังกายสามารถป้องกันและรักษากลุ่มอาการเมตาบอลิกได้ ดังผลการศึกษานี้ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการออกกำลังกายที่ใช้พลังงานเพียงพอและต่อเนื่องจะลดโอกาสเกิดปัจจัยต่างๆ ของกลุ่มอาการเมตาบอลิก ได้แก่ รอบเอว ความดันโลหิต น้ำตาลในเลือด และไขมัน triglyceride รวมทั้งเพิ่มไขมัน HDL ด้วยการออกกำลังกายในรูปแบบง่ายๆคือการเดินเร็วและการวิ่งเหยาะให้ได้ 20 นาทีขึ้นไป และ 2 วันต่อสัปดาห์ขึ้นไป แม้อายุมากขึ้นหากยังออกกำลังกายต่อเนื่องให้ได้ 250-450 METs-min/wk สามารถป้องกันการเกิดกลุ่มอาการนี้ได้และอาจส่งผลต่อการลดการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ เพราะปัจจัยของกลุ่มอาการเมตาบอลิกเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดทั้งสิ้น  

 

ข้อเสนอแนะในการนำผลการวิจัยไปใช้

            การศึกษานี้พบว่าการใช้พลังงานในการออกกำลังกายยิ่งมากยิ่งช่วยลดปัจจัยของกลุ่มอาการเมตาบอลิก การใช้พลังงานมากเพียงใดขึ้นกับรูปแบบของการออกกำลังกาย ระยะเวลาที่ใช้ในการออกกำลังกายในแต่ละครั้งและจำนวนวันที่ออกกำลังกายในแต่ละสัปดาห์ ดังนั้นการออกกำลังกายไม่จำเป็นต้องเลือกรูปแบบการออกกำลังกายที่หนักมากซึ่งจะก่อให้เกิดการบาดเจ็บต่อข้อเข่า ข้อต่อต่างๆและกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นสาเหตุให้ไม่สามารถออกกำลังกายได้นานพอ รูปแบบการออกกำลังกายที่ได้ประโยชน์ต่อร่างกายต้องให้กล้ามเนื้อมัดใหญ่มีการขยับเคลื่อนไหวตั้งแต่ 20 นาที และตั้งแต่ 2 วันต่อสัปดาห์ ผลการศึกษานี้พบรูปแบบการออกกำลังกายที่ลดโอกาสเกิดกลุ่มอาการเมตาบอลิกในกลุ่มตัวอย่างพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย คือการเดินเร็วหรือวิ่งเหยาะ นอกจากนี้การออกกำลังกายต้องกระทำต่อเนื่องจนถึงวัยสูงอายุ รวมทั้งผู้ที่เกิดกลุ่มอาการนี้แล้วก็ตาม  การศึกษาในกลุ่มตัวอย่างที่ไม่เป็นกลุ่มอาการเมตาบอลิกตั้งแต่ปี พ

หมายเลขบันทึก: 251667เขียนเมื่อ 29 มีนาคม 2009 10:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 23:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท