ศาสนาจากความทรงจำ (จบ) – ผู้พอใจเพียงยืนมองต้นไม้


เลิกสงสัย - ไม่ปฏิบัติต่อ

ในช่วงแรกการทำความรู้สึกตัวโดยกำหนดให้มีสติรู้ตัว ในการเดิน นั่ง ยืน ฉันอาหาร นั้นลำบากเอาการอยู่ เพราะเคยชินกับการปล่อยใจไปกับความคิด ตั้งใจมีสติรู้ตัวอยู่กับการเดินบิณฑบาตร  แต่พอรู้ตัวอีกทีก็นู้น จินตนาการไร้สาระออกนอกลู่นอกทางไปไกลโข ต้องสลัดความคิดนั้นทิ้งดึงสติกลับมาอยู่กับการก้าวเดินเป็นอย่างนี้ประจำ หลายครั้งรู้สึกเคร่งเครียดและอ่อนล้าจากการประคองสติตามดูความรู้สึกความคิดต่างๆ  ต้องปลุกปลอบให้กำลังใจตัวเองด้วยการทบทวนจุดมุ่งหมายในการทำความรู้ตัว และถามตัวเองเสมอว่า อยากสงสัย อยากอยู่แบบคนก้ำกึ่งครึ่งๆ กลางๆ ในความเชื่อเกี่ยวกับศาสนาไปทั้งชีวิตหรือ   

 

ความคิดฟุ้งซ่านที่เกิดมีทั้งเรื่องประวัติศาสตร์ชาตินิยม สังคม การเมือง ความมั่งมี  แผนสำหรับชีวิตในอนาคต ฟุตบอลโลก มนุษย์ต่างดาว สามเหลี่ยมเมอร์บิวด้า สวรรค์ นรก โลก อดีตของโลก อนาคตของโลก ศีลธรรม การเรียนนักธรรม การขึ้นเทศน์ พุทธประวัติที่เคยได้อ่านได้รู้มา ฯลฯ พอเหตุการณ์หรือความคิดบางอย่างเข้ามากระทบใจ ก็จะเกิดจินตนาการฟุ้งซ่านเป็นเรื่องเป็นราวทันที แต่หลังจากทำความรู้ตัวได้ระยะหนึ่ง เริ่มสังเกตุว่าความฟุ้งซ่านเริ่มลดน้อยลงโดยจะวนเวียนอยู่กับเรื่องไม่กี่เรื่อง อาจเพราะไม่มีสิ่งเร้าใหม่ๆ เนื่องจากหลังจากบวชก็ไม่ได้รับข่าวสารทางโลกเพิ่มเติม ไม่อ่านหนังสือพิมพ์ ไม่อ่านนิตยสาร ไม่อ่านวรรณกรรม ไม่ดูทีวี ไม่มีวิทยุ ในกุฏิมีเพียงหนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนาอยู่ไม่กี่เล่มและหากไม่นับหนังสือสวดมนต์ หนังสือที่อ่านประจำก็มีอยู่แค่สามเล่มคือ “พุทธประวัติจากพระโอษฐ์” ของท่านอาจารย์พุทธทาส “นวโกวาท” ฉบับของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส และ “พระไตรปิฏกฉบับสำหรับประชาชน” ฉบับของอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ   

 

พอเรื่องฟุ้งซ่านเหลือน้อยก็เริ่มจับไต๋ได้ว่า ที่ฟุ้งซ่านต่างๆ นานา ดีบ้าง ร้ายบ้าง โดยไม่สามารถบังคับจิตใจไม่ให้คิด ถึงหยุดได้ก็เพียงชั่วพักชั่วครู่ เพราะมีความพอใจมีความสุขกับความคิดนั้นบ้าง สะใจกับความคิดนั้นบ้าง  จึงเริ่มถามตัวเองว่า ที่คิดต่างๆ นานา แล้วได้ประโยชน์อะไร ความสุขที่สุดที่ได้จากความคิดนั้นคืออะไร แค่ไหน แล้วปล่อยใจให้คิด โดยคอยเฝ้าดูตั้งแต่เกิดจนความคิดเปลี่ยนเรื่องไป ที่สุดก็เริ่มรู้สึกว่าแค่นี้เอง ความสุขจากการคิด และแค่นี้เองธรรมชาติความคิดของเรา ทีนี้เริ่มหยุดคิดเรื่องที่คิดว่าตัวเองมีความสุขได้บ้าง และไม่ฟุ้งซ่านมากมายเหมือนเดิม ถึงตอนนี้การทำความรู้สึกตัวมีสติไปในความเคลื่อนไหวและการติดตามความคิดเริ่มไม่ยุ่งยากมากเหมือนช่วงแรกๆ  

 

ต่อมาเริ่มสงสัยอีกว่า สติคืออะไร เมื่อไหร่จึงจะเรียกว่าเป็นผู้มีสติ เมื่อไหร่จะสามารถเริ่มนับวันที่ 1 จากระยะเวลา 7 ปีที่พระพุทธองค์ตรัสรับรองได้ จึงเริ่มค้นหาสติด้วยหลักที่ว่าสติเป็นธรรมชาติการรับรู้  สติก็น่าจะไม่ใช่ความร้อน ไม่ไม่ใช่ความหนาว ไม่ไม่ใช่ความเย็น ไม่ใช่ความเจ็บปวด และสติย่อมไม่ใช่ความคิด ไม่ใช่สัมผัส 

 

ทีนี้เวลาเริ่มนั่งสมาธิจะทำการค้นหาสติก่อนทุกครั้ง โดยการพิจารณา สติที่ปลายนิ้วกับสติที่ความคิด เริ่มต้นด้วยการคิดว่าจะให้ปลายนิ้วแตะนิ้วกัน พอคิดก็รู้ตัวว่ากำลังคิดจะใช้ปลายนิ้วแตะกัน รู้ตัวว่าสติอยู่กับความคิด  พอขยับนิ้วไปแตะกันก็รู้สึกว่านิ้วสัมผัสกันสติอยู่ที่นิ้วซึ่งสัมผัสกัน พอคิดว่าจะคลายนิ้ว ก็รู้สึกว่ากำลังคิดจะคลายนิ้วที่แตะกัน สติอยู่ที่ความคิด พอคลายนิ้วที่แตะกันก็รู้สึกว่ากำลังคลายนิ้วที่แตะกันสติรับรู้อยู่ที่นิ้ว วนทำไป-มา พยายามแยกสติจากความคิดและสัมผัสเวลานิ้วแตะกัน หลังจากนั้นก็จะย้ายสติไปรับรู้ที่ ตา  หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โดยทำความผ่อนคลายไปด้วย เมื่อรู้สึกว่าสงบแล้วก็ใช้สติพิจารณาธรรมซึ่งเกิดในใจ ค้นหาว่า ณ ตอนที่นั่งสมาธินี้ เรามี นิวรณ์ ๕ คือ  พอใจรักใคร่ในอารมณ์ที่ชอบใจหรือไม่  ปองร้ายผู้อื่นหรือไม่ มีจิตใจหดหู่หรือไม่ เคลิบเคลิ้มหรือไม่ ฟุ้งซ่านรำคาญหรือลังเลไม่ตกลงได้หรือไม่   แล้วก็ทบทวนดูว่าตอนนี้มี โพชฌงค์  ๗   ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ (ซึ่งจะช่วยให้เรารู้ธรรม) หรือไม่ถ้าไม่มีเราต้องทำให้เกิดให้มีในตัวเรา (โห...ช่างกล้า) จากคำขยายความที่ว่า ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ ตอนที่คิดจะลองทำให้มีในตัวเอง ทีแรกก็นึกว่าแปลกๆ อยู่แต่นึกดูอีกทีถ้าเป็นธรรมมะที่คนทั่วไปไม่ควรปฏิบัติสงวนไว้เฉพาะพระพุทธองค์ท่านคงไม่ตรัสบอกไว้หรอก ว่าแล้วก็เดินหน้า  อืม...  ๑. สติ ความระลึกได้ก็มี   ๒. ธัมมวิจยะความสอดส่องธรรม นี่น่าจะเป็นการที่พิจารณาอยู่ว่าอะไรเกิดอะไรดับอยู่ภายในตัวเอง  ๓. วิริยะคือความเพียร ที่พยายามนั่งสมาธิโดยไม่ท้อแท้ ไม่หงุดหงิดนี่น่าจะเป็นความเพียร(  หุ หุ ต้องคิดเข้าข้างตัวเองไว้ก่อนจะได้มีกำลังใจอย่างน้อยก็เข้าสามข้อละ)   ๔. ปีติ ความอิ่มใจ มาถึงข้อนี้เริ่มไม่รู้จัก สัมผัสไม่ได้จบเลยงานนี้ไม่มีข้อต่อไป เพราะตรึกตรองไปมาก็เริ่มเกิดความฟุ้งซ่าน พอฟุ้งซ่านทีนี้ต้องกลับไปผ่อนคลายความสงบใจใหม่ แล้วพิจารณา นิวรณ์ ๕   อื่นๆ ว่าเกิดหรือไม่ แล้วย้อนไปมีสติใน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทำความรู้สึกผ่อนคลายใหม่ พอใจสงบก็เริ่มกลับมาพิจารณา โพชฌงค์  ๗   เหมือนเดิมอยู่เช่นนี้ ตอนนี้เองที่รู้สึกว่า ภาวนา คือสิ่งสำคัญ ที่ต้องมีควบคู่ไปเวลานั่งสมาธิ  

 

สำหรับผมแล้วการภาวนา คือการอ่านทบทวนธรรมมะที่ชอบใจ ที่ถูกจริตหลายๆ ครั้งจนจำขึ้นใจ เวลานั่งสมาธิ ช่วงที่มีปัญหา ธรรมที่เคยภาวนาหรือท่องจำไว้จะนำมาหักล้างความลังเลสงสัย รวมถึงนำมาแก้ปัญหา เช่น เวลากระสับกระส่ายทรมานอยากจะเลิกนั่งสมาธิแล้วไม่ไหวแล้ว ก็นึกไปถึง ขันติ ความอดทนคือตบะอย่างยิ่ง ที่เคยท่องจำไว้ สติก็ค้นหาว่าธรรมที่ข่มความเจ็บปวดทรมานทำให้เรานั่งอยู่ได้อันนี้เรียกว่า ขันติ ซึ่งเป็นตบะอย่างยิ่ง หากอยู่ในขันติย่อมอดทนได้  

 

พอคิดจะหยุดการมีสติไปในธรรมต่างๆ วนไปวนมาแต่จะสงบจิตให้เป็นสมาธิมีอารมณ์เดียว ก็เกิดความสงสัยด้วยความกลัวอีกมากมาย เช่นว่า ถ้าเราดิ่งลงสู่สมาธิแล้วเราจะกลายเป็นคนไร้ความรู้สึกหรือไม่ เราจะกลายเป็นคนไม่มีความรักหรือเปล่างานนี้ (โอ้ ^^ กังวลเป็นพิเศษ) แต่ก็ได้คำตอบใน “เวทนาของปุถุชนและอริยสาวก ว่าพระอริยสาวกที่ปฏิบัติดี ท่านก็ยังมีความรู้สึกรับรู้เรื่องต่างๆ ในธรรมชาติปกติ เพียงแต่ท่านไม่ยึดติดหรือไม่เข้าไปเสวยอารมณ์นั้น ซึ่งพิจารณาแล้วเห็นจริงว่าพระอริยสาวกในพุทธศาสนาคงไม่ใช่ความรู้สึกตายด้านแน่ เพราะไม่เช่นนั้นพระพุทธองค์คงไม่ตรัสให้ภิกษุในศาสนาสำรวมระวังตา หู จมูก ปาก ลิ้น กาย ใจ ตลอดเวลา เราเองสงบใจจากอารมณ์ต่างๆ ชั่วคราวคงไม่ถึงกับทำให้กลายเป็นคนไร้ความรู้สึกไปหรอก ลองไปดูหน่อยว่าสุขที่ว่าเกิดแต่ความสงบนั้นเป็นเช่นไร 

 

พอคิดตกในปัญหาที่ทำให้ลังเล หวาดกลัวต่างๆ ทีนี้ก็สามารถก้าวข้ามดิ่งลงสู่อารมณ์(ที่คิดว่าเกือบได้)สมาธิ ชั่วขณะนั้นรู้สึกว่าเรามีสมาธิแล้วกระมัง และแล้วความปิติหรืออะไรไม่รู้พิจารณาไม่ทันก็ท่วมท้นขึ้นมากมายจนในที่สุดสมาธิก็ไม่สามารถตั้งอยู่ได้ นั่นเป็นครั้งเดียวในชีวิตที่เข้าใกล้คำว่าการได้สมาธิที่สุด และหลังจากนั้นไม่เคยได้สัมผัสอารมณ์แบบนั้นอีกเลย

 

การเจริญสมาธิ-ภาวนา และสังเกตุธรรมชาติ ของธรรมต่างๆ ที่พระพุทธองค์ตรัสนั้นเองที่ทำให้ศรัทธาของผมค่อยๆ ฝังรากลึกอย่างไม่รู้ตัว ว่าที่พระองค์ตรัสสอนเป็นจริง ธรรมที่ใช้ข่มกันมีจริง อานิสงฆ์ของการสำรวมบ้าง การหลีกเลี่ยงบ้าง การบรรเทาบ้าง ผลของการนั่งสมาธิ-ภาวนามีจริง ถ้าเรามีศีล-สำรวมอิทรีย์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็นำไปสู่การทำความมีสติรู้ตัว ถ้าเราเจริญเมตตาความอาฆาตของเราก็ลดน้อยลงไป ตอนนี้ผมเหมือนคนหาคำตอบของโจทย์การบวกเลขหลักหน่วยได้แล้วด้วยตัวเอง จึงเชื่อว่าหลักการในวิชาคณิตศาสตร์มีจริง จึงเชื่อโดยไม่สงสัยแล้วว่า สูตรคณิตศาสตร์ที่ยังอ่านแล้วไม่เข้าใจยังแก้ไม่ได้นั้น แท้จริงมีวิธีการแก้และมีหนทางในการตอบข้อสงสัยนั้น เพียงแต่ผมจะมีความเพียร มีสติปัญญาพอจะทำความเข้าใจหรือไม่เท่านั้นเอง  

 

หลังจากประสบการณ์(เกือบ)ได้สมาธิครั้งนั้น ผมกลายเป็นผู้ที่ทะนงว่า เราเข้าใจแล้วว่า ธรรมที่พระองค์สอนนั้นคืออะไร เราเป็นผู้รู้จักสติ เราเป็นผู้มีความรู้ตัว และเป็นผู้ที่เต็มปราถนาแล้ว เหมือนคนที่พอใจเพียงยืนมองต้นไม้ โดยไม่สนใจว่ามีคนมากมายแสวงหาแก่นไม้นั้นเพื่อประโยชน์สูงสุด

จนกลายเป็นผู้มีความประมาท จากความสำเร็จขี้ปะติ๋วนั้น

 

กระทั่งเมื่อถึงเวลาสึก ก็ยังเต็มไปด้วยความประมาท ว่าเราเป็นผู้มีสติ มีความรู้ตัวตลอดเวลา เรารู้จักธรรม เรานั่งสมาธิโดยเจริญธรรมเหล่านั้นได้ โลกไม่สามารถทำอย่างไรกับเราได้ เราสึกไปเที่ยวเล่นในโลกสักสิบปี-ยี่สิบปีก็ไม่เป็นไร แต่เอาเข้าจริง ไม่นานเลยผมก็ถูกโลกกลืนกิน ตอนนี้มาลองคำนวนจากเวลาแล้ว พวกขี้สงสัยที่ต้องเดินทางอ้อมอย่างผม แถมจิตใจยังยินดีอาลัยในกาม ชาตินี้ทั้งชาติคงไปไม่ถึงไหน พยายามเต็มที่ 6 เดือน ได้แค่เกือบมีสติ ใครคิดว่าตัวเองมีสติสัมปชัญญะ ลองดูครับว่าพระพุทธองค์ทรงให้เจริญสติด้วยความระมัดระวังเพียงใด ที่นี่ และถ้าระวังได้อย่างนั้นจึงน่าจะเรียกได้ว่ามีสติสัมปชัญญะ

 

ผ่านมาสิบปีกว่าปี ผมยังคงเชื่อในมรรค เชื่อในปฏิปทา เชื่อในพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์อย่างมั่นคง แต่กลับเป็นผู้เสื่อมในธรรม เป็นผู้ประมาท ไม่สามารถปลูกความดีงามใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น สิ่งดีที่เคยมีก็เสื่อม สติที่เคยว่องไว จนยึดถือทะนง ก็ค้นไม่พบ ดำเนินชีวิตโดยปราศจากความรู้ตัว รู้สติ ใช้ชีวิตเช่นเดียวกับปลาใกล้ตายที่ว่ายน้ำวนอยู่กับที่บ้าง ถูกน้ำซัดลอยถอยหลังไปบ้าง ตอนนี้ก็ยังไม่สำนึกถึงอันตรายว่าปลายทางที่หวังได้คือการเป็นอาหารปลาเต่าในห้วงวัฏฏสงสาร


...หมายเหตุ...

ในบันทึกนี้มีการตีความธรรมตามความเข้าใจส่วนตัวหลายประการไม่ว่าจะ วิธีการค้นหาสติ  สมาธิ ปิติ หรือแม้แต่ความหมายของคำว่าภาวนา ซึ่งเป็นความเชื่อจากประสบการณ์ส่วนตัว จากการปฏิบัติเพียงเล็กน้อย  และตลอดเวลาที่ปฏิบัติธรรมนั้นได้สังเกตุว่า ความเข้าใจเกี่ยวธรรมต่างๆ เปลี่ยนแปลงอยู่หลายครั้งตามปัจจัยใหม่ๆ ที่รับรู้ เหมือนคนไม่เคยเห็นต้นไม้แห่งธรรมแล้วหลับตานึกถึงต้นไม้แห่งธรรมตามคำบรรยายแล้วยึดถือว่าความเชื่อความเข้าใจนั้นถูกต้อง แต่พอได้เห็นต้นไม้นั้นอยู่ไกลๆ ความเชื่อเดิมก็เปลี่ยนไปเชื่อตามที่ได้เห็นและยึดถือว่าความเชื่อความเข้าใจนั้นถูกต้อง ไม่แน่ว่าเมื่อเข้าไปใกล้ได้จับต้องชัดเจนความเชื่อความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมต่างๆ ก็อาจจะเปลี่ยนไปอีก ดังนั้น จากประสบการณ์จึงไม่ยึดติดกับการตีความธรรมต่างๆ รู้เพียงแต่ตอนนี้เข้าใจเช่นนี้ และรู้ว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้เข้าใจเช่นนี้



 

หมายเลขบันทึก: 251534เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2009 16:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 02:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขออนุญาติแลกเปลี่ยนนะครับ..

สติเกิดเมื่อจิตจำสภาวะธรรมทำได้บ่อยๆครับ สติเป็นอนัตตาบังคับไม่ได้ครับ การจะจำสภาวะธรรมได้ก็แค่ตามรู้กายตามรู้ใจโดยไม่แทรกแซงครับ..

ส่วนเรื่องบรรลุธรรม ใน 7 วัน 7 เดือน 7 ปี ผมคิดว่าเป็นเรื่องจริงแต่อาจจะไม่ใช่สำหรับเรา เขาอาจบำเพ็ญทาน สมาทานศีล ปฏิบัติธรรมมาหลายภพหลายชาติแล้วจึงบรรลุมรรคผล นิพพานในชาตินี้

สำหรับน่าจะพยายามต่อไปนะครับ อย่าเลิก ถ้า 7 ปีไม่ได้ก็ 16 ปี แล้วก็ทำไปเรื่อยๆ ครูบาอาจารย์สอนให้ทำทุกวันครับ ทำจนตาย ถ้ายังไม่ได้ชาติหน้าทำใหม่ ทำไปจนได้แต่ต้องไม่หวังนะครับว่าจะได้ ถ้าได้ก็จะได้เองครับ

ถ้าพอมีเวลาก็ลองเข้าไปอ่าน blog ผมเรื่องหยุดเพื่อรู้ดูนะครับ

  • สวัสดีครับคุณ Phornphon

  • ขอบคุณครับสำหรับความรู้เรื่อง สติเป็นอนัตตาบังคับไม่ได้ครับ การจะจำสภาวะธรรมได้ก็แค่ตามรู้กายตามรู้ใจโดยไม่แทรกแซง...

  • การค้นหาสติของผมก็ไม่ใช่การบังคับสติครับ แต่เป็นการทำความรู้สึกตัวครับ (ทำความรู้สึกตัว-อันนี้ได้มาจากคำอธิบายเรื่องสมาธิแบบเคลื่อนไหวของพระอาจารย์เทียนเลยยืมมาใช้ครับเป็นคำที่ชัดเจนสำหรับตัวเอง) ทำความรู้สึกตัวว่ากำลังคิด – ทำความรู้สึกตัวว่ากำลังสัมผัส - ทำความรู้สึกตัวว่ากำลังรู้สึก

  • จริงๆ แล้วพอมาเขียนบันทึกก็อยากปฏิบัติเหมือนกันครับแต่ว่าใจไม่นิ่งรู้สึกลำบากสิ่งเร้ามากเหลือเกิน ตอนนี้กำลังว่าจะพยายามกลับไปพยายามทำความรู้สึกตัวใหม่ไม่รู้ว่าจะได้แค่ไหนเหมือนกันครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท