ตัวชี้วัด : เป้าหมายการเรียนรู้


ประเภทตัวชี้วัดและเป้าหมายการเรียนรู้

                        หากถามว่า ท่านต้องการให้นักเรียนของท่านเกิดการเรียนรู้อะไร ครูที่สอนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑ จะไม่ลังเลที่จะชี้ไปที่มาตรฐานและตัวชี้วัด และหากถามต่อว่า ตัวชี้วัดเหล่านั้นจัดอยู่ในประเภทใดบ้าง หลายท่านคงจัดกลุ่มตัวชี้วัดด้วยความชำนาญเป็นด้านความรู้ (K) ด้านกระบวนการ (P) และเจตคติ (A) และถึงแม้จะมีการจัดประเภทเช่นนี้ แต่ก็เข้าใจกันอยู่แล้วว่าไม่ใช่การจัดแบ่งที่ตายตัว เพราะในความเป็นจริงเป้าหมายการเรียนรู้หนึ่งอาจเหลื่อมซ้อนอยู่ในหลายประเภท เช่น ความรู้เป็นสิ่งที่ต้องมีมาก่อนในทุกเป้าหมาย

                        ตัวชี้วัดสื่อสารให้ทราบถึงสิ่งที่คาดหวังให้เกิดการเรียนรู้ที่ค่อนข้างเจาะจง ตัวชี้วัดจึงเป็นพื้นฐานในการจัดการเรียนรู้และสร้างภาระงานการประเมิน และสะท้อนว่าสิ่งที่จะวัดและประเมินนั้นจัดเป็นเป้าหมายประเภทใด การรู้และเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าตัวชี้วัดนั้นเป็นเป้าหมายการเรียนรู้ประเภทใดจะทำให้ผู้สอนสามารถออกแบบหน่วยการเรียนรู้หรือแผนการสอน กำหนดกิจกรรมการเรียนรู้ กิจกรรมการประเมินได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะผู้สอนจะได้ภาพที่บ่งชี้ชัดเจนขึ้นว่าผู้เรียนควรรู้อะไร ทำอะไรได้

                        นอกจากการจัดกลุ่มตัวชี้วัดเป็นด้านความรู้ (K) ด้านกระบวนการ (P) และเจตคติ (A) ดังกล่าวข้างต้นแล้ว  Stiggins (๒๐๐๕) ได้จัดเป้าหมายการเรียนรู้ เป็น ๕ ด้าน ประกอบด้วย

Ø  เป้าหมายด้านความรู้ความเข้าใจ (Knowledge and Understanding Targets) เป็นเป้าหมายเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจในเนื้อหา ได้แก่ ข้อเท็จจริง เหตุการณ์ กรอบความคิด กฎเกณฑ์ หลักการ ตลอดจนความรู้ว่ากระบวนการ วิธีการ ขั้นตอนกล่าวไว้ว่าอย่างไร คำสำคัญที่บ่งบอกเป้าหมายด้านนี้ ได้แก่ อธิบาย เข้าใจ พรรณนา ระบุ บอก บอกชื่อ บอกรายการ นิยาม จับคู่ เลือก จำ ระลึกได้ เป็นต้น

Ø   เป้าหมายด้านการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล (Reasoning Targets) เป็นเป้าหมายที่เกี่ยวกับความสามารถในการคิด โดยกำหนดให้ต้องใช้ความรู้มาแก้ปัญหา ความรู้นี้จะได้มาจากการคิดอย่างลึกซึ้ง
คิดด้วยรูปแบบต่าง ๆ
ได้แก่ การวิเคราะห์ เปรียบเทียบความเหมือนความแตกต่าง ๆ สังเคราะห์ จัดประเภท อุปนัย นิรนัย ตัดสิน ประเมินค่า เมื่อคิดแล้วต้องแสดงออกมาให้เห็นว่ารู้โดยผ่านผลผลิตที่เป็นได้ทั้งชิ้นงานหรือการกระทำ ผลผลิตที่เป็นชิ้นงาน เช่น ประเด็นคำถามปลายเปิดที่ผู้เรียนสร้างขึ้นเพื่อสอบถามความคิดเห็น หรือการทำ คือสาธิตให้ดู  ฉะนั้น เครื่องมือประเมินประเภทเลือกตอบ เช่น ข้อสอบแบบเลือกตอบไม่เพียงพอที่จะบอกได้ถึงกระบวนการคิดรูปแบบต่าง ๆ ข้างต้น

Ø  เป้าหมายด้านทักษะการปฏิบัติ  เป็นเป้าหมายที่เกี่ยวกับความสามารถในการปฏิบัติหรือ
ใช้วิธีการต่าง ๆ ได้ดี เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่ยั่งยืน การประเมินการปฏิบัติมักประเมินผ่านการเห็นหรือได้ยิน คำสำคัญที่บ่งบอกเป้าหมายด้านนี้ ได้แก่ สังเกต ทดลอง แสดง ทำ ตั้งคำถาม ประพฤติ ทำงาน ฟัง อ่าน พูด ประกอบ ปฏิบัติ ใช้ สาธิต วัด สำรวจ เป็นแบบอย่าง รวบรวม การจะมีทักษะการปฏิบัติได้จะต้องผ่านเป้าหมายด้านความรู้มาก่อนเสมอ และในหลายกรณีต้องผ่านเป้าหมายด้านการให้เหตุผลด้วย

Ø  เป้าหมายด้านผลผลิต  เป็นเป้าหมายที่เกี่ยวกับความสามารถในการใช้ความรู้ การคิด ทักษะ เพื่อสร้างผลผลิตสุดท้ายที่มีคุณภาพและเป็นรูปธรรม เช่น งานเขียน ชิ้นงานศิลปะ รายงาน แผน แบบจำลอง เป็นต้น  คำสำคัญที่บ่งบอกเป้าหมายนี้ ได้แก่ ออกแบบ ทำ สร้าง ผลิต พัฒนา เขียน วาด ทำแบบจำลอง จัดนิทรรศการ จัดแสดง

Ø  เป้าหมายด้านจิตนิสัย (Disposition Targets) เป็นเป้าหมายที่มิใช่ผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการ แต่เป็นสถานะทางด้านอารมณ์ ความรู้สึก เช่น ทัศนคติต่อสิ่งต่าง ๆ  ความมั่นใจในตนเอง แรงจูงใจ เป็นต้น

                        เมื่อได้พิจารณาเป้าหมายการเรียนประเภทต่าง ๆ แล้ว จะเห็นว่าตัวชี้วัดที่กำหนดในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน สามารถจัดอยู่ในประเภทต่าง ๆ ได้เหมาะสมและชัดเจนขึ้น

ตัวอย่างตัวชี้วัดในกลุ่มสาระต่าง ๆ ที่ประกอบด้วยเป้าหมายการเรียนรู้ประเภทต่าง ๆ

สาระ

ความรู้

ความเข้าใจ

การคิด
การให้เหตุผล

ทักษะการปฏิบัติ

ผลผลิต

จิตนิสัย

(เจตคติ/คุณลักษณะ)

ภาษาไทย

อธิบายความหมายคำศัพท์ทางวิชาการและวิชาชีพ

(ท ๔.๑ ม.๓/๕)

แสดงความคิดเห็นและประเมินเรื่องที่ฟัง/ดู

(ท ๓.๑ ม.๓/๑)

พูดรายงานประเด็นที่ศึกษาค้นคว้า

( ท ๓.๑ ม.๓/๓)

แต่งบทร้อยกรอง ( ท ๔.๑ ม.๓/๖)

ท่องจำบทอาขยาน
ที่มีคุณค่าตามความสนใจ

(ท ๕.๑ ม.๓/๖)

คณิตศาสตร์

อธิบายลักษณะและสมบัติของปริซึม พีระมิด ทรงกระบอก กรวย และทรงกลม

(ค ๓.๑ ม.๓/๑)

ให้เหตุผลประกอบ
การตัดสินใจและสรุปผลได้อย่างเหมาะสม

(ค ๖.๑ ม.๓/๓)

อภิปรายถึงวาม

คลาดเคลื่อนที่อาจเกิดขึ้นได้จากการนำเสนอข้อมูลทางสถิติ

(ค ๕.๓ ม.๓/๒)

เขียนกราฟของสมการเชิงเส้นสองตัวแปร

(ค ๔.๒ ม.๓/๓)

มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์

(ค ๖.๑ ม.๓/๖

 

วิทยาศาสตร์

ระบุตำแหน่งของกลุ่มดาวและนำความรู้ไปใช้ประโยชน์

(ว ๗.๑ ม.๓/๓)

วิเคราะห์และประเมินความสอดคล้องของประจักษ์พยานกับข้อสรุปทั้งที่สนับสนุนหรือขัดแย้งกับสมมติฐานและความผิดปกติของข้อมูลจากการสำรวจ ตรวจสอบ

(ว ๘.๑ ม.๓/๕)

ทดลองและอธิบายแรงพยุงของของเหลวที่กระทำต่อวัตถุ

(ว ๔.๑ ม.๓/๓)

สร้างแบบจำลองหรือรูปแบบที่อธิบายผลหรือแสดงผลของการสำรวจ ตรวจสอบ

(ว ๘.๑ ม.๓/๖)

ตั้งคำถามที่กำหนดประเด็นหรือตัวแปรที่สำคัญในการสำรวจ ตรวจสอบหรือศึกษาค้นคว้าเรื่องที่สนใจได้อย่างคอรบคลุมและเชื่อถือได้

(ว ๘./ ม.๓/๑)

สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม

อธิบายความแตกต่างของการกระทำความผิดระหว่างคดีอาญาและคดีเพ่ง

(ส ๒.๑ ม.๓/๑)

วิเคราะห์เรื่องราวเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ได้อย่างมีเหตุผลตามวิธีการทางประวัติศาสตร์

(ส ๔.๑ ม.๓/๑)

ปฏิบัติหน้าที่ของศาสนิกชน             ที่ดี

(ส ๑.๒ ม.๓/๓)

เสนอแนวคิดในการลดความขัดแย้ง (เป็นตัวชี้วัดที่เกิดจากการวิเคราะห์ปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งในประเทศก่อน)

(ส ๒.๑ ม.๓/๔)

เห็นคุณค่าและวิเคราะห์การปฏิบัติตนตามหลักธรรมในการพัฒนาตนเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการทำงานและการมีครอบครัว

(ส ๑.๑ ม.๓/๗)

สุขศึกษาและ   พลศึกษา

อธิบายอนามัยแม่และเด็ก การวางแผนครอบครัว และวิธีการปฏิบัติตนที่เหมาะสม

(พ ๒.๑ ม.๓/๑)

เปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญาแต่ละช่วงของชีวิต

(พ ๑.๑ ม.๓/๑)

เล่นกีฬาไทยและกีฬาสากลได้อย่างละ ๑ ชนิดโดยใช้เทคนิคที่เหมาะสมกับตนเองและทีม

(พ ๓.๑ ม.๓/๑)

เสนอผลการพัฒนาสุขภาพของตนเองที่เกิดจากการออกกำลังกายและ  การเล่นกีฬาเป็นประจำ

(พ ๓.๒ ม.๓/๕)

มีมารยาทในการเล่น และดูกีฬาด้วยความมีน้ำใจนักกีฬา

(พ ๓.๒ ม.๓/๑)

 

 

หมายเลขบันทึก: 251373เขียนเมื่อ 27 มีนาคม 2009 21:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 08:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท