เปิดใจ...ผู้ประสานงานการประชุมกลุ่มครอบครัวและชุมชน (1)


เด็กคนนี้เป็นลูกเป็นหลานคนไทยเหมือนกับเรา เขาทำผิด หากว่าเด็กคนนี้เป็นลูกเป็นหลาน เป็นญาติพี่น้องเรา ถ้าเขาทำผิด เราจะลงโทษเขา ตีเขา ล่ามเขา กักขังเขา โดยที่เราไม่ให้โอกาส เราไม่หาสาเหตุที่แท้จริงว่า เขาทำผิดเพราะอะไรหรือ โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์มั้ย โดยประมาท เลินเล่อมั้ย ด้วยอะไรหรือ เราไปคุยกันได้มั้ย ทำไมเราไม่ไปคุยกันก่อนที่เราจะมุ่งลงโทษ

เปิดใจ...ผู้ประสานงานการประชุมกลุ่มครอบครัวและชุมชน (1)


... สุกัญญา เสรีนนท์ชัย ...

การประชุมกลุ่มครอบครัวและชุมชน หรือ Family and Community Group Conferencing (FCGC)  เป็นกระบวนการยุติธรรมทางเลือกสำหรับเด็ก/เยาวชนที่ก้าวพลาด หรือเป็นกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์รูปแบบหนึ่ง  โดยกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนได้นำกระบวนการนี้มาใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่กลางปี 2546 

หลายท่านคงจำคดีเจ๊เล้งและคดีพริกป่นได้  การประชุมกลุ่มครอบครัวฯ ได้รับการดำเนินการในฐานะที่เป็นเครื่องมือสู่การสมานฉันท์ของคู่กรณีได้อย่างน่าประทับใจ  นี่ก็คือที่มาเบื้องต้นของความสนใจว่า  “การสื่อสารเพื่อการสมานฉันท์ระหว่างฝ่ายเด็กและเยาวชนผู้กระทำผิด และฝ่ายผู้เสียหายเป็นเช่นใด  ผู้เข้าร่วมการประชุมแต่ละคนมีการใช้วัจนภาษาและอวัจนภาษา โดยเฉพาะการพูดและการฟังอย่างไร  ตลอดจนมีปัจจัยอะไรที่ส่งผลต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวในการสมานฉันท์”  อันจะนำไปสู่การพัฒนากระบวนการการประชุมกลุ่มครอบครัวและชุมชนให้สอดรับกับสภาพสังคมไทยยิ่งขึ้น  อีกทั้งผลการศึกษายังเป็นแนวทางในการกำหนดกระบวนการคัดสรรและพัฒนาศักยภาพของผู้ประสานงานการประชุม  เพื่อให้การประชุมกลุ่มครอบครัวและชุมชนเป็นกระบวนการยุติธรรมทางเลือกสู่การสมานฉันท์ได้อย่างเป็นรูปธรรม ยั่งยืน และบรรลุประสิทธิผลสูงสุด  จึงนำมาสู่การศึกษาในหัวข้อ “การสื่อสารในกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ศึกษากรณีการประชุมกลุ่มครอบครัวและชุมชน เพื่อแก้ไขและฟื้นฟูเด็กและเยาวชนที่กระทำผิด”  

วิธีการศึกษาเพื่อตอบวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ประกอบด้วย การสังเกตการณ์แบบไม่มีส่วนร่วมและบันทึกเสียงในระหว่างการประชุมฯ รวมถึงการสัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมประชุม นักวิชาการ และผู้มีประสบการณ์  ดังนั้นเมื่อได้ปรับโครงร่างและแนวคำถามสำหรับการสัมภาษณ์ตามที่ผู้ทรงคุณวุฒิและคณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ได้ให้ข้อเสนอแนะแล้ว การเก็บข้อมูลจึงเปิดฉากขึ้นเมื่อวันอังคารที่ 11 เมษายน 2549

คุณเสน่ห์ ศรีอักษร (พนักงานคุมประพฤติ 8ว.)  ผู้มีประสบการณ์จากการเป็นผู้ประสานงานที่สถานพินิจฯ ชลบุรี และสถานพินิจฯ สมุทรสาคร เป็นเวลาประมาณหนึ่งปีครึ่ง ได้ถ่ายทอดประสบการณ์การเป็นผู้ประสานอย่างสนุกสนานและน่าประทับใจมากมาย  ราวกับว่า เราได้เข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่คุณเสน่ห์กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่จริง โดยเฉพาะช่วงที่คุณเสน่ห์ยกตัวอย่างคดีที่ประทับใจ


เตรียมการ...การประชุมกลุ่มครอบครัวและชุมชน

ผู้ประสานการประชุมไม่ใช่ผู้ที่ทำให้คดีสำเร็จ แต่เป็นผู้ที่สามารถจัดให้มีการประชุมกลุ่มครอบครัวฯ นำทุกคนเข้ามารวมกัน แล้วมีการตกลงแลกเปลี่ยนกันได้  ขณะที่ผลการประชุมเป็นอีกเรื่องหนึ่ง  ผู้ประสานไม่ใช่ผู้ที่จะตัดสินใจผลของการประชุมว่าจะเป็นอย่างไร  ผู้ประสานต้องวางตัวเป็นกลาง เพราะไม่มีอำนาจเสนอให้ท่านอัยการสั่งไม่ฟ้อง หน้าที่คือ พยายามให้ทุกฝ่ายได้มาคุยกันมากกว่า

คดีที่สามารถนำมาจัดประชุมกลุ่มครอบครัวฯ ได้นั้น ต้องเป็นคดีที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี  เด็ก/เยาวชนที่กระทำผิดรับสารภาพ สำนึกในสิ่งที่ได้กระทำไป พร้อมที่จะปรับปรุง แก้ไขตนเอง   ขณะเดียวกันครอบครัวก็พร้อมที่จะให้เด็ก/เยาวชนได้แก้ไขปัญหาของตนเองด้วย  และเกณฑ์ที่สำคัญยิ่งอีกประการหนึ่งก็คือ ผู้เสียหายยินยอมให้จัดประชุม  ทั้งนี้ผู้ประสานงานต้องติดต่อคู่กรณีและผู้เกี่ยวข้อง ดำเนินการต่างๆ จนกระทั่งจัดประชุม ให้เสร็จสิ้นภายใน 20 วัน

ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า หากผู้เสียหายไม่ยินยอมให้จัดประชุม การประชุมก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้  ฉะนั้นทักษะและเทคนิคในการติดต่อกับฝ่ายผู้เสียหายจึงสำคัญยิ่ง  คุณเสน่ห์ได้ยกตัวอย่างคดีที่ประทับใจและสะท้อนให้เห็นเทคนิคการติดต่อกับผู้เสียหายอย่างได้ผลว่า   

     “case นี้ ผู้เสียหายเป็นตำรวจจราจร กระโดดเข้าขวางรถมอเตอร์ไซค์ที่วัยรุ่นขี่มาด้วยความเร็ว ฝ่าฝืนกฎจราจร  พี่เข้าหาผู้เสียหายหลายครั้ง แต่ไม่สำเร็จ กระทั่งลอง “เข้าหลังบ้าน”  เข้าหาภรรยาเขา  แล้วชี้แจงเหตุและผลว่า การที่จะไปฟ้องร้องเด็ก ในทางแพ่งก็ดี หรืออะไรก็ดี  ขณะนี้เป็นสิ่งที่จะได้รับการชดใช้ ทดแทนค่าเสียหายตามสิทธิที่เขาพึงจะได้รับตามสิทธิที่เด็กเป็นผู้กระทำ  แต่ขณะเดียวกัน สิ่งที่เรากระทำ เรากำลังทำอะไร เพื่อใคร อย่างไร  เพราะฉะนั้นอยากให้คุณช่วยเรา  ในการที่จะสื่อกับสามีว่า ในฐานะผู้เสียหาย ว่า เรามีวัตถุประสงค์อะไร  เราขอคุยกับเขา  ภรรยาเขาก็เลยเป็นผู้ประสานจากเราอีกต่อหนึ่ง" 


ในที่สุดก็ได้นั่งคุยกับผู้เสียหาย  ซึ่งพี่ก็พยายามเน้นว่า  

     “เด็กคนนี้เป็นลูกเป็นหลานคนไทยเหมือนกับเรา  เขาทำผิด หากว่าเด็กคนนี้เป็นลูกเป็นหลาน เป็นญาติพี่น้องเรา  ถ้าเขาทำผิด  เราจะลงโทษเขา ตีเขา ล่ามเขา กักขังเขา โดยที่เราไม่ให้โอกาส  เราไม่หาสาเหตุที่แท้จริงว่า เขาทำผิดเพราะอะไรหรือ  โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์มั้ย  โดยประมาท เลินเล่อมั้ย  ด้วยอะไรหรือ  เราไปคุยกันได้มั้ย  ทำไมเราไม่ไปคุยกันก่อนที่เราจะมุ่งลงโทษ” 


รวมทั้งต้องเน้นถึงบทบาทของผู้เสียหายที่จะเป็นผู้กำหนดวิธีการแก้ไขหรือบรรเทาความเสียหายที่เด็กกระทำไป   

     “สิ่งที่คุณได้กลับมา คือ คุณได้สร้างมนุษย์คนหนึ่งให้กลับคืนสู่สังคมได้อย่างสมบูรณ์ อย่างมีความพร้อมที่จะเป็นวัตถุดิบทางมนุษย์ที่มีคุณค่าต่อไป”
 
สำหรับการติดต่อกับฝ่ายเด็ก/เยาวชนนั้น ก่อนที่จะจัดประชุม ผู้ประสานต้องพยายามสื่อให้เด็กคิดและรู้สึกสำนึกในสิ่งที่ตนได้กระทำลงไปด้วยตัวของเขาเอง

สู่บรรยากาศ...การประชุม

บรรยากาศการประชุมไม่ควรเป็นทางการ ควรจะมีโต๊ะประชุม เพราะจะสอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนไทย  (รูปแบบการประชุมของต่างประเทศจะนั่งล้อมวง ไม่มีโต๊ะประชุมตรงกลาง)  การจัดที่นั่งควรเป็นไปอย่างยืดหยุ่น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่า ใครจะเข้าร่วมประชุมบ้าง ทั้งนี้อาจมีหลักง่ายๆ ว่า คนที่น่าจะอยู่ในสายตาของผู้ประสานงาน ก็ควรจะนั่งอยู่ใกล้ๆ ผู้ประสานงาน   สถานที่จัดประชุมควรเป็นสถานที่ที่คู่กรณีพอใจ เป็นกลาง ซึ่งส่วนใหญ่จะจัดที่สถานพินิจฯ  อย่างไรก็ตาม คุณเสน่ห์ได้ยกตัวอย่างการประชุมกลุ่มครอบครัวฯ ของ จ.นราธิวาส ไว้อย่างน่าสนใจว่า  
“เขาจัดประชุมฯ ในชุมชนอิสลาม จัดในหมู่บ้าน  นั่งกันใต้ต้นไม้  แต่ว่าคนอื่นไม่เกี่ยวนะ  มีเฉพาะผู้นำ ผู้เกี่ยวข้อง พนักงานอัยการ ตำรวจ เข้าไปนั่งประชุมกัน  การตกลงกันก็มีการดื่มน้ำชา  พูดคุยอย่างเป็นกันเอง  เจ้าภาพเลยกลายเป็นชุมชน  ขณะที่สถานพินิจฯ จะเป็นฝ่ายสนับสนุนข้อมูลข่าวสารให้”


ระหว่างการประชุม ผู้ประสานพยายามสร้างเครือข่ายโยงใย คือ สร้างปมของความเห็นใจให้เกิดขึ้นก่อน  จนเมื่อสังเกตเห็นว่า “ตาของผู้เสียหายเริ่มลง”  คลายความโกรธแค้นลง มองเด็กด้วยสายตาที่เหมือนกับคนทั่วไปมองกัน  ผู้ประสานถึงกลับมาถามความรู้สึก และผลกระทบที่ผู้เสียหายได้รับ

หากระหว่างประชุม เกิดปากเสียง เกิดการโต้แย้งกันของคู่กรณี ผู้ประสานต้องยุติการประชุม  เพื่อแยกทั้งสองฝ่ายออกจากกันและมาหาข้อตกลงนอกรอบก่อน 

     “ฝ่ายหนึ่งให้อยู่ในห้องประชุมตามเดิม โดยอาจจะให้พนักงานคุมประพฤติ นักจิตวิทยา หรือนักสังคมสงเคราะห์เข้าไปคุย ไกล่เกลี่ย หาข้อเสนอที่ยอมรับได้   ขณะเดียวกันก็กันอีกฝ่ายหนึ่งให้มาอีกห้อง ฝ่ายนี้ผู้ประสานก็เจรจาไป เสร็จแล้วตัวผู้ประสาน กับ พนักงานคุมประพฤติที่ได้รับมอบหมาย ก็มาคุยกันว่า แต่ละฝ่ายมีข้อยุติอะไรที่พอจะเป็นแนวทางในการรอมชอมได้  เสร็จแล้วกลับมาประชุมร่วมกันอีกครั้ง”


ความสำเร็จของการประชุม

หลังเสร็จสิ้นการประชุม หากคู่กรณีได้รับความพอใจ เดินยิ้มมาหา  มาขอบคุณผู้ประสาน  “โอ้โห สำเร็จยิ่งกว่าน้ำเย็นราดลงมาที่หัวใจอีก”  เราปลื้มใจว่าเขาตกลงกันได้  เราได้แต่นั่งยิ้ม  มองการตกลงของเขาทั้งสองฝ่ายที่ตกลงกันด้วยใจสมานฉันท์จริงๆ

นอกจากนี้คุณเสน่ห์ให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายไว้ 3 ประเด็น คือ

1.     คุณสมบัติของผู้ประสานงาน   อันดับแรกคือ ควรเป็นคนที่ “ทำงานด้วยใจ”  มีใจที่จะเข้าไปแก้ปัญหาของชาติ  สิ่งที่ออกมา  “คำพูดของเขาต้องออกมาจากใจ”  เพื่อประโยชน์ของทุกคน ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของเขาเอง  หวังว่า  “เมื่อการประชุมเสร็จแล้ว เขายิ้มลงมาทั้งคู่”  ทั้งนี้ความรู้ที่น่าจะเสริมให้ผู้ประสานงาน เช่น ความรู้พื้นฐานในการเข้าใจมนุษย์  จิตวิทยาการสื่อสาร เป็นต้น

2.     รูปแบบของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์สำหรับเด็ก/เยาวชนที่กระทำผิด  ควรปรับรูปแบบกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์รูปแบบอื่นๆ มาใช้ร่วมกันด้วย เพราะเด็ก/เยาวชนแต่ละคนแตกต่างกัน บางคนอาจไม่เหมาะกับกระบวนการประชุมกลุ่มครอบครัวฯ ก็ได้  ตลอดจนควรมีกระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็ก/เยาวชนที่ปฏิเสธว่า “ไม่ได้กระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหา” เพราะไม่ได้ทำจริงๆ  ซึ่งหากเด็กปฏิเสธ กระบวนการประชุมกลุ่มครอบครัวฯ ก็ไม่สามารถดำเนินการได้

3.     ควรมีการติดตามประเมินผลเด็ก/เยาวชนที่ผ่านการประชุมไปแล้ว โดยศึกษาในเชิงวิเคราะห์และนำมาปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินงานต่อไป       

การพูดคุยกับคุณเสน่ห์ในครั้งนี้ทำให้ได้ความรู้และมุมมองต่อการประชุมกลุ่มครอบครัวและชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเสนอเชิงนโยบายที่น่าสนใจ และจะเป็นประโยชน์ต่อการเสนอต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อให้การประชุมกลุ่มครอบครัวและชุมชน เป็นกระบวนการยุติธรรมทางเลือกสำหรับเด็ก/เยาวชนที่ก้าวพลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป 

สำหรับการเปิดใจผู้ประสานงานท่านต่อไปจะเป็นใคร เรื่องราวจะเป็นอย่างไร คงต้องฝากให้ทุกท่านติดตามภาค 2 ได้เร็วๆ นี้ค่ะ ...  :)

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 25100เขียนเมื่อ 23 เมษายน 2006 11:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 01:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท