ตอนที่ ๑๘ อาบัติที่ผิดแล้วแก้ไขได้


ที่ดูน่าอัปยศมาก คือ การประจานตัวเองโดยบอกแก่พระทุกองค์ว่าตัวเองทำผิดอะไร “ทุกวัน” ถ้ามีพระรูปอื่นมาที่วัดเรา ก็ต้องเขาไปบอกพระรูปนั้นด้วยว่าเราทำผิดอะไร แล้วถ้าลืมบอก ก็ต้องเริ่มนับวันกันใหม่เลย

เรื่องการผิดวินัยร้ายแรงถึงขั้นหมดสภาพความเป็นภิกษุหรือที่เรียกว่า ปาราชิก นั้น ผมเล่าไปแล้ว ตอนนี้ผมขอเล่าเรื่องการผิดวินัยอื่นๆ หรือที่เรียกรวมๆ ว่า อาบัติ

                อาบัติแบ่งเป็น 7 ประเภท คือ ปาราชิก สังฆาทิเสส ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฎ และ ทุพภาสิต ....ไม่ต้องตกใจนะครับ   ผมเองก็ไม่ได้รู้จักทุกประเภทหรอกครับ  นี่ลอกมาจากหนังสือนวโกวาท (หลักสูตรนักธรรมชั้นตรี)  แต่เท่าที่ได้เรียนได้ฟังจากพระอาจารย์สอนมา  ก็พอจำได้สองสามประเภท ก็ขอเล่าเท่าที่จะเล่าได้

                อาบัติที่ร้ายแรงรองจากปาราชิก คือสังฆาทิเสส มีอยู่ 13 ข้อ เช่น

- แกล้งทำให้น้ำอสุจิเคลื่อน

- จับต้องกายหญิง (เส้นผมก็ไม่ได้ครับ)  แต่ถ้าโดนเดินบังเอิญ ไม่เป็นไรครับ ดูเจตนา

- พูดเกี้ยว พูดหรอกให้หญิงมาบำเรอกาม หรือเป็นพ่อสื่อให้ชายหญิงได้กัน

- แกล้งหรือกล่าวร้ายภิกษุอื่นให้ต้องปาราชิก ไม่ฟังคำเตือนภิกษุอื่น ฯลฯ

อาบัติสังฆาทิเสสนี้แม้จะหนัก แต่ยังถือว่าแก้ไขได้ โดยการ “อยู่กรรม”  เป็นเวลา 7 วัน  พระอาจารย์เล่าว่าการอยู่กรรมนี้ พระจะถูกตัดสิทธิ์หลายอย่าง เช่น การลำดับอาวุโส เวลาเดินบิณฑบาตรหรือฉัน ก็ต้องไปอยู่ต่อท้ายพระใหม่เลย  การรับของ ก็ต้องให้ของดีๆ แก่พระรูปอื่น ตัวเองต้องรับของที่แย่ที่สุด 

ที่ดูน่าอัปยศมาก คือ การประจานตัวเองโดยบอกแก่พระทุกองค์ว่าตัวเองทำผิดอะไร “ทุกวัน”  ถ้ามีพระรูปอื่นมาที่วัดเรา ก็ต้องเขาไปบอกพระรูปนั้นด้วยว่าเราทำผิดอะไร  แล้วถ้าลืมบอก ก็ต้องเริ่มนับวันกันใหม่เลย 

อาบัติที่ผมรู้จักอีกประเภท เป็นอาบัติแบบกลางๆ เรียกว่า ปาจิตตีย์ ถ้าทำผิดก็กล่าวคำแสดงอาบัติกับพระรูปอื่นที่ไม่ได้อาบัติในเรื่องนั้น เช่น เรื่องฉันสาหร่าย หรือยืนฉันน้ำ ที่เคยเล่าไปแล้ว

ส่วนกรณีอื่นๆ เช่น

- นั่งในที่แจ้งกับผู้หญิงสองต่อสอง (เลี่ยงได้โดยต้องนั่งกันหลายคน หรือพระยืน ผู้หญิงนั่ง) หรือนั่งในห้องกับผู้หญิง (แก้โดยให้มีผู้ชายอยู่ด้วย)

- กินอาหารที่ยังไม่มีผู้ประเคนให้ (ยกเว้นน้ำ) 

- ว่ายน้ำเล่น  (ข้อนี้น่าจะรวมถึงพระเล่นน้ำตกไม่ได้ด้วย หรือเปล่า)

ที่ตลกๆ ก็มี เช่น

- ไปดูกระบวนทัพที่เขายกไปเพื่อจะรบกัน  (มหาเถรคันฉ่องในหนังนเรศวร เดินกลางสนามรบเลยครับ :) สงสัยคืนนั้นท่านต้องรีบปลงอาบัติ แต่ไม่มีพระรูปอื่นเลยนี่)

- ภิกษุจี้ภิกษุ (จักกะจี้นะครับ ไม่ใช่ปล้นจี้)

                - หลอกภิกษุให้กลัวผี  (สงสัยจังว่าสมัยก่อนหลอกกันแบบไหน)

                - เอาของบริขาร (เช่น บาตร จีวร ประคดเอว) ของภิกษุไปซ่อนเพื่อล้อเล่น (ชอบเล่นจริงๆ )

                การบัญญัติวินัยไว้หยุมหยิมแบบนี้ แสดงว่าสมัยก่อนพระก็ขี้เล่นไม่เบา   พระอาจารย์เล่าว่า ช่วงกลางๆ ของการเผยแพร่ศาสนาของพระพุทธเจ้า มีคนมาบวชกันมาก จึงเกิดปัญหาขึ้นต้องบัญญัติพระวินัยขึ้นควบคุม ข้อไหนตั้งแล้วก็มีพวกเลี่ยงบาลี ก็ต้องตั้งข้อใหม่ให้ครอบคลุมหรือละเอียดขึ้นไปอีก จนพระต้องมีวินัยถึง 227 ข้อ หรือถือศีล 227 ข้อ (เรียกว่า ถ้าพระพุทธเจ้ายังไม่ปรินิพพาน สงสัยพระวินัยอาจมีมากกว่า 227 ข้อก็เป็นได้นะครับ) ไม่เหมือนสมัยแรกๆ ที่พระที่ฟังพระพุทธเจ้าแล้วสำเร็จเป็นพระอรหันต์กันหมด อยู่กันได้โดยไม่มีปัญหา 

                อาบัติแม้จะแก้ได้ด้วยวิธีต่างๆ แต่วินัยเหล่านี้ก็มีไว้เพื่อให้พระครองสติระลึกรู้ว่าทำอะไรๆ อยู่ในหนทางที่ควรแก่การนำไปสู่ความสงบของจิตหรือไม่  ถ้าทำผิดก็ต้องหันมาปรับปรุงตัวเอง

มิใช่ว่าผิดแล้วก็ทำผิดได้อีก เพราะคิดว่าเดี๋ยวกล่าวคำแสดงอาบัติก็แล้วกันไป  แบบนี้พระใหม่ไม่ควรทำ

               

หมายเลขบันทึก: 250905เขียนเมื่อ 25 มีนาคม 2009 23:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 15:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ที่บอกว่าอาบัติสังฆาทิเสสต้องอยู่กรรม 7 วันนั้นผิดครับ แท้ที่จริงแล้วต้องอยู่กรรมตามจำนวนวันที่ปกปิดอาบัติสังฆาทิเสสนั้นครับ เช่น ปกปิดมา 1 ปี ก็ต้องเข้าอยู่กรรม 1 ปี ส่วนอย่างอื่นที่ท่านอธิบายมานั้นก็ถูกนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท