สัปดาห์ปิดทีวี ปิดทีวี เปิดชีวิต


แมกาซีนแปลก ฉบับศุกร์ 20 มีนาคม 2552

ทีวีสื่อใกล้ตัวที่ทุกคนคุ้นเคย และดูจะกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิตประจำวันของใครหลายคน ประโยชน์ของทีวีนั้นมีมากอยู่ไม่น้อย นอกจากจะได้รับความบันเทิงจากการชมละครโทรทัศน์แล้วยังได้เปิดโลกทัศน์ รับรู้ข่าวสาร สิ่งใหม่ๆ เหตุการณ์ต่างๆ สามารถนำไปใช้ได้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน แต่อย่างไรก็ตามทีวีก็มีโทษหลายประการเช่นกัน จากการศึกษาทางการแพทย์ระบุพิษภัยจากทีวีที่มีต่อเยาวชนว่า โทรทัศน์มีผลต่อพัฒนาการของเด็ก และก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น โรคอ้วน การโตเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย นอนไม่หลับ ภูมิต้านทานโรคลดต่ำ ขาดสมาธิ สายตาสั้น เสี่ยงต่อการเป็นโรคอัลไซเมอร์ โรคออทิสซึม ไปจนถึงเสี่ยงต่อการกลายพันธุ์ในเซลล์ดีเอ็นเอ ซึ่งทำให้เกิดมะเร็งตามมา ยังไม่รวมถึงผลกระทบทางด้านพฤติกรรมก้าวร้าวและพฤติกรรมเลียนแบบไปในทางลบ อันมีผลต่อจินตนาการที่ค่อยๆหดหาย มีรายงานล่าสุดเปิดเผยออกมาว่า เด็กอังกฤษไม่มีความสุขและมีสุขภาพอ่อนแอที่สุดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งสอดคล้องกับสถิติที่ว่าเด็กอังกฤษดูทีวีมากที่สุดในยุโรบด้วย จะเชื่อมโยงกันหรือไม่ จริงเท็จแค่ไหน คงบอกไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ที่แน่ๆคงไม่มีใครอยากให้ลูกหลานของตนต้องเสี่ยงกับกลุ่มอาการของโรคดังที่กล่าวข้างต้นนี้

แต่ถ้ามีใครสักคนพยายามบอกคุณว่า มาปิดทีวีกันเถอะ ปิดแบบไม่เปิดขึ้นมาดูเลยเป็นเวลา 7 วัน หลายคนคงจะเริ่มคิดแล้วว่าไม่มีทางหรอก ฉันทำไม่ได้แน่ๆ มันต้องเป็นเรื่องยากมาก แต่มีคนเขาทำกันได้แล้ว และก็จัดเป็นกิจกรรมรณรงค์อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 แล้วด้วย โดยคนกลุ่มนี้มีชื่อว่ากลุ่ม We Change

กลุ่ม We Change เกิดจากการรวมกลุ่มของคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในสมาคมต้นกล้าซึ่งเป็นกลุ่มที่ส่งเสริมการทำความดีเพื่อสังคม จัดตั้งมาได้ประมาณ 4 ปี โดยมุ่งกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเยาวชน วัตถุประสงค์หลักของกลุ่มคือการสร้างวัฒนธรรมและบรรยากาศของการทำเพื่อสังคมแบบง่ายๆจากจุดที่ทุกคนเป็น จากวิถีประจำวันของแต่ละคน ไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็สามารถเปลี่ยนแปลงสังคม เปลี่ยนแปลงโลกได้ โดยมีเพื่อนที่ร่วมคิดดี ทำดี ไม่ทำอย่างโดดเดี่ยว ส่วนกิจกรรมของกลุ่มนั้นก็มีลักษณะสร้างสรรค์แบบคนรุ่นใหม่ เช่น เทศกาลไม่ซื้อ ตลาดนัดแบ่งปัน กิจกรรมทัวร์สโลดาวน์  เป็นต้น

ในส่วนของสัปดาห์ เปิดชีวิต ปิดทีวี เป็นกิจกรรมรณรงค์ประจำปี โดยจะกำหนดสัปดาห์สุดท้ายของเดือนเมษายนของทุกปี เป็นสัปดาห์ที่จะชักชวนให้คนในสังคมมาทดลองไม่ดูทีวี 7 วัน ปีนี้กำหนดตรงกับวันที่ 20 - 26 เมษายน 2552 เพื่อนำเวลาที่เคยดูทีวีไปค้นหากิจกรรมอื่นๆทำ เช่น ใช้เวลาว่างกับคนในครอบครัว อ่านหนังสือ ทำของใช้ และเพื่อปฏิเสธโฆษณาต่างๆที่ยัดเยียดให้เราบริโภคมากเกินจำเป็น   

 บรรยากาศในช่วงของสัปดาห์ปิดทีวีจะเป็นช่วงที่ผู้เข้าร่วมโครงการต้องปิดทีวีตลอด 24 ชั่วโมง ต่างคนต่างทำกันตามบ้าน อาศัยความซื้อสัตย์ต่อตัวเอง  และจะมารวมตัวกันในวันสุดท้ายของสัปดาห์ซึ่งเป็นการร่วมกันจัดงานภายในสวนสันติชัยปราการ ถนนพระอาทิตย์ มีการจัดบอร์ดนิทรรศการและมีกิจกรรมทางเลือกยามว่างให้ได้ทดลองทำกัน และมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้ร่วมโครงการถึงสิ่งที่ได้จากการปิดทีวีตลอดระยะเวลา 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา

เมื่อถามถึงเหตุผลที่ว่าทำไมต้องปิดทีวี? สำหรับเหตุผลส่วนหนึ่งที่ได้เกริ่นข้างต้นว่า ทีวีมีทั้งคุณและโทษ ทำให้มนุษย์เจ็บป่วยได้ เหตุผลอีกส่วนหนึ่งคือ ทีวีได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของเราไปแล้ว บางคนติดทีวี ต้องเปิดทิ้งเอาไว้โดยไม่ได้ดู แค่มีเสียงและภาพเคลื่อนไหวก็พอ ซึ่งถ้าเราลองหยุดทีวี แล้วนำช่วงเวลานั้นมาทำอะไรดีๆที่เป็นชิ้นเป็นอันสักอย่าง เช่น อ่านหนังสือที่เราตั้งใจจะอ่านแต่ยังไม่ได้อ่านสักที ซึ่งทางกลุ่มก็ได้เสนอทางเลือกในการทำกิจกรรมดีดีไว้ให้เป็นร้อยอย่าง ทั้งงานที่ทำได้ภายในบ้าน ไปจนถึงการช่วยเหลือสังคม เช่น เก็บล้างกระป๋องอลูมิเนียมแล้วส่งทำขาเทียม ไปอ่านหนังสือใส่เทปให้คนตาบอดที่สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ฯลฯ

สัปดาห์ปิดทีวีดูจะเป็นเรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย แต่ในต่างประเทศได้มีการรณรงค์และรวมกลุ่มกันปิดทีวีอย่างจริงจังมาก่อนหน้านี้หลายปีแล้ว ต้นตำรับความคิดคือองค์กรเอกชนไม่หวังผลกำไรชื่อ TV-Free America ซึ่งจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1994 เพื่อรณรงค์ให้ชาวอเมริกันลดการดูทีวีลงบ้าง สนับสนุนให้เกิดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ทั้งต่อร่างกาย จิตใจ และทำให้สายสัมพันธ์ของคนในครอบครัวและชุมชนเข้มแข็งขึ้น เมื่อบอกว่าต้องปิดทีวีเป็นสัปดาห์ หลายคนก็คงตั้งคำถามว่า ปิดวันเดียวไม่ได้หรือ ทาง TV-Free America ได้อธิบายว่าการปิดทีวีเต็ม 7 วันจะช่วยให้เรารู้ว่าการใช้ชีวิตโดยปราศจากทีวีนั้นไม่ได้เป็นเรื่องทุกข์ทรมาน และจะเป็นเรื่องสนุกด้วยซ้ำ การ อดทีวีหลายๆ วันจะช่วยให้มีเวลามากพอที่จะพัฒนานิสัยใหม่ๆได้ ขณะที่การปิดเพียงวันเดียวจะให้ผลน้อยเกินไป จนบางครั้งไม่ได้ให้ความรู้สึกที่แตกต่างจากวิถีเดิมเลย ซึ่งนั้นหมายถึงจะไม่ได้ตระหนักรู้สิ่งใหม่ด้วย

เป้าหมายของการรณรงค์ให้ปิดทีวีนั้น ไม่ได้เป็นการปิดเพื่อตัดสินคุณภาพของรายการทีวี แต่แค่ทำให้เรารู้จักเลือกให้เป็น และมุ่งไปที่การสร้างสรรค์ ค้นพบ ร่วมมือ และลงมือทำ  การใช้ชีวิตที่ปราศจากทีวี 7 วัน เราสามารถเรียนรู้การเปลี่ยนพฤติกรรมและนิสัยอย่างมากมาย และถ้าเราตัดสินใจที่จะกลับสู่ทีวีหลังจากนั้นเราก็จะสามารถวิเคราะห์วิจารณ์ทีวีได้มากขึ้น การปิดทีวี 7 วันคือหนทางของการเป็นคนวิพากษ์วิจารณ์สื่อได้ บางคนอาจรู้สึกว่าการหากิจกรรมทำทุกๆ คืนเป็นเรื่องผิดปกติ แต่เราสามารถค้นพบค้นหาดูกิจกรรมที่เหมาะกับเราได้ โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของการลองทำอะไรใหม่ๆ สนุก สร้างสรรค์

และสัมพันธ์กับคนอื่นๆ หรือถ้าคิดไม่ออกก็ลองอยู่กับความเบื่อดูบ้าง บางทีอะไรดีๆ ก็ผุดโผล่ออกมาจากความเบื่อหน่ายของเรานี่แหละ มีกิจกรรมมากมายที่ฟรี ง่าย และสนุก ทั้งทำเอง ทั้งที่มีองค์กรต่างๆ จัดกิจกรรมให้ ทั้งมหาวิทยาลัย มูลนิธิ ห้องสมุด กลุ่มสิ่งแวดล้อม กลุ่มเด็ก ฯลฯ อาจลองเปิดดูในนิตยสาร หากิจกรรมสร้างสรรค์กลางแจ้งมากมายที่ฟรีและดีต่อสุขภาพด้วยอย่างเช่นอีกหนึ่งกิจกรรมทางเลือกในสัปดาห์ปิดทีวีที่ได้รับความสนใจมากที่สุดในปีที่ผ่านมาคือ กิจกรรมการถ่ายภาพ

ท่านจันทร์ หรือ สมณะเพาะพุทธ จันทเสฏโฐ ภิกษุจากชุมชนสันติอโศก ซึ่งจัดรายการธรรมะทางทีวีถึงสามรายการแต่ได้เข้าร่วมปิดทีวี 7 วัน เมื่อปีที่แล้วท่านได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นไว้ในวงเสวนาว่า เมื่อคืนก่อนอาตมาได้ไปอยู่ในที่ที่ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีทีวี รู้สึกมีความสุขมาก ลึกๆชีวิตคนเราคงใฝ่หาสีดำของราตรี สีเขียวของแมกไม้ มนุษย์เราโดยธรรมชาติ ต้องการนั่งเหยียดขาบนหญ้าตอนเย็น อยู่อย่างง่ายๆ วาดภาพ วิ่งเล่น ทำกิจกรรมต่างๆ แค่นั้นเอง เป็นชีวิตแบบถูกๆง่ายๆ เชื่อว่าถ้าเรามีทางเลือกที่ดีกว่า มนุษย์จะไม่จมปลักกับบางอย่าง ถ้าเราจะปิดทีวี แนะนำว่าให้เราพึงเรียนรู้ความสุขที่ได้ อาจจะได้พบชีวิตที่อ่อนโยน ลองสบตากับราตรีบ้าง แรกๆจะอึดอัด แทบบ้า มันเป็นอาการของปลาที่ถูกจับโยนขึ้นบก แต่สักพักจะพบความสุขใหม่ทดแทน แล้วอาตมาเห็นด้วยที่ว่า เราต้องประกาศตัวด้วยว่าทำอะไร เพื่ออะไร

...อยากประหยัดไฟ  ไม่ชอบนักการเมือง ขัดเคืองโฆษณา อยากเอาเวลาไปทำอย่างอื่น อยากนอนตื่นเช้า อยากนั่งเหงาคนเดียวบ้าง อ่านหนังสือดีกว่า อยากเห็นหน้าครอบครัว กลัวลูกเลียนแบบการ์ตูน  สนับสนุนชีวิตอิสระ เบื่อละครเกะกะตา อยากเล่นกับหมาข้างบ้าน ไม่เชื่อรายงานข่าวบิดเบือน อยากเจอเพื่อนเก่า อยากเข้าวัด อยากจัดห้อง อยากลองอยู่เงียบๆ อยากทำข้าวเกรียบกินเอง อยากละเลงสีในกระดาษ ไม่อยากพลาดการสังสรรค์ อยากใส่ใจกับชีวิต อยากปิดทีวี... สถาบันต้นกล้าและกลุ่ม We Change กำลังเปิดรับอาสาสมัครและสมาชิกเข้าร่วมปิดทีวี เพื่อมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์และจัดกิจกรรมในสัปดาห์ เปิดชีวิต ปิดทีวี ครั้งที่ 3  อาสาสมัครและผู้สมัครสมาชิกจะได้รับสิทธิ เข้าอบรมเนื้อหางานรณรงค์และรู้ทันสื่อโฆษณา (21 มี.ค.) ฝึกรณรงค์สาธารณะชักชวนคนเข้าร่วมปิดทีวี (22 มี.ค.) และมาร่วมแบ่งปันไอเดียเพื่อจัดกิจกรรมปิดทีวีแบบสนุกๆ (29 มี.ค.) รวมทั้งได้รับสื่อรณรงค์ เช่น เสื้อยืด เข็มกลัด คู่มือ เพื่อนำไปบอกต่อคนรอบข้าง (ไม่เสียค่าใช้จ่ายตลอดกระบวนการ) สมัครได้ที่ www.wechange555.com อีเมล [email protected] หรือโทรสอบถาม.02-437-9445

หมายเลขบันทึก: 250813เขียนเมื่อ 25 มีนาคม 2009 17:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ที่ไม่พอ รบกวนดูรูปที่เหลืออีกไฟล์หนึ่งน่ะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท