เงินเพิ่มพิเศษนักกฎหมายภาครัฐ


เงินเพิ่มพิเศษ

เก็บมาฝากนักกฎหมายภาครัฐทุกท่าน

ความคืบหน้าการพิจารณากำหนดเงินเพิ่มพิเศษนักกฎหมายภาครัฐ

                  ตามที่สำนักงาน ก.พ. ได้จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การกำหนดเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ (ตำแหน่งนักกฎหมายภาครัฐ) เมื่อวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๕๑ ณ ห้องประชุม ๑ ชั้น ๒ สำนักงาน ก.พ. การประชุมดังกล่าว นางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ (ประธาน อ.ก.พ.วิสามัญเกี่ยวกับวินัยและการออกจากราชการ) เป็นประธานการสัมมนาฯ ได้กำหนดประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น ๕ ประเด็น กล่าวคือ

                   ๑. ตำแหน่งนิติกรควรได้รับเงินเพิ่มพิเศษหรือไม่

                   ๒. ลักษณะงานใดของนิติกรควรได้รับเงินเพิ่มพิเศษ

                   ๓. ตำแหน่งนิติกรระดับใดควรได้รับเงินเพิ่มพิเศษ

                   ๔. เงื่อนไขใดบ้างที่ควรให้นิติกรได้รับเงินเพิ่มพิเศษ

                   ๕. ควรกำหนดนิติกรที่ได้รับเงินเพิ่มพิเศษเป็นสายงานนักกฎหมายมหาชนภาครัฐ หรือไม่

                   จากการสัมมนามีการอภิปรายแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขว้าง จากการสัมมนาประธานได้สรุปผลการสัมมนาตามประเด็นที่กำหนด ดังนี้

                   ๑. เห็นควรให้นิติกรได้รับเงินเพิ่มฯ เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่ต้องใช้ความรู้ความชำนาญ ประสบการณ์สูง มีความขาดแคลน มีอัตราเข้าออกรุนแรง และมีความแตกต่างของอัตราค่าตอบแทน

                   ๒. นิติกรที่ทำงานทุกลักษณะงานควรได้รับเงินเพิ่มฯ (จากการสำรวจของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้สรุปว่า งานที่นิติกรต้องดำเนินการมี ๑๔ ลักษณะ รายละเอียดตามเอกสารแนบ ๑)

                   ๓. นิติกรที่จะได้รับเงินเพิ่ม จะเริ่มตั้งแต่ระดับ ๖ ถึงระดับ ๘ ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับการกำหนดระดับตามกฎหมายใหม่

                   ๔. เงื่อนไขการได้รับเงินเพิ่มฯ ประกอบด้วย

๔.๑ ดำรงตำแหน่งนิติกร

๔.๒ ผ่านการอบรม หลักสูตรนักกฎหมายภาครัฐ หรือหลักสูตรการดำเนินการทางวินัยฯ

๔.๓ ผ่านการประเมินฯ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สำนักงาน ก.พ. กำหนด

ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ดำรงตำแหน่งนิติกรเป็นผู้มีความรู้ความสามารถและปฏิบัติงานในหน้าที่นิติกรอย่างแท้จริง

                   ๕. ไม่ควรกำหนดให้ผู้ได้รับเงินเพิ่มฯ เป็นสายงานใหม่ คงเป็นสายงานนิติกรเช่นเดิม เพราะจะเกิดความยุ่งยากเนื่องจากการกำหนดสายงานใหม่จะต้องแก้ไขกฎหมายและมีกระบวนการขั้นตอนมาก

                   ที่สัมมนาฯ ได้มีความเห็นให้สำนักงาน ก.พ. ไปกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินฯ นิติกรที่จะได้รับเงินเพิ่มฯ

                   สำนักงาน ก.พ. โดยรองเลขาธิการฯ (นางเบญจวรรณฯ) ได้นัดให้ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้แทนกรมบัญชีกลาง ร่วมหารือหลักเกณฑ์และวิธีการดังกล่าว เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๕๑ เวลา ๑๔.๐๐ น. ณ ห้องประชุม ๔ สำนักงาน ก.พ. ในการหารือดังกล่าว  สำนักงาน ก.พ. เสนอว่า เพื่อให้เกิดมาตรฐานในวิชาชีพนักกฎหมายภาครัฐ ผู้ที่ดำรงตำแหน่งนิติกรจะมีสิทธิได้รับเงินเพิ่มจะต้องเป็นผู้ที่ปฏิบัติงานด้านกฎหมายมาแล้วไม่น้อยกว่า ๒ ปี ผ่านการอบรมหลักสูตรนักกฎหมายภาครัฐหรือหลักสูตรด้านวินัย อุทธรณ์ฯ และจะต้องทำการสอบผ่านความรู้ทั่วไปและเฉพาะตำแหน่งที่ดำเนินการโดยคณะกรรมการรับรองมาตรฐานวิชาชีพ   ซึ่งภายหลังจากการหารือแล้ว มีความเห็นตรงกันว่า  การประเมินฯ ผู้ที่มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มไม่ควรจะใช้วิธีการสอบ ควรเป็นการประเมินฯในภาคปฏิบัติว่าผู้ที่มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มนั้นได้ปฏิบัติงานด้านนิติกรจริงหรือไม่ โดยนิติกรระดับ ๖ และระดับ ๗ ให้หน่วยงานระดับกระทรวงฯ ตั้งคณะกรรมการประเมินประกอบด้วยที่ปรึกษากฎหมายประจำกระทรวงและผู้เชี่ยวชาญกฎหมายจากหน่วยงานกลาง(สำนักงาน ก.พ. และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา)ร่วมเป็นคณะกรรมการประเมิน ส่วนระดับ ๘ คณะกรรมการผู้ประเมินควรเป็นคณะกรรมการที่จัดตั้งโดยองค์กรกลาง (สำนักงาน ก.พ.)  และในการหารือดังกล่าวได้หารือถึงกระบวนการขั้นตอนในการออกประกาศฯ เงินเพิ่ม จำเป็นต้องขอความเห็นจากคณะรัฐมนตรีหรือไม่  เรื่องนี้ผู้แทนกรมบัญชีกลางได้ให้ความเห็นว่า สำนักงาน ก.พ. สามารถดำเนินการได้ทันทีไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอีก  ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการกำหนดเงินเพิ่มในตำแหน่งอื่นที่เคยปฏิบัติมาแล้ว ทั้งนี้ หากมีความคืบหน้าประการใด กระผมจักได้รายงานให้ทราบต่อไป

ที่มา : ชมรมนักกฎหมายภาครัฐ   http://www.thaigovlawyer.com/News/docment04032551.doc.

เรื่อง  ความคืบหน้าเงินเพิ่มพิเศษนักกฎหมายภาครัฐ (๒)

 

                ตามที่ได้แจ้งความคืบหน้าการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องการเพิ่มเงินพิเศษให้แก่นักกฎหมายภาครัฐ เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๕๑ ไปแล้วนั้น ภายหลังจากการสัมมนาฯ สำนักงาน ก.พ.ได้เรียนเชิญผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมหารือเพื่อกำหนดเงื่อนไขการที่นิติกรจะมีสิทธิรับเงินเพิ่มพิเศษอีก ๒ ครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ ที่สำนักงาน ก.พ.   การหารือครั้งนี้ได้เชิญผู้แทนสำนักงบประมาณเข้าหารือด้วย ในการหารือครั้งนี้ผู้แทนสำนักงบประมาณได้มีข้อสังเกตหลายข้อซึ่งเป็นแนวทางที่ดีในการพัฒนาข้าราชการทั้งระบบ  และในท้ายที่สุดผู้แทนสำนักงบประมาณก็เห็นด้วยที่จะกำหนดเงินเพิ่มพิเศษแก่นักกฎหมายภาครัฐ ตามเงื่อนไข ๓ ประการ กล่าวคือ ๑) ดำรงตำแหน่งนิติกร ๒) ผ่านการอบรมนักกฎหมายภาครัฐ  และ๓)ประเมินการปฏิบัติหน้าที่ด้านกฎหมายอย่างแท้จริง(๑๔ ลักษณะงานด้านกฎหมายรายละเอียดอ่านในเอกสารการสัมมนาฯ)

                หลังจากที่หารือผู้แทนสำนักงาน ก.พ.จะได้นำเรื่องนี้เข้าประชุมอนุกรรมการ ก.พ. เพื่อประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการและจำนวนเงินเพิ่มพิเศษ ซึ่งแจ้งว่าจะนำเข้าในการประชุมอนุกรรมการฯ ครั้งต่อไป

                ข่าวในเรื่องนี้หวังว่าจะทำให้สมาชิกทุกท่านมีความหวังอยู่บ้าง เงินเพิ่มจำนวนมากน้อยไม่น่าจะสำคัญไปกว่าการให้ความสำคัญแก่นักกฎหมายภาครัฐ จริงหรือไม่

                หากสมาชิกมีความเห็นอย่างไร่ช่วยแสดงความคิดเห็นด้วย จะเป็นพระคุณยิ่ง

ที่มา : ชมรมนักกฎหมายภาครัฐ      http://www.thaigovlawyer.com                  


 

หมายเลขบันทึก: 250684เขียนเมื่อ 25 มีนาคม 2009 09:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 09:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท