ถ้าเราไม่รู้แจ้งธรรมแห่งโสดาบันอย่างถ่องแท้ เมื่อแสดงธรรมไปจะบาปใหม?


 

 

ปุจฉา...?

อยากรู้ว่า ถ้าเราไม่รู้แจ้งธรรมแห่งโสดาบันอย่างถ่องแท้ เมื่อแสดงธรรมไปจะบาปใหม?

สวัสดีครับ ต้องการรู้ว่า ถ้าเราไม่รู้แจ้งในธรรมแห่งมรรคผล นิพพาน อย่างแท้จริง เพียงแค่รู้ผิวเผินเท่านั้น แต่เรายังฝืนแสดงธรรมเหล่านั้นไป อยากรู้จังว่าจะเป็นบาป ในการบิดเบือนพระธรรมหรือไม่ หากธรรมที่เราแสดงเป็นความเห็นผิด แต่เราสำคัญว่า เป็นความเห็นชอบ อย่างนี้จะบาปใหม?
อะไรคือ เครื่องการันตีว่า เราสมควรแสดงธรรมนั้น อันเกินวิสัยแห่งตัวเราเอง

อยากรู้จังครับ เพราะผมกลัวบาปมาก


 

วิสัชนา...

ขอบพระคุณสำหรับคำถามที่ทรงคุณค่ายิ่ง ซึ่งคำตอบนั้นเราเองขอยกพุทธวัจนะของพระพุทธองค์ขึ้นมาเพื่อไขความดังต่อไปนี้...

ดูก่อนอานนท์...
บุคคลผู้ไม่รู้ ไม่แจ้ง ไม่เข้าใจในพระนิพพาน ไม่ควรจะสั่งสอนพระนิพพานแก่ท่านผู้อื่น ถ้าขืนสั่งสอนก็จะพาท่านหลงหนทาง “จักเป็นบาปเป็นกรรมแก่ตน...”
ควรจะสั่งสอนแต่เพียงครองแห่งทาง มนุษย์สุขคติ สวรรค์สุขคติ
เป็นต้นว่า สอนให้รู้จักทาน ให้รู้จักศีลห้า ศีลแปด ให้รู้ครองแห่งกุศลกรรมบท ให้รู้จักปฏิบัติมารดา บิดา ให้รู้จักอุปัชฌาย์อาจารย์ ให้รู้จักก่อสร้างบุญกุศลต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ตนแลผู้อื่น
เพียงเท่านี้ก็อาจจะได้มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติพอสมควรอยู่แล้ว

ส่วนความสุขในโลกุตระนิพพานนั้น ผู้ใดต้องการจริงต้องรักษาศีลห้า ศีลสิบ ศีลพระปาฏิโมกข์เสียก่อน จึงชื่อว่าเข้าใกล้ทาง มีโอกาสที่จะได้ถึงโลกุตระนิพพานโดยแท้
แม้ผู้จักเจริญครองพระนิพพานนั้น ก็ให้รู้จักท่านผู้เป็นครูว่ารู้ แจ้งทางพระนิพพานจริง จึงไปอยู่เล่าเรียน
ถ้าไปอยู่เล่าเรียนในสำนักของท่านผู้ไม่รู้ไม่แจ้ง ก็จักไม่สำเร็จโลกุตระนิพพานได้
เพราะว่าครองแห่งโลกุตระนิพพานนี้เล่าเรียนได้ด้วยยากยิ่งนัก ด้วยเหตุสัตว์ยินดีอยู่ในกามคุณ อันเป็นข้าศึกแก่พระนิพพานโดยมาก...

ดูก่อนอานนท์...
อันว่าบุคคลทั้งหลายผู้ปรารถนาซึ่งพระนิพพาน ควรแสวงหาซึ่งครูที่ดี ที่อยู่เป็นสุขสำราญ มิได้ประมาท เพราะพระนิพพานไม่เหมือนของสิ่งอื่น
อันของสิ่งอื่นนั้นเมื่อผิดไปแล้วก็มีทางแก้ตัวได้ หรือไม่สู้เป็นอะไรนัก เพราะไม่ละเอียดสุขุมมาก
ส่วนพระนิพพานนี้ละเอียดสุขุมที่สุด ถ้าผิดแล้ว ก็เป็นเหตุให้ได้รับความทุกข์เป็นหนักหนา ทำให้หลงโลก หลงทาง ห่างจากความสุข ทำให้เสียประโยชน์เพราะอาจารย์
 
ถ้าให้ได้อาจารย์ที่ถูก ที่ดี ก็จะได้รับผลที่ถูก ที่ดี
ถ้าได้อาจารย์ที่ไม่รู้ ไม่ดี ไม่ถูก ไม่ต้อง ก็จักได้รับผลที่ผิด เป็นทุกข์ พาให้หลงโลก หลงทาง พาให้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวังวนแห่งวัฏสงสารสิ้นกาลนาน...

เปรียบเหมือนผู้ที่จะพาเราไปในตำบลใดตำบลหนึ่ง แต่ผู้นั้นไม่รู้จักตำบลนั้น แม้เราเองก็ไม่รู้ เมื่อกระนั้น ไฉนเขาจึงจะพาเราไปถึงตำบลนั้นได้เล่า
อุปมานี้ฉันใด อาจารย์ผู้ไม่รู้พระนิพพาน และจะพาเราไปพระนิพพานนั้น ก็จะพาเราให้หลงโลก หลงทาง ไป ๆ มา ๆ ตาย ๆ เกิด ๆ อยู่ในวังวนแห่งวัฏสงสาร ไม่อาจจะถึงพระนิพพานได้
“เหมือนคนที่ไม่รู้จักตำบลที่จะไป แล้วเป็นผู้พาไปก็ไม่อาจจะถึงได้ มีอุปมัยฉะนั้น”

ผู้คบครูอาจารย์ที่ไม่รู้ดี แลได้ผลที่ไม่ดี มีในโลกนี้มิใช่น้อย
เหมือนดั่งพระองคุลีมารเถระ ไปเรียนวิชาในสำนักครูผู้มีทิฏฐิอันผิด ได้รับผลที่ผิด คือ เป็นมหาโจรฆ่าคนล้มตายเสียนับด้วยพัน
หากเราตถาคตรู้เห็นมีความสงสารเวทนา มาข้องในข่ายสยัมภูญาณ จึงได้ไปโปรด ทรมานให้ละเสียซึ่งพยศอันร้าย เป็นการลำบากมิใช่น้อย
ถ้าไม่ได้ตถาคตแล้ว พระองคุลีมาร ก็จะได้เสวยทุกข์อยู่ในวัฏสงสารสิ้นชาติเป็นอันมาก...

ดูก่อนอานนท์...
บุคคลผู้ไม่รู้พระนิพพาน ไม่ควรเป็นครูสั่งสอนท่านผู้อื่นในทางพระนิพพานเลย
ตั่งว่า...จะสั่งสอนเค้า จะสั่งสอนว่าอะไร เพราะตัวไม่รู้
เปรียบเหมือนบุคคลไม่เคยเป็นช่างวาด ช่างเขียน หรือช่างต่าง ๆ มาก่อนแล้ว แล้วอยากจะเป็นครูสั่งสอนเค้า จะบอกแก่เค้าว่ากะไร เพราะตัวเองก็ไม่รู้ ไม่เข้าใจ จะเอาอะไรไปบอกไปสอนเค้า
จะเอาแต่คำพูดเป็นครู ทำตัวอย่างให้เค้าเห็นเช่นนั้นไม่ได้
จะให้เค้าเล่าเรียนอย่างไร เพราะไม่มีตัวอย่างให้เค้าเห็นด้วยตา ให้รู้ด้วยใจ เขาจะทำตามอย่างไรได้
ตัวผู้เป็นครูนั้นแลต้องทำก่อน ถ้าทำไม่ได้ก็ไม่ควรเป็นครูสอนเค้า ถ้าขืนเป็นครูก็จะพาเค้าหลงโลก หลงทาง เป็นบาปเป็นกรรมแก่ตัวหนักหนาทีเดียว
พระพุทธเจ้าตรัสแก่ข้าอานนท์ดังนี้แล...

ดูก่อนอานนท์...
อันว่าบุคคลผู้จักสอนพระนิพพานนั้น... ต้องให้รู้แจ้งประประจักษ์ว่า พระนิพพานอยู่ในที่นั้น ๆ มีลักษณะอาการอย่างนั้น ๆ ต้องรู้ให้แจ้งชัด จะกล่าวแต่เพียงวาจาว่านิพพาน นิพพาน ด้วยปาก แต่ใจไม่รู้แจ้งชัดเช่นนั้น ไม่ควรเชื่อถือเลย
ต้องให้รู้แจ้งชัดเจนในใจเสียก่อน จึงควรเป็นครู เป็นอาจารย์สอนท่านผู้อื่นได้ต่อไป
จะเป็นเด็กก็ตาม ผู้ใหญ่ก็ตาม ถ้ารู้แจ้งชัดซึ่งพระนิพพานแล้ว ก็ควรเป็นครู เป็นอาจารย์ และควรนับถือเป็นครู เป็นอาจารย์ได้
แม้จะเป็นผู้ใหญ่สูงศักดิ์สักปานใดก็ตาม ถ้าไม่รู้ ไม่เข้าใจแล้ว ไม่ควรนับถือเป็นครู เป็นอาจารย์เลย

ดูก่อนอานนท์...
ถ้าอยากได้สุขอันใดก็ควรรู้จักสุขอันนั้นก่อน จึงจะได้
เมื่ออยากได้สุขในพระนิพพาน ก็ควรรู้จักสุขในพระนิพพาน
อยากได้สุขในมนุษย์แลสวรรค์ ก็ให้รู้จักสุขในมนุษย์แลสวรรค์นั้นเสียก่อน จึงจะได้
ถ้าไม่รู้จักสุขอันใด ก็ไม่อาจยังความสุขอันนั้นให้เกิดขึ้นได้
ไม่เหมือนทุกข์ในนรก อันทุกข์ในนรกนั้นจะรู้ก็ตาม ไม่รู้ก็ตาม ถ้าทำกรรมที่เป็นบาปแล้ว ผู้ที่รู้ หรือผู้ที่ไม่รู้ก็ตกนรกเหมือนกัน

ถ้าไม่รู้จักนรก ก็ยิ่งไม่มีเวลาที่จะพ้นจากนรกได้
ถึงจะทำบุญให้ทานสักปานใด ก็ไม่อาจจะพ้นจากนรกได้
แต่มิใช่ว่าทำบุญให้ทาน มิได้บุญ
ความสุขที่แต่การทำบุญนั้นมีอยู่ แต่ว่าเป็นความสุขที่ยังไม่พ้นจากทุกข์ในนรก
เมื่อยังไม่รู้ ไม่เห็นนรกตราบใด ก็ยังไม่พ้นจากนรกอยู่ตราบนั้น

ครั้นได้เข้าถึงนรกแล้ว เมื่อได้รู้ทางออกจากนรกได้แล้ว ปรารถนาจักพ้นจากนรกก็พ้นได้ เมื่อไม่อยากพ้นก็ไม่อาจพ้นได้
ต้องรู้จัก แจ้งชัดว่า นรกอยู่ในที่นั้น ๆ มีลักษณะอาการอย่างนั้น ๆ และควรจะรู้จักทางออกจากนรกให้แจ้งชัด

ทางออกจากนรกนั้นคือ ศีลห้า ศีลสิบ ศีลพระปาฏิโมกข์นั้นเอง
เมื่อรู้แล้วอยากจะออกให้พ้นก็ออกได้ ไม่อยากจะออกให้พ้นก็พ้นไม่ได้
ผู้ที่รู้กับผู้ที่ไม่รู้  ย่อมได้รับทุกข์ในนรกเหมือนกัน
ส่วนความสุขในมนุษย์ แลสวรรค์ แลพระนิพพานนั้น ต้องรู้จักจึงจะได้
ถ้าไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่ได้เลย มีอาการต่างกันดังนี้...

ดูก่อนอานนท์...
เมื่ออยากรู้จักนรก แลสวรรค์ แลพระนิพพาน ก็ควรให้รู้เสียในเวลาก่อนที่ยังมีชีวิตอยู่
เมื่ออยากพ้นทุกข์ในนรก ก็รีบออกให้พ้นเสียตั้งแต่ยังไม่ตาย
เมื่ออยากได้สุขในมนุษย์ หรือในสวรรค์ หรือในนิพพาน ก็รีบขวนขวายหาความสุขเหล่านั้นไว้แต่เมื่อยังไม่ตาย
จะถือว่าตายแล้วจึงจะพ้นทุกข์ในนรก ตายแล้วจึงจะไปสวรรค์ ไปพระนิพพานดั่งนี้ เป็นอันใช้ไม่ได้ เสียประโยชน์เปล่า

อย่าเข้าใจว่าเมื่อมีชีวิตอยู่สุขอย่างหนึ่ง เมื่อตายไปแล้วมีสุขอีกอย่างหนึ่ง เช่นนี้เป็นความที่เข้าใจผิดโดยแท้ เพราะจิตมีดวงเดียว เมื่อมีชีวิตอยู่ก็จิตดวงนี้ เมื่อตายไปแล้วก็จิตดวงนี้

เมื่อยังมีชีวิตอยู่ได้รับทุกข์ฉันใด แม้นเมื่อตายไปแล้วก็ได้รับทุกข์ฉันนั้น
เมื่อยังมีชีวิตอยู่มีความสุขฉันใด เมื่อตายไปแล้วก็ได้รับความสุขฉันนั้น ไม่ต้องสงสัย

เมื่อยังมีชีวิตอยู่ ยังไม่รู้ ไม่เห็นซึ่งความทุกข์และความสุขมีสภาวะปานดังนี้ เมื่อตายไปแล้วยิ่งจักซ้ำร้าย จักมีทางรู้ทางเห็นด้วยอาการอย่างไร
พระพุทธเจ้าได้ตรัสเทศนาแก่ข้าอานนท์ด้วยประการดังนี้... (คิริมานนทสูตร)


หมายเลขบันทึก: 250659เขียนเมื่อ 25 มีนาคม 2009 07:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท