การศึกษาพหุวัฒนธรรมในประเทศไทย: สถานการณ์และความเป็นไปได้[1]


ในห้วงเวลานั้น อุดมการณ์แห่งการผสมกลมกลืนได้ถูกสะท้อนออกมาในบทละครเรื่อง “หม้อหลอมรวม” (The Melting Pot[2]) ละครประสบความสำเร็จจากการพยายามสร้างภาพของแผ่นดินที่มีผู้คนหลากหลายเผ่าพันธุ์มาผสมผสานกันกลายเป็นคนใหม่ที่มีความยิ่งใหญ่กว่าคนอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือ วัฒนธรรมแองโกล-แซ็กซอนเป็นผู้ครอบงำ ส่วนวัฒนธรรมของผู้อพยพอื่น ๆ กลับนอนอยู่ก้นหม้อนั้นเอง กล่าวอีกนัยหนึ่งคือบรรดาผู้คนในวัฒนธรรมอื่น ๆ ต่างถูกบีบให้คิดและทำตามแบบวัฒนธรรมของแองโกล-แซ็กซอนนั่นเอง (Banks, เพิ่งอ้าง,: 4, อ้างจาก Jones, 1960)

การศึกษาพหุวัฒนธรรมในประเทศไทย: สถานการณ์และความเป็นไปได้[1]

(Multicultural Education in Thailand: Situation and Prospect)

 

โดย ชูพินิจ เกษมณี

ภาควิชาพื้นฐานของการศึกษา

คณะศึกษาศาสตร์

มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

3 กันยายน 2547

 

ความสำคัญของปัญหา

            ประวัติศาสตร์ของประเทศในภูมิภาคเอเชียนี้สะท้อนให้เห็นความหลากหลายทางชาติพันธุ์มาโดยตลอด อันเป็นลักษณะของสังคมที่เรียกว่า สังคมพหุวัฒนธรรม (Multicultural Society) ประเทศไทยเองได้แสดงให้เห็นลักษณะร่วมดังกล่าวนี้ด้วย โดยที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลายอาศัยอยู่ในอาณาเขตของประเทศไทยในปัจจุบัน มีผู้รายงานว่า มีกลุ่มภาษาต่าง ๆ ไม่น้อยกว่า 62 กลุ่มกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศไทย (สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ, 2544: 14-23)

            นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ประเทศไทย ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบหัวเมืองชั้นนอก-ชั้นใน มาเป็นการบริหารแบบรวมศูนย์มากขึ้น โดยการส่งเทศาภิบาลจากศูนย์อำนาจส่วนกลางไปยังหัวเมืองต่าง ๆ เพื่อทำหน้าที่ปกครองแทนเจ้าผู้ครองนคร ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตยนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นเวลาที่กระแสลัทธิชาตินิยมได้แพร่หลายไปทั่วโลก ประเทศไทยเองได้ตกอยู่ใต้อิทธิพลของลัทธิชาตินิยมนี้ด้วยเช่นกัน การเปลี่ยนชื่อประเทศจาก สยาม มาเป็น ประเทศไทย นับได้ว่าเป็นผลส่วนหนึ่งของกระแสความคิดดังกล่าว นับจากนั้นมา รัฐได้พยายามสร้างเอกลักษณ์ของความเป็นไทยโดยวิธีการต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่ความเป็นปึกแผ่นแห่งชาติ (National Solidarity) จึงกล่าวได้ว่า ประเทศไทยมีนโยบายในการสร้างชาติไปสู่การมีลักษณะเป็นสังคมเดี่ยว (Homogeneous Society)

            ด้วยเหตุนี้ การศึกษาของไทยจึงถูกกำหนดให้สอดคล้องไปกับแนวนโยบายแห่งชาติดังกล่าว โดยการประกาศใช้หลักสูตรเชิงเดี่ยว (Monolithic Curriculum) มาโดยตลอด รวมทั้งการบังคับใช้ภาษาสำเนียงกรุงเทพฯเป็นภาษาบังคับในชั้นเรียนในทุกภาคทั่วประเทศไทย ดังนั้น การจัดการศึกษาส่วนใหญ่จึงเป็นการเตรียมคนเข้าสู่วัฒนธรรมกระแสหลัก (Mainstream Culture) ได้แก่ การเรียนรู้วัฒนธรรม ประเพณีไทยและภาษาไทย รวมทั้งความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับโลกภายนอก โดยเฉพาะในด้านการเตรียมตัวเพื่อใช้ชีวิตอยู่ในภาคเมือง

            อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์ในการพัฒนาประเทศที่ประเทศไทยเดินตามหลังสังคมตะวันตกมาโดยตลอดด้วยความมุ่งหวังว่าจะพัฒนาประเทศไปสู่ความเป็นสังคมอุตสาหกรรม ทำให้สังคมไทยเปิดรับวัฒนธรรมแบบตะวันตกในทุก ๆ ด้านเข้ามาอย่างไม่มีการเลือกสรรและไม่มีวิจารณญาณ ดังนั้น จึงเกิดปรากฏการณ์ที่ในด้านหนึ่งสังคมมีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมากมาย ชีวิตมีความสะดวกสบายมากขึ้นจากการนำเข้าเทคโนโลยีใหม่ ๆ จากภายนอก ซึ่งรวมทั้งการรับเอาแบบแผนการจัดการศึกษาจากตะวันตกเข้ามาทั้งกระบวน แต่ในอีกด้านหนึ่ง กลับทอดทิ้งคุณค่าของการเป็นสังคมแบบจารีตประเพณี ซึ่งผูกพันกับการเป็นสังคมเกษตรอย่างสิ้นเชิง

ด้วยเหตุนี้ การศึกษาไทยที่ผ่านมาจึงมิได้มุ่งผลิตเกษตรกรที่มีความสามารถแต่อย่างใด ยิ่งไปกว่านั้น ความล้มเหลวของการพัฒนาเศรษฐกิจที่เน้นภาคธุรกิจ-อุตสาหกรรมในช่วงปี พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา ได้สะท้อนให้เห็นความผิดพลาดอย่างสำคัญของแนวทางในการพัฒนาประเทศที่ผ่านมา สภาพปัจจุบันที่ผู้คนในสังคมไทยหันไปหลงใหลวัฒนธรรมตะวันตกโดยขาดวิจารณญาณ ขาดการเลือกสรรกลั่นกรอง ทำให้สังคมไทยตกอยู่ใต้อิทธิพลของลัทธิทุนนิยม วัตถุนิยม และบริโภคนิยม พร้อมไปกับการละเลยคุณค่าตามวัฒนธรรมประเพณีเดิม สังคมไทยในปัจจุบันจึงเต็มไปด้วยปัญหานานาประการ ได้แก่ การขยายช่องว่างทางสังคม-เศรษฐกิจ ความลำเอียงของสังคมเมือง (Urban Bias) การทำลายทรัพยากรธรรมชาติ การเสื่อมโทรมของสังคมเกษตรกรรม การไหลบ่าของแรงงานชนบทเข้าสู่เมือง ความอ่อนแอของสถาบันครอบครัว การเอารัดเอาเปรียบกันในสังคม และปัญหามลภาวะต่าง ๆ รวมทั้งปัญหาสังคมอื่น ๆ ที่สังคมไทยกำลังประสบอยู่ทุกวันนี้

 

ความมุ่งหมายของบทความ

            บทความนี้มีความมุ่งหมายที่สำคัญอยู่ 3 ประการคือ ประการแรก เพื่อทบทวนพัฒนาการของความคิดในด้าน การศึกษาพหุวัฒนธรรม (Multicultural Education) ว่ามีที่มาอย่างไรและภายใต้เงื่อนไขอะไรบ้าง ประการที่สอง เพื่อศึกษาความพยายามในการจัดการศึกษาในแนวทางของการศึกษาพหุวัฒนธรรมในประเทศไทย โดยใช้กรณีศึกษาเฉพาะพื้นที่ที่ได้มีการสรุปบทเรียนมาบ้างแล้ว ซึ่งในที่นี้ได้ใช้กรณีศึกษาของกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง (Ethnic Highlanders) ประการที่สาม เพื่อให้ข้อเสนอแนะแนวทางเบื้องต้นในการพัฒนาการศึกษาพหุวัฒนธรรมทั้งในระดับนโยบายและการปฏิบัติ

 

ความเป็นมาของการศึกษาพหุวัฒนธรรม

            คำว่า การศึกษาพหุวัฒนธรรม (Multicultural Education) และคำว่า การศึกษาพหุชาติพันธุ์ (Multiethnic Education) เกิดขึ้นในช่วงตั้งแต่ ค.ศ. 1960 กว่า ในแถบทวีปอเมริกาเหนือ อันเป็นผลมาจากขบวนการเรียกร้องสิทธิพลเมืองในสหรัฐอเมริกาเพื่อมุ่งขจัดการเลือกปฏิบัติในด้านที่อยู่อาศัย อาชีพ และการศึกษา ดังนั้น เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างชัดเจน จึงควรศึกษาถึงพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น

            ในช่วงปี ค.ศ. 1700 กว่า ๆ ผู้อพยพชาวอังกฤษได้กลายเป็นกลุ่มครอบงำในทวีปอเมริกาเหนือแล้ว จนถึงก่อนหน้าปี ค.ศ. 1890 มีผู้อพยพส่วนใหญ่มาจากทั้งยุโรปเหนือและยุโรปตะวันตก เช่น จากประเทศสหราชอาณาจักร เยอรมัน กลุ่มสแกนดิเนเวีย และสวิตเซอร์แลนด์ และเมื่อใกล้จะเข้าสู่คริสตศตวรรษที่ 20 มีคลื่นผู้อพยพรุ่นใหม่มายังสหรัฐอเมริกาจากทวีปยุโรปตอนใต้ ตอนกลาง และภาคตะวันออก กลุ่มผู้อพยพเก่าเริ่มมองเห็นตนเองเป็น ผู้อพยพเก่า และพวกผู้มาใหม่เป็น ผู้อพยพใหม่ จึงทำให้เกิดขบวนการ เจ้าถิ่นนิยม (Nativism) ขึ้นเพื่อหยุดยั้งการไหลบ่าเข้าของ ผู้อพยพใหม่ ซึ่งมีความแตกต่างกันในทางศาสนาด้วย กล่าวคือ กลุ่มเก่านับถือนิกายโปรเตสแตนท์ ในขณะที่กลุ่มใหม่นับถือนิกายคาธอลิค ขบวนการดังกล่าวจึงมีส่วนผสมของการต่อต้านคาธอลิคนิยมอยู่ด้วย ความหวาดระแวงและไม่ไว้วางใจผู้อพยพใหม่ได้แพร่ระบาดออกไปอย่างกว้างขวางในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี ค.ศ. 1914 จนถึงขั้นที่กลุ่มเจ้าถิ่นประกาศว่าอเมริกาเป็นของ คนอเมริกันแท้ เท่านั้น โรงเรียน วิทยาลัย และมหาวิทยาลัยล้วนถูกครอบงำด้วยกระแสอเมริกันนิยมอย่างมาก จนแม้ภาษาอื่น ๆ ยังไม่อนุญาตให้สอนในโรงเรียน (Banks, 1981: 3)

            ในห้วงเวลานั้น อุดมการณ์แห่งการผสมกลมกลืนได้ถูกสะท้อนออกมาในบทละครเรื่อง หม้อหลอมรวม (The Melting Pot[2]) ละครประสบความสำเร็จจากการพยายามสร้างภาพของแผ่นดินที่มีผู้คนหลากหลายเผ่าพันธุ์มาผสมผสานกันกลายเป็นคนใหม่ที่มีความยิ่งใหญ่กว่าคนอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือ วัฒนธรรมแองโกล-แซ็กซอนเป็นผู้ครอบงำ ส่วนวัฒนธรรมของผู้อพยพอื่น ๆ กลับนอนอยู่ก้นหม้อนั้นเอง กล่าวอีกนัยหนึ่งคือบรรดาผู้คนในวัฒนธรรมอื่น ๆ ต่างถูกบีบให้คิดและทำตามแบบวัฒนธรรมของแองโกล-แซ็กซอนนั่นเอง (Banks, เพิ่งอ้าง,: 4, อ้างจาก Jones, 1960)

            ในช่วงต้น ๆ คริสตศตวรรษที่ 20 มีนักคิดและนักเขียนบางคนที่พยายามปกป้องสิทธิของบรรดาผู้อพยพในสหรัฐอเมริกา พวกเขาปฏิเสธอุดมการณ์แห่งการผสมกลมกลืน โดยให้เหตุผลว่าประชาธิปไตยทางการเมืองย่อมหมายถึงประชาธิปไตยทางวัฒนธรรมด้วย คนกลุ่มต่างๆ ย่อมมีสิทธิรักษาวัฒนธรรมแห่งตนไว้ด้วยเหมือนกัน นักคิดกลุ่มนี้ใช้ ชามสลัด (Salad Bowl) อธิบายถึงลักษณะเด่นเฉพาะทางวัฒนธรรมของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ในสังคมอเมริกัน แต่ต่างก็มีส่วนเสริมสร้างสังคมโดยรวมด้วยกัน พวกเขาใช้คำว่า พหุนิยมทางวัฒนธรรม (Cultural Pluralism) และเห็นว่าพึงใช้เป็นเครื่องชี้นำนโยบายสาธารณะและการศึกษา กระนั้น ในห้วงเวลานั้น แนวคิดของพวกเขาก็ยังมิได้รับการขานรับจากผู้บริหารและผู้กำหนดนโยบายแต่อย่างไร เพราะพวกเหล่านั้นคิดว่าจะต้องทำให้ประชาชาติที่มีภูมิหลังแตกต่างกันกลายเป็นหนึ่งเดียวกันเพื่อความเป็นปึกแผ่น แม้ในช่วงทศวรรษ 1960 และ 1970 ซึ่งเกิดขบวนการพลิกฟื้นทางชาติพันธุ์ก็ตาม ยังไม่มีนโยบายหรือแผนงานใด ๆ ที่ขานรับทันทีในเรื่องการศึกษาของกลุ่มชาติพันธุ์เลย แต่กลับค่อย ๆ พัฒนาขึ้นทีละน้อยและกินเวลายาวนาน (Banks, เพิ่งอ้าง,: 5-6)

            ในช่วงประมาณปี ค.ศ. 1940 เป็นต้นมา ปัญหาความขัดแย้งทางเชื้อชาติเกิดขึ้นหลายครั้งในสหรัฐอเมริกาถึงขั้นจราจล ความเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้กระตุ้นให้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวด้านหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ ซึ่งต่อมาเรียกกันว่า การศึกษาระหว่างวัฒนธรรม (Intercultural Education) หรือ การศึกษาระหว่างกลุ่ม (Intergroup Education) โดยมีเป้าหมายเพื่อลดอคติและความเข้าใจผิดต่าง ๆ จากข้อสรุปล่วงหน้าสำคัญที่ว่าความรู้ที่เป็นข้อเท็จจริงจะทำให้เกิดความเคารพและการยอมรับกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลายเหล่านี้ได้ จึงเกิดโครงการ การศึกษาระหว่างกลุ่มในโรงเรียนที่ให้ความร่วมมือ ทั้งในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา และยังสนับสนุนสถาบันผลิตครูให้เข้าร่วมโครงการ การศึกษาระดับวิทยาลัยในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่ม ซึ่งถือเป็นความพยายามครั้งแรกของความร่วมมือระหว่างสถาบันผลิตครูในการพัฒนาครูในเรื่องนี้ (เพิ่งอ้าง,: 8-9) อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปการศึกษาในแนวการศึกษาระหว่างกลุ่มนี้ประสบความล้มเหลวในการสถาปนาให้เป็นสถาบัน

            แต่เมื่อพ้นทศวรรษ 1950 เข้าสู่ทศวรรษ 1960 นโยบายการผสมกลมกลืนได้กลับมามีอิทธิพลอีกครั้งหนึ่งบนฐานความคิดว่า ความสัมพันธ์ทางเชื้อชาติจะต้องผ่านขั้นตอนต่าง ๆ ได้แก่ การติดต่อ (Contact) ความขัดแย้ง (Conflict) การปรับปรน (Accommodation) และการผสมกลมกลืน (Assimilation) ถึงแม้คนผิวขาว จะชื่นชมแนวนโยบายผสมกลมกลืนนี้ แต่กลุ่มคนผิวสีกลับมิได้รู้สึกอย่างเดียวกัน เพราะการเป็นกลุ่มสังคมที่ด้อยกว่า มักจะถูกทำให้จำต้องละทิ้งวัฒนธรรมของกลุ่มตนจากอิทธิพลของวัฒนธรรมที่ครอบงำในสังคมใหญ่ อันที่จริง นโยบายผสมกลมกลืนเองเป็นสาเหตุสำคัญที่ผลักดันให้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมืองของคนผิวดำขึ้นเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติทางด้านอาชีพ ที่อยู่อาศัย และการศึกษา คนผิวดำได้เรียกร้องการเข้าควบคุมสถาบันต่าง ๆ ในชุมชนของตนรวมทั้งด้านการศึกษาด้วย พวกเขาเรียกร้องให้มีครูและผู้บริหารผิวดำมากขึ้นสำหรับลูกหลานของตน ตำราเรียนที่สะท้อนวัฒนธรรมของคนผิวดำ และโรงอาหารที่มีอาหารเหมือนที่บ้าน สถาบันการศึกษาระดับต่างๆ เริ่มสนองตอบต่อความต้องการของคนผิวดำ และนำไปสู่การเรียกร้องของกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ในสังคม เนื่องจากในขบวนการต่อสู้นี้ หลายคนได้หันไปใช้แนวคิด พหุนิยมทางวัฒนธรรม ซึ่งได้เกิดขึ้นในช่วงที่กำลังเปลี่ยนเข้าสู่ศตวรรษใหม่ ดังนั้น ขบวนการเคลื่อนไหวนี้จึงรู้จักกันในชื่อ พหุนิยมใหม่ (เพิ่งอ้าง,: 13-14)

            จากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา มีบทสรุปบางประการที่น่าจะนำมาเป็นข้อพิจารณาในการใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือสร้างการยอมรับความแตกต่างทางวัฒนธรรมและนำไปสู่การเคารพในสิทธิของความแตกต่างทางวัฒนธรรมเหล่านั้น ได้ดังนี้:

Ø ความคิดที่จะสร้างรัฐชาติให้มีลักษณะเป็นสังคมเดี่ยว (Homogeneous Society) นอกจากไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์แล้ว ยังไม่นำไปสู่ความสมานฉันท์ของคนในชาติด้วย

Ø สังคมประชาธิปไตย มิได้หมายถึงเพียงสิทธิและเสรีภาพทางการเมืองเท่านั้น แต่หมายรวมถึงสิทธิและเสรีภาพทางวัฒนธรรมด้วย

Ø เมื่อนโยบายสาธารณะซึ่งครอบคลุมด้านการศึกษาวางอยู่บนฐานของการครอบงำทางวัฒนธรรม ทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติ (จากกรณีนี้ เป็นการเลือกปฏิบัติในด้านอาชีพ ที่อยู่อาศัย และการศึกษา) และนำไปสู่การเกิดขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัตินั้น

Ø ทัศนคติในด้านลบที่ครูจำนวนมากมีต่อกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนน้อยรวมทั้งกลุ่มผู้มีรายได้น้อยทำให้การใช้สื่อการสอนใหม่ ๆ และยุทธศาสตร์ที่ใช้ไม่เกิดประสิทธิผล ในบางกรณีกลับเป็นอันตรายด้วยซ้ำ

Ø อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาบนฐานคติใหม่ (ในที่นี้คือ พหุวัฒนธรรมนิยม) หากไม่สามารถผลักดันเข้าเป็นส่วนหนึ่งของความคิดกระแสหลักได้ การแก้ปัญหานั้นอาจไม่มีความยั่งยืน

 

ความหลากหลายทางชาติพันธุ์กับกระบวนการทำให้เป็นคนชายขอบ

            ความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่มีอยู่ทั่วไปในประเทศไทยนั้นเป็นสิ่งที่ถูกทำให้สูญเสียความสำคัญมานาน จนทำให้ผู้คนทั่วไปไม่ค่อยตระหนักถึงลักษณะเด่นประการนี้ในสังคมไทย ทั้ง ๆ ที่นับได้ว่าเป็นความร่ำรวยทุนทางวัฒนธรรมของชาติ สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ (สุวิไล และคณะ, 2544) ได้รวบรวมกลุ่มชาติพันธุ์-ภาษาที่มีอยู่ในประเทศไทยได้กว่า 60

หมายเลขบันทึก: 250376เขียนเมื่อ 23 มีนาคม 2009 20:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 23:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มาจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท