คุณภาพน้ำสำหรับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง (ตอนที่ 2)


คุณภาพน้ำสำหรับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง

6. ปริมาณออกซิเจนละลาย (Dissolved Oxygen)

ออกซิเจนเป็นปัจจัยที่นับว่ามีความสำคัญมากที่สุด ในการดำรงชีวิตเนื่องจากสิ่งมีชีวิตทุกชนิด จำเป็นต้องใช้ออกซิเจนในขบวนการต่าง ๆ ภายในร่างกาย เพื่อการเจริญเติบโต สัตว์น้ำก็เช่นกัน ต้องการใช้ออกซิเจนโดยเฉพาะเพื่อการหายใจ ความสามารถในการละลายน้ำของแก๊สออกซิเจนจำกัด ขึ้นอยู่กับความกดดันของบรรยากาศ อุณหภูมิของน้ำ และปริมาณเกลือแร่ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในน้ำ ความสามารถในการละลายของแก๊สออกซิเจนในน้ำจืด อยู่ในระหว่าง 14.6 มิลลิกรัมต่อลิตร ที่ 0 องศาเซลเซียส และ 6.8 มิลลิกรัมต่อลิตรที่ 35 องศาเซลเซียส ในสภาพความกดดัน 1 บรรยากาศ ดังนั้น เมื่อความกดดันของบรรยากาศเปลี่ยนแปลงไป เช่น ในระดับความสูงต่าง ๆ จะทำให้ความสามารถในการละลายของออกซิเจนเปลี่ยนแปลงไปด้วย นอกจากนี้ ออกซิเจนละลายในน้ำได้น้อยลงเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น เช่นเดียวกับน้ำที่มีความเค็มสูงก็จะทำให้ออกซิเจนละลายน้อยลง ดังนั้น สัตว์น้ำจึงต้องเสี่ยงกับการขาดแคลนออกซิเจน มากกว่าสัตว์บกโดยเฉพาะน้ำที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นในช่วงฤดูร้อน อัตราการย่อยสลายและปฏิกิริยาต่าง ๆ จะเพิ่มมากขึ้น ทำให้ปริมาณความต้องการออกซิเจน เพื่อไปใช้ในกิจกรรมเหล่านั้นสูงขึ้นไปด้วย ในขณะที่ความสามารถในการละลายน้ำของออกซิเจนน้อยลง จึงมีผลทำให้เกิดสภาพการขาดแคลนออกซิเจนในน้ำขึ้นได้ ในทางตรงกันข้ามบางครั้งในแหล่งน้ำก็อาจเกิดปรากฏการณ์ ที่มีออกซิเจนละลายเกินจุดอิ่มตัวได้ ทั้งนี้เนื่องจากการผลิตออกซิเจนออกมาเป็นปริมาณมาก จากการสังเคราะห์แสงของพืชน้ำ ในเวลากลางวัน สภาพดังกล่าวนี้ก็ทำให้เกิดอันตรายต่อสัตว์น้ำได้เช่นกัน หากมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

เนื่องจากออกซิเจนมีความสำคัญต่อการดำรงชีพของสัตว์น้ำ ดังนั้นการควบคุม และป้องกันไม่ให้ปริมาณออกซิเจนละลายในน้ำลดลง จนอยู่ในระดับต่ำที่จะเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ จึงเป็นการคุ้มครองให้สัตว์น้ำสามารถอยู่อาศัยได้อย่างปกติ

ปริมาณออกซิเจนละลายน้ำในแหล่งน้ำ ขึ้นอยู่กับสาเหตุดังนี้ คือ

1. สาเหตุการเพิ่มปริมาณออกซิเจนในน้ำ ได้แก่
1.1 จากบรรยากาศโดยตรง เกิดจากการที่แรงกดดันของบรรยากาศมีมากกว่าในน้ำ หรือเกิดจากกระแสลมที่พัดผ่านผิวน้ำ ก็ทำให้ออกซิเจนจากบรรยากาศละลายในน้ำได้ แต่ก็มีปริมาณไม่มากนัก และมักจะเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ หรือทีละน้อย
1.2 จากขบวนการสังเคราะห์แสง (Photosynthesis) ของพืชน้ำโดยเฉพาะแพลงก์ตอนพืช ซึ่งเป็นแหล่งที่ให้ออกซิเจนในน้ำได้มากที่สุด โดยในตอนกลางวัน พวกพืชน้ำเหล่านี้ จะทำการสังเคราะห์แสง และผลิตออกซิเจนออกมาละลายในน้ำ
1.3 จากขบวนการด้านเคมีอื่น ๆ ในน้ำ โดยแหล่งน้ำมีสารประกอบ หรือแร่ธาตุบางชนิดที่ทำปฏิกิริยาต่อกันแล้วให้ออกซิเจนในน้ำได้

2. สาเหตุที่ลดปริมาณออกซิเจนในน้ำ ได้แก่
2.1 จากการหายใจของสัตว์น้ำ และพืชน้ำ
2.2 จากการเน่าสลายของอินทรียวัตถุต่าง ๆ โดยพวกแบคทีเรีย
2.3 จากขบวนการทางเคมีของสารประกอบหรือแร่ธาตุต่าง ๆ
2.4 จากการหมุนเวียนของน้ำ หรือการผสมกับน้ำที่มีปริมาณออกซิเจนละลายต่ำ

สัตว์น้ำและพืชน้ำ ใช้ออกซิเจนละลายในน้ำเพื่อการหายใจโดยเฉพาะในตอนกลางคืนขบวนการสังเคราะห์แสงหยุดลง ดังนั้น ปริมาณออกซิเจนละลายในน้ำจะค่อย ๆ ลดลงจนถึงจุดต่ำสุดในช่วงตอนเช้าตรู่ก่อนมีแสงแดด และหากปรากฏว่าพืชน้ำมีปริมาณมากเกินไปก็จะเกิดปรากฏการณ์ขาดออกซิเจนในน้ำในตอนเช้าและจะมีมากเกินไปในตอนบ่าย เนื่องจากการสังเคราะห์แสง การควบคุมปริมาณพืชน้ำหรือแพลงก์ตอน จึงมีความจำเป็นเพื่อที่จะให้ปริมาณออกซิเจนเพียงพอสำหรับการดำรงชีวิตตลอดวัน ในบางระยะเวลาหากปรากฏว่าเกิดสภาพอากาศครึ้มฟ้าครึ้มฝนไม่มีแสงแดดติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน ก็อาจทำให้เกิดการขาดแคลนออกซิเจนในน้ำได้ เนื่องจากการสังเคราะห์แสงโดยพืชน้ำไม่สามารถทำได้เต็มที่

การเน่าสลายของอินทรียวัตถุต่าง ๆ โดยแบคทีเรีย ต้องการใช้ออกซิเจนเช่นเดียวกันหรือที่เรียกว่า Biochemical Oxygen Demand (BOD) ซึ่งใช้เป็นดัชนีในการแสดงว่าน้ำแห่งนั้นมีความเน่าเสียมากน้อยเพียงใด ถ้าปริมาณความต้องการออกซิเจนมีสูงมาก แสดงว่าในน้ำมีอินทรียวัตถุที่เน่าสลายอยู่มาก และถูกแบคทีเรียทำการย่อยสลาย ซึ่งจะใช้ออกซิเจนในการนี้เป็นจำนวนมาก จึงอาจทำให้ออกซิเจนในน้ำขาดแคลนได้

โดยทั่วไปปลาไม่สามารถทนอยู่ในน้ำที่มีปริมาณออกซิเจนละลายต่ำกว่า 0.3 มิลลิกรัมต่อลิตร หรือระดับต่ำกว่า 1.0 มิลลิกรัมต่อลิตร เป็นระยะเวลานาน ทั้งนี้ในน้ำดังกล่าวจะต้องไม่มีแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณสูง (ซึ่งจะทำให้ปลาใช้ออกซิเจนไม่ได้) อย่างไรก็ตาม ปลาบางชนิดมีความต้องการออกซิเจนต่ำ เนื่องจากมีอวัยวะพิเศษช่วยในการหายใจ ซึ่งจะใช้ออกซิเจนจากอากาศบนผิวน้ำได้โดยตรง จากผลการทดลองในห้องปฏิบัติการกับโดยทั่วไปปลาไม่สามารถทนอยู่ในน้ำที่มีปริมาณออกซิเจนละลายต่ำกว่า 0.3 มิลลิกรัมต่อลิตร หรือระดับต่ำกว่า 1.0 มิลลิกรัมต่อลิตร เป็นระยะเวลานาน ดังนั้นในการควบคุมป้องกันไม่ให้สัตว์น้ำได้รับอันตรายจึงไม่ควรให้ปริมาณออกซิเจนละลายต่ำกว่า 3 มิลลิกรัมต่อลิตร หรือหากจำเป็นที่จะลดต่ำกว่านี้ ก็ควรเป็นระยะเวลาสั้น ๆ

สำหรับกุ้งกุลาดำจะมีความทนทานต่อระดับการขาดออกซิเจนได้ดีกว่ากุ้งขาวแวนนาไม ที่ระดับออกซิเจนต่ำกว่า 3 มิลลิกรัมต่อลิตร กุ้งขาวแวนนาไมเริ่มมีระดับการเจริญเติบโตลดลง ในขณะที่ระดับออกซิเจนต่ำกว่า 2 มิลลิกรัมต่อลิตร กุ้งขาวและกุ้งกุลาดำเริ่มแสดงอาการกระสับกระส่ายเนื่องจากการขาดออกซิเจน และที่ระดับระดับออกซิเจนต่ำกว่า 1 มิลลิกรัมต่อลิตร กุ้งขาวเริ่มตายบางส่วน ทั้งนี้ขึ้นกับความหนาแน่นที่เลี้ยง ส่วนกุ้งกุลาดำจะเริ่มลอยหัว หากเพิ่มระดับออกซิเจนไม่ทันกุ้งจะเริ่มอ่อนแอและตายได้

การขาดแคลนออกซิเจนในน้ำ ถึงแม้จะไม่ต่ำลงจนถึงระดับที่ทำให้ปลาตาย แต่อาจมีผลต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำได้หลายประการ เช่น ปริมาณออกซิเจนที่ต่ำกว่า 3 มิลลิกรัมต่อลิตรทำให้ระยะเวลาในการฟักเป็นตัวของไข่ปลาช้าลงกว่าปกติ นอกจากนี้ ขนาดของตัวอ่อน และความแข็งแรงของตัวอ่อน จะลดน้อยลงกว่าเดิม และยังมีผลทำให้เกิดตัวอ่อนมีลักษณะผิดปกติอีกด้วยออกซิเจนยังมีผลทำให้ประสิทธิภาพในการย่อยอาหารลดลง ซึ่งมีผลต่อเนื่องมายังการเจริญเติบโตหรือทำให้ความสามารถในการว่ายน้ำลดลง ลดความต้านทานต่อสารพิษ ซึ่งสาเหตุดังกล่าวทำให้ปลาเกิดความอ่อนแอ และสามารถติดเชื้อได้ง่ายขึ้น

7. ไนโตรเจน (Nitrogen)

สารประกอบไนโตรเจนของแหล่งน้ำมีอยู่หลายรูปแบบ ซึ่งมีความสำคัญแตกต่างกันในด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำนิยมศึกษาใน 3 รูปแบบ คือ แอมโมเนีย ไนไตรท์ และไนเตรท โดยไนโตรเจนเป็นสารประกอบหลักของโปรตีน ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของสิ่งมีชีวิต แบคทีเรีย และพืชบางชนิดสามารถตรึงแก๊สไนโตรเจนจากอากาศได้โดยตรง พืชสีเขียวอาจใช้ไนโตรเจนที่อยู่ในสารประกอบ เช่น แอมโมเนีย หรือไนเตรท สำหรับการสังเคราะห์แสงเพื่อสร้างโปรตีน

เมื่อสิ่งมีชีวิตในแหล่งน้ำตายลง สารประกอบโปรตีนในร่างกายก็ถูกย่อยสลายเปลี่ยนเป็นสารประกอบอื่น ๆ นอกจากนี้ของเสียที่ถูกขับถ่ายจากสัตว์จะมีสารประกอบพวกโปรตีน หรืออินทรีย์ไนโตรเจนที่ยังย่อยไม่หมด สารเหล่านี้จะถูกแบคทีเรียย่อยสลายเป็นแอมโมเนีย

แอมโมเนียที่เกิดขึ้น จะถูกพืชนำไปใช้ประโยชน์ในการสร้างโปรตีนใหม่ แต่ถ้ามีปริมาณมากก็จะถูกอ๊อกซิไดส์โดยแบคทีเรีย เป็นสารประกอบพวกไนไตรท์ และไนเตรท ตามลำดับไนเตรทจะถูกพืชนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป ส่วนที่เหลือจะถูกชะล้างลงหน้าดิน ในสภาพไม่มีออกซิเจน ไนเตรทอาจถูกทำปฏิกิริยา Reduction ให้กลับมาเป็นไนไตรท์ และแอมโมเนีย มีแบคทีเรียบางชนิดเท่านั้นที่สามารถทำปฏิกิริยาดังกล่าวได้ และไนไตรท์มักจะถูกเปลี่ยนเป็นแก๊สไนโตรเจนมากกว่า

นอกจากการย่อยสลายสิ่งมีชีวิตที่ล้มตายลง ของเสียที่ปล่อยทิ้งมาจากชุมชนที่อยู่อาศัยและโรงงานอุตสาหกรรมบางประเภท จะมีสารประกอบของโปรตีนและไนโตรเจนอยู่ด้วย จึงทำให้เกิดการย่อยสลายโดยแบคทีเรียในน้ำเช่นกัน ซึ่งถ้าหากมีปริมาณมากก็จะทำให้เกิดการขาดแคลนออกซิเจนได้ เนื่องจากขบวนการเปลี่ยนสารประกอบไนโตรเจนเป็นแอมโมเนีย ไนไตรท์และไนเตรทต้องใช้ออกซิเจนที่กล่าวมาแล้ว นอกจากนี้ปริมาณสารประกอบไนโตรเจนชนิดต่าง ๆ ยังสามารถใช้เป็นดัชนีให้เห็นถึงภาวะ ความเน่าเสียที่เกิดขึ้น เช่น หากตรวจพบว่ามีปริมาณแอมโมเนียมาก แสดงว่าน้ำแห่งนั้นจะเริ่มเน่าเสีย และมีอันตรายต่อสัตว์น้ำ แต่ถ้าตรวจพบไนเตรทมากก็แสดงว่าการเน่าเสียได้เกิดขึ้นนานแล้ว จึงไม่มีอันตรายต่อสัตว์น้ำอีกต่อไป เป็นต้น

แอมโมเนียโดยปกติเป็นพิษต่อปลาและกุ้ง โดยเฉพาะในรูปของ Unionized Form หรือ NH3 ส่วน Ionized Form หรือ NH4+ ไม่มีพิษต่อสัตว์น้ำ เว้นแต่จะมีอยู่ในปริมาณสูงมาก ๆ การแตกตัวของแอมโมเนียขึ้นอยู่กับค่า pH และอุณหภูมิของน้ำ หาก pH ลดลง เปอร์เซ็นต์การแตกตัวก็จะมีมากขึ้น ทำให้ความเป็นพิษลดลง ดังนั้นในบ่อปลาที่มีการให้อาหารประเภทเนื้อสัตว์ที่มีโปรตีนสูง ของเสียที่เกิดขึ้นหรืออาหารที่เหลือก็จะทำให้ปริมาณแอมโมเนียสูงขึ้น และอาจเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำเองได้ในที่สุด การวิเคราะห์ปริมาณแอมโมเนียในบ่อปลาบางครั้งจึงมีความจำเป็น ระดับความเข้มข้นของแอมโมเนียที่จะไม่เป็นอันตรายต่อปลาไม่ควรเกิน 0.02 มิลลิกรัมต่อลิตร ในรูปของ Unionized Form ส่วนกุ้งทะเลสามารถทนปริมาณแอมโมเนียได้สูงกว่าที่ 0.4 – 0.6 มิลลิกรัมต่อลิตร และทนได้สูงกว่า 4 มิลลิกรัมต่อลิตร ในช่วงสั้นๆ หากกุ้งที่เลี้ยงในน้ำที่มีระดับแอมโมเนียและไนไตรท์สูงๆเป็นเวลานานกุ้งจะเริ่มกินอาหารน้อยลง อัตราการเจริญเติบโตลดลง น้ำหนักตัวลดลง อ่อนแอ และตายได้ในที่สุด

ไนไตรท์ โดยปกติ ก็มีพิษต่อสัตว์น้ำได้เช่นเดียวกับแอมโมเนีย แต่มักจะเกิดขึ้นในปริมาณไม่มากนักในแหล่งน้ำธรรมชาติ เว้นแต่ในบ่อเลี้ยงปลาที่มีการให้อาหารที่มีโปรตีนสูงดังกล่าวมาแล้ว เพราะไนโตรท์จะเกิดขึ้นเป็นปฏิกริยาระหว่างกลางซึ่งจะถูกแบคทีเรียทำการเปลี่ยนรูปไปเป็นไนเตรท ซึ่งไม่มีพิษต่อปลา แต่จะเป็นประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของพืชน้ำ หรือสัตว์น้ำเอง

ในการลดความเป็นพิษของแอมโมเนียและไนไตรท์ในบ่อเลี้ยงปลา จากผลการทดลองในห้องปฏิบัติการ พบว่าสารประกอบพวกคลอไรด์ โดยเฉพาะเกลือแกง (NaCl) สามารถลดความเป็นพิษของสารประกอบดังกล่าวได้ โดยใส่ในอัตราประมาณ 500 มิลลิกรัมต่อลิตร หรือ 600 – 800 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งในทางปฏิบัติ มักจะนิยมใส่ทีละน้อยในอัตรา 200-250 กิโลกรัมต่อไร่ ทุก ๆ 1 – 2 สัปดาห์

สำหรับกุ้งทะเลระดับไนไตรท์ที่เหมาะสมไม่ควรเกิน 0.1 มิลลิกรัมต่อลิตร แต่ในการเลี้ยงจริงกุ้งทะเลสามารถทนระดับไนไตรท์ได้มากกว่า 4 มิลลิกรัมต่อลิตร แต่ควรรีบปรับคุณภาพน้ำโดยเร็ว เนื่องจากกุ้งจะมีอาการเช่นเดียวกับการเลี้ยงที่ระดับแอมโมเนียสูงๆ เช่นกัน

สารประกอบไนโตรเจนในแต่ละรูปแบบ มีผลกระทบต่อทรัพยากรสัตว์น้ำแตกต่างกัน ซึ่งในการเปลี่ยนรูปแบบของสารประกอบนั้น อุณหภูมิและระดับ pH ของน้ำ มีอิทธิพลโดยตรงและขณะเดียวกันสารประกอบไนโตรเจนบางรูปแบบก็สามารถควบคุมระดับ pH ของน้ำได้

8. ความเค็ม (Salinity)

ความเค็มของน้ำ หมายถึง ปริมาณของของแข็ง หรือเกลือแร่ต่าง ๆ โดยเฉพาะโซเดียมคลอไรด์ (NaCl) ที่ละลายอยู่ในน้ำ โดยนิยมคิดเป็นหน่วยน้ำหนักของสารดังกล่าวเป็นกรัมต่อกิโลกรัมของน้ำ หรือส่วนในพัน (Parts per Thousand, ppt) ทั้งนี้หลังจากที่พวกเกลือ คาร์บอเนต ถูกเปลี่ยนเป็นออกไซด์ และพวกเกลือโบไมด์ และไอโอไดด์ ถูกแทนที่โดยคลอไรด์ และอินทรียวัตถุ ถูกออกซิไดส์ไปทั้งหมด
ค่าความเค็มของน้ำ จะสัมพันธ์กับค่าคลอรินิตี้ (Phlorinity) ซึ่งหมายถึงปริมาณคลอไรด์ โบรไมด์ และไอโดไดด์ ที่มีอยู่ในน้ำหนักหนึ่งกิโลกรัม คำที่มีความหมายใกล้เคียงกันอีกคำหนึ่งคือ คลอโรซิตี (Chlorosity) ซึ่งหมายถึงค่า Chlorinity คูณด้วยค่าความหนาแน่นของน้ำ ที่อุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส จากความสัมพันธ์ดังกล่าวมานี้ จึงสามารถคำนวณค่าความเค็มจากค่า คลอรินิตี ได้ดังสมการ


salinity (ppt) = 0.03 + 1.805 chlorinity (ppt)

ความเค็มของน้ำจะมีค่าแตกต่างกันไป แล้วแต่สถานที่และประเภทของดิน สำหรับน้ำจืดมีค่าความเค็มประมาณศูนย์ ส่วนน้ำทะเลมีค่าความเค็มโดยเฉลี่ยประมาณ 35 ส่วนในพัน ในด้านการประมง ได้มีผู้แบ่งประเภทของน้ำออกตามระดับความเค็มดังนี้ คือ

น้ำจืด (Fresh Water) มีความเค็มระหว่าง 0 – 0.5 ส่วนในพัน

น้ำกร่อย (Brackish Water) มีความเค็มระหว่าง 0.5 – 30.0 ส่วนในพัน

น้ำเค็ม (Sea Water) มีค่าความเค็มมากกว่า 30 ส่วนในพันขึ้นไป

ความเค็มของน้ำมีผลต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำ โดยเฉพาะระบบการควบคุมปริมาณน้ำภายในร่างกาย (Water Regulatory System) ซึ่งมีผลมาจากความแตกต่างของแรงดัน Osmotic ระหว่างภายในตัวสัตว์น้ำและน้ำภายนอก สัตว์น้ำจืดจะมีแรงดัน Osmotic ภายในตัวสูงกว่าน้ำที่อยู่ภายนอก ดังนั้นน้ำภายนอกจึงสามารถแทรกซึมเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย สัตว์น้ำจืดจึงต้องพยายามขจัดเอาน้ำส่วนเกินเหล่านี้ออกไป ในทางตรงกันข้าม สัตว์น้ำเค็มที่อาศัยอยู่ในทะเลจะมีแรงดัน Osmotic ต่ำกว่าน้ำทะเล ดังนั้น น้ำภายในตัวก็จะออกนอกร่างกายได้ง่าย สัตว์ทะเลจึงต้องพยายามเก็บรักษาปริมาณน้ำไว้ให้มาก สำหรับสัตว์น้ำบางชนิด โดยเฉพาะสัตว์น้ำกร่อยที่อาศัยอยู่บริเวณที่มีการเปลี่ยนแปลงความเค็มมาก จะมีความสามารถในการปรับตัวและทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของแรงดัน Osmotic ดังกล่าวได้ดี อย่างไรก็ตาม สัตว์น้ำทั่ว ๆ ไปสามารถปรับตัวได้เข้ากับสภาพความเค็มของน้ำที่เปลี่ยนแปลงได้ แต่ทั้งนี้ต้องค่อย ๆ เป็นไปอย่างช้า ๆ โดยปกติ สัตว์น้ำจืดจะมีเลือดที่มีความเข้มข้นสูงกว่าน้ำภายนอกประมาณ 6 เท่าของแรงดัน Osmotic หรือเท่ากับความเข้มข้นประมาณ 7 ส่วนในพัน ของเกลือโซเดียมคลอไรด์ ดังนั้นสัตว์น้ำจืดโดยทั่วไปจะสามารถอยู่ในน้ำที่มีความเค็มประมาณ 7 ส่วนในพันได้ และบางชนิดจะอาศัยอยู่ในน้ำที่มีความเค็มสูงกว่านี้ได้ แต่ต้องให้เปลี่ยนแปลงทีละน้อยดังที่กล่าวมาแล้ว สำหรับปลาทะเลหรือสัตว์น้ำเค็มก็เช่นเดียวกัน มีความทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของความเค็มที่ลดต่ำลงไม่เท่ากันในแต่ละชนิด

หมายเลขบันทึก: 250328เขียนเมื่อ 23 มีนาคม 2009 15:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 12:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ดีคะแต่อยากได้เกียวกับพิษที่มีต่อสัตว์น้ำว่าด้านไหนบ้างเช่นผลของความเค็มที่มีต่อการเจริญเติบโตอะไรประมาณนี้คะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท