คุณภาพน้ำสำหรับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง (ตอนที่1)


คุณภาพน้ำสำหรับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง

น้ำเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ กิจกรรมต่าง ๆ ของสิ่งมีชีวิตในน้ำย่อมเกี่ยวข้องกับน้ำทั้งสิ้น โดยเฉพาะสัตว์น้ำใช้น้ำเป็นที่อยู่อาศัย ดำรงชีพ กินอาหาร สืบพันธุ์ และอื่น ๆ การพิจารณาเกี่ยวกับน้ำสำหรับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำนั้น แบ่งออกเป็นสองลักษณะ คือ คุณภาพและปริมาณ ซึ่งทั้งสองลักษณะนี้มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด กล่าวคือถ้าคุณภาพน้ำดี ปริมาณที่ใช้ย่อมน้อยลง ในทางตรงกันข้าม ถ้าน้ำใช้ด้อยคุณภาพ ก็จำเป็นต้องใช้ในปริมาณที่สูง เพื่อให้สิ่งมีชีวิตในน้ำมีความเป็นอยู่อย่างสบาย
คุณภาพน้ำ


มาตรฐานคุณภาพน้ำที่เหมาะสมสำหรับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำนั้น ได้มีนักวิชาการจากหลายสถาบัน จากหลายประเทศพยายามกำหนดเกณฑ์ต่าง ๆ แต่เนื่องจากสัตว์น้ำมีมากมายหลายชนิด ทั้งในเขตอบอุ่นและเขตหนาว ความคงทนต่อสภาพแวดล้อมของสัตว์แต่ละชนิดแต่ละวัยแตกต่างกัน จึงทำให้เกณฑ์ต่าง ๆ ที่กำหนดนั้นต้องยืดหยุ่นผันแปรไปตามท้องที่ อย่างไรก็ตาม ดัชนีคุณภาพน้ำที่ควรมีความรู้และนำไปใช้เพื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำนั้น อาจจำแนกได้ 3 ลักษณะ คือ
1. ลักษณะทางกายภาพ หมายถึง ดัชนีคุณภาพน้ำที่ผันแปร อันเกิดจากลักษณะกายภาพที่สามารถตรวจวัดได้ และมีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต ในทางตรงหรือทางอ้อม เช่น สี (Colour), ความขุ่น (Turbidity), อุณหภูมิ (Temperature), ความนำไฟฟ้า (Conductivity), ปริมาณสารแขวนลอย (Suspended Solids) ฯลฯ เป็นต้น
2. ลักษณะทางเคมีภาพ หมายถึง ดัชนีคุณภาพน้ำที่ผันแปรอันเนื่องจากปฏิกิริยาทางเคมีที่สามารถตรวจวัดได้ และมีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ความเป็นกรดเป็นด่าง (pH), ความเป็นกรด (Acidity), ความเป็นด่าง (Alkalinity), ความกระด้าง (Hardness), ปริมาณออกซิเจนละลาย (Dissolved oxygen), ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์อิสระ (Free carbondioxide), ไนโตรเจน (Nitrogen), ฟอสฟอรัส (Phosphorus), ไฮโดรเจนซัลไฟด์ (Hydrogen Sulphide), ความเค็ม (Salinity), โลหะหนัก (Heavy metals), สารพิษ (Pesticides) ฯลฯ
3. ลักษณะทางชีวภาพ หมายถึง ดัชนีคุณภาพน้ำที่ผันแปรเนื่องจากสิ่งมีชีวิตในน้ำอันมีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ ทั้งทางตรงและอ้อม เช่น แพลงก์ตอนพืชและสัตว์ (Plankton), แบคทีเรีย (Bacteria), พืชน้ำ (Aquatic Macrophytes), เชื้อโรค (Pathogens) ฯลฯ

จะเห็นได้ว่าดัชนีคุณภาพน้ำทั้ง 3 ลักษณะมีดัชนีอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งล้วนเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตและกระบวนการต่าง ๆ ในน้ำทั้งสิ้น ในที่นี้ จะกล่าวเฉพาะดัชนีคุณภาพน้ำ ที่สำคัญและมีผลกระทบต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำบางลักษณะ เท่านั้น

1. สี (Colour)
สีของน้ำเกิดจากการสะท้อนแสงของสิ่งที่อยู่ในน้ำ ทั้งสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต สีของน้ำอาจ บ่งบอกถึงสภาพแวดล้อม และสารแขวนลอย ที่มีอยู่ในแหล่งน้ำนั้น ๆ หรืออาจใช้ในการประเมินกำลังผลิตอย่างประมาณได้ สีของน้ำจำแนกได้เป็น 2 ชนิด คือ
1.1 สีปรากฎ (Apparent colour) หมายถึง สีของน้ำที่ปรากฎให้เห็นแก่สายตาเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเกิดจากการสะท้อนแสง จากสารแขวนลอยในน้ำ พื้นท้องน้ำหรือจากท้องฟ้า
1.2 สีจริง (True colour) หมายถึง สีของน้ำที่เกิดจากสารละลายชนิดต่าง ๆ อาจเป็นสารอินทรีย์ หรือสารอนินทรีย์ ซึ่งจะทำให้เกิดสีของน้ำต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับลักษณะและคุณสมบัติเฉพาะตัวของสารเหล่านี้
แหล่งน้ำธรรมชาติทั่วไปจะมีสีเหลืองจนถึงสีน้ำตาล อาจเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อม ชนิด ปริมาณ และความเข้มข้นของสารละลายหรือสารแขวนลอย ตลอดจนคุณภาพของแสงด้วย สีของน้ำจึงเปลี่ยนไปตามชนิดของสารที่มีอยู่ในน้ำ เช่น ถ้ามีหินปูนมากจะมีสีเขียว กำมะถันมากจะมีสีเขียวอมเหลือง เหล็กออกไซด์ปะปนมากจะมีสีแดง เป็นต้น ในบางครั้งมีชีวิตขนาดเล็กในน้ำ ก็ทำให้สีน้ำเปลี่ยนไปเช่นกัน เป็นต้นว่า ไดอะตอมทำให้น้ำมีสีเหลืองหรือน้ำตาล สาหร่ายเขียวแกมน้ำเงินทำให้น้ำสีเขียวเข้ม แพลงก์ตอนสัตว์ทำให้น้ำมีสีแดง และฮิวมัสทำให้น้ำมีสี น้ำตาลอมเหลือง

2. อุณหภูมิ (Temperature)
อุณหภูมิของน้ำเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่มีอิทธิพล ทั้งโดยทางตรงและโดยอ้อมต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำ ปกติอุณหภูมิของน้ำธรรมชาติจะผันแปรตามอุณหภูมิของอากาศ ซึ่งขึ้นอยู่กับฤดูกาล ระดับความสูง และสภาพภูมิประเทศ นอกจากนี้ ยังขึ้นอยู่กับความเข้มของแสงจากดวงอาทิตย์ กระแสลม ความลึก ปริมาณสารแขวนลอยหรือความขุ่น และสภาพแวดล้อมทั่ว ๆ ไปของแหล่งน้ำในประเทศไทย อุณหภูมิของน้ำในธรรมชาติจะผันแปรอยู่ในช่วงระหว่าง 23 ถึง 32 องศาเซลเซียส ซึ่งจะมีค่าต่ำลงหรือสูงขึ้นตามฤดูกาลและพื้นที่ โดยจะมีค่าต่ำสุดในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สูงขึ้นในภาคกลาง และสูงสุดในภาคใต้

การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิน้ำธรรมชาติจะค่อยเป็นค่อยไปอย่างช้า ๆ และไม่ก่อให้เกิดปัญหาต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำ สัตว์น้ำโดยเฉพาะปลา จัดอยู่ในพวกสัตว์เลือดเย็น ไม่สามารถรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้คงที่เหมือนสัตว์เลือดอุ่น เช่น มนุษย์เราได้ อุณหภูมิของร่างกายสัตว์น้ำจะเปลี่ยนแปลงไปตาม อุณหภูมิของน้ำ และสภาพแวดล้อม ที่อยู่อาศัย แต่ก็จะต้องอยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม ปลาจะสามารถทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิในช่วงจำกัด เมื่ออุณหภูมิของน้ำสูงขึ้นกิจกรรมต่าง ๆ อัตราของกิจกรรมจะแตกต่างกันไปในปลาแต่ละชนิด ซึ่งขึ้นอยู่กับขบวนการทางชีวเคมีภายในร่างกายและสภาพแวดล้อม ปลาที่มีขนาดใหญ่กว่าจะมีอัตราเมตาโบลิซึมน้อยกว่าปลาชนิดเดียวกันที่มีขนาดเล็กกว่า

โดยปกติอุณหภูมิภายในตัวปลาจะแตกต่างไปจากอุณหภูมิของน้ำเพียง 0.5 – 1 องศาเซลเซียสเท่านั้น เหงือกปลา เป็นอวัยวะที่สำคัญในการช่วยถ่ายเทและรักษาระดับอุณหภูมิของร่างกาย ปลาขนาดเล็กหรือลูกปลาจะมีอัตราส่วนระหว่างเหงือกต่อน้ำหนักมากกว่าปลาขนาดใหญ่ จึงทำให้ปลาขนาดเล็กสามารถทนทาน และปรับตัวได้ดีกว่าปลาขนาดใหญ่ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของน้ำอย่างรวดเร็ว สามารถทำให้เกิดอันตรายโดยตรงต่อสัตว์น้ำได้ เช่น ทำให้ระบบการควบคุมขับถ่ายน้ำและแร่ธาตุภายในร่างกายผิดปกติไป ซึ่งจะทำให้ร่างกายอ่อนแอและตายได้ ผลกระทบที่สำคัญต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำที่มีอุณหภูมิสูงขึ้น คือ ปริมาณออกซิเจนละลายในน้ำ จะมีอัตราผกผันหรือตรงกันข้ามกับอุณหภูมิของน้ำ กล่าวคือ เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นปริมาณออกซิเจนละลายน้ำจะลดลง ในขณะที่ขบวนการเมตาโบลิซึมผันแปรตามอุณหภูมิดังกล่าวมาแล้ว ซึ่งจะทำให้สัตว์น้ำต้องการออกซิเจนเพิ่มมากขึ้น จึงเกิดปัญหาการขาดแคลนออกซิเจนได้ ในขณะเดียวกัน การทำงานของพวกแบคทีเรีย และจุลินทรีย์ชนิดต่าง ๆ ในการย่อยสลายสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ ในน้ำก็จะเพิ่มขึ้น และต้องใช้ออกซิเจนเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ซึ่งจะทำให้แหล่งน้ำขาดออกซิเจนเร็วขึ้น เป็นเหตุให้น้ำเกิดการเน่าเสียได้

การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิในน้ำ ยังมีผลทำให้พืชน้ำ โดยเฉพาะแพลงก์ตอนพืชมีการเจริญเติบโต และเพิ่มจำนวนปริมาณแตกต่างกัน บางชนิดชอบอาศัยอยู่ในน้ำที่มีอุณหภูมิต่ำ เช่น ไดอะตอม สามารถเจริญเติบโตได้ดีในน้ำ อุณหภูมิระหว่าง 15-25 องศาเซลเซียส สาหร่ายสีเขียวชอบอาศัยในน้ำที่มีอุณหภูมิสูงถึง 35 องศาเซลเซียส หรือมากกว่า ดังนั้น น้ำที่มีอุณหภูมิสูงจะมีพวกสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินมาก ซึ่งมักจะไม่มีประโยชน์ต่อสัตว์น้ำในการใช้เป็นอาหาร และบางชนิดอาจเป็นพิษแก่สัตว์น้ำได้ นอกจากนี้ หากมีปริมาณมากเกินไป ก็ทำให้เกิดการเน่าเสียและมีกลิ่นเหม็น ซึ่งย่อมมีผลกระทบต่อสัตว์น้ำได้เช่นเดียวกัน
ดังนี้กล่าวมาแล้วว่า ปลาไม่สามารถทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิอย่าง กะทันหัน ดังนั้นในการเคลื่อนย้ายปลาจากที่แห่งหนึ่งที่มีอุณหภูมิแตกต่างกัน จึงควรใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยจะต้องให้ปลาค่อย ๆ ปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอย่างช้า ๆ โดยเฉพาะเวลานำปลาจากที่มีอุณหภูมิต่ำ ไปยังที่มีอุณหภูมิสูงกว่า จะมีผลรุนแรงมากกว่าการนำจากที่อุณหภูมิสูงไปยังที่อุณหภูมิต่ำ
อุณหภูมิน้ำนอกจากจะมีผลโดยตรงแล้วยังอาจมีผลทางอ้อมต่อสัตว์น้ำด้วย เช่น อุณหภูมิที่สูงขึ้นมักจะทำให้พิษของสารพิษประเภทต่าง ๆ เช่น ยากำจัดศัตรูพืช และโลหะหนัก มีความรุนแรง มากขึ้น จะช่วยเร่งให้มีการดูดซึม และการแพร่กระจายของสารพิษเหล่านั้น ให้เข้าสู่ร่างกายได้เร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม มีสารพิษบางชนิดที่มีพิษลดลงเมื่อน้ำเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิไป จะทำให้ความต้านทานต่อโรคของสัตว์น้ำเปลี่ยนแปลงไปด้วย และเชื้อโรคบางชนิดจะสามารถแพร่กระจายได้ดีในน้ำที่ระดับอุณหภูมิแตกต่างกัน

3. ความขุ่น (Turbidity)
ความขุ่นของน้ำ หมายถึง ความสามารถของน้ำที่สะกัดกั้นหรือดูดซับปริมาณแสงที่ส่องผ่านไว้ได้ ความขุ่นของน้ำแสดงถึงความสามารถของสารแขวนลอยในน้ำ ที่จะขัดขวางสะท้อนแสงและดูดซับแสงเอาไว้ สิ่งที่ทำให้น้ำขุ่น ได้แก่ อินทรีย์และอนินทรีย์สารในน้ำ ตลอดจนสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ โดยปรากฏอยู่ในลักษณะสารแขวนลอย เช่น อนุภาคของดิน ทราย แพลงก์ตอน แบคทีเรีย เป็นต้น
ความขุ่นและสารแขวนลอยในน้ำ อาจมีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ ดังนี้
1. ลดผลผลิตขั้นปฐมภูมิ น้ำที่มีความขุ่นมาก จะขัดขวางมิให้แสงส่องลึกลงไปในน้ำเป็นการจำกัดปฏิกิริยาสังเคราะห์แสงอันเกิดจากแพลงก์ตอนพืช ซึ่งเป็นผลผลิตขั้นปฐมภูมิ ทำให้ปริมาณอาหารธรรมชาติในแหล่งน้ำลดลง
2. เป็นอันตรายต่อระบบหายใจของสัตว์น้ำ น้ำขุ่นที่มีปริมาณสารแขวนลอยมาก จะขัดขวางการทำงานของช่องเหงือก ทำให้การหายใจติดขัด อาจเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำได้
3. ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น น้ำที่มีความขุ่นมากจะมีการดูดซับความร้อนที่บริเวณผิวน้ำทำให้อุณหภูมิสูงกว่าปกติ จึงเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำโดยตรง และมีผลทางอ้อมให้ออกซิเจนละลายในน้ำได้จำกัด
4. ชะงักการเจริญเติบโต น้ำที่มีความขุ่นมีปริมาณอนินทรีย์สารในระดับสูง ทำให้การดูดซับแลกเปลี่ยนสารจากภายในและภายนอกของไข่ปลาในขณะที่ฟักตัวชะงัก และทำให้สัตว์น้ำกินอาหารได้น้อยลง มีผลให้การเจริญเติบโตเป็นไปอย่างเชื่องช้า สำหรับกุ้งจำเป็นต้องใช้พลังงานในระดับหนึ่งในการต่อการแพร่ของสารอนินทรีย์เข้าสู่ร่างกาย ทำให้กุ้งมีอัตราการเจริญเติบโตช้าลงได้
อย่างไรก็ตาม สัตว์น้ำแต่ละชนิดมีความคงทน ต่อระดับความขุ่นแตกต่างกัน น้ำธรรมชาติจะมีความขุ่นอยู่เสมอ น้ำใสจะมีค่าความขุ่นไม่เกิน 25 หน่วย น้ำขุ่นปานกลางมีค่าความขุ่นระหว่าง 25 – 100 หน่วย และน้ำขุ่นมากจะมีค่าความขุ่นเกิน 100 หน่วย

4. ความเป็นกรดเป็นด่าง (pH)
ความเป็นกรดเป็นด่าง หรือ ที่เรียกกันทั่วไปว่า “pH” เป็นหน่วยวัดที่แสดงให้ทราบว่าน้ำ หรือสารละลายนั้นมีคุณสมบัติเป็นกรด หรือด่าง ค่าที่แสดงไว้คือปริมาณความเข้มข้นของไฮโดรเจนอิออนที่มีอยู่ในน้ำ หรือสารละลาย ระดับความเป็นกรดเป็นด่างที่มีค่าอยู่ระหว่าง 0-14 ซึ่งค่ากึ่งกลาง “7” แสดงถึงความเป็นกลางของสารละลายนั้น หากว่าค่า pH <> 7 ก็แสดงว่าสารละลายนั้นมีสภาพเป็นด่าง

แหล่งน้ำธรรมชาติทั่วไป มีค่า pH ระหว่าง 5 – 9 ซึ่งความแตกต่างนี้ ขึ้นอยู่กับลักษณะของภูมิประเทศ และสภาพแวดล้อมหลายประการ เช่น ลักษณะพื้นดิน และหิน ปริมาณน้ำฝน ตลอดจนการใช้ประโยชน์ที่ดิน ปกติพบอยู่เสมอว่าระดับ pH ของน้ำผันแปรไปตามคุณสมบัติของดิน ดังนั้นในบริเวณที่ดินมีสภาพเป็นกรดก็จะทำให้น้ำมีสภาพเป็นกรดตามไปด้วย นอกจากนี้ สิ่งมีชีวิตทั้งในดินและน้ำ เช่น จุลินทรีย์และแพลงก์ตอนพืช สามารถทำให้ค่า pH ของน้ำมีการเปลี่ยนแปลงค่าความเป็นกรดเป็นด่าง มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตในแหล่งน้ำ ช่วงที่มีผลต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไว้ดังนี้

ระดับ pH ผลต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
ต่ำกว่า 4.0 เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ มีผลให้ปลาและกุ้งทะเลตายได้4.0 – 6.5 ปลาบางชนิดทนอยู่ได้ แต่ให้ผลผลิตต่ำ มีการเจริญ เติบโตช้า การสืบพันธุ์หยุดชะงัก
6.5 – 9.0 เป็นช่วงที่เหมาะสมกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
9.0 – 11.0 ไม่เหมาะสมแก่การดำรงชีวิต หากปรากฎว่าสัตว์น้ำต้องอาศัยอยู่เป็นเวลานาน จะให้ผลผลิตต่ำ
สูงกว่า 11.0 เป็นพิษต่อปลาและกุ้ง

ในแหล่งน้ำจะมีการเปลี่ยนแปลงค่า pH ในช่วงกลางวัน และกลางคืน เนื่องจากแพลงก์ตอนพืช และพืชน้ำ ใช้คาร์บอนไดออกไซด์ในขบวนการสังเคราะห์แสงตอนกลางวัน ทำให้ค่า pH สูงขึ้น และค่อย ๆ ลดลงตอนกลางคืน เพราะคาร์บอนไดออกไซด์ถูกปล่อยออกมาจากระบบการหายใจของสิ่งมีชีวิตในน้ำ น้ำที่มีค่าความเป็นด่างต่ำ และมีปริมาณแพลงก์ตอนพืชมาก จะมีค่า pH สูงถึง 9 ถึง 10 ในตอนบ่าย แต่ถ้าน้ำมีค่าความเป็นด่างสูง การเปลี่ยนแปลง pH มีไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงค่า pH แม้จะอยู่ในช่วงที่ดีและสูงมาก หากเกิดขึ้นในระยะเวลาสั้น ๆ นับว่ายังไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ แหล่งน้ำที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำ ไม่ควรมีการเปลี่ยนแปลงของ pH เกินกว่า 2 หน่วยในรอบวัน

5. ความเป็นด่าง (Alkalinity)
ความเป็นด่างของน้ำ หมายถึง ความสามารถ หรือคุณสมบัติของน้ำที่ทำให้กรดเป็นกลาง ความเป็นด่างของน้ำประกอบด้วยคาร์บอเนต ไบคาร์บอเนต และไฮดรอกไซด์ เป็นส่วนใหญ่ แต่อาจมีพวกคาร์บอเนต ซิลิเกต ฟอสเฟต และสารอินทรีย์ต่าง ๆ อยู่บ้างแต่เป็นจำนวนน้อย ค่าความเป็นด่างโดยตัวของมันเองไม่ถือว่าเป็นสารมลพิษ แต่มีผลเกี่ยวเนื่องกับคุณสมบัติอื่น ๆ เช่น pH ความเป็นกรด และความกระด้าง เป็นต้น คุณสมบัติที่สำคัญของความเป็นด่างต่อแหล่งน้ำ คือ เป็นตัวกั้นกลางที่ช่วยควบคุมไม่ให้แหล่งน้ำมีการเปลี่ยนแปลงของระดับ pH เร็วเกินไป ค่าความเป็นด่างของน้ำจึงเป็นเครื่องชี้ความสามารถของน้ำที่จะควบคุมระดับ pH มิให้เปลี่ยนแปลง แหล่งน้ำใดพบว่ามีค่าความเป็นด่างต่ำ ระดับ pH ของแหล่งน้ำนั้นจะเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วซึ่งเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ

แหล่งน้ำธรรมชาติโดยทั่วไปมีค่าความเป็นด่าง ตั้งแต่ 25 – 500 มิลลิกรัมต่อลิตร แหล่งน้ำใดที่ได้รับน้ำทิ้งจากชุมชน หรือโรงงานอุตสาหกรรม จะมีค่าความเป็นด่างค่อนข้างสูง เช่น น้ำทิ้งจากโรงงานผลิตเบียร์ น้ำอัดลม อาหารสำเร็จรูป และโรงงานกระดาษ เป็นต้น ดังนั้นน้ำฝนจึงมีค่าความเป็นด่างค่อนข้างต่ำ

ความเป็นด่างกับความกระด้าง มีความสัมพันธ์กัน น้ำที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำควรมีค่าความเป็นด่างและความกระด้างอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน และค่าความเป็นด่างของน้ำในแหล่งน้ำนั้น ไม่ควรมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และไม่ลดจากค่าปกติเกินร้อยละ 25 น้ำที่มีค่าความเป็นด่างต่ำจะเป็นน้ำอ่อน และมีค่า pH ต่ำ ซึ่งมีผลให้ผลผลิตต่ำด้วย น้ำที่มีค่า pH ต่ำกว่า 4.5 จะไม่พบค่าความเป็นด่างปรากฏอยู่เลย

ในสภาพปกติค่าความเป็นด่างของแหล่งน้ำธรรมชาติ ปรากฏในรูปของไบคาร์บอเนตเป็นส่วนใหญ่ แต่ในสภาพที่ระดับ pH ของน้ำสูง ค่าความเป็นด่างจะประกอบด้วยคาร์บอเนตและไฮดรอกไซด์ น้ำที่มีแพลงก์ตอนพืชหนาแน่น คาร์บอนไดออกไซด์อิสระจะถูกใช้ในขบวนการสังเคราะห์แสงจนหมด จากนั้นจึงดึงเอาคาร์บอนไดออกไซด์จากขบวนการมาใช้ จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขององค์ประกอบความเป็นด่าง จากไบคาร์บอเนตเป็นคาร์บอเนตและไฮดรอกไซด์ตามลำดับ ซึ่งอาจทำให้ค่า pH สูงขึ้นถึง 10 – 11 ก็ได้ และ pH ระดับนี้มีผลกระทบต่อทรัพยากรสัตว์น้ำเช่นกัน

หมายเลขบันทึก: 249728เขียนเมื่อ 20 มีนาคม 2009 13:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 15:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท