ทำอย่างไรจึงจะเข้าไปนั่งในใจลูกน้อง


ปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ผู้บังคับบัญชาทำงานร่วมกับผู้ใต้บังคับบัญชาได้อย่างมีความสุข คือ การเข้าไปนั่งในใจหรือการครองใจผู้ใต้บังคับบัญชา   วิธีในการครองใจผู้ใต้บังคับัญชานั้นดิฉันขอนำเสนอแนวทางง่ายคือ การครองตน ครองคน และครองงาน  โดยเริ่มจากผู้บังคับบัญชาสามารถครองตนให้ได้ก่อนเป็นอันดับแรก แล้วการครองคนและครองงานก็จะตามมาได้โดยง่ายค่ะ

 

การครองตน คือ การรู้จักตนเอง เข้าใจตนเอง และสามารถควบคุมตนเองได้ คนเราต้องมีเป้าหมายในชีวิตที่แน่นอน เรียกว่ามีเป้าหมายแห่งตน รู้จักควบคุมตนหรือมีวินัยแห่งตน คือการทำงานสำเร็จได้ด้วยตนเอง การครองตนที่ดีนั้น ได้เสนอแนะผู้บังคับบัญชาไว้ดังนี้

๑. การรู้จักตนเองด้วยความมีสติ และสัมปชัญญะ มีความละอายและเกรงกลัวต่อบาปกรรม หรือสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลายทั้งปวง ไม่กระทำความชั่วทั้งในที่ลับและที่เปิดเผย

๒. มีความอดทนและความสงบเสงี่ยม ให้เกียรติและมีความเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์กับบุคคลทุกระดับชั้น

๓. บอกตนได้ ใช้ตนเป็น เห็นตนเอง

๔. รู้จักยึดมั่นในความพอเพียง ประหยัด และออม

. รู้จักการถ่อมตน ไม่ยกตนข่มท่าน ไม่อวดเก่ง อวดดี ไม่อาศัยบารมีคนอื่นทำร้ายข่มเหงใคร

๖. มีความสำนึกในคุณงามความดีของตนเองและผู้อื่น

เมื่อสามารถครองตนได้แล้วอันดับต่อมาที่ผู้บังคัญชาต้องพัฒนาต่อคือ การครองคน ซึ่งหมายถึง การรู้จักคนอื่น มองคนอื่นในแง่ดีเมื่อต้องทำงานร่วมกับคนอื่น ต้องเน้นให้ผู้บังคับบัญชาเห็นว่าการครองคนเป็นเรื่องที่ถือว่ายากที่สุด เพราะคนมีหลายประเภท หรือดอกบัวสี่เหล่า แต่ไม่ว่าจะเป็นคนประเภทใด ก็สามารถใช้หลักการครองใจคน ซึ่งพระพุทธศาสนาสอนไว้อย่างชัดเจน ด้วยหลักสังคหวัตถุ ๔ คือ

๑. ทาน คือ การให้  รู้จักเสียสละแบ่งปันด้วยจิตใจที่โอบอ้อมอารี มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ซึ่งนับเป็นการครองใจคนที่ดีวิธีหนึ่ง เพราะผู้ให้ย่อมเป็นที่รักของคนทั่วไป และผู้ให้ย่อมทำให้เกิดความรัก ความศรัทธา

๒. ปิยวาจา การพูดจาที่สุภาพ รู้จักเลือกใช้วาจาที่ไพเราะอ่อนหวาน ผู้ฟังฟังแล้วสบายใจ อยากอยู่ใกล้ อยากคบค้าสมาคมด้วย มีความรับผิดชอบต่อคำพูดของตนเอง ตามภาษิตที่ว่า พูดเป็นนายใจเป็นบ่าวหมายความว่า ให้คิดก่อนพูด พูดแล้วต้องทำและปฏิบัติตามอย่างที่พูด เป็นแบบอย่างแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา

๓. อัตถจริยา การบำเพ็ญประโยชน์ต่อกันและกัน รู้จักแบ่งน้ำใจให้แก่มวลมิตร โดยเฉพาะกับผู้ใต้บังคับบัญชา น้ำใจแม้จะเพียงน้อยนิดก็ยังดีกว่าไม่มีไมตรีจิตเอาเสียเลย

๔. สมานัตตา วางตนเสมอต้นเสมอปลาย ไม่เสแสร้ง มีสัจจะ มีความยับยั้งและข่มใจ การมีความอดทน การเป็นผู้ให้และเป็นผู้รับที่ดี สิ่งต่าง ๆ เหล่านนี้จะช่วยให้สามารถครองผู้ใต้บังคับบัญชาได้

การครองคนยังรวมถึงผู้บังคับบัญชาต้องมีความสามารถในการติดต่อสัมพันธ์กับผู้อื่นโดยเฉพาะผู้ใต้บังคับบัญชา สามารถจูงใจให้เกิดการยอมรับและให้ความร่วมมือในการทำงาน  โดย

            ๑. สามารถประสานสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจอันดีกับผู้บังคับบัญชา  เพื่อนร่วมงาน  ผู้ใต้บังคับบัญชา  มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี  กล้าและรับผิดชอบในสิ่งที่ได้กระทำ   

            ๒. ความสามารถในการร่วมทำงานเป็นร่วมกับผู้อื่น  สามารถจูงใจให้เกิดการยอมรับและให้ความช่วยเหลือ สามารถให้ความเห็น ให้คำปรึกษาและเสนอแนะในงานที่ตนรับผิดชอบ มีส่วนร่วมในงานที่รับผิดชอบ ยอมรับและฟังความคิดเห็นของผู้ร่วมงาน สามารถในการคิดและเสนอเหตุผล สามารถปฏิบัติงานเต็มที่ตามความรู้ความสามารถ และเปิดโอกาสให้ทุกคนร่วมแสดงความคิดเห็น

            ๓. มีความเป็นธรรมทั้งต่อตนเองและต่อผู้อื่น ประพฤติและปฏิบัติตรงตามหลักเกณฑ์ กฎ  ระเบียบ  ที่การกำหนด ถือประโยชน์ของทางราชการหรือส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ตัดสิน  วินิจฉัย  หรือแก้ปัญหาโดยใช้เหตุผลและเป็นแบบอย่างที่ดีของผู้ใต้บังคับบัญชา

            ๔. เสริมสร้างความสามัคคีในหมู่คณะทั้งในและนอกหน่วยงาน        

 

ผู้บังคับบัญชาที่สามารถครองตนและครองคนได้แล้วจะต้องสามารถครองงานได้ด้วย นั่นคือ สามารถปฏิบัติงานในหน้าที่และงานที่ได้รับมอบหมายอย่างได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับผู้ใต้บังคับบัญชา โดย

            ๑. มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ รู้จักศึกษา  ค้นคว้า  หาความรู้ที่จำเป็นอยู่เสมอ ตั้งใจปฏิบัติงานให้สำเร็จ สนใจและเอาใจใส่งานที่รับผิดชอบ ปฏิบัติงานในหน้าที่ความรับผิดชอบและที่ได้รับมอบหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ให้ความร่วมมือและช่วยเหลือในการปฏิบัติงาน

            ๒. มีความรู้  ความสามารถ  และความพึงพอใจในงานของตน  มีความรู้และเข้าใจในหลักเกณฑ์  วิธีการ  ระเบียบ  กฎ  ข้อบังคับ  มติ  กฎหมาย  และ นโยบาย มีความสามารถในการนำความรู้ที่มีอยู่ไปใช้ในการปฏิบัติงานได้เป็นอย่างดี สามารถในการแก้ปัญหาและมีปฏิภาณไหวพริบ รักและชอบที่จะปฏิบัติงานในหน้าที่ความรับผิดชอบ 

            ๓. มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และปรับปรุงงาน มีความสามารถในการคิดริเริ่ม  หาหลักการ  แนวทาง  วิธีการใหม่ ๆ  มาใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติงาน สามารถในการปรับปรุงงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น มีความสามารถในการทำงานที่ยาก หรืองานใหม่ให้สำเร็จเป็นผลดี

            ๔. ความพากเพียรในการทำงาน  และมีผลงานที่เป็นที่น่าพอใจ มีความกระตือรือร้น ต้องการที่จะปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายจนสำเร็จ มีความขยันหมั่นเพียร  เสียสละ  และอุทิศเวลาให้แก่ทางราชการหรืองานที่รับผิดชอบ  ได้รับการยกย่องในความสำเร็จของงาน สามารถปฏิบัติงานในภาวะที่มีข้อจำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ  เช่น  ขาดแคลนวัสดุ  อุปกรณ์  หรือ  อัตรากำลัง  เป็นต้น

            ๕.  การคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมและประชาชน การดำเนินงานสอดคล้องหรือเป็นไปตามความต้องการของส่วนรวม ใช้วัสดุ  อุปกรณ์และสาธารณูปโภคได้อย่างประหยัดและเหมาะสมร่วมมือ  ช่วยเหลือ  และประสานงานระหว่างราชการกับประชาชน

การคิดครองใจลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชานั้นต้องดูแลเขาเหมือน ลูกเหมือน น้องต้องให้ความเมตตา และรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา  ต้องเข้าไปครองใจ โดยถือว่าเขาเป็นลูก ถือว่าเขาเป็นน้อง แล้วประคับประคอง สร้างงาน สร้างบุญ สร้างความดีร่วมกัน ส่งผลให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่องค์กรและประเทศชาติต่อไป

 

........................................................

คนึงนิจ อนุโรจน์

คำสำคัญ (Tags): #hrd
หมายเลขบันทึก: 249248เขียนเมื่อ 18 มีนาคม 2009 10:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2013 09:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เอาธรรมะเป็นที่ตั้ง

สาธุ

555

ตอนที่ดิฉันเรียน HRD

อาจารย์สอนพื้นฐาน HRD เป็นเรื่องของการพัฒนาตนเอง ท่านสอนว่าต้องพัฒนาศิล สมาธิ ปัญญา ตอนเรียนเเรก ๆ ก็งงดีค่ะ เพราะโดยพื้นฐานดิฉันเป็นคาทอลิก ไม่ค่อยลึกซื้งเรื่องนี้ แต่เรียนไป เรียนมา บรรลุค่ะว่าศิล สมาธิ ปัญญาเป็นตัวพัฒนาพฤติกรรมของบุคคล เมื่อเกิดปัญญาก็จะพัฒนาสัมมาทิฏฐิ จะทำให้เกิดการพูดการกระทำที่ถูกต้องดีงาม สามารถดับทุกข์และแก้ปัญหาได้

น่าทึ่งไหมค่ะ อย่าดูถูกธรรมะเชียวนะคะ

ใช้อยู่ประจำค่ะ แต่เห็นแจ้งเห็นธรรมในวันนี้ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท