เรียนรู้หลักสูตรการจัดการสิ่งแวดล้อมกับศูนย์การเรียนรู้ชุมชน


                เวทีพัฒนาแกนนำศูนย์การเรียนรู้ชุมชนสัญจรครั้งนี้ได้ชวนกันแวะเวียนไปที่ศูนย์เรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพชุมชนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ต.ไชยสถาน อ.เมือง จ.น่าน ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2552 และศูนย์การเรียนรู้กลุ่มออมทรัพย์วังฆ้อง ต.ถืมตอง อ.เมือง จ.น่าน วันที่ 1 มีนาคม 2552 ซึ่งเป็นการสัญจรครั้งที่ 4 แล้ว ในโครงการพัฒนาศักยภาพชุมชนในการจัดการสิ่งแวดล้อมศึกษา จังหวัดน่าน ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิฮักเมืองน่าน ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม

                คนที่เข้าร่วมเวที ก็ขาประจำเช่นเคย คือ 7 ศูนย์การเรียนรู้ (โจ้โก้  ไชยสถาน วังฆ้อง อรัญญาวาส ดอนมูล ทุ่งฆ้อง และเรือง) 3 โรงเรียน (ศรีนาป่าน ศรัทธาศิลาเพชรรังสรรค์ และศรีนครน่าน)

                โดยวันแรกได้เรียนรู้ที่ศูนย์เรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพชุมชนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง กับหลักสูตรไอ้รถถัง 4 in 1 (ซึ่งมันก็คือ เตาเผาถ่าน นั่นเอง แต่เป็นเตาเผาถ่านที่ได้มากกว่าถ่าน คือ ได้ทั้งถ่าน น้ำส้มควันไม้ น้ำมันหอมระเหย และช่วยในการประหยัดเวลา และพลังงาน) ึ่งการเรียนรู้ในวันนี้ได้ทั้งความรู้ที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของศูนย์ แนวคิดในการทำไอ้รถถัง 4 in 1 วิธีการประกอบ (แต่ละศูนย์ได้ลงมือปฏิบัติจริง และยังมีชุดอุปกรณ์ที่ให้แต่ละศูนย์นำกลับไปทดลองทำที่ชุมชนของตนเองอีกด้วย) หลังจากที่ได้ทดลองทำ ได้แลกเปลี่ยนความรู้กันอย่างเต็มที่ ตอนกลางคืนได้มีตัวแทนของแต่ละศูนย์ แต่ละโรงเรียน จำนวน 15 คน อาสาที่จะมานั่งถกกันถึงความรู้ที่ได้รับจากการถ่ายทอดของศูนย์เจ้าภาพ ซึ่งหลังจากนั้นจะนำเอาความรู้ที่ช่วยกันถอด กลับไปเผยแพร่ขยายต่อทั้งพูดคุยในวิทยุชุมชน และลงเวปไซต์ต่างๆ

               

               วันที่สองได้เดินทางต่อไปอีกประมาณ 4 กิโลเมตร ก็ถึงศูนย์การเรียนรู้กลุ่มออมทรัพย์วังฆ้อง ที่นี่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการผลิตถั่วเหลืองอินทรีย์ซึ่งเป็นอีกหลักสูตรหนึ่งที่ศูนย์ฯ ได้วางไว้โดยหวังว่าจะเป็นแนวทางในการที่จะช่วยกันลดการใช้สารเคมี นำมาซึ่งการช่วยกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมภายในชุมชน ซึ่งถั่วเหลืองถือได้ว่าเป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนแถบตำบลถืมตอง รองลงมาจากข้าวนา โดยหลักสูตรนี้ทางแกนนำได้ทดลองทำเป็นปีแรก ซึ่งมี 3 ทหารเสือ (ดาบตำรวจสถิตย์ เสาร์แดน คุณจำเนียร  ใจคง และคุณเจด็จ  เสริฐศรี) ที่ได้ตัดสินใจนำพื้นที่ตัวเองคนละ 2 ไร่ มาทดลองปลูกถั่วเหลืองอินทรีย์ แต่ละท่านได้มีการเก็บข้อมูลในแต่ละช่วง และจะสรุปผลหลังจากการเก็บเกี่ยวภายในเดือนมีนาคม 2552 นี้

                กระบวนการถ่ายทอดมีทั้งการเล่าเรื่องราวความเป็นมาของชุมชน และศูนย์ฯ หลังจากนั้นเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับถั่วเหลือง ทั้งการคัดพันธุ์ การทดสอบความงอก การปลูก การดูแล การเก็บเกี่ยว นอกจากนั้นผู้เข้าร่วมยังได้มีการแบ่งกลุ่มกัน เพื่อลงศึกษาของจริงในแปลงทดลองทั้ง 3 แปลงอีกด้วย

 

เรื่องเล่าดีๆ จากคนที่เข้าร่วมกระบวนการ

โดย พรทิพย์  บุญช่วย และสุนิสา  โทปุรินทร์ อาสาสมัครจากศูนย์การเรียนรู้โจ้โก้

 

                เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธุ์ 2552 ได้เข้าร่วมเวทีแกนนำศูนย์สัญจร ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์เรียนรู้เพื่อสร้างศักยภาพชุมชนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ต.ไชยสถาน บรรยากาศตอนเช้าๆ เย็นสบาย เจ้าภาพต่างเตรียมงานกันอย่างขะมักเขม้น พื้นที่ของศูนย์ฯ มี 2 ฝั่ง ฝั่งที่ศูนย์ตั้งอยู่ประกอบด้วยสระปลา แปลงผักต่างๆ รวมถึงลำน้ำเล็กๆที่มีสายน้ำไหลเอื่อยๆ ซึ่งเป็นที่ตั้งของกังหันวิดน้ำสาธิตที่เจ้าหน้าที่ในศูนย์ฯได้สร้างขึ้น  อีกฝั่งหนึ่งคือสวนผักที่ประกอบด้วยผักบุ้ง ถั่วฝักยาว คื่นช่ายเป็นต้น โดยผักที่ปลูกทั้งหมดเป็นผักปลอดสารพิษ

                เวลาสายๆ เมื่อผู้เข้าร่วมต่างทยอยมาถึงจึงมีการกล่าวต้อนรับและเริ่มกระบวนการถ่ายทอดความรู้ โดยเป็นการถ่ายทอดผ่านการปฏิบัติจริง ซึ่งมีวัสดุอุปกรณ์ในการทำ ไอ้รถถัง 4 in 1ให้แต่ละศูนย์ และโรงเรียน กลุ่มละ 1 ชุด เพื่อให้ได้ปฏิบัติจริงและสามารถนำกลับไปใช้ที่ศูนย์ฯของตนได้ จากนั้นวิทยากรก็พาไปรู้จักกับเตาเผาถ่านไอ้รถถัง 4 in 1ของจริงที่กำลังเผาถ่านอย่างขะมักเขม้นในสวน มีการแลกเปลี่ยน ซักถามกันอย่างสนุกสนาน

                ช่วงบ่ายมีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น และตอบประเด็นสงสัยกันอีกครั้งเพื่อทำความเข้าใจร่วมกัน แต่มีการให้โจทย์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ร่วมกันคิดและมานำเสนอ เมื่อแดดร่มลมตกวิทยากรก็พาไปดูแปลงผักปลอดสารพิษที่มีผักเขียวชอุ่มอยู่เต็มไปหมด รวมถึงสาธิตการปล่อยน้ำผสมกับน้ำส้มควันไม้ไปตามท่อส่งน้ำเพื่อให้น้ำกระจายสู่พืชผักในสวนอย่างทั่วถึง โดยตัวแทนจากแต่ละศูนย์ต่างจะนำกลับไปทำที่ศูนย์ของตน จากนั้นจึงแยกย้ายกันไปพักผ่อน

                ช่วงหัวค่ำมีการสรุปความรู้ที่ได้รับในวันนี้โดยใช้วิธีการจัดการความรู้(KM : Knowledge Management) ผลที่ได้แบ่งเป็นสองส่วนคือ

1. ความรู้เรื่องน้ำส้มควันไม้ ตั้งแต่ขั้นตอนการสร้าง “ไอ้รถถัง 4 in 1”จนถึงการผลิตน้ำส้มควันไม้

                - ชนิดของไม้ในการทำน้ำส้มควันไม้ ไม้สะเดาใช้ทำน้ำส้มควันไม้ได้ประสิทธิภาพสูงที่สุด

                - ไม้ทุกชนิดสามารถนำมาทำเผาได้ ยกเว้นไม้นุ่นและไม้สัก

                - การใช้ขนาดของไม้ ใช้ไม้ที่มีความยาวเท่ากับถัง

                - น้ำมันทาร์เป็นน้ำมันดินและเกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่บริสุทธิ์

                - การเรียงไม้ในเตาต้องเรียงจากน้อยไปหาใหญ่

                - น้ำส้มควันไม้ต้องเก็บหลังจากเกิดควันบ้าเสร็จสิ้นแล้ว

                - เมื่อทิ้งน้ำส้มควันไม้ไว้ 3 เดือน จะเกิดการตกตะกอนเป็น 3 ชั้นคือ

                                ชั้นบนสุดคือน้ำมันเบา

                                ชั้นกลางคือน้ำส้มควันไม้

                                ชั้นล่างสุดคือน้ำมันทาร์

-          การจุดไฟข้างหน้าเตาทำให้ความร้อนจากข้างนอกเข้าไปแทนที่อากาศเย็นที่อยู่ข้างในเตา  ทำให้เกิดการอบ

2. ประโยชน์ของน้ำส้มควันไม้ ข้อควรระวังและการนำไปใช้

                - น้ำส้มควันไม้รอการใช้งานประมาณ 3 เดือน

                - น้ำมันทาร์สามารถกำจัดปลวกได้

                - น้ำส้มควันไม้ทำให้แมลงไม่สามารถสืบพันธุ์ได้

                - น้ำส้มควันไม้จะช่วยยับยั้งไม่ให้หนอนเป็นดักแด้ได้

                - ในการปลูกผักสามารถใช้น้ำส้มควันไม้ไล่แมลงได้

                - น้ำส้มควันไม้ใช้ไล่แมลงได้และใช้ย่อยสลายใบไม้ได้เช่นกัน

                - การใช้ปากชิมน้ำส้มควันไม้จะทำให้ปากบวมเพราะน้ำส้มควันไม้มีฤทธิ์เป็นกรด

 

วันที่สองของการเรียนรู้ เมื่อทานอาหารเช้าเสร็จก็เดินทางไปยังศูนย์การเรียนรู้กลุ่มออมทรัพย์วังฆ้องเพื่อเรียนรู้กับศูนย์นี้ต่อ เมื่อไปถึงถิ่นปลูกถั่วเหลืองจึงได้รับการต้อนรับโดยการเล่นเกมส์กินนมถั่วเหลือง แรกๆมีคนที่ได้กินนมถั่วเหลืองแค่ไม่กี่คน แต่สุดท้ายทุกคนก็ได้กินนมถั่วเหลืองเหมือนกันทุกคน  กระบวนการถ่ายทอดความรู้เริ่มจากคุณจำเนียร   ใจคง ประธานศูนย์การเรียนรู้กลุ่มออมทรัพย์วังฆ้อง เล่าถึงประวัติศาสตร์ชุมชน ประวัติของกลุ่มและประวัติการปลูกถั่วเหลือง โดยมีสมาชิกในกลุ่มช่วยเพิ่มเติม เสริมข้อมูลต่างๆ เป็นระยะ ผู้เข้าร่วมก็ส่วนร่วมโดยการซักถามข้อข้องใจ เพื่อให้ได้คำตอบร่วมกัน เมื่อเวลาใกล้เที่ยงจึงแยกย้ายไปดูแปลงถั่วเหลืองตัวอย่างที่มีให้เลือก 3 แปลงตามความสนใจ จากนั้นจึงกลับมาสรุปแลกเปลี่ยนความรู้กันในช่วงบ่าย เมื่อซักถามกันแล้วจึงสรุปส่งท้ายโดยคุณสำรวย   ผัดผลประธานมูลนิธิฮักเมืองน่าน

สองวันในการเข้าค่ายครั้งนี้ถือว่าคุ้มสุดๆ กับประสบการณ์และความรู้เรื่องต่างๆที่ได้รับ หากมีการนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ก็จะถือว่าไม่เสียเปล่าที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ส่วนเวทีศูนย์สัญจรครั้งต่อไปจะจัดที่ใดนั้น คงต้องติดตามกันต่อไป

 

ขอขอบคุณ

พี่หนานเอ พี่รินทร์ น้องบี ต้น โม และเอ็ม         แกนนำศูนย์เรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

แกนนำศูนย์การเรียนรู้ 7 ศูนย์

แกนนำเยาวชนในโรงเรียน 3 โรง

ทีมพี่น้องฮักเมืองน่านทุกคนที่ร่วมกันจัดกระบวนการเรียนรู้

 

 

บัวตอง   ธรรมมะ

เล่าเรื่องจาก “เวทีพัฒนาแกนนำศูนย์การเรียนรู้ชุมชนสัญจร”

โครงการพัฒนาศักยภาพชุมชนในการจัดการสิ่งแวดล้อมศึกษา จังหวัดน่าน

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม  2552

 

               

หมายเลขบันทึก: 248978เขียนเมื่อ 17 มีนาคม 2009 11:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • ดีใจที่ได้อ่าน ผมไม่ได้ร่วมเวทีด้วยแต่ก็ได้ตามมาเรียนรู้ผ่าน Blog นี้แหล่ะ
  • ถ้าจบเวทีสัญจรแล้วทุกศูนย์ อาจจะลองมาสรุปร่วมกันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจริงหลังได้เรียนรู้จริง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท