พัดชา
สุภัสตรา เก้าประดิษฐ์ ทรัพย์ชุกุล

"ความขัดแย้ง"


"การเงียบอาจเป็นทางออกที่ดี เมื่อถูกนำมาใช้ในการแก้ไขความขัดแย้งในบางเหตุการณ์ หรือบางเวลา แต่คนที่น่าเป็นห่วงก็คือคนที่ต้องทนเงียบตลอดเวลา"

วันนี้ได้อ่านข่าวซึ่งเรียบเรียงจาก New York Time จาก วิจัยพบ "ความขัดแย้ง" ทำลายสุขภาพภรรยาสูงกว่าสามี http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9520000029416

แม้จะเป็นเรื่องธรรมดาของครอบครัวที่จะเกิดความขัดแย้ง ความคับข้องใจ ความไม่เข้าใจกัน แต่ทางออกของคนก็มีแตกต่างกันไป หลายคนเลือกที่จะเงียบ หลายคนเลือกเดินหนีไปสงบสติอารมณ์ หรือบางคู่ก็เลือกการตะลุมบอน ทะเลาะกันรุนแรงหัวร้างข้างแตก ทำลายข้าวของเสียหาย ซึ่งวิธีการแสดงออกยามเกิดความขัดแย้งของคู่สามีภรรยาทั้งหลายเหล่านี้ ได้ถูกนักวิจัยของสหรัฐอเมริกานำมาวิเคราะห์ และพบความเชื่อมโยงบางประการกับปัญหาสุขภาพในระยะยาวด้วย
       
       ทั้งนี้ ในประเด็นที่ว่า ความถี่ในการเกิดความขัดแย้ง หรือต้นเหตุที่ทำให้เกิดความขัดแย้งนั้น ไม่มีผลต่อสุขภาพของทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย หากแต่เป็นการแสดงออก และแนวทางในการเยียวยาแก้ไขความขัดแย้งต่างหากที่ทำให้นักวิจัยจับจุดได้ถึง "โอกาส" ที่จะเกิดปัญหาสุขภาพตามมา
       
       จากการศึกษาคู่สามีภรรยาจำนวน 4,000 คนในรัฐแมสซาชูเสตต์ สหรัฐอเมริกา ในช่วงปี 2007 เกี่ยวกับวิธีที่พวกเขาใช้เมื่อต้องเผชิญหน้ากับความขัดแย้งกับคู่รัก และการแสดงออกซึ่งความรู้สึกของตนเองเมื่อความขัดแย้ง พบว่า 32 เปอร์เซ็นต์ของสามี และ 23 เปอร์เซ็นต์ของภรรยายอมรับว่า พวกเขามักจะอดทนอดกลั้น ไม่เปิดเผยความรู้สึกของตนเองให้อีกฝ่ายรับรู้
       
       นักวิจัยเรียกพฤติกรรมการไม่แสดงออกซึ่งความรู้สึกที่แท้จริงเหล่านี้ว่า "self-silencing" ซึ่งในผู้ชายแล้ว "self-silencing" เป็นยุทธวิธีในการสงบศึกที่เป็นอันตรายต่อคนรอบข้างน้อยที่สุด และไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพแต่อย่างใด แต่สำหรับผู้หญิงแล้วผลกลับตรงกันข้าม
       
       ผู้หญิงที่ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างที่ใจต้องการ อาจทำให้พวกเธอมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตมากกว่าผู้หญิงที่ได้แสดงออกถึงความรู้สึกนึกคิดของตนเองถึง 4 เท่า ไม่ว่าเธอคนนั้นจะมีความสุขในชีวิตสมรส หรือไม่มีความสุขในชีวิตสมรส

       
       "เมื่อผู้หญิงต้องสะกดกลั้นอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด และคำพูดของตนเองไว้ไม่ให้เกิดความขัดแย้งกับสามี จะทำให้เกิดผลในเชิงลบต่อสุขภาพของผู้หญิงในระยะยาว" Elaine Eaker นักจิตวิทยาหัวหน้าโครงการศึกษาวิจัยชิ้นนี้กล่าว "แต่เราไม่ได้หมายความว่า ผู้หญิงสามารถเกรี้ยวกราดได้อย่างอิสระ เราแค่จะบอกว่า ยังมีผู้หญิงอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องการโอกาส และความเสมอภาคในการโต้เถียงกับสามี"
       
       ดร. Dana Crowley Jack จากมหาวิทยาลัย Western Washington เป็นอีกหนึ่งนักวิจัยที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรม Self-Silencing ที่คู่สามีภรรยาใช้เมื่อเกิดความขัดแย้ง โดยพบว่านำไปสู่พฤติกรรมที่ผิดปกติของร่างกายอีกหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นโรคซีมเศร้า หรือพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติ รวมไปถึงโรคหัวใจด้วย
       
       "การเงียบอาจเป็นทางออกที่ดี เมื่อถูกนำมาใช้ในการแก้ไขความขัดแย้งในบางเหตุการณ์ หรือบางเวลา แต่คนที่น่าเป็นห่วงก็คือคนที่ต้องทนเงียบตลอดเวลา"
       
       นอกจากนั้น โทนในการแสดงความรู้สึกของสามีภรรยาที่ปรากฏในความขัดแย้งก็มีผลต่อสุขภาพด้วย โดยนักวิจัยจากรัฐยูทาห์ ได้ทำการศึกษาการทะเลาะกันของคู่สามีภรรยา 150 คู่เกี่ยวกับความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจจากสไตล์ของแต่ละคนในการโต้เถียงกัน ซึ่งคู่สามีภรรยาที่เข้าร่วมมีอายุประมาณ 60 ปี และทุกคนล้วนแต่แต่งงานกันมาแล้วไม่ต่ำกว่า 30 ปี และต้องไม่เคยมีสัญญาณของการเป็นโรคหัวใจปรากฏออกมาก่อน
       
       การวิจัยนี้พบว่า วิธีการที่คู่สามีภรรยาอาวุโสแต่ละท่านแสดงออกมีผลต่อการเกิดโรคหัวใจ พอ ๆ กับการสูบบุหรี่ หรือการมีคลอเรสเตอรอลในเลือดสูงเลยทีเดียว
       
       Timothy W. Smith นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยยูทาห์กล่าวว่า สำหรับผู้หญิงที่เป็นภรรยา การที่สามีเลือกจะโต้เถียงด้วยอารมณ์รุนแรง หรือ แสดงออกว่าเป็นฝ่ายตรงกันข้ามกับเธอมีผลรุนแรงที่สุดต่อสุขภาพของฝ่ายหญิง ขณะที่ระดับของความรุนแรงที่แสดงออกไม่มีผลต่อสุขภาพหัวใจของผู้ชาย แต่ความเสี่ยงต่อโรคนี้ของฝ่ายชายจะเพิ่มขึ้นเมื่อต้องใช้กำลังเพื่อควบคุมสถานการณ์ (ไม่จำกัดว่าผู้ใช้กำลังจะเป็นฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิง)
       
       "ความเห็นไม่ตรงกันในชีวิตคู่เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่อยู่ที่ว่าคุณควบคุมตนเองอย่างไรมากกว่า" ดร.สมิธกล่าวปิดท้าย
       
       เรียบเรียงจากนิวยอร์กไทม์

หมายเลขบันทึก: 248697เขียนเมื่อ 16 มีนาคม 2009 06:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 05:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท