60. มารู้จัก "แก่นคำสอน" ของศาสนาเชนกันเถอะ


ศาสนาเชนก็สอนเรื่อง "อหิงสา" ด้วย

 

ศาสนาเชน  (Jainism)

 

Jainism –is a Way of Life and  is truly a World Religion

 

“Non-violence is Supreme Religion.”

 การไม่เบียดเบียน คือ สัจจธรรมของศาสนา

 หลักแห่งการมีชีวิตอยู่เพื่อให้ชีวิต (ช่วยเหลือผู้อื่น) นี่คือหนทางการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

 

 

 ศาสนาเชน เป็นศาสนาที่เก่าแก่มากศาสนาหนึ่งทางซีกโลกตะวันออก  ถือกำเนิดที่ดินแดนชมพูทวีป ปัจจุบันคือประเทศอินเดียในราวปี ค.ศ. 599 หรือก่อนพุทธศักราช 58 ปี ศาสดาองค์สำคัญที่ได้รับการนับถือในปัจจุบันคือ พระมหาวีระ ซึ่งถือเป็นศาสดาองค์ที่ 24 ของศาสนาเชน องค์มหาวีระมิได้เป็นผู้ก่อตั้งศาสนาเชนแต่พระองค์เป็นผู้สืบทอดและปฏิรูปหลักคำสอนตลอดจนวิถีปฏิบัติเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นจากองค์ศาสดารุ่นก่อนทั้ง 23 องค์

 คำว่า "เชน" มาจากศัพท์ว่า "ชินะ" แปลว่า ชนะ มีนัยหมายถึงการเอาชนะภายใน คือ กิเลสของตนเอง ศาสนาเชนถือว่ากิเลสเป็นสิ่งเลวร้าย เพราะนำความทุกข์ ความวิบัติมาสู่ตนเองและผู้อื่น เช่น การทำสงครามหรือการเข่นฆ่าทำร้ายกัน เหตุปัจจัยของการกระทำเหล่านี้ก็เนื่องมาจากอำนาจของกิเลส  นอกจากนี้กิเลสยังเป็นเหตุแห่งการเวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จบสิ้น

 องค์มหาวีระทรงสั่งสอนมนุษย์ผู้ให้เกิดปัญญาด้วยหลักแห่งการดำเนินชีวิต 5 ข้อ คือ

 1.  อหิงสา (Ahimsa: Non-violence) คือ การไม่เบียดเบียนกันและมีเมตตากรุณาเอื้ออาทรต่อกันทั้งทางกาย วาจา ใจ การไม่เบียดเบียน หมายถึงการไม่ทำให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อนหรือความทุกข์ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น การไม่เข่นฆ่าทำร้ายชีวิตมนุษย์และสัตว์  หรือ การพูดและการคิดที่ไม่บริสุทธิ์   นอกจากนี้ผู้นับถือศาสนาเชนยังบริโภคอาหารมังสวิรัตอย่างเคร่งครัด  และหลีกเลี่ยงอาหารมังสวิรัตบางชนิดที่อาจทำให้เกิดการเบียดเบียนชีวิตพืชและสัตว์ เช่น ผลไม้ที่มีเมล็ดพันธุ์มาก  ผลไม้ที่มีราก  น้ำผึ้ง  นม  ไข่ ฯลฯ หลักแห่งการอหิงสาอีกข้อหนึ่งคือการให้ผู้ที่นับถือศาสนานี้ละเว้นอย่างเด็ดขาดในการประกอบอาชีพที่อาจก่อให้เกิดการเบียดเบียนมนุษย์และสัตว์  รวมไปถึงพืชพันธุ์นานาชนิด เช่น อาชีพเกษตรกรรม  ปศุสัตว์ การค้าอาวุธ หรืออาชีพพาณิชยกรรม อุตสาหกรรมที่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น สรรพสัตว์และธรรมชาติอื่นๆ เป็นต้น

 2. อมุสาวาท (Truthfulness) การไม่พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ พูดโอ้อวด หลักการนี้ได้แก่การพูดแต่ความจริงและการไม่ใช้คำพูดเพื่อทำร้ายและเบียดเบียนผู้อื่น

 3.     อทินนาทาน (Non-stealing) การไม่ลักขโมยเอาสิ่งที่ผู้อื่นหวงแหนและไม่ได้ให้ด้วยความเต็มใจ รวมทั้งไม่ฉ้อโกง ไม่ขูดรีด กรรโชก ทุจริตด้วยเหตุผลใดๆ การลักขโมยถือเป็นสาเหตุแห่งการเบียดเบียนผู้อื่นโดยตรง ข้อปฏิบัตินี้ยังรวมไปถึงการมิควรหยิบของของผู้อื่นมาใช้โดยมิได้รับอนุญาตจากผู้ที่เป็นเจ้าของ

 4.     พรหมจรรย์ หรือ พรหมจริยา  (Chastity) การประพฤติพรหมจรรย์ คือ การประพฤติตนในหลักแห่ง เมตตา กรุณา และการยึดมั่นพอใจในคู่ครองของตน รวมไปถึงการดำรงตนให้บริสุทธิ์ด้วย กาย วาจา ใจ หลักปฏิบัติข้อนี้สำหรับนักบวชเชน คือการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ออกจากกามโภคี แต่สำหรับฆราวาส คือการมีความพอใจในคู่ครองของตน

 5.     สันโดษ หรือ สมชีวิตา (Aparigrah: Non-possessiveness) การใช้ชีวิตให้พอเหมาะ ไม่โลภอยากได้ในสิ่งที่ไม่ควรได้รับ นอกเหนือจากความสมเหตุสมผล ศาสนาเชนเป็นศาสนาที่สอนให้มนุษย์ลดละความต้องการทางวัตถุและทรัพย์สิน และไม่พึงปรารถนาสิ่งใดจนเกินควร การไม่ยึดติดในสิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นเหตุให้ผู้ละมีจิตใจที่สะอาด บริสุทธิ์ และเป็นหนทางที่จะนำไปสู่การหลุดพ้นในเบื้องหน้า

 ทัศนคติและความเชื่อในศาสนาเชน

 ศาสนาเชนเชื่อว่าโลกและจักรวาลไม่มีจุดเริ่มต้นและจุดจบ ปฏิเสธทัศนะเรื่องการสร้างโลกและความเชื่อเรื่องพระเจ้า ศาสนาเชนเชื่อเรื่องกรรมและการเกิดใหม่ ทัศนคติที่ผู้นับถือศาสนาเชนยึดถือและปฏิบัติคือ การมีชีวิตอยู่เพื่อให้ชีวิต (ช่วยเหลือผู้อื่นและสรรพสิ่ง)  ( live and let live)  องค์มหาวีระทรงสอนว่า เราคือมนุษย์ ดังนั้นเราจงใช้ชีวิตในการช่วยเหลือผู้อื่น เมื่อพระองค์กล่าวเช่นนี้ มิได้หมายถึงเพียงแค่การช่วยเหลือชีวิตมนุษย์เท่านั้น แต่พระองค์ทรงหมายถึงสรรพชีวิตทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์ รวมไปถึงพืชพันธุ์ อากาศ ดิน น้ำ ลม ไฟ ฯลฯ หลักอหิงสาในศาสนาเชนเชื่อว่าทุกอณูพื้นที่เต็มไปด้วยชีวิต ชีวิตทุกชีวิตมีความเท่าเทียมกัน ศาสนาเชนสอนว่า ธาตุธรรมชาติทั้งหลายที่เป็นแหล่งก่อกำเนิดชีวิต  ธาตุธรรมชาติเหล่านี้มีความเป็นชีวิตอยู่เช่นกัน ดังนั้น เราจึงควรเคารพธรรมชาติและไม่เบียดเบียนสิ่งเหล่าouh

 ในทางปรัชญา เสาหลัก 3 ข้อที่ศาสนาเชนถือเป็นพื้นฐานสำคัญต่อความเชื่อ คือ

 1. หลักอหิงสา (Ahimsa) หลักแห่งการไม่เบียดเบียน

 2. ปริจาคะ / อนุปาทาน  (Aparigraha)  คือ การรู้จักเสียสละ เอื้อเฟื้อต่อผู้อื่นตามสมควร รู้จักแบ่งปัน และการไม่ยึดติดในวัตถุหรือสิ่งรอบกายจนกลายเป็นความเดือดร้อน ปรัชญาเชนสอนให้มนุษย์รู้จักประมาณความต้องการและความปรารถนาของตนเอง การไม่ยึดติดในที่นี้หมายถึง การไม่ยึดติดในวัตถุอันเป็นทรัพย์สมบัติและความเป็นบุคคล (รูป สี เสียง กลิ่น รส) ศาสนาเชนเชื่อว่าความต้องการในวัตถุและความยึดติดเป็นเหตุแห่งทุกข์ การลดละความต้องการถือเป็นหนทางแห่งการละซึ่งกิเลส อันเป็นไปในทางพ้นทุกข์ อีกทั้งยังนำความสุขสงบมาสู่โลกอีกด้วย

 3. อเนกวาทะ หรือ นานาจิตตัง (Anekantvaad) หรือ (Syadvaad)  ทัศนะการมองโลกแบบสัมพัทธ์ คือ การรับฟัง และพิจารณาว่ามีความจริงในความเชื่อหรือทัศนะของบุคคลอื่นที่ต่างกับของเรา ข้อนี้นำไปสู่การยอมรับในตัวตนและความคิดของปัจเจกบุคคล (Individual) และการเปิดใจไม่ปิดกั้นทัศนะที่แตกต่างจากความคิดตน  ปรัชญาอเนกวาทะนี้เห็นว่าสัจจธรรมมีลักษณะซับซ้อนและหลากหลาย  ทัศนะของเราที่มองหรือเข้าใจความจริงถือเป็นทัศนะในลักษณะของปัจเจกบุคคลที่ขึ้นอยู่กับความเชื่อดั้งเดิมและประสบการณ์ส่วนตัว  ดังนั้นจึงเป็นไปได้ที่จะมีความคิด  ความเชื่อ หรือทัศนะอื่นๆ ที่แตกต่างจากเราที่มีความถูกต้อง ความดี ความงาม และความจริง   เช่นกัน  หลักการมองโลกในลักษณะสัมพัทธ์นี้  ถือเป็นทัศนะที่หลีกเลี่ยงการเชื่อแบบฝังหัวและความมีทิฐิว่าทัศนะของตนถูกต้องแต่ฝ่ายเดียว   นอกจากนี้ปรัชญาอเนกวาทะนี้ยังนำมาสู่ขันติธรรม และความประนีประนอมในความสัมพันธ์ต่อบุคคลอื่น  และเป็นพื้นฐานที่ดีต่อการเผชิญหน้ากับทัศนะที่หลากหลาย (พหุนิยม –Pluralism ) จากความคิดของคนหลายกลุ่ม ในมิติทางศาสนาแล้ว อเนกวาทะหรือทัศนะการมองโลกแบบสัมพัทธ์นี้นับได้ว่าเป็นอหิงสา หรือการไม่เบียดเบียนผู้อื่นโดยแท้ ทั้งทางความคิด ความรู้สึก และทางใจ

 ไตรรัตน์ คือ คุณค่าแห่งชีวิต 3 ประการ (The Three Jewels):

  คุณค่าแห่งชีวิต 3 ประการ  ถือเป็นหลักปฏิบัติที่นำไปสู่ความหลุดพ้นจากวัฏสงสาร และเอาชนะกรรม

 1.  สัมมาทัศนะ/สัมมาทิฏฐิ (Right Faith) 

 การมีความเห็นถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ไม่ผิดเพี้ยนไปจากเหตุผลและความเป็นจริง          

คือ การสามารถแยกแยะมองเห็นสิ่งต่างๆว่าสิ่งใดหรือการกระทำใดถูกต้องและไม่ถูกต้อง

 2. สัมมาสังกัปปะ (Right Knowledge) 

 ได้แก่ การมีความรู้ที่ถูกต้องตามความเป็นจริงคือ รู้ว่าสิ่งไหนเป็นโทษ สิ่งไหนเป็นประโยชน์ สิ่งไหนจริง สิ่งไหนเท็จ คือการมีความรู้ที่จะทำให้จิตวิญญาณมีความสะอาด บริสุทธิ์ เช่น การรู้ว่าความต้องการวัตถุในทางโลกและการยึดติดเป็นเหตุแห่งความทุกข์และการติดข้องอยู่ในวัฏสงสาร (การเวียนว่ายตายเกิด)

 3. อาชีวะปาริสุทธิ  (Right Conduct) 

 ได้แก่ ความหมดจดแห่งการใช้ชีวิต คือ การปฏิบัติตนอยู่ในหลักแห่งความถูกต้อง ความเหมาะสมและความดีตลอดเวลา ไม่ทำกิริยาใด ๆ ที่จะทำให้ตัวเองและผู้อื่นได้รับความเดือดเนื้อร้อนใจทั้งต่อหน้าและลับหลังตามทัศนะของเชนการปฏิบัติตนอยู่ในหลักแห่งความถูกต้องคือการปฏิบัติตามหลักคำสอนของศาสนา โดยเฉพาะเรื่องการไม่เบียดเบียน บุคคลใดมีความเห็นและความรู้ที่ถูกต้องแล้ว  เขาย่อมมีการกระทำที่ถูกต้อง ในทางตรงกันข้าม บุคคลใดปราศจากความเห็นและความรู้ที่ถูกต้อง การกระทำที่ถูกต้องย่อมมิอาจที่จะเกิดขึ้นได้เช่นกัน

 หลักแห่งการบริจาค

 การครอบครองวัตถุหรือสิ่งของจนเกินความพอดีถือเป็นสิ่งที่ผู้นับถือศาสนาเชนพึงตระหนักและลดละเสีย หรือกระทำให้น้อยที่สุด การให้ทาน หรือบริจาคสิ่งของ แบ่งปันสิ่งของแก่ผู้ที่ด้อยโอกาส  หรือดำเนินงานการกุศลต่างๆให้แก่โรงพยาบาล  โรงพยาบาลสัตว์  โรงเรียน   ผู้พิการ  บ้านพักคนชรา  และสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า ฯลฯ ถือเป็นหน้าที่ส่วนหนึ่งของผู้นับถือศาสนาเชนอันเป็นไปตามหลักคำสอนของศาสนา คือ การมีชีวิตอยู่เพื่อให้ชีวิต (ช่วยเหลือผู้อื่น) เมื่อเรามีคุณภาพชีวิตที่ดีแล้ว สิ่งหนึ่งที่ต้องตระหนักถึงคือ การมีคุณภาพชีวิตที่ดีของบุคคลอื่นเพื่อสังคมและโลกที่ดี      

 

 ¯ 

 Some useful Jain Links:

 http://www.jainworld.com

 http://www.atmadharma.com

 http://www.terapanth.com

 http://www.cs.colostate.edu/~malaiya/jainhlinks.html

 http://www.jaintirth.com

 --------------------------

หลักสูตรปริญญาโทวัฒนธรรมและการพัฒนา เอกอินเดียศึกร่วมกับ International School for Jain Studies

 (ISJS) & Bangkok Jain Community จะจัดการอบมภาคฤดูร้อนฟรี เรื่องปรัชญาศาสนาเชน ระหว่างวันที่

22 เมษายน-14 พฤษภาคม 2552 ณ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล

ถนนพุทธมณฑลสาย 4

หมายเลขบันทึก: 248520เขียนเมื่อ 15 มีนาคม 2009 02:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณข้อมูลดีๆค่ะ

ได้อ่านเรื่องมงคลแต่เข้า

วันนี้คงจะมีความสุขทั้งวัน  อิอิ

ขอบคุณครับ อาจารย์โสภนา

ที่นำปรัชญา ศาสนาเชนมาเผยแพร่

ผมคิดว่า อเนกวาทะ หรือ นานาจิตตัง

นั้นคือกุญแจดอกนึง ที่จะนำไปสู่สันติภาพของโลกได้

ผมคิดว่ามันเป็นความเชื่อพื้นฐาน ของการทำ "สุนทรียสนทนา" ด้วยครับ

ผมเชื่อว่า ทัศนะของเราส่วนใหญ่ ล้วนจำกัด คับแคบ ตามบริบทของตัวเรา  จึงไม่มีประโยชน์อันใดที่จะมากถกเถียงเอาเป็นเอาตายในบริบทที่แตกต่างกัน

ผมคิดว่าเมื่อเรายอมเปิดใจ ยอมรับทัศนะที่แตกต่าง อันเนื่องมาจากความแตกต่างทางบริบท  เมื่อนั้นจึงจะเป็นจุดเริ่มต้นของสันติภาพที่แท้จริง

ความวุ่นวายทุกวันนี้เท่าที่ผมสังเกตดูส่วนใหญ่ก็มาจากความคิด ความเชื่อที่ว่า

ของฉันดีที่สุด

ของฉันถูกต้องที่สุด

เรียน คุณซาง ชุมแสง

       ใช่ค่ะ การเรียนรู้คำสอนของศาสนาอื่นเพื่อเปรียบเทียบให้เกิดความรู้ความเข้าใจก็เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตไม่น้อยนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท