ตอนที่ ๑๕ เรื่อง “ฉันๆ” ที่พระใหม่มักทำผิด และฆราวาสก็ไม่รู้


เวลาฉันในบาตร พระจะต้องดูแต่ในบาตรครับ จะมามองเหม่อ ตักข้าวเข้าปาก เคี้ยวแล้วเงยหน้าขึ้นมามองสีกา หรือญาติโยม หรือใจลอยไปไหน อย่างนี้ถือว่าไม่สำรวม ผิดวินัย

เรื่องการ “ฉัน” ของพระ ที่รู้ๆ กันอยู่คือห้ามฉันหลังเที่ยงไปแล้ว จนถึงวันใหม่  ส่วนจะฉันมื้อเดียว หรือฉันสองมื้อ คือมื้อเช้ากับมื้อเพล ก็ได้  ถ้ากติกามีแค่นี้ก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่มันมีรายละเอียดสิครับ พระใหม่เลยทำผิดกันบ่อยๆ กลายเป็นเรื่องขำๆ ในหมู่พระใหม่ไป

                เรื่องแรกเลยที่ฆราวาสส่วนใหญ่ไม่รู้ ก็คือ พระ “ยืน” ฉันไม่ได้ครับ ต้อง “นั่ง” ฉัน ฟังดูไม่ยากใช่ไหมครับ

                ใช่ครับ สำหรับเวลาฉันอาหารก็คงผิดยาก เพราะส่วนใหญ่จะนั่งฉันอยู่แล้ว  (และถ้าฉันๆ ไปแล้วพระลุกขึ้น ก็ถือว่าฉันเสร็จแล้วนะครับ จะกลับมาฉันต่อไม่ได้ครับ)  

แต่ที่ผิดกันบ่อยเลยในวันแรกๆ  คือ การฉันน้ำครับ  หยิบขวดน้ำดื่ม เผลอยืนฉัน หรือหยิบกล่องน้ำผลไม้หรือกล่องนม เอาหลอดแทงปุ๊บ เข้าปากปั๊บ ยืนฉันอีกแล้ว  หยิบแก้วเทน้ำ ยกแก้ว  ยืนฉันอีกแล้ว

                สติดีขึ้นหน่อยวันที่สองที่สาม ขณะจะดูดน้ำจากหลอด นึกได้ ก็รีบนั่งลงพื้นเลยครับ แล้วก็ขำตัวเองว่า ไม่รู้จักจำ  

                เรื่องฉันน้ำนี้ วันหลังๆ แล้ว พระใหม่ที่ยังเผลอทำผิดก็มีครับ ถ้าขาดสติ บางทีเสวนากับพระด้วยกัน คอแห้ง ก็ไปหยิบน้ำมา เกือบจะยืนฉันอยู่แล้ว สติเตือน รีบนั่งทันก่อนแก้วจะจ่อปาก

                เรื่องฉันน้ำจึงเป็นเรื่องที่ช่วยฝึกสติไปในตัว  (พอสึกแล้ววันแรกๆ ผมยังติดนั่งฉันอยู่เลยครับ)

                ส่วนเวลาฉันอาหาร ที่วัดพระราม ๙ เช้า พระจะฉันในบาตร ส่วนเพลจะนั่งโต๊ะฉันกับข้าวในจาน

เวลาฉันในบาตร พระจะต้องดูแต่ในบาตรครับ  จะมามองเหม่อ ตักข้าวเข้าปาก เคี้ยวแล้วเงยหน้าขึ้นมามองสีกา หรือญาติโยม หรือใจลอยไปไหน อย่างนี้ถือว่าไม่สำรวม ผิดวินัย เวลาฉันในบาตรจึงเป็นเวลาฝึกสติอีกเหมือนกัน

อีกข้อหนึ่งคือ ไม่ขอดบาตร  ข้อนี้ผมมารู้ทีหลัง ทำผิดไปเพราะเราคิดว่าตักข้าวใส่บาตรมาแล้วก็พยายามจะกินข้าวให้เกลี้ยง ไม่อยากให้เหลือสักเม็ด กลายเป็นว่าที่เราพยายามตักข้าวเป็นการขอดบาตรไปเสีย

เวลาฉันอาหาร ก็มีวินัยบัญญัติว่า อย่าให้คำโตเกินไป  ไม่ฉันดังจับๆ  ไม่แลบลิ้น  ไม่เลียริมฝีปาก  ไม่พูดตอนมีข้าวในปาก  ไม่อ้าปากก่อนข้าวจะถึงปาก ฯลฯ

                หยุมหยิมมากเลยใช่ไหมครับ และก็น่าขำนะครับ คือแสดงว่าสมัยก่อนมีพระที่ฉันข้าวด้วยกิริยาไม่เรียบร้อยกันมาก จนถึงกับต้องบัญญัติแบบละเอียดยิบไว้เป็นวินัยเลยทีเดียว

แต่ทั้งหมดนี้ช่วยให้พระใหม่ได้ฝึกสติอย่างดี ต้องรู้เนื้อรู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่ ใจอยู่กับปัจจุบัน ไม่ใจลอยไปไหน  

ผมได้คิดว่าการมีกติกา ไม่ใช่เรื่องหยุมหยิมไร้สาระ แต่ถ้าเราเปิดใจยอมรับ มันก็คือการฝึกสติดีๆ นี่เอง  แล้วคนที่ไม่คำนึงถึงกติกา คิดว่าการมีอิสระเสรีทำได้ทุกสิ่งคือสิ่งสูงสุด แท้จริงแล้วก็คือคนขาดสติ ที่เอาแต่ทำตามอำนาจกิเลสของตนเอง จริงหรือไม่ครับ

หมายเลขบันทึก: 248514เขียนเมื่อ 15 มีนาคม 2009 00:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 07:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เรื่อง 1.การยืน ฉันน้ำ มีในพระวินัยข้อไหนครับ ? หรือเป็นระเบียบในประเทศไทย? 2. พระที่ฉัน แล้วลุกขึ้น จะกลับมานั่งฉันอีกไม่ได้ เฉพาะรูปที่ สมาทานธุดงค์ฉันในอาสนะเดียวเป็นวัตร หรือเปล่าครับ ส่วนในวินัยมีอยู่ในเรื่อง อะไรครับ? ขอบพระคุณมากๆๆครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท