ชีวิตของลุงแข่งบนพื้นฐานทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง


ประโยคสุดท้ายลุงพูดก่อนเลี้ยวรถมาจอดหน้าสถานีให้เราขึ้นรถได้สะดวก “ถ้าคนเรารู้จักพอก็มีความสุข”
ปกติการเดินทางกลับจาการปฏิบัติงานที่ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยกาญจนบุรี ของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ณ กาญจนบุรี ที่ไทรโยคนั้น จะใช้รถบริการของศูนย์ฯ แต่เมื่อเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมที่ผ่านมา เป็นช่วงของเก็บข้อมูลงานสนาม ทำให้ต้องเดินทางกลับศาลายาด้วยรถประจำทาง แต่ศุกร์นี้ (2 ธันวาคม 2548) โชคดีเพราะได้มากับรถเช่าที่มารับอุปกรณ์สำหรับการเก็บข้อมูล และรับเราไปส่งที่สถานีขนส่ง ซึ่งอยู่ในอำเภอเมือง
 
ได้นั่งคู่กับลุงคนขับผู้เป็นเจ้าของรถอายุราว 50 ปี แววตาใจดี พอรถเริ่มออกจากศูนย์ฯ บทสนทนาก็เริ่มขึ้น ลุงเล่าว่าขับรถให้พนักงานสัมภาษณ์เก็บข้อมูลมา 4 ปีแล้ว ซึ่งใช้เวลาปีละประมาณ 2 เดือน จนตอนนี้สร้างบ้านได้หลังหนึ่ง ลุงเล่าว่าพอเสร็จงานแต่ละปี ก็ซื้ออุปกรณ์สำหรับสร้างบ้านเก็บไว้ ปีหนึ่งซื้อหน้าต่าง พอได้เงินมาอีกก็ซื้อปูน อดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมไม่รอเก็บเงินให้พอก่อนแล้วค่อยสร้างบ้าน เพราะเกรงว่าบานหน้าต่างจะโดนปลวกจัดการไปเสียก่อน ลุงบอกว่ามีเงินก็ซื้อเก็บไว้เลยเดี๋ยวของจะแพงขึ้นอีก แกขอบอกขอบใจ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ที่ช่วยแกสร้างบ้านได้สำเร็จ จากนั้นเรื่องราวต่างๆก็พรั่งพรู
 
ครอบครัวลุงมีพี่น้อง 13 คน มีอาชีพทำนามาตั้งแต่รุ่นปู่ย่า ตายาย ไม่คิดจะไปทำอย่างอื่นเพราะไม่ชอบให้คนอื่นมาเป็นนาย แกทำนาเป็นนายตัวเอง ไม่มีใครมาสั่ง สบายใจดี ข้าวที่ปลูกบนที่นายี่สิบกว่าไร่ ปีละ 2 ครั้ง ส่วนหนึ่งเก็บไว้กินได้ตลอดปี ที่เหลือก็ขายได้เป็นเงินค่าใช้จ่ายในครอบครัว ญาติพี่น้องคนอื่นๆ ส่วนใหญ่ก็ทำนา น้องชายของลุงหัวคิดก้าวหน้า มีอยู่ปีหนึ่งน้องชายเรียกใช้บริการรถเกี่ยวข้าวและคงเห็นว่าเทคโนโลยีช่วยให้คนเราสบายกายขึ้น จึงหาซื้อรถเกี่ยวข้าวเก่ามาราคาสองแสนบาท ปัจจุบันใช้ทำมาหากิน ซ่อมโน่นเพิ่มนี่ก็หมดไปเป็นล้าน แต่คงคืนทุนพร้อมกำไรมาพอสมควรแล้ว
 
ลุงใช้ชีวิตอยู่กับภรรยา ไม่มีลูก แม้ว่าจะไม่มีภาระเรื่องดูแลลูก แต่ก็วางแผนใช้ชีวิตตัวเองไว้อย่างดี ลุงซื้อรถกระบะมือสองเลือกรุ่นประหยัดน้ำมัน ทนทานตามที่ได้ศึกษาข้อมูลมาเป็นอย่างดี ใช้ขับเพื่อทำงานมาสิบแล้ว สภาพรถยังดีจึงมีคนมาขอซื้อต่อ ให้ราคาดี แต่ลุงก็ไม่ขาย เพราะไม่อยากสร้างหนี้ด้วยการซื้อรถใหม่ แม้ว่าจะมีรถคันโปรดอยู่ในใจก็ตาม ตอนนี้สร้างบ้านใหม่เสร็จแล้ว ก็เตรียมตัวเข้าสู่วัยสูงอายุด้วยการทำงานเก็บเงินไว้ดูแลตัวเองและภรรยายามแก่เฒ่า ด้วยความที่ภรรยาเป็นคนสมถะไม่ฟุ้งเฟ้อจึงอยู่ด้วยกันมามีความสุขดี ลุงบอกว่าถ้าคนสองคนมีพื้นฐานไม่เหมือนกัน คนหนึ่งมีแต่ความอยากได้ ฟุ้งเฟ้อ อีกคนหนึ่งไม่อยากได้ ก็ทำให้อยู่ด้วยกันไม่ได้ เลยได้ข้อคิดเรื่องเลือกคู่มาอีกหนึ่งข้อ
 
คุยกันมาสารพัดเรื่องก็จวนจะถึงสถานีขนส่ง ประโยคสุดท้ายลุงพูดก่อนเลี้ยวรถมาจอดหน้าสถานีให้เราขึ้นรถได้สะดวก ถ้าคนเรารู้จักพอก็มีความสุข ทำให้นึกถึงพระราชดำริของในหลวงเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ที่สอนให้คนไทยทุกคนรู้จักทำงานและใช้จ่ายอย่างมัธยัสถ์ ก่อนจะลงจากรถก็ไม่ลืมที่จะถามชื่อสารถีใจดีคนนี้ที่ชื่อ ลุงแข่ง จึงขอนำเรื่องราวดีๆ ของลุงมาเล่าต่อ และขอบคุณลุงแข่งที่พาเรามาส่งอย่างปลอดภัยและช่วยเตือนสติให้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข
 
 (จงจิตต์   ฤทธิรงค์, เรื่องของลุงแข่ง: ข้อมูลที่ไม่ต้องสัมภาษณ์แต่นำไปใช้ได้จริง, จดหมายข่าวประชากรและการพัฒนา, ปีที่ 26 ฉบับที่ 4)
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 24835เขียนเมื่อ 21 เมษายน 2006 15:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท