วิชาพุทธประวัติ ปริเฉทที่ ๓ พระศาสดาประสูติ


พระโพธิสัตว์ หลังจากเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดรแล้ว ก็ไปอุบัติในสวรรค์ชั้นดุสิต มีพระนามว่า สันดุสิตเทพบุตร จุติจากสวรรค์ ทรงถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระนางสิริมหามายา ในวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ปีระกา ก่อนพุทธศก ๘๐ ปี ๑๐ เดือน และประสูติ ณ ป่าลุมพินี ใต้ร่มไม้สาละ ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับกรุงเทวทหะ (ปัจจุบันอยู่ในประเทศเนปาล เรียกว่า รุมมินเด) ในวันศุกร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีจอ เวลาสายใกล้เที่ยง ก่อนพุทธศก ๘๐ ปี

ขณะประสูตินั้น  พระนางสิริมหามายาทรงประทับยืนหันพระปฤษฎางค์พิงต้นสาละ  พระหัตถ์ขวาเหนี่ยวกิ่งไม้สาละไว้แล้วให้ประสูติพระราชกุมาร โดยมิได้ทุกขเวทนาและพระราชกุมารมิได้แปดเปื้อนครรภ์มลทินใด ๆ เลย  ทันใดนั้นเทวดามาคอยรับพระวรกายของพระกุมารไว้  มีธารน้ำเย็นน้ำอุ่นหลั่งลงมาจากอากาศชำระล้างพระวรกายของพระราชกุมารและพระมารดาจนสะอาดบริสุทธิ์  ทันทีที่พระบาททั้ง ๒ แตะพื้น พระราชกุมารได้เสด็จดำเนินไป ๗ ก้าว แต่ละก้าวนั้นมีดอกบัวปทุมทิพย์ผุดขึ้นรองรับพร้อมทั้งเปล่งอาสภิวาจาว่า เราเป็นผู้เลิศ เป็นผู้เจริญที่สุด  เป็นผู้ประเสริฐที่สุดแห่งโลก  การเกิดของเราครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย  บัดนี้ภพใหม่ไม่มีอีกแล้ว

 

สหชาติ  คือ  บุคคลและสิ่งที่เกิดขึ้นร่วมวัน เวลาเดียวกันกับเจ้าชายสิทธัตถะ มี ๗ ประการ คือ   พระนางพิมพา  พระอานนท์  กาฬุทายีอำมาตย์   ฉันนะอำมาตย์  ม้ากัณฐกะ  ต้นพระศรีมหาโพธิ์  และขุมทรัพย์ทั้ง ๔ (สังขนิธิ เอลนิธิ อุบลนิธิ บุณฑริกนิธิ)

 

ประสูติได้ ๓ วัน  อสิตดาบส (กาฬเทวิลดาบส) ผู้บำเพ็ญฌานจนได้สมาบัติ ๘ อยู่ที่ภูเขาหิมพานต์ และเป็นที่เคารพนับถือของพระเจ้าสุทโธทนะ ทราบข่าวการประสูติของพระราชกุมารจึงเข้าไปเยี่ยม   พระเจ้าสุทโธทนะทรงปฏิสันถารเป็นอย่างดี  เชิญให้นั่งบนอาสนะแล้ว ทรงอุ้มพระราชกุมารมาเพื่อนมัสการอสิตดาบสนั้น 

อสิตดาบสได้ตรวจดูลักษณะของพระราชกุมารเห็นว่า   มีลักษณะต้องตามมหาบุรุษลักษณะ   จึงคุกเข่าลงอภิวาทแทบพระบาททั้งสองของพระราชกุมาร และกล่าวคำทำนายพระลักษณะของพระโอรสว่ามีคติเป็น ๒ คือ

๑.     ถ้าได้ครองฆราวาสจะเป็นจักรพรรดิราชมีมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขต

๒.     ถ้าออกผนวชจักได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ศาสดาเอกของโลก 

 

เมื่อพระเจ้าสุทโธทนะทรงเห็นเช่นนั้น  จึงทรงอภิวาทพระโอรสของพระองค์ด้วยเหมือนกัน   ซึ่งนับเป็นครั้งที่ ๑ ที่พระองค์ทรงไหว้.

เหล่าราชสกุลเห็นเช่นนั้นจึงถวายโอรสของตนเป็นบริวารสกุลละ ๑ องค์

 

ประสูติได้ ๕ วัน พระเจ้าสุทโธทนะรับสั่งให้ชุมนุมพระประยูรญาติและเสนาอำมาตย์ เชิญพราหมณ์ ๑๐๘ คน ทำมงคลพิธีและขนานพระนามว่า  สิทธัตถะ แปลว่า “ผู้มีความต้องการสำเร็จ ” แต่มหาชนมักเรียกตามพระโคตรว่า โคตรมะ (พราหมณ์ทุกคนได้พร้อมใจขนานพระนามพระโอรสตามคุณพิเศษที่ปรากฏ คือ เพราะพระโอรสทรงมีพระรัศมีโอภาสงามแผ่ซ่านออกจากพระวรกายเป็นปกติ จึงขนานพระนามว่า อังคีรส และเพราะพระโอรสนั้นหากต้องการสิ่งใด สิ่งนั้นก็จะต้องพลันสำเร็จดังพระประสงค์แน่นอน จึงขนานพระนามว่าสิทธัตถะ แต่นิยมเรียกกันว่า โคตมะ  ซึ่งเป็นพระโคตรของพระองค์)

และเลือกพราหมณ์ผู้เชี่ยวชาญไตรเพท ๘ คน ทำนายพระลักษณะของพระโอรส  ซึ่งพราหมณ์ทั้ง ๗ คน ทำนายว่ามีคติเป็น ๒ อย่าง  ส่วนโกณฑัญญะพราหมณ์หนุ่มที่สุดในที่นั้นทำนายว่ามีคติเป็นหนึ่งเดียว คือ จักเสด็จออกบรรพชาแล้วได้บรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นศาสดาเอกในโลกแน่แท้

 

ประสูติได้ ๗ วัน พระมารดาสิ้นพระชนม์  พระเจ้าสุทโธทนะจึงมอบพระโอรสแก่พระนางปชาบดีซึ่งเป็นพระมาตุจฉาดูแล ต่อมาพระนางปชาบดีมเหสีองค์ใหม่มีพระโอรสพระนามว่านันทะมีพระธิดาพระนามว่ารูปนันทา

 

พระชนม์ได้ ๗ ปี พระราชบิดาตรัสให้ขุดสระโบกขรณีในพระราชนิเวศน์ ๓ สระ คือ ปลูกอุบลบัวขาบ ๑ สระ ปลูกประทุมบัวหลวง ๑ สระ ปลูกบุณฑริกบัวขาว ๑ สระ พร้อมทั้งเครื่องทรง เช่น ผ้าโพกศีรษะ ฉลองพระองค์ ผ้าทรงสะพัก พระภูษาเป็นของที่นำมาจากแคว้นกาสี นิยมว่า เป็นของดีของประณีตในยุคนั้น

ครั้นมีพระชนม์เจริญวัย พระบิดาทรงพาไปมอบไว้ในสำนักครูวิศวามิตร พระราชกุมารทรงศึกษาสำเร็จวิชา ๑๘ ศาสตร์ จนสิ้นความรู้อาจารย์

ครั้งหนึ่ง ในคราววัปปมงคลแรกนาขวัญ พระเจ้าสุทโธทนะเสด็จแรกนาด้วยพระองค์เอง ทรงพาสิทธัตถะกุมารไปด้วย ให้แต่งที่ประทับภายใต้ชมพูพฤกษ์(ต้นหว้า) ครั้นถึงเวลาแรกนา พระกุมารทรงอยู่พระองค์เดียว ทรงนั่งขัดสมาธิเจริญอานาปานสติอยู่ในม่าน ได้ปฐมฌาน ขณะนั้นเป็นเวลาบ่าย แต่เงาต้นหว้าตรงอยู่ดุจเวลาเที่ยง พวกพระพี่เลี้ยงเห็นเป็นอัศจรรย์ นำความกราบทูลพระราชบิดา พระองค์เสด็จมาเห็นแล้วก็ถวายบังคมพระโอรส เพราะศรัทธาในความอัศจรรย์นั้น  ซึ่งนับเป็นครั้งที่ ๒ ที่พระองค์ทรงไหว้พระโอรส

 

พระชนม์ได้ ๑๖ ปี พระราชบิดาตรัสให้สร้างปราสาท ๓ หลังเป็นที่อยู่ ๓ ฤดู  คือ ฤดูฝน ฤดูร้อน ฤดูหนาว  และตรัสขอพระนางพิมพา (ยโสธรา) พระราชธิดาของพระเจ้าสุปปพุทธะกับพระนางอมิตาแห่งเทวทหนครมาเป็นพระชายา

 

พระชนม์ได้ ๒๙ ปี มีพระราชโอรสประสูติแต่พระนางพิมพาพระองค์หนึ่งพระนามว่า “ราหุลแปลว่า “บ่วง   และเสด็จออกผนวช

 

หมายเลขบันทึก: 247971เขียนเมื่อ 12 มีนาคม 2009 15:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2012 22:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สอบถามหลวงพี่ เวลาผมโกรธ ผมจะมีวิธียังงัยบ้าง

ที่ทำให้ความโกรธ ลดลง รวมทั้ง อิจฉาตาร้อนด้วย

ขอคำแนะนำครับ

พึงชนความโกรธด้วยการไม่โกรธ คือเวลาที่เราโกรธต้องทำใจให้มีขันติคือความอดทนอย่าเป็นคนที่ใจร้อนเพราะว่าคนเราหากไม่มีขันติย่อมทำอะไรไม่ประสบผลสำเร็จหากมีความโกรธทำใจให้สบายด้วยการฟังธรรมะ อ่านหนังสือ ส่วนการอิจษาพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าอิจฉาได้แต่ห้ามริษยาเราควรมีความภูมิใจในสิ่งที่เรามีเราเป็น ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกเกิดขึ้นมาแล้วดับไป อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท