วิชาพุทธประวัติ สัปดาห์ที่ ๑


ปุริมกาล : กล่าวถึงชมพูทวีปและประชาชนจนถึงการตรัสรู้

 

สาระสำคัญ

การศึกษาพุทธประวัติ คือการเรียนรู้ความเป็นไปของพระพุทธเจ้าผู้เป็นศาสดาเอกของโลก ทรงเป็นแบบอย่างให้เราได้รู้ว่า มนุษย์นั้นมีศักยภาพสามารถที่พัฒนาตนให้เป็นมนุษย์พิเศษ(อภิมนุษย์) คือเป็นบุคคลผู้บริสุทธิ์ ปราศจากอาสวกิเลส มีความสะอาด สว่าง สงบ 

ในส่วนประวัติศาสตร์ ทำให้ผู้ศึกษาได้ทราบเกี่ยวกับภูมิประเทศชมพูทวีป  การปกครอง  การประกอบอาชีพ   และลัทธิความเชื่อของคนในสมัยก่อน

ในส่วนพุทธประวัติ ทำให้ผู้ศึกษามีความเชื่อมั่น เกิดศรัทธาปสาทะในพระพุทธองค์ยิ่งขึ้น ที่ทรงสละความสุขส่วนพระองค์ ออกบำเพ็ญเพียรซึ่งบุคคลอื่นทำได้ยาก  จนตรัสรู้ได้ด้วยพระองค์  ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีงามที่จะทำให้สาวก   มีกำลังใจในการกระทำความดีในระดับต่าง ๆ ยิ่งขึ้น

ในสัปดาห์ที่ ๑  นี้ จักได้ศึกษาพุทธประวัติดังนี้:-

ประโยชน์ของการศึกษาพุทธประวัติ

ปริเฉทที่ ๑  ชมพูทวีปและประชาชน

-  ชมพูทวีปแบ่งเป็น ๒ เขต คือ  มัชฌิมชนบท และ ปัจจันตชนบท

-  วรรณะ ๔

-  ความเห็นของคนในยุคนั้น

-  ลัทธิหรือศาสนา

      ปริเฉทที่ ๒  สักกชนบท และศากยวงศ์  โกลิยวงศ์

            ปริเฉทที่ ๓  ประสูติ

            ปริเฉทที่ ๔  เสด็จออกผนวช (มหาภิเนษกรมณ์)

            ปริเฉทที่ ๕  ตรัสรู้

วัตถุประสงค์ 

๑.     มีความรู้ความเข้าใจในวิชาพุทธประวัติ

๒.     เห็นคุณประโยชน์/ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่งขึ้น

๓.     นำแบบอย่างที่ดีในพุทธประวัติไปประพฤติปฏิบัติตนในชีวิตประจำวันได้

๔.     สามารถแนะนำผู้อื่นให้ปฏิบัติตามได้

กิจกรรม

๑.     อ่านเนื้อหาประจำบทเรียนจากหนังสือคู่มือธรรมศึกษาตรี

๒.     ทำปัญหาก่อนเรียน

๓.     ฟังบรรยายในห้องเรียน

๔.     ให้ผู้เรียนได้ร่วมวิเคราะห์เหตุการณ์ต่าง ๆ ในระหว่างเรียน

๕.     ค้นคว้าเพิ่มเติมจากหนังสือที่แนะนำท้ายเล่ม

 

ประเมินผล

๑.     ทำแบบทดสอบก่อนเรียน

๒.     จากการทำกิจกรรมในห้องเรียน

๓.     จากการสอบธรรมสนามหลวง

๔.     ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจ และศรัทธาในพุทธศาสนา

นำพุทธจริยาไปเป็นแบบประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน

 

ประโยชน์ของการศึกษาพุทธประวัติ

            การศึกษาพุทธประวัติหรือเรื่องราวความเป็นไปของพระพุทธเจ้า มีคติในการศึกษา ๓ ทาง คือ

. ทางตำนาน ทำให้ทราบเรื่องราวของพระพุทธเจ้าว่าเป็นมาอย่างไร

. ทางอภินิหาร ทำให้ได้เห็นวิธีการแสดงธรรมให้เหมาะแก่อุปนิสัยของแต่ละบุคคล และให้ผู้ที่เชื่อในเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ ได้ทราบถึงความอัศจรรย์ในพุทธานุภาพเกิดความเลื่อมใสในการปฏิบัติธรรม

. ทางธรรมปฏิบัติ ทำให้ทราบข้อปฏิบัติและเหตุผลที่เป็นจริงโดยละเอียด ถ่องแท้

            การศึกษาพุทธประวัติ ให้เกิดประโยชน์สำคัญ ๒ ประการ คือ

            . ในด้านการศึกษา ทำให้ทราบถึงความเป็นมาของพระพุทธเจ้า

            . ในด้านการปฏิบัติ ทำให้ได้แนวทางในการดำเนินชีวิตตามพุทธจริยา อันเป็นปฏิปทานำความสุขความเจริญมาให้แก่บุคคลตามสมควรแก่การประพฤติปฏิบัติ

 

ปริเฉทที่ ๑  ชมพูทวีปและประชาชน

 

ประเทศอินเดีย ในสมัยพุทธกาลเรียกว่าชมพูทวีปตั้งอยู่ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ(ทิศพายัพ)ของประเทศไทย เดิมเป็นถิ่นของชนชาวมิลักขะ ต่อมาชนชาวอริยกะ(อารยัน)ได้เข้ามารุกไล่และยึดครอง

 

ชมพูทวีปแบ่งเป็น ๒ เขต

. เขตตรงกลางของประเทศ เรียกว่า มัชฌิมชนบท หรือมัธยมประเทศ

. เขตรอบนอกทั้งหมด เรียกว่า ปัจจันตชนบท แปลว่า ประเทศปลายแดน มัชฌิมชนบท

ทิศ                                   ขอบเขต

บูรพา (ตะวันออก)                      ตั้งแต่มหาศาลนครเข้ามา (เบงคอล)

อาคเนย์ (ตะวันออกเฉียงใต้)        ตั้งแต่แม่น้ำสัลลวดีเข้ามา

ทักษิณ (ใต้)                               ตั้งแต่เสตกัณณิกนิคมเข้ามา (เดกกัน)

ปัจฉิม (ตะวันตก)                       ตั้งแต่ถูนคามเข้ามา (บอมเบย์)

อุดร (เหนือ)                               ตั้งแต่ภูเขาอุสีรธชะเข้ามา (เนปาล)

เขตแดนนอกเหนือจากนี้ไป เป็นเขตแดนของปัจจันตชนบท

 

มหาชนบท ๑๖ แคว้น  

ชมพูทวีปตามอุโบสถสูตร  ติกนิบาต  อังคุตรนิกาย แบ่งเป็น ๑๖  แคว้นใหญ่ ๆ คือ  อังคะ มคธะ กาสี โกสละ วัชชี มัลละ เจตี วังสะ กุรุ  ปัญจาละ  มัจฉะ
สุรเสนะ อัสสกะ อวันตี คันธาระ กัมโพชะ
  และที่ปรากฏในสูตรอื่นอีก    แคว้น  คือ  สักกะ  โกลิยะ  ภัคคะ  วิเทหะ  อังคุตตราปะ

แคว้นเหล่านี้ บางแคว้นปกครองโดยกษัตริย์มีอำนาจสิทธิ์ขาด บางแคว้นปกครองโดยสามัคคีธรรม

 วรรณะ ๔             ประชาชนในชมพูทวีปแบ่งออกเป็น ๔ วรรณะ (พวก) คือ

๑)  กษัตริย์  พวกเจ้า เป็นชนชั้นปกครอง มีหน้าที่รักษาบ้านเมือง

๒)  พราหมณ์  พวกสั่งสอนและทำพิธีกรรมต่างๆ ทางลัทธิศาสนา

๓)  แพศย์  พวกพลเมืองทั่วไป มีหน้าที่ทำนาค้าขาย

๔)  ศูทร  พวกกรรมกร หรือคนใช้ มีหน้าที่รับจ้างทำการงานต่างๆ

            ประชาชนอินเดีย หรือชมพูทวีปมีการแบ่งชนชั้นกันอย่างชัดเจน และเคร่งครัดมาก โดยเรียกชนชั้นว่าวรรณะแต่ละวรรณะจะไม่แต่งงานข้ามวรรณะกัน  หากมีการแต่งงานข้ามวรรณะกัน  ครอบครัวนั้นจะถูกคนที่อยู่ในวรรณะนั้นๆ ไม่ยอมรับ และกลายเป็นอีกชนชั้นหนึ่งขึ้นมา โดยมีศักดิ์ต่ำกว่าวรรณะอื่นๆ เรียกว่าจัณฑาล

 

ความเห็นของคนในยุคนั้น

คนในยุคนั้น มีความเห็นเกี่ยวกับความตาย ความเกิด    สุขและทุกข์ แตกต่างกัน ดังนี้

ความเห็นเกี่ยวกับความตายและความเกิด แบ่งออกเป็น ๒ จำพวก คือ

. จำพวกหนึ่งเห็นว่าตายแล้วเกิด จำพวกนี้แบ่งออกเป็น ๒ ประเด็น คือ

. เกิดเป็นอะไรก็เป็นอยู่อย่างนั้นไม่เปลี่ยนแปลง  ไม่แปรผัน เช่น เป็นนกตายแล้วก็เกิดเป็นนกอีก

. เกิดแล้วจุติแปรผันต่อไปได้ พวกนี้เข้าใจว่าประพฤติอย่างไร

       จะไปเกิดในสวรรค์และสุคติ  ก็จะประพฤติอย่างนั้น

.  จำพวกหนึ่งเห็นว่าตายแล้วสูญ โดยแยกออกเป็น ๒ ประเภท คือ

. สูญด้วยประการทั้งปวง

. สูญบางสิ่ง

ความเห็นเกี่ยวกับสุขและทุกข์ แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ

.  สุข ทุกข์ไม่มีเหตุปัจจัย สัตว์จะได้สุขหรือทุกข์ก็ได้เอง

.  สุข ทุกข์มีเหตุมีปัจจัย สัตว์จะได้สุขหรือทุกข์ก็เพราะเหตุปัจจัย

.  สุข ทุกข์ มีมาเพราะเหตุปัจจัยภายนอก  เช่น เทวดา    ก็จะอ้อนวอนหรือบวงสรวงเทวดาให้ช่วย

.  สุข ทุกข์ มีมาเพราะเหตุปัจจัยภายใน คือ กรรม เมื่อเห็นว่ากรรมใดเป็นเหตุแห่งสุข ก็ทำแต่กรรมนั้น

 

ลัทธิหรือศาสนา

           ประชาชนในยุคนั้นโดยมากนับถือศาสนาพราหมณ์ มีคัมภีร์ไตรเพท อันประกอบด้วย ฤคเวท ยชุรเวท และสามเวท (ภายหลังเพิ่มอีก ๑ คือ อาถรรพเวท) เป็นหลักคำสอน ซึ่งถือว่าโลกธาตุทั้งปวงเป็นของที่เทวดาสร้าง มีเทวดาประจำอยู่ในธาตุต่างๆ  ถ้าใครปรารถนาผลอันใด ก็ทำการเซ่นสรวงอ้อนวอนเทวดาหรือเทพเจ้า ด้วยการบูชายัญหรือบำเพ็ญตบะทรมานร่างกายด้วยวิธีต่างๆ ด้วยคิดว่า เมื่อเทวดาเห็นความเพียรแล้วก็จะประสิทธิ์พรให้สมประสงค์

หมายเลขบันทึก: 247961เขียนเมื่อ 12 มีนาคม 2009 14:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 01:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท