อนุสนธิจากงานวิจัย "ปัญหาและแนวทางเกี่ยวกับการให้คำนิยาม “คนจากพม่า” ในประเทศไทย "


เหตุผลของคนคนหนึ่ง ในการทำงาน

มีคนถามว่าทำไมถึงเลือกทำงานวิจัยเรื่องนี้ ผมไม่มีอะไรจะตอบมากไปกว่าเป็นความสนใจส่วนตัวที่มีอยู่มานานแล้ว ผมสนใจประวัติศาสตร์ และสงสารทั้งคนพม่าและคนไทยใหญ่ในปัจจุบัน พอๆกับที่ศรัทธาในจิตวิญญานและศรัทธาอันยิ่งใหญ่ของคนพม่าเพื่อนบ้านร่วมอนุภูมิภาคของเรา รวมทั้งอยากจะทราบในฐานะที่เราเป็นผู้รับปัญหาผู้อพยพจากพม่าว่าประเทศไทยจะมีแนวทางแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร

ในฐานะนักกฎหมาย เดิมทีผมมองเพียงมุมแคบๆมุมเดียวว่า กฎหมายไทยเกี่ยวกับการจจัดการผู้อพยพจากพม่ามีไหม ? และถ้ามี กฎหมายเมืองไทยมีพียงพอไหม? รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพไหม ถ้าคำตอบคือไม่เราจะแก้ไขปัญหาอย่างไร.... ผมวนเวียนกับคำถามเหล่านี้อยู่นานจนกระทั่งได้มีโอกาสพบกับท่านรองศาสตราจารย์พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบรรดาลูกศิษย์คนทำงาน "คลีนิคแม่อาย"ของท่าน (ซึ่งลูกศิษย์หลายคนของท่านอาจารย์พันธุ์ทพิย์ ได้กลายมาเป็นทั้งกัลยาณมิตรและอาจารย์ของผม) 

    ท่านอาจารย์พันธุ์ทิพย์ได้กรุณาผ่าตัดความคิดที่แคบผมออกมาด้วยคำถามสั้นๆที่ว่า  "วิวถ้าวิวอยากจะรู้ว่าจะแก้ปัญหา"คนพม่าในประเทศไทย"ยังไง แล้ววิวรู้หรือยังว่า คนพม่าในประเทศไทย คือใครบ้าง ? วิวเริ่มตรงนี้ก่อนดีไหมก่อนจะไปถึงองค์ความรู้อื่นๆ 

งานวิจัยเกี่ยวกับคนจากพม่าก้าวแรกของผมเกิดที่ตรงนี้หลังจากวนเวียนมานาน

จากการศึกษาโดยคำแนะนำด้วยความกรุณาของท่านอาจารย์พันธุ์ทิพย์  ผมพบว่า

๑.   สหภาพพม่าเป็นประเทศที่เป็นที่อยู่ของคนหลายกลุ่มชาติพันธุ์นับแต่อดีต จนกระทั่งปัจจุบัน แต่เนื่องด้วยสภาพปัญหาทางการเมืองภายในประเทศทำให้เกิดการอพยพย้ายถิ่นของกลุ่มคนบางกลุ่มมายังประเทศไทย  คนจากพม่า ทุกคนที่เดินทางจากพม่ามายังประเทศไทยและอาศัยอยู่ในประเทศไทย มิได้ความว่าพวกเขาเหล่านั้นทุกคน เป็นคนพม่า หรือเรียกอย่างเป็นทางการในภาษากฎหมายว่า คนสัญชาติพม่า”   

๒. กฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดการประชากรในรัฐต่าง ๆเราเรียกกันว่ากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ซึ่งเนื้อหาส่วนที่เกี่ยวข้องคือ การจัดสรรเอกชนในทางระหว่างประเทศ ในส่วนของกฎหมายไทย กฎหมายที่เกี่ยวข้อง กับการจัดการประชากรภายในรัฐ คือ

     -  กฎหมายว่าด้วยสัญชาติ

     -  กฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร

     -  กฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

๓.   การที่มนุษย์คนหนึ่งจะมีสัญชาติใดนั้นตามกฎหมายระหว่างประเทศนั้นกำหนดให้เป็นอำนาจอธิปไตยอย่างเด็ดขาดของรัฐผู้ให้สัญชาติ และถือเป็นเรื่องภายในของรัฐแต่ละรัฐ ในการกำหนดเงื่อนไขในกฎหมายเกี่ยวกับการได้มาซึ่งสัญชาติของบุคคลที่อยู่ภายในรัฐนั้น ซึ่งรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอื่นไม่มีสิทธิที่จะเข้าไปตัดสินแทนรัฐผู้ให้สัญชาติว่าบุคคลดังกล่าวมีสัญชาติของรัฐผู้ให้สัญชาติหรือไม่ ดังนั้นการที่จะตัดสินว่าใครคนใดคนหนึ่งเป็นคนพม่า หรือเป็น คนสัญชาติพม่า หรือไม่นั้น รัฐไทยหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐไทยไม่มีสิทธิไปตัดสิน รัฐเพียงรัฐเดียวตามกฎหมายระหว่างประเทศที่มีสิทธิในการชี้ขาดว่าบุคคลใดบ้างเป็น คนพม่า หรือ ถือเป็น คนสัญชาติพม่า ได้แก่ รัฐพม่า เพราะเรื่องดังกล่าวถือเป็นเรื่องภายในของพม่าในการออกกฎเกณฑ์กำหนดเงื่อนไขในการให้สัญชาติแก่บุคคล

๓.   คนบางกลุ่มซึ่งมีความสัมพันธ์กับรัฐไทยอย่างเข้มข้น หรือมีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐไทย ซึ่งโดยทั่วไปก็จะอาศัยจุดเกาะเกี่ยวในด้านบุคคลและจุดเกาะเกี่ยวในด้านภูมิลำเนาก็สามารถที่จะแปลงสัญชาติเป็น คนไทย หรือ คนสัญชาติไทย ได้โดยชอบด้วยกฎหมายไทย ทั้งนี้กฎหมายไทยมิได้มีหลักเกณฑ์ในเรื่องเชื้อชาติ หรือชาติพันธุ์ ที่ห้ามแปลงสัญชาติเป็นสัญชาติไทย ดังนั้นคนจากพม่าบางคนที่มีความสัมพันธ์กับรัฐไทยอย่างเข้มข้นย่อมจะมีสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายไทยที่จะแปลงสัญชาติเป็น คนสัญชาติไทยได้

๔.   หากวิเคราะห์จากระบบกฎหมายและทางปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดการประชากรของประเทศไทยแล้ว ถือว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ให้สัญชาติกับคนต่างด้าวค่อนข้างยาก เนื่องจากในทางปฏิบัติในการขอแปลงสัญชาติในกรณีทั่วไป เจ้าหน้าที่จะใช้เกณฑ์เรื่องการมีภูมิลำเนาในราชอาณาจักรตามกฎหมายมหาชนเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาให้สัญชาติ เว้นกรณี มีจุดเกาะเกี่ยวอื่นๆเป็นกรณีพิเศษที่กฎหมายยกเว้นไม่ต้องนำหลักเกณฑ์เรื่องภูมิลำเนามาใช้พิจารณาในการให้สัญชาติ

๕.    เมื่อมองจากภาพรวมเกี่ยวกับการจัดการประชากรของรัฐไทยแล้ว พบว่า รัฐไทยมี นโยบายและกฎหมาย ที่ชัดเจนพอสมควรในการรับมือกับปัญหา คนจากพม่า ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันและจะมีมาอีกในอนาคตเห็นได้จากการที่ประเทศไทยมียุทธศาสตร์การจัดการสิทธิและสถานะของบุคคล ตามมติของคณะรัฐมนตรีลงวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๔๘ และในเรื่องทางกฎหมายประเทศไทยก็ได้มีกฎหมายเพียงพอที่จะรับมือกับการเคลื่อนย้ายประชากรของ คนจากพม่าที่อาจจะมีเข้ามาในอนาคตได้ คือประเทศไทยมีทั้ง กฎหมายทะเบียนราษฎร กฎหมายคนเข้าเมือง และกฎหมายสัญชาติ ซึ่งกฎหมายทั้งสามฉบับที่รัฐไทยมีอยู่นี้ เพียงพอที่จะใช้จำแนก คนจากพม่าออกเป็นกลุ่มต่างๆ ได้อย่างชัดเจน และสามารถที่จะจำแนก คนจากพม่า ออกจากคนที่มีสัญชาติไทย รวมทั้งสามารถที่จะจัดการคนต่างด้าวได้ ส่วนปัญหาทางกฎหมายส่วนใหญ่ที่มักเกิดกับ คนจากพม่า นั้นได้แก่ปัญหาต่างๆ เช่น

-          ความไร้รัฐ ไร้สถานะทางทะเบียน (อันนำไปสู่ปัญหาการไม่อาจเข้าถึงสิทธิต่างๆตามกฎหมายไทยได้)

-          การเป็นผู้เข้าเมืองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

-          การไร้สัญชาติ

-          การเป็นบุคลผู้ไร้เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคล

 

ซึ่งปัญหาเหล่านี้ ตามกฎหมายของไทยได้บัญญัติวิธีการแก้ไขปัญหาไว้อย่างค่อนข้างจะครบถ้วนแล้ว

ดังนั้นปัญหาที่สำคัญของรัฐไทยเกี่ยวกับการดำเนินการกับ คนจากพม่า จึงคงเหลือเพียงขั้นตอนการนำกฎหมายไปปรับใช้กับข้อเท็จจริงของบุคคลจากพม่าเป็นกรณีๆไป  แต่ปัญหาที่สำคัญของประเทศไทย     คือ ปัญหาในเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายที่ขาดมีประสิทธิภาพอย่างที่ควรจะเป็น  มีการเลือกปฏิบัติเพราะมายาคติในด้านเชื้อชาติ และการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่เองที่ขัดแย้งกับกฎหมาย

๖.   เจ้าหน้าที่ของรัฐไทยยังมีความสับสนอยู่มากในประเด็นการยอมรับความเป็นบุคคลของ คนจากพม่า และมักจะคิดว่าการรับรองสถานะความเป็นบุคคล คือการให้สัญชาติ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูก

๗.   ประเทศไทยมีหน้าที่ตามกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่จะต้องรับรองและปฏิบัติต่อคนจากพม่าในฐานะที่กลุ่มคนเหล่านี้  ก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งเช่นเดียวกัน

๘.   ประเทศไทยจะลดภาระเรื่องคนจากพม่าทั้งในระยะสั้น และระยะยาว หากสหภาพพม่าสามารถยุติปัญหาความขัดแย้งด้านเชื้อชาติ และภายในประเทศได้

 

 

 

 

 

ข้อเสนอแนะ

 

๑.   รัฐไทยควรมีการจัดการศึกษาและประชาสัมพันธ์ ให้ คนไทย ในปัจจุบันได้รับทราบถึงความยากลำบากของคนจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะ คนจากพม่า และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับบทบาทของ คนจากพม่า ในด้านเศรษฐกิจต่อสังคมไทยปัจจุบัน ให้เกิดขึ้นกับสังคมไทยในทุกระดับ ทั้งในระดับเจ้าหน้าที่ของรัฐเองและประชาชน  เพื่อป้องกันและลดอคติทางเชื้อชาติที่มีอยู่ในสังคมไทย รวมทั้งให้มีการปฏิบัติที่เท่าเทียมในฐานะที่ คนจากพม่าเหล่านี้ก็เป็น มนุษย์เฉกเช่นเดียวกับเรา พร้อมๆ กับการประชาสัมพันธ์ถึงงานการแก้ไขปัญหาคนจากพม่าในประเทศไทยให้นานาชาติทราบ เพื่อเข้าใจถึงความยากลำบากที่สังคมไทยได้รับจากปัญหาดังกล่าว

๒.     ควรมีการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับ คนจากพม่า ในประเทศไทย ให้มีการขึ้นทะเบียนกับทางราชการไทยให้เรียบร้อยและถูกต้อง เพื่อความสะดวกในการกำกับดูแล และคุ้มครอง คนเหล่านี้ รวมทั้งประชาสัมพันธ์วิธีการเข้ามาทำงานในราชอาณาจักรไทยอย่างถูกกฎหมายให้แรงงานต่างด้าวเหล่านี้ทราบ

๓.     ควรมีการทำการวิจัยปัญหาเรื่องการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการจัดการประชากรเพื่อแก้ไขกระบวนการบังคับใช้กฎหมายของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพขึ้น

๔.   รัฐบาลไทยควรมีบทบาทในฐานะประเทศผู้นำในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้านเชื้อชาติภายใน                        สหภาพพม่าให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้  โดยพยายามโน้มน้าวให้ทั้งรัฐบาลพม่าและชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆเข้าใจถึงคุณค่าของการอยู่ร่วมกันโดยยอมรับในความแตกต่าง และอาศัยความแตกต่างนี้เป็นทรัพยากรทางการท่องเที่ยวเพื่อหารายได้มาพัฒนาประเทศ

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 247919เขียนเมื่อ 12 มีนาคม 2009 11:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 02:28 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท