สิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อม อย่านึกถึงเรื่องเก่าๆเลย


สิงแวดล้อม ความร่วมมือ อาชีวอนามัย ความรู้

สิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อม อย่านึกถึงเรื่องเก่าๆเลย

                วันนี้ไปประชุมคณะกรรมการร่างนโยบายสิ่งแวดล้อมมา เป็นความร่วมมือระหว่างกรมอนามัยและกรมควบคุมมลพิษ กล่าวง่ายๆ คือมีเจ้าภาพสองกรม เท่ากับลากเอาสองกระทรวงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ต้นเรื่องคือมีการประชุมรัฐมนตรีที่รับผิดชอบเรื่องสิ่งแวดล้อมของอาเซียน 14 ประเทศ และมีข้อตกลงกันที่จะดูแลสิ่งแวดล้อมของแต่ละประเทศ โดยเน้นในเรื่องขยะพิษ สารเคมี มลภาวะอากาศ โลกร้อน โดยเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ในการครั้งนี้ กรมอนามัยและกรมควบคุมมลพิษไปร่วมประชุม จึงต้องรับผิดชอบจัดทำแผนให้ทันนำไปเสนอในการประชุมความคืบหน้าสิ้นปีนี้ อย่างไรก็ดี แม้จะเป็นงานบังคับ ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี ที่อาเซียนสนใจ และจะจัดทำเป็นนโยบายระดับชาติ  เรื่องนี้คล้ายๆกับเรื่องแผนความปลอดภัยด้านเคมีวัตถุแห่งชาติ ที่องค์การอาหารและยากระทรวงสาธารณสุขเคยทำ ครั้งนั้นประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพของการประชุมเรื่องสารเคมีนานาชาติ เป็น Intergovernment และไปรับมาหลายเรื่องโดยมีองค์การอาหารและยา เข้าประชุม จึงต้องเป็นเจ้าภาพและมีการประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องคล้ายกัน เรื่องนี้ก็ไปคล้ายที่โรงพยาบาลนพรัตนราชธานีโดยกลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม จับมือกับกองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคม ร่วมมือกันตั้งศูนย์โรคจากการทำงาน ซึ่งมีแรงขับจากการที่คนทำงานต้องการให้มีสถานที่พึ่งเมื่อตนเองสงสัยว่าเป็นโรคจากการทำงาน ทั้งสองเรื่องหลังนี้มีทั้งความคืบหน้าและความล้มเหลว ในเรื่องโครงการศูนย์โรคนั้น มีการขยายผลเป็นคลินิกอาชีวเวชกรรมอีกหลายโรงพยาบาลในจังหวัดต่างๆ แต่กลายเป็นโครงการอาชีวอนามัยกลายๆ เนื่องจากมีการเอาเงินไปใช้ในเรื่องอาชีวอนามัย และการตรวจคัดกรอง (ตรวจร่างกาย) มากกว่า การนำไปช่วยในการวินิจฉัยโรค ซึ่งผิดจากวัตถุประสงค์ไปใกล จนป่านนี้คนทำงานที่สงสัยว่าตนเองเป็นโรคจากการทำงานก็ยังไม่ได้รับการวินิจฉัยโรคซักที ส่วนในแผนความปลอดภัยด้านเคมีวัตถุแห่งชาติ มีการประชุมคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการดูแลสารเคมีตั้งแต่ต้นทาง การสั่งสารเคมีเข้าประเทศ การขนส่ง การจัดเก็บ การทำลาย การเก็บกลับ โดยใช้หลัก GHS หรือ Globally Harmonized System ซึ่งจะใช้หลักการเหมือนกันทุกประเทศภายใต้สนธิสัญญานี้ ซึ่งเป็นไปด้วยดี แต่มีปัญหาเรื่องงบประมาณซึ่งตั้งเรื่องด้วยกัน แต่มีความก้าวหน้าไม่เท่ากัน เนื่องจากเป็นการตกลงกันระหว่างหน่วยงานระดับกอง ในกรม ระดับกระทรวงหรือผู้บริหารไม่ทราบนโยบาย การตั้งงบประมาณเข้าไปแม้จะอิงตามแผนที่ได้จากการอนุมัติของครม. แล้ว ก็จะถูกตัด หรือเมื่อได้เงินมาก็ถูกเกลี่ย ทำให้มีความก้าวหน้าในการทำงานไม่เหมือนกัน ในการประชุมสิ่งแวดล้อมครั้งนี้จุดตั้งต้นคล้ายกัน ไม่รู้จะลงเอยอย่างไร เนื่องจากถึงแม้มีความร่วมมือกัน ก็เป็นความร่วมมือระดับกรมสองกรมในสองกระทรวง มีข้อเสนอแนะในการดำเนินงานครั้งนี้ได้แก่

  • 1. กรมอนามัยและกรมควบคุมมลพิษ ควรไป scan กรมกองในกระทรวงของตนเองว่ามีใครทำเรื่องนี้อยู่บ้าง ถีอเป็นการให้เกียรติกัน ควรจะถามเขาด้วยว่าเขาทำไปถึงไหนแล้ว เช่นกรมควบคุมโรค โดยสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม สำนักควบคุมโรค สำนักระบาด หรือในกรมสนับสนุนบริการ กรมการแพทย์ เหล่านี้เป็นต้น กรมควบคุมมลพิษเอง ในกระทรวงสิ่งแวดล้อม ก็มีหลายกรม ควรไป scan ดู
  • 2. นำงานของกรมกองในกระทรวงเดียวกันมาต่อเป็นภาพใหญ่ให้ได้ ควรเป็นการรวมพลังกันให้หนึ่งบวกหนึ่งเป็นห้า เป็นสิบ ไม่ใช่ หนึ่งบวกหนึ่งได้สอง สองบวกหนึ่ง ติดลบ เป็นต้น ควรมีการชี้แจงให้ผู้บริหารในแต่ละกระทรวงเข้าใจ แน่นอนต้องเป็นระดับปลัดกระทรวงเรียกไปชี้แจงให้มีความร่วมมือกัน ระดับล่างลงมาจึงจะทำงานสบายขึ้น
  • 3. เมื่อได้ภาพระดับกระทรวงแล้ว ค่อยมีความร่วมมือกัน ในระดับสองกระทรวง และหลายกระทรวงที่เกี่ยวข้อง
  • 4. จริงอยู่ การทำแผนครั้งนี้มาจากระดับนโยบาย ซึ่งเป็นโจทย์ที่ตั้งให้แล้วจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี อย่างไรก็ตามเมื่อภาครัฐตั้งหลักติด ควรมีการสนับสนุนให้ภาคเอกชน ประชาชน มีการรวมตัวกัน ในกลุ่มที่ทำงานด้านนี้ และคนที่เดือดร้อน
  • 5. ภาครัฐและภาคประชาชนนำแผนมาสมาสกัน ด้วยความเอื้ออาทร และหวังดี ภาครัฐไม่ถีอตัวเป็นเจ้านาย และภาคประชาชนก็คงไม่ต้องอ้างเรื่องกินเงินเดือนจากภาษีของตนเอง เนื่องจากเป็นประชาชนคนไทยเหมือนกันไม่ใช่ใครอื่น ต่างคนก็ต้องทำงานหาเลี้ยงตัวเอง จุดมุ่งหมายเดียวกันคงไม่เป็นไรกระมัง
  • 6. มีการกระจายแผนลงไป ในแต่ละแผนมีการดูแลโดยภาครัฐและประชาชนในแต่ละพื้นที่ ส่วนกลางทำหน้าที่แค่กลั่นกรองนโยบาย ทบทวนสิ่งต่างๆที่แต่ละพื้นที่ขอเข้ามา และจัดทำแผนงบประมาณตอบสนอง
  • 7. ที่สำคัญคือต้องให้ความรู้ประชาชน แรกๆ อาจจะยุ่งเหยิง แต่ต่อไปจะดีขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศสวีเดนหลายสิบปีก่อนมีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยประจำโรงงานที่เรียกว่า Safety representatives ทำงานในโรงงานดูแลความปลอดภัย เจ้าหน้าที่นี้สามารถปิดโรงงานได้ถ้าเห็นว่าไม่ปลอดภัยที่จะทำงานต่อ ในช่วงแรก มีการปิดโรงงานมากมาย จากการต่อรองของสหภาพ แต่ในที่สุดคนทำงานในประเทศสวีเดนก็ทราบว่าถ้าโรงงานอยู่ไม่ได้เขาก็อยู่ไม่ได้ จึงมีการเจรจาแบบไตรภาคี และมีการเสริมสร้างกฏหมายและบทลงโทษด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยให้แข็งแกร่ง คนทำงานมีความรู้เรื่องอาชีวอนามัยและความปลอดภัยดี มีโครงการต่างๆให้ความรู้ ทำให้พวกเขาไม่เป็นเครื่องมือของใคร ปรากฏว่า สภาพแวดล้อมในการทำงานปลอดภัย โรงงานมีผลผลิตดี เขาเลยเจริญก้าวหน้าได้ ในประเทศไทย มีปัญหาสิ่งแวดล้อมมากมาย มีคนลงพื้นที่มากมายเหมือนกัน แต่ทุกคนไม่บอกความจริงกับประชาชนให้ครบถ้วน ประชาชนได้รับผลกระทบก็ตื่นตระหนก กลายเป็นเครื่องมือให้คนพวกนี้นำไปใช้ ตามวัตถุประสงค์ของเขา ภาครัฐไม่มีคนรับผิดชอบเต็มเวลาเนื่องจากไม่มีหน่วยงานดูแลเรื่องนี้โดยตรง เป็นงานฝากบ้าง คนไม่พอบ้าง ต้องทำงานอื่นบ้าง เนื่องจากมีความคาดหวังสูงต้องทำทุกเรื่องให้สำเร็จ จึงไม่สามารถชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจ ดังนั้นเรื่องการให้ความรู้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด
  • 8. ควรพัฒนาศักยภาพ ให้มีหน่วยงานที่เป็นอิสระ ดูแลเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ของตนเอง แรกเริ่มควรทำเป็น model ในจังหวัดที่มีปัญหามลพิษมาก หน่วยงานนี้ทำหน้าที่ดูแลปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว อยู่ได้ด้วยเงินเก็บจากสถานประกอบกิจการ โรงงาน ถือเป็นภาษีสิ่งแวดล้อมเพื่อนำมาใช้ในการดำเนินการ จะได้มีคนทำงานเต็มเวลาในการดูแลปัญหา และควรอาศัยกลไกที่มีในชุมชนมากที่สุด
  • 9. ควรพัฒนากำลังคนในทุกด้านในเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ทันกับปัญหาและความต้องการของประชาชน

ทั้งหมดนี้เป็นข้อเสนอของผมในการดูแลแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ผมขอเน้นในเรื่องสารเคมี เนื่องจากเป็นกรรมการอยู่ในชุดนี้  ในเรื่องอื่นๆนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือเกือบทุกภาคส่วนดังนั้น จะใช้เป็นแนวทางเดียวกันก็ได้ ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่ซับซ้อน ผมอยากแก้ปัญหา ผมเชื่อในการจัดการที่ดี และการให้ประชาชนอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี แต่ในขณะเดียวกันผมไม่เชื่อว่าสิ่งเดิมๆจะหวลคืน ผมไม่เชื่อว่าทะเลที่ระยองจะกลับมาสะอาดได้ในช่วงชีวิตที่ผมอยู่ดูโลก ผมไม่เชื่อว่าตลิ่งในชายทะเลภาคใต้จะไม่พังต่อไป ผมไม่เชื่อว่าโลกจะอยุดร้อน อย่างไรก็ดี ผมอยากให้พวกเราอยู่ร่วมกับสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ให้ได้อย่างปลอดภัยและมีสุขภาพดี ผมขอแค่นี้ก็พอ ขอบคุณครับ

 

หมายเลขบันทึก: 247795เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2009 20:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 09:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

...อยากอยู่ร่วมกับสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่..ให้ได้..อย่างปลอดภัยและมีสุขภาพดี..ขอมาตรงนี้..ทำอย่างไร...ขอบคุณค่ะ..ยายธี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท