สวนชา ป่าเมี่ยง ดอกกำปองแดงเหลืองสะพรั่ง : บ้านแม่กำปอง ต.ห้วยแก้ว อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่


การจัดการป่าชุมชน และการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโดยชุมชน

จากตัวเมืองเชียงใหม่มุ่งสู่อำเภอแม่ออน ระยะทางกว่า 40 กิโลเมตร เพื่อเดินทางไปยังหมู่บ้านแม่กำปอง ต.ห้วยแเก้ว อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ ชุมชนเล็กๆ กลางหุบเขา ที่โอบล้อมด้วยธรรมชาติที่ยังอุดมสมบูรณ์ ธรรมชาติที่ชุมชนร่วมกันดูแล ร่วมกันจัดการ

แดงเหลืองสะพรั่งดอกกำปอง

ด้วยสาเหตุที่มีต้นไม้ชนิดหนึ่ง ต้นกำปอง เกิดขึ้นในหมู่บ้านเป็นจำนวนมาก ด้วยต้นกำปองนั้นเป็นไม้ล้มลุก ใบมีขนสากมือ เมื่อนำมาขยี้จะมีกลิ่นหอมมากซึ่งชาวบ้านจะใช้ทาแก้แมลงกัดต่อย ส่วนดอกจะมีขนาดเล็กสีแดงและสีเหลืองผสมกันและเมื่อเข้าสู่ช่วงหน้าหนาวของทุกๆ ปี ดอกกำปองแดงเหลืองก็จะบานสะพรั่ง ละลานตา ประกอบกับในบริเวณที่ตั้งชุมชนนั้นมีแม่น้ำไหลผ่านทำให้ชาวบ้านนำเอาลักษณะเด่นทางธรรมชาติเช่นนี้มาตั้งเป็นชื่อชุมชน เรียกขานกันว่า บ้านแม่กำปอง   

ความเก่าแก่ของชุมชนแห่งนี้ กล่าวได้ว่า สืบทอดกันมายาวนานกว่า100 ปี ความยาวนานนี้สะท้อนได้ถึงกระบวนการในการรักษา สืบทอดของชุมชนที่ทำให้ชุมชนเข้มแข็งและยืนหยัดอยู่มาได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ความเป็นมาของชุมชนนั้นเริ่มจากพ่ออุ้ยปา กิ้งแก้ว ชาวบ้านบ้านดอกแดง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ได้ออกเดินทางอพยพเพื่อหาแหล่งทำกิน ปลูกสวนชา สวนเมี่ยง และมาเริ่มต้นตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านปางโตน จากนั้นจึงขยับขยายมาตั้งชุมชนอยู่ที่บ้านแม่กำปองในปัจจุบัน โดยสาเหตุของการโยกย้าย อพยพก็เพื่อหาแหล่งทำกิน ต้องการหาพื้นที่ในการทำสวนเมี่ยง หรือสวนชาเพราะในสมัยก่อนชาวล้านนานั้นจะนิยมนำใบชามาทำเป็นเมี่ยงกินกัน จนเรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมล้านนาไปเสียแล้ว และด้วยความต้องการพื้นที่เพาะปลูก ทำให้ชาวบ้านบางส่วนในพื้นที่ดอยสะเก็ดที่มีอาชีพปลูกชาทำเมี่ยงอพยพเดินทางหาพื้นที่ จนมาตั้งหลักแหล่งอยู่ที่บ้านแม่กำปอง จากครัวเรือนไม่กี่ครัวเรือนก็ชักชวนพี่น้อง เครือญาติมาอยู่ร่วมกันจนขยับขยายกลายเป็นชุมชน โดยปัจจุบันบ้านแม่กำปอง จัดพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ในการดูแลกันออกเป็น 6 ปาง คือ ปางโตน ปางห่าง ปางใน ปางกลาง ปางนอก และปางขอน มีจำนวนประชากรทั้งหมด 417 คนและจำนวนครัวเรือนกว่า 130 ครัวเรือน โดยชาวบ้านจะตั้งบ้านเรือนแบบดั้งเดิมใช้ไม้เลื่อยจากป่าใกล้ๆ บ้าน ประกอบสร้างเป็นตัวบ้านและหลังคา โดยปลูกบ้านเป็นเรือนไม้ชั้นเดียวใต้ถุนสูง เพื่อใช้สำหรับเก็บของ แต่ปัจจุบันบ้านเรือนบางส่วนก็เริ่มมีรูปแบบสมัยใหม่มากขึ้น สร้างบ้านสองชั้น ประกอบกับไม้เริ่มมีราคาแพงและเลื่อยได้ยากขึ้นหลังคาจึงมุงด้วยกระเบื้องลอน มีการใช้อิฐก่อแทนฝาผนังชั้นล่างแทน

สวนชา ใบเมี่ยง วิถีล้านนา

บ้านแม่กำปองนั้นตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ต.ห้วยแก้ว อ.แม่ออน มีลักษณะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็น ภูเขา เนินเขา มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ที่เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร ด้วยสภาพทางธรรมชาติเช่นนี้ ทำให้ชาวบ้านประกอบอาชีพการเกษตร ปลูกชาทำสวนเมี่ยง สวนกาแฟ แต่ไม่มีการทำนาปลูกข้าวเนื่องจากสภาพพื้นที่ไม่เหมาะสม ประกอบกับไม่ต้องการบุกรุกพื้นที่เพื่อทำการปลูกข้าว แต่ต้องการรักษาพื้นที่ต้นน้ำเอาไว้นั่นเอง

วิถีชีวิตคนสวนชา สวนเมี่ยงเป็นวิถีวัฒนธรรมหนึ่งของคนล้านนาที่สืบทอดมายาวนาน ชาวบ้านทำสวนชาป่าหรือปลูกต้นเมี่ยง โดยปลูกแซมร่วมกับแนวป่า ผสมสวนชาธรรมชาติเข้ากับสวนชาที่ปลูกเสริม ดังนั้นทั้งป่าและสวนชาจึงดูกลมกลืนกัน ปล่อยให้สวนชาโตร่วมกับป่า เพราะชานั้นจะเติบโตได้ดีกับสภาพอากาศในป่า ที่ไม่ร้อนเกินหรือร่มเกินไป ชาวบ้านจึงดูแลป่า ดูแลธรรมชาติพร้อมๆ กับดูแลสวนชาของพวกเขา โดยการไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง เน้นการใช้แรงงานครัวเรือนมากกว่าเทคโนโลยี ด้วยเหตุนี้ การจัดการทรัพยากรป่าจึงเป็นส่วนสำคัญหนึ่งของวิถีการผลิตสวนเมี่ยงของคนบ้านแม่กำปอง

ป่าสวนชา : สวนชาใน ป่าอนุรักษ์ และดูแล

และด้วยรูปแบบที่ผสมผสาน ทำให้สวนชาเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศป่า โดยเป็นส่วนที่เกื้อกูลอิงอาศัย เศรษฐกิจของชุมชนจึงเกิดขึ้นอย่างสอดคล้องและดูแลรักษาป่าไปด้วย ป่าสวนชาที่มีความหมายถึงสวนชาในป่า สีเขียวครึ้มของป่าและกลิ่นใบชาที่อบอวลทั่วป่า ความผูกพันและเชื่อมโยงของชีวิตธรรมชาติและชีวิตทางเศรษฐกิจจึงกลายเป็นจุดเริ่มสำคัญของการริเริ่มจัดการทรัพยากรป่าของชุมชน

ทั้งนี้ เมื่อชุมชนต้องพึ่งพา พึ่งพิงป่าทั้งในฐานะทรัพยากรในการเพาะปลูกแล้ว ป่าของชุมชนยังเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร ความสำคัญของป่าสำหรับชุมชนจึงมีความหมายมากมาย แต่เงื่อนไขทางเศรษฐกิจรอบด้าน ก็กลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ความต้องการในการใช้ประโยชน์จากป่ามากขึ้น ใช้อย่างไม่จำกัดขาดความรู้ ความเข้าใจ และขาดการดูแล ทำให้ป่าเกิดสภาพเสื่อมโทรม สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นกลายเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ชุมชนได้มาร่วมคิด ร่วมกันค้นหาวิธีการจัดการ หลายคนมองเห็นอนาคตหากชาวบ้านยังใช้ป่าอย่างขาดความเข้าใจ ขาดความรู้ว่าในท้ายที่สุด ผืนป่าของพวกเขาก็จะหมดไป

กระบวนการจัดการป่าโดยชุมชนจึงเกิดขึ้น โดยมีส่วนต่างๆ ในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการป่า เกิดองค์กรในการทำงานหรือการขับเคลื่อนในหมู่บ้านผ่าน คณะกรรมการระดับหมู่บ้าน กลุ่มสมุนไพร และกลุ่มอื่นๆ ในชุมชน ที่มีบทบาทและหน้าที่สำคัญ คือ กำหนดกฎระเบียบ กติกา ร่วมกันดูแลรักษาป่า การปลูกป่า ทำแนวกันไฟ  ประสานงานกับกลุ่มอื่นๆ เช่น กลุ่มสมุนไพร  ช่วยในการอนุรักษ์ทรัพยากรที่เป็นสมุนไพร และปลูกพืชสมุนไพรเสริม พร้อมทั้งกำหนดกฎระเบียบในการใช้สมุนไพรในชุมชน

ขณะเดียวกันก็มีองค์กร ภาคีภายนอกที่เข้ามาหนุนเสริม ได้แก่ หน่วยจัดการต้นน้ำ อบต.ศูนย์เพาะชำกล้าไม้ที่ 9 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ ที่เข้ามาสนับสนุนด้านวิชาการ งบประมาณและการออกกฏ ระเบียบให้สอดคล้องกับระเบียบป่าชุมชน สนับสนุนการเพาะกล้าไม้ และปลูกเสริม แจกจ่ายพันธุ์ไม้ให้กับชุมชน  และส่งเสริมความรู้ด้านการจัดการเหมืองฝาย

รวมทั้งมีการกำหนดแผนงานกิจกรรม และกระบวนการทำงานร่วมกัน เช่น เดือนมีนาคม ทุกปีร่วมกันทำแนวกันไฟ เดือนพฤษภาคมและเดือนสิงหาคม ทุกปีร่วมกันปลูกป่า เป็นต้น โดยในกิจกรรมต่างๆ นั้นก็จะใช้เป็นพื้นที่ในการสร้างความเข้าใจเรื่องกฎระเบียบ หรือข้อกำหนดในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และสร้างความรู้เรื่องการดูแลและรักษาป่า ความเข้าใจในการใช้ทรัพยากรแก่ชาวบ้านร่วมกัน

ผลจากการจัดการป่าของชุมชน ส่งผลให้คนในชุมชนและคนนอกชุมชนที่เข้ามาใช้ประโยชน์จากป่าในพื้นที่บ้านแม่กำปอง ได้เข้าใจร่วมกัน ในเรื่องของแนวเขตป่าอนุรักษ์ ป่าต้นน้ำ  ป่าใช้สอย ทำให้การใช้ประโยชน์จากป่า มีรูปแบบที่ชัดเจน คนในชุมชนได้ร่วมกันกำหนดระเบียบการใช้ป่า ระเบียบชุมชน มีกรรมการที่ช่วยดูแล สอดส่อง ป่าชุมชนแม่กำปอง ค่อยฟื้นขึ้นมา มีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น น้ำที่เคยแห้งในหน้าแล้ง ก็ไหลตลอดทั้งปี  นักท่องเที่ยวเข้ามาในแม่กำปองมากขึ้น คนในชุมชนได้รับประโยชน์จากการจัดการท่องเทียวในชุมชน ทั้งในทางตรงคือ การได้ขายสินค้าในชุมชน การจัดให้บริการบ้านพัก

          ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

        การจัดการการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของแม่กำปอง เริ่มต้นเมื่อปี 2539 ผู้นำชุมชนแม่กำปองได้เล็งเห็นความอุดมสมบูรณ์ของป่าแม่กำปอง ที่มีแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นธรรมชาติหลายจุด แต่ขณะเดียวกัน ธรรมชาติและความอุดมสมบูรณ์ดังกล่าวก็เริ่มลดลง ไปเรื่อยด้วยน้ำมือของคนในชุมชนเอง คนในชุมชนใกล้เคียง และในช่วงเวลาดังกล่าวเริ่มมีนักท่องเที่ยว เข้ามาแต่ไม่มีระบบการจัดการที่ชัดเจน ในช่วงดังกล่าวทำให้ผู้นำได้มีการจัดเตรียมความเข้าใจของชุมชน โดยใช้การประชุมหมู่บ้านในแต่ละช่วงเดือนมีการจัดเตรียมกลุ่มไกด์ กลุ่มบ้านพัก กลุ่มการแสดง อย่างไม่เป็นทางการ ต่อมาในปี 2543 จึงมีการเปิดการให้บริการบ้านพัก และการจัดการท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการ โดยการประชาสัมพันธ์ในวงกว้าง ผ่านหน่วยงานการท่องเที่ยว หน่วยงานราชากรต่างๆ แต่ในช่วงดังกล่าวยังไม่มีการบริหารจัดการที่ชัดเจน เช่นเรื่องระบบการจัดการ การบริหารนักท่องเที่ยว การจัดการด้านการเงิน ต่างๆ

          ในช่วงแรกของการขับเคลื่อนกิจกรรมการจัดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โดยชุมชนนั้น  ในระยะแรกชุมชนประสบปัญหาที่สำคัญ เช่น ชาวบ้านไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการท่องเที่ยว หรือการพักแบบโฮมสเตย์ และไม่เข้าใจถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการเปิดหมู่บ้านเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว ประกอบกับมองไม่เห็นความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและวิถีชีวิตของตนเอง ขณะเดียวกันการไม่มีกฎระเบียบหรือมาตรการในการปฏิบัติที่ถูกต้อง รวมไปถึงไม่เข้าใจในเรื่องของการดูแลผลประโยชน์หรือผลตอบแทนที่จะได้รับ ก็กลายเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้ชุมชนต้องร่วมกันแก้ไข

            แต่เมื่อการจัดการท่องเที่ยวของชุมชนเกิดขึ้นอย่างจริงจัง มีระบบชัดเจน การเข้ามามีส่วนร่วมของคนในชุมชนก็เกิดขึ้น องค์กรชุมชนกลุ่มต่างๆ ในหมู่บ้านเข้ามาร่วมคิด ร่วมจัดการ โดยประกอบด้วย กลุ่มไกด์ กลุ่มบ้านพัก กลุ่มฟ้อน กลุ่มดนตรี กลุ่มจักสาน กลุ่มสมุนไพร กลุ่มกาแฟ กลุ่มนวด กลุ่มหมอนใบชา

          โดยรูปแบบและจุดเด่นของการจัดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แม่กำปอง คือ เป็นหมู่บ้านที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีทิวทัศน์ที่สวยงาม และมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติมากมาย เช่น น้ำตกแม่กำปอง น้ำตกธารทอง ฯลฯ นอกจากนั้นยังมีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ อุดมไปด้วยพืชพันธุ์และสมุนไพรต่างๆ มีดอกเอื้องดินเป็นดอกไม้ประจำถิ่นที่มีความสวยงาม ซึ่งจากความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ มีพื้นที่ป่าไม้ในเขตบ้านแม่กำปองที่จัดเป็นป่าสงวนมีประมาณ 6 ตารางกิโลเมตรพื้นที่ป่าชุมชนมีประมาณ 1 ตร.กม. พื้นที่ทำกินปลูกสวนเมี่ยง กาแฟ 6 ตารางกิโลเมตร

            หมู่บ้านแม่กำปอง เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในพื้นที่สูง เป็นเนินเขาและอยู่ในเขตป่าไม้ชั้น A (ตามการแบ่งพื้นที่ป่าของกรมป่าไม้) และสูงกว่าระดับน้ำทะเลโดยเฉลี่ย ประมาณ 1,300 เมตร ดังนั้นลักษณะป่าไม้ส่วนใหญ่จึงเป็นป่าเบญจพรรณ เป็นป่าดิบชื้น ต้นไม้ทยอยกันผลัดใบตลอดปี จึงทำให้ป่าไม้มีใบเขียวชอุ่ม ชุ่มชื่น  อากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี ในป่ามีทรัพยากร เช่น เห็ดป่า หน่อไม้ น้ำผึ้ง ผัก สมุนไพรและสัตว์ป่า 

            ทั้งนี้ ชุมชนร่วมกันกำหนดรูปแบบการท่องเที่ยว 3 แบบ คือ

1.แบบไป กลับ (วันเดียว) กลุ่มเป้าหมายของการท่องเที่ยวแบบนี้ คือ กลุ่มคนไทยหรือชาวต่างชาติที่เข้ามาโดยไม่มีกำหนดหรือแจ้งให้กับหมู่บ้านไว้ล่วงหน้าซึ่งจะเข้ามาเพื่อเที่ยวชมธรรมชาติในหมู่บ้าน เที่ยวชมกิจกรรมต่างๆตลอดจนเข้ามาเที่ยวน้ำตกซึ่งจะมีมากในช่วงวันหยุด ช่วงปิดภาคเรียน

2.แบบทัศนศึกษา กลุ่มเป้าหมายของการท่องเที่ยวแบบนี้ก็คือ นักศึกษา หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนกลุ่มองค์กรต่างๆรวมถึงหมู่บ้านท่องเที่ยวอื่นๆที่สนใจเข้ามาศึกษาดูงาน ศึกษาระบบการบริหารจัดการการท่องเที่ยว การจัดการทรัพยากรป่าไม้ สมุนไพร กลุ่มอาชีพต่างๆที่จัดตั้งในหมู่บ้านเรียนรู้วิถีชีวิตของคนในหมู่บ้าน การจัดการกองทุนหมู่บ้าน โดยการท่องเที่ยวรูปแบบนี้จะเน้นเรื่องการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

3.แบบมาพักค้างคืน กลุ่มเป้าหมายของการท่องเที่ยวแบบนี้ คือ กลุ่มคนไทยหรือชาวต่างชาติที่ติดต่อผ่านบริษัททัวร์ หรือ ติดต่อผ่านเข้ามาโดยมีการแจ้งเข้ามาก่อนล่วงหน้าในการจองที่พัก ซึ่งส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวจะทราบก่อนเข้ามาพักว่ารูปแบบการพักอาศัยนั้นจะเป็นอย่างไร โฮมสเตย์คืออะไร  นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะเข้ามาเพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชน ศึกษาธรรมชาติ ซึ่งจะมีกิจกรรมที่หลากหลายให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเลือกชม มีการเดินป่าสำรวจความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ ชมนก ชมดอกเอื้องในป่า สมุนไพร มีการฝึกทำอาหารร่วมกับเจ้าของบ้าน มีพิธีบายศรีสู่ขวัญ ชมการแสดงฟ้อน ดนตรีพื้นเมือง ทำบุญตักบาตร การปลูกต้นไม้ในหมู่บ้าน

นอกจากการกำหนดรูปแบบการท่องเที่ยวแล้ว ชุมชนยังร่วมกันกำหนดเส้นทางในการศึกษาป่า ศึกษาธรรมชาติซึ่งประกอบด้วย เส้นทางไปม่อนล้าน (เดินเท้า ระยะเวลา 6-7 ชม.) เส้นทางไปทางน้ำตกต่อไปยังห้วยรากไม้เหลืองต่อไปยังดอยม่อนล้าน (ดูนก) (ระยะเวลา 6-7 ชม.) เส้นทางระยะใกล้ (ดูสมุนไพร/ เมี่ยง/ ต้นไม้ใหญ่) (ระยะเวลา 2ชม.) และเส้นทางแม่รวม(ต้นไม้ใหญ่/ พืชพันธุ์ไม้หลากหลาย/ สมุนไพร) (เดินเท้า ระยะเวลา 6-7 ชม.)

หมายเลขบันทึก: 247499เขียนเมื่อ 10 มีนาคม 2009 16:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 10:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท