การวิเคราะห์ วิจารณ์ ภาพถ่าย


การวิเคราะห์ การวิจารณ์

การวิเคราะห์ วิจารณ์ ภาพถ่าย

โดย อ.ศรศักดิ์ ศักดิ์บดินทร์

อ้างอิง:  http://www.pantip.com/cafe/camera/topic/O7600525/O7600525.html

a-sorn

สังเกตเห็นบ่อยๆว่าเมื่อมีผู้ส่งภาพขึ้นมาขอความเห็นและขอคำวิจารณ์ ส่วนใหญ่แล้วก็มักจะมีแต่คำชม...ภาพสวย มุมมองแปลก ขอเอาใจช่วย ฯลฯ แต่ไม่มีคำแนะนำหรือความคิดเห็นอื่นใด ที่จะให้ผู้ถามได้นำไปใช้ในการปรับปรุงการถ่ายภาพให้ดีขึ้น เข้าใจดีว่าเป็นการให้กำลังใจ ไม่อยากทำลายน้ำใจ และก็เข้าใจดีอีกเช่นกันว่า หลายคนที่โหลดภาพขึ้นมาก็เพราะอยากโชว์ภาพ และอยากได้คำชมเช่นนี้ แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ต้องการความคิดเห็นและคำวิจารณ์ที่เหมาะที่ควร และบางคนก็อาจจะเซ็งกับคำชม ก็เลยไปหาคำวิจารณ์จากที่อื่น

 

ผมเข้าใจว่าหลายคนคงยังไม่รู้ถึงวิธีการดูภาพว่ามันจะต้องดูกันอย่างไร จึงจะเรียกว่าภาพดี ยังไม่ดีพอ หรือว่าไม่ได้เรื่องเอาซะเลย ก็เลยอยากจะแนะนำให้ศึกษาบทความที่นำมาให้อ่านนี้ให้ดี มันไม่ยากอะไรนัก แต่ผู้วิจารณ์ควรจะมองภาพให้ถี่ถ้วน ไม่มองว่าเป็นภาพของใคร หรือตัวแบบ วิว หรือว่าดอกไม้สวยเพียงไร

 

ขอให้มองให้ครบ 3 ประการ คือ

1.       คุณภาพทางด้านเทคนิค

2.       องค์ประกอบ และ

3.       ความรู้สึกที่ได้จากภาพ

 

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ผมได้คัดมาสั้นๆจากวิชาที่ได้เคยเรียนมา คือ Photo Appreciation จุดประสงค์ในการเรียนวิชานี้ก็คือ มันจะช่วยทำให้เราสามารถดูภาพได้อย่างเข้าใจ อ่านความหมายของภาพ ดูให้กระจ่างถึงภาพรวมทั้งหมด และสามารถที่จะวิจารณ์ภาพได้

 

การวิจารณ์ภาพถ่ายควรจะเป็นการมุ่งเน้นในการที่จะช่วยให้ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือได้รับความรู้ ความเข้าใจที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางทฤษฏี ทางด้านมุมมอง ทางด้านศิลปะ หรือทางด้านเทคนิคในการถ่ายภาพให้ดีขึ้นและมีหลักการมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ควรจะช่วยเหลือแนะนำให้ปรับปรุงแนวของการมองภาพ ให้เป็นตัวของตัวเองในการทำงานอีกด้วย

 

ผู้วิจารณ์ควรจะแนะนำให้ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือศึกษาการถ่ายภาพให้มากขึ้นด้วยการดูงานของผู้อื่น แต่ต้องไม่เปลี่ยนมุมมองของเขาหรือพยามยามที่จะให้เขาเลียนแบบงานของผู้อื่น หรือของผู้วิจารณ์เอง เพราะการเลียนแบบ หรือการลอกงานเป็นศัตรูตัวฉกาจของความสร้างสรรค์

 

ผู้วิจารณ์ภาพจำเป็นที่จะต้องเข้าใจจุดประสงค์ของการถ่ายภาพของผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือให้แน่ชัดเสียก่อนว่าเป็นอย่างไร...จะต้องเข้าใจว่าภาพที่กำลังจะวิจารณ์นี้ เป็นภาพที่จะนำไปใช้ในสถานการณ์เช่นใด เช่น เป็นภาพที่จะนำไปใช้สำหรับการศึกษาอะไรหรือเปล่า หรือว่าใช้ในการประกอบบทความ, ใช้เป็นการรายงาน, เป็นภาพใช้ดูกับเพื่อนและครอบครัว, เป็นงานศิลปะ หรือว่าจะส่งเข้าประกวด หากผู้ขอคำแนะนำมิได้บอกจุดประสงค์มา ก็ควรที่จะถามถึงจุดประสงค์ให้ชัดเจน จึงจะสามารถที่จะโฟกัสการมองให้แคบลงและวิจารณ์, วินิจฉัยภาพให้ได้ตรงเป้าหมาย

 

การวิจารณ์ภาพโดยทั่วไปจะอาศัยหลักดังต่อไปนี้...เนื่องจากเป็นการดูภาพผ่านจอคอมพิวเตอร์ จึงขอปรับบางส่วนนิดหน่อยเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์

ก. Technical quality คุณภาพทางด้านเทคนิค...เป็นที่เข้าใจกันดีว่าภาพที่ดีจะต้องเริ่มต้นด้วยความคุณภาพทางด้านเทคนิคก่อน เช่น

a.       Focus  การโฟกัสชัดหรือไม่ หากไม่ชัด เป็นเพราะว่าความจงใจที่จะให้ภาพมีความนุ่ม และประสบความสำเร็จหรือไม่ หรือว่าไม่ชัดเพราะความผิดพลาด

b.       Cleanliness    ภาพสะอาดหรือไม่ มีรอยขีดข่วน มีจุดขาวของฝุ่นเกาะและไม่ได้รับการแต่ง หรือแต่งแล้วแต่ไม่เนียนพอ หรือว่ามีรอยด่าง มีแฟลร์ให้เห็น เป็นต้น

c.        Exposure  ภาพมืดไป สว่างไป หรือว่ากำลังดี

d.       Lighting  แสงในภาพความเปรียบต่างสูงไป น้อยไป หรือว่ากำลังดี

e.       Color    ภาพมีโทนสีที่ถูกต้อง หรือว่ามีสีที่เพี้ยน

ข. Composition  องค์ประกอบ...จากมุมมองของกล้องและระยะความยาวของเลนส์ ภาพจะออกมาอย่างไรจึงจะประสบความสำเร็จ

a.       Balance  ภาพวางได้สมดุลดีหรือว่าเอียง

b.       Logic  การใช้องค์ประกอบได้ผลหรือไม่

c.        Purpose  มีจุดสนใจที่ชัดเจนหรือว่ามีอะไรน่าสนใจหรือไม่

d.       Clarity  ดูเรียบง่าย แต่สมบูรณ์ปราศจากสิ่งรบกวน หรือว่ายุ่งเหยิง

ค. Emotional Appeal ความดึงดูดสายตาและอารมณ์ ...สิ่งที่สำคัญสำหรับภาพที่ดีก็คือจะต้องเป็นภาพที่ดูแล้วสมควรแก่การจดจำ

a.       Dynamic  ภาพดึงดูดสายตามากน้อยเพียงไร มันมีจุดที่เรียกว่า ใช่เลยรึเปล่า

b.       Provocative    ภาพทำให้ดูแล้วตื่นเต้นหรือทำตื่นตาตื่นใจหรือไม่

c.        Creative  ในภาพแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่คุ้นเคยในมุมมองที่แปลกและใหม่หรือไม่

d.       Unusual  ในภาพแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่แปลกในด้านที่ต้องตาอะไรบ้างไหม

 

ด้วยหลัก basic ง่ายๆเช่นนี้ มันก็จะทำให้เราเปลี่ยนวิธีการมองภาพไปได้มากทีเดียว หากยังไม่แน่ใจว่าจะ work เพียงไร ลองนำภาพของเราเองออกมาวางเรียงดูแล้วพิจารณาอย่างถี่ถ้วน วิเคราะห์ และวิจารณ์ ดูก่อนที่จะวิจารณ์ภาพของคนอื่น ก็จะช่วยได้มากเช่นกัน

 

หมายเลขบันทึก: 247400เขียนเมื่อ 10 มีนาคม 2009 08:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท