ข้าวพันธุ์คุณธรรม สร้างคนปลอดสาร


เกษตรอินทรีย์ เกษตรคุณธรรม

: เรื่องราวบางส่วนของธรรมะร่วมใจ

หลายตำบลในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด มหาสารคาม สุรินทร์   และจังหวัดยโสธร ในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2536 – 38 เริ่มมีการรณรงค์ ให้ความรู้เกษตรกรในการผลิตอย่างปลอดสาร การทำเกษตรอินทรีย์ผ่านรูปแบบโครงการต่างๆ เกษตรกรหลายคนเข้าร่วมโครงการเนื่องจากประสบปัญหาและค้นหาคำตอบในการผลิตได้ จากเกษตรกรรมเพื่อการผลิต กลายเป็นเกษตรอินทรีย์ เกษตรกรเริ่มต้นปรับเปลี่ยนวิถีการผลิต งดการใช้สารเคมี และสิ่งแปลกปลอมต่างๆ

พ่อทองอวน เทศน์ไทย หนึ่งในเกษตรกรผู้หันมาทำเกษตรอินทรีย์ พ่อทองอวนอาศัยอยู่ใน ตำบลกำแมด อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร ชีวิตในอดีตก็ไม่ต่างจากเกษตรกรคนอื่นๆ พ่อทองอวนเป็นเกษตรกรที่ทำการผลิตโดยใช้สารเคมี ยิ่งทำยิ่งแย่ ทั้งรายจ่ายที่มากมาย ที่นากว่า 110 ไร่ก็เริ่มย่ำแย่ สภาพต่างๆ ทำให้พ่อทองอวนค้นหาคำตอบให้ตนเอง ดังนั้นพ่อทองอวนจึงเข้าร่วมโครงการเกษตรอินทรีย์ ในช่วงปี พ.ศ.2538

ในกระบวนการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์นั้น พ่อทองอวนเล่าว่า เกษตรกรที่หันมาผลิตแบบเกษตรอินทรีย์นั้นจะต้องไม่มีสารพิษ สารเคมีครอบครองในการผลิต ผลผลิตในที่นาจะมีมาตรฐานรองรับ โดยเฉพาะมาตรฐานเกษตรกรไทยควบคุมอยู่   

โดยในการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ เน้นการพึ่งตนเอง ในที่นาจึงเลี้ยงปลา เลี้ยงปศุสัตว์ มีการขุดบ่อ 5 บ่อ เลี้ยงปลาดุก ปลานิล ปลาไน ปลาตะเพียน และปลาตามธรรมชาติ การที่เน้นพึ่งตนเอง เพราะคนที่ทำเกษตรอินทรีย์นั้น เป้าหมายหลักก็เพื่อลดรายจ่ายของเราเอง ทำอย่างไรที่จะกินอาหารของตัวเราเอง พอคิดอย่างนั้นจึงเกิดการปรับที่นา ขุดบ่อ ล้อมรั้ว ปลูกผักต้องยอมรับว่าแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้อยากปรับเปลี่ยนก็คือ ครอบครัว อยากให้ครอบครัวมีความสุข มีสุขภาพดี ทำแล้วพบความแตกต่างของสิ่งแวดล้อม กบ เขียดที่เคยหายไปกลับมา เริ่มมีเยอะขึ้นทั้งๆ ที่ช่วงที่ทำเกษตรแบบใช้สารเคมีนั้นแทบจะไม่มีเลย

บนเส้นทางการทำเกษตรอินทรีย์ เริ่มขยายผลไปสู่คนอื่นๆ จากพ่อทองอวน ที่มุ่งทำให้ดู เน้นการปฏิบัติจริงนั้น จนขยายไปสู่เพื่อนใกล้เคียง พ่อสุพจน์ กิจทวี บ้านหนองเป็ด ตำบลหนองเป็ด อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร เป็นเกษตรกรอีกรายหนึ่งที่หันมาทำเกตรอินทรีย์ ปลูกข้าวปลอดสาร เกิดการปรับเปลี่ยนชีวิต

พ่อวิจิตร บุญสูง  แกนนำการทำเกษตรอินทรีย์ ต.นาโส่ อ.กุดชุม จ.ยโสธร เล่าให้ฟังว่า การทำเกษตรอินทรีย์ แม้ว่าจะทำอย่างปลอดสาร แต่จริงๆ แล้วก็เป็นการทำมุ่งที่จะขาย เกษตรกรได้แค่เงินจากการขายข้าวปลอดสาร  แต่ตัวเกษตรกรเองกลับบริโภค กินใช้อบายมุขต่างๆ เกษตรกรบางรายหันมาทำเกษตรอินทรีย์ 9 – 10 ปีสามารถหลุดพ้นจากหนี้สิน มีเงินใช้หนี้ แต่เกษตรกรบางรายก็ยังมีหนี้สินอยู่ สาเหตุก็มาจากเกษตรกรขาดคุณธรรม ยุ่งเกี่ยวกับอบายมุข ดังนั้นการทำเกษตรอินทรีย์ที่ผ่านมาจึงได้ผลลัพธ์ในแง่รายได้เท่านั้น

จะปรับเปลี่ยนต้องมีเครื่องมือ มีกลไกจัดการ

เมื่อมองเห็นสภาพปัญหาแล้ว การเชื่อมโยงกันในการจัดการจึงเริ่มขึ้น มูลนิธิธรรมะร่วมใจคือกลไกหนึ่งที่แกนนำเกษตรกรปลอดสารให้เป็นฐานในการระดมคน ระดมทุน ระดมความคิด

 กองบุญหนุนเกื้อ เป็นเครื่องมือที่เกิดขึ้นเพื่อก่อให้เกิดการรวมตัวของสมาชิก เน้นการมีส่วนร่วมที่ประจำต่อเนื่อง เดือนหนึ่งจะพบปะกันหนึ่งครั้ง ออมวันละบาท ฝากประจำทุกวันที่ 5 ของเดือน โดยในการออมนั้นเป็นการออมเพื่อที่จะช่วยเหลือกัน ไม่ใช่การกู้ เน้นช่วยเหลือด้านสวัสดิการเป็นหลัก ตั้งแต่เกิดจนตาย

นอกเหนือจากเป็นเครื่องมือที่ก่อให้เกิดการรวมเงิน รวมทุนแล้ว กลไกของกองบุญหนุนเกื้อจะเป็นฐานสมาชิกให้แก่มูลนิธิธรรมะร่วมใจ ที่ไม่สามารถเปิดรับสมาชิกได้ ดังนั้นในการขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ  ของมูลนิธิ ระบบสมาชิกของกองบุญจึงเข้ามาสนับสนุนกิจกรรมได้ ในการขยายผล สร้างสมาชิกเพิ่มนั้น มูลนิธิใช้วิทยุชุมชนเป็นเครื่องมือสำคัญในการเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสาร ทำให้เกิดการขยายผลในวงกว้าง จากระดับตำบล ระดับอำเภอเป็นระดับจังหวัด ปัจจุบันมีการทำงานขยายผล  เชื่อมโยงไปแล้วหลายจังหวัดในภาคอีสาน เช่น ยโสธร ร้อยเอ็ด มุกดาหาร  อำนาจเจริญ  และอุบลราชธานี 

รวมคนจากกองบุญ  หนุนเกื้อสู่การจัดการตนเองบนหลักคุณธรรม

 ข้าวคุณธรรม จึงเกิดขึ้น โดยเป็นกิจกรรมที่มุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนทัศนคติ พฤติกรรมของเกษตรกร มุ่งเน้นคุณค่าในแง่ชีวิต จิตใจ ควบคู่กับการผลิต สร้างรายได้

การจัดการตนเองบนหลักคุณธรรม ผ่านกิจกรรมข้าวคุณธรรมนั้น เกษตรกรที่เข้าร่วมกิจกรรมจะผ่านมาตรฐาน 2 แบบ คือ มาตรฐานเกษตรกรไทย มุ่งตรวจสอบในแง่การผลิต การปลอดสารเคมี ปุ๋ยเคมี ยาต่างๆ มีการผลิตที่ถูกต้อง มีคุณภาพ ในขณะที่มาตรฐานคุณธรรมนั้นตั้งอยู่บนฐานตัวชี้วัดเรื่องพฤติกรรมของตัวเกษตรกรเอง

และมาตรฐานคุณธรรม  ที่เน้นการเลิกจากอบายมุข (เหล้า บุหรี่ การพนัน) ปฏิบัติศีล 5 โดยใช้วิธีการกระตุ้นให้เห็นปัญหาจากต้นเหตุ ตั้งแต่ความต้องการ อยากได้ อยากมี จนกระทั่งได้คนต้นแบบ ที่สามารถลดความอยากได้ มีสัจจะ เป็นต้น

ผลลัพธ์ที่ได้มากกว่าข้าว คือความสุขของตัวเกษตรกรและครอบครัว

ปัจจุบันกระบวนการที่มูลนิธิได้คิดริเริ่มลงมือทำนั้นมีสมาชิกเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก มีสมาชิกสวัสดิการกองบุญหนุนเกื้อจำนวน 898 คน สมาชิกข้าวคุณธรรม 100 คน (เป็นจำนวนสมาชิกต่อปี โดยที่รับสมาชิกไม่ซ้ำกันในแต่ละปี) 

ผลลัพธ์ที่ก่อเกิดจากกิจกรรมทั้งกองบุญหนุนเกื้อ และข้าวคุณธรรม เกษตรกรที่เข้าร่วมกิจกรรมพบว่า ได้ผลลัพธ์มากกว่าเรื่องปริมาณ ผลผลิตข้าว แต่นี่คือกระบวนการสร้างคนที่มีคุณภาพ และมีคุณธรรม เป็นกระบวนการสร้างคนผ่านกลไกของกิจกรรมต่างๆ

ความสุข ทั้งในแง่สุขภาพที่ดี ชีวิตที่ดี ครอบครัวที่อบอุ่น เห็นความเปลี่ยนแปลงของคนในครอบครัว และเห็นความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเกษตรกรโดยตรง เป็นเป้าหมายที่มูลนิธิเล็งเห็นมากกว่าปริมาณการผลิต เมื่อกระบวนการสร้างคนได้เกิดขึ้น กลไกที่จะเชื่อมร้อยให้เกิดการปฏิบัติต่อเนื่อง และสร้างรายได้ให้สมาชิก

และยังทำงานเชื่อมโยงในระดับเครือข่าย มีการประสานกับเครือข่ายต่างๆ เช่น สวนสร้างฝัน จังหวัดอำนาจเจริญ เครือข่ายบ้านลาด  ศีรษะอโศก โดยที่กลุ่มเครือข่ายต่างๆ นี้จะเชื่อมโยงทำกิจกรรมร่วมกันทุกต้นปี ซึ่งเป็นกิจกรรมที่แต่ละเครือข่ายจะนำเอาพืชผักมาขายร่วมกันในราคาถูก จัดขึ้นที่ราชธานีอโศก จังหวัดอุบลราชธานี เป็นต้น

มูลนิธิธรรมะร่วมใจ ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนเกษตรคุณธรรม ข้าวคุณธรรม :  เศรษฐกิจพอเพียง วันนี้ พื้นที่กว้างขวางของมูลนิธิธรรมะร่วมใจ พร้อมเปิดรับผู้สนใจเรียนรู้ ทั้งเกษตรกรที่ต้องการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในด้านความรู้การทำเกษตร หรือบุคคลทั่วไปที่สนใจการจัดการชีวิตบนฐานคุณธรรม และเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เหล่าเกษตรกรข้าวคุณธรรมมีบุคลากรที่สามารถให้ข้อมูล ความรู้อย่างครบครัน มีฐานการเรียนรู้หลายฐานกิจกรรม เช่น ฐานนาอินทรีย์ ฐานปุ๋ยชีวภาพ ฐานน้ำหมัก ฐานน้ำยาล้างจาน ฐานน้ำยาซักผ้า ฐานสบู่เหลว ฐานถ่านและการปลูกป่า ฐานเห็ด รวมทั้งมีฐานเสริม อย่างฐานแปลงผัก มังสวิรัติ ผักกสิกรรมไร้สาร เป็นต้น

หลังหมดหน้านา สมาชิกจะเอาข้าวมากองรวมกัน โดยมีมูลนิธิเป็นตัวกลางในการรับซื้อขาย มีโรงสีขนาดย่อมไว้รองรับสมาชิก มีโรงปุ๋ยที่หมักเองลดรายจ่ายค่าปุ๋ย  เมื่อเอาข้าวไปสี ส่วนกำไรจะกลายเป็นบุญที่เข้ามาสมทบในกองบุญต่อ สมาชิกจึงได้บุญรวมกันทั้งในแง่บุญกุศล และบุญวัตถุ 

หากยังคิดไม่ออกว่าข้าวที่กินอยู่ เป็นข้าวพันธุ์อะไร ขอเสนอว่าลองเลือกหันมาบริโภคข้าวคุณธรรม ที่เป็นมากกว่าเมล็ดข้าวที่เอาไปหุงกิน แต่นี่คือพันธุ์ข้าวที่สร้างคนที่ปลอดสาร และมีความสุข อิ่มทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิต  

มูลนิธิธรรมะร่วมใจ 80 หมู่ 8 ต.กระจาย อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร 35150

โทร 045 – 795 – 505 และ 045 – 795 – 048  

หมายเลขบันทึก: 247015เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2009 01:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2012 10:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท