การพัฒนารูปแบบการสอน


การพัฒนารูปแบบการสอนแบบจัดการความรู้ เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการเรียoวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนโป่งแพร่วิทยา จังหวัดเชียงราย

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่า ผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ เน้นความสำคัญทั้งความรู้ คุณธรรม กระบวนการเรียนรู้ และ บูรณาการตามความเหมะสมในเรื่อง ความรู้และทักษะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดเนื้อหาสาระและกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจและความถนัดของผู้เรียน โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ฝึกทักษะกระบวนการคิด การจัดการ การเผชิญสถานการณ์และการประยุกต์ความรู้มาใช้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา และให้สถานศึกษาพัฒนากระบวนการเรียนการสอน ที่มีประสิทธิภาพ (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ. 2546 : 13 - 17)
หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กำหนดจุดมุ่งหมายให้ผู้เรียนมีทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ โดยยึดหลักว่าผู้เรียน ทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนสำคัญที่สุด ดังนั้น ครูผู้สอน และผู้จัดการศึกษาจะต้องเปลี่ยนแปลงบทบาทจากการเป็นผู้ชี้นำ ผู้ถ่ายทอดความรู้ ไปเป็นผู้ช่วยเหลือ ส่งเสริม และสนับสนุนผู้เรียนในการแสวงหาความรู้จากสื่อและแหล่งต่างๆ และให้ข้อมูลแก่ผู้เรียน เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้สร้างสรรค์ความรู้ของตน ทั้งนี้ การจัดการเรียนรู้สาระวิทยาศาสตร์ มีกระบวนการและวิธีการที่หลากหลาย ครูผู้สอนต้องคำนึงถึงพัฒนาการทางด้านร่างกาย และสติปัญญา ความสนใจ และความสามารถของผู้เรียน (กระทรวงศึกษาธิการ. 2545 : 4, 21)
ในสังคมแห่งความรู้ "ความรู้" ถือว่าเป็นทรัพยากรหลักที่มีค่ายิ่ง ซึ่งแตกต่างจากปัจจัยการผลิตอื่นๆ เนื่องจากความรู้เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงและสร้างขึ้นใหม่ได้ตลอดเวลา ซึ่งสภาวะดังกล่าวก่อให้เกิดความได้เปรียบทางการแข่งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสังคมเศรษฐกิจฐานความรู้ ความรู้ได้กลายเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ ดังนั้นแนวคิดและหลักบริหารจัดการความรู้ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับองค์กรในทุกระดับ การจัดการความรู้เป็นกระบวนการ (Process) วงจรต่อเนื่อง ที่ดำเนินการร่วมกันโดยผู้ปฏิบัติงานในองค์กรหรือหน่วยงานย่อยขององค์กร เพื่อสร้างและใช้ความรู้ในการทำงานให้เกิดผลสัมฤทธิ์ดีขึ้นกว่าเดิม เกิดการพัฒนางานอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ เป้าหมายคือ การพัฒนางานและพัฒนาคน โดยมีความรู้เป็นเครื่องมือ มีกระบวนการจัดการความรู้เป็นเครื่องมือจึงเป็นกิจกรรมของผู้ปฏิบัติงาน ไม่ใช่กิจกรรมของนักวิชาการหรือ นักทฤษฎี แต่นักวิชาการหรือนักทฤษฎีอาจเป็นประโยชน์ในฐานะแหล่งความรู้ (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. http://www.obec.go.th/teacherzone. 2551)
จากประสบการณ์การสอนกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 พบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน เรื่องอาหารและสารอาหาร อยู่ในระดับต่ำ และนักเรียนขาดทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ขั้นสูง ได้แก่ ทักษะการกำหนดและควบคุมตัวแปร การตั้งสมมติฐาน การกำหนดนิยามเชิงปฏิบัติการ การทดลอง และการตีความหมายข้อมูลและการลงข้อสรุป นอกจากนี้ นักเรียนไม่สามารถนำความรู้และประสบการณ์ในการเรียนวิทยาศาสตร์เชื่อมโยงให้สอดคล้องกับสภาพชีวิตจริง จึงไม่เห็นความสำคัญและประโยชน์ของการเรียนรู้ในเรื่องดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ ผู้วิจัยจึงได้พัฒนารูปแบบการสอนแบบการจัดการความรู้ เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะทางการเรียนของนักเรียน กลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ ภายใต้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 และหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2544 อันจะนำไปสู่การพัฒนาผู้เรียนทุกด้าน ให้ได้ระดับมาตรฐานตามความมุ่งหวังของประเทศชาติต่อไป

วัตถุประสงค์ของการวิจัย
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์คือ
1. เพื่อพัฒนารูปแบบการสอนแบบจัดการความรู้ เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการเรียนวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนโป่งแพร่วิทยา จังหวัดเชียงราย
2. เพื่อประเมินผลการใช้รูปแบบการสอนแบบจัดการความรู้ เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการเรียนวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนโป่งแพร่วิทยา จังหวัดเชียงราย

สมมุติฐานการวิจัย
1. ประสิทธิภาพรูปแบบการสอนแบบจัดการความรู้ (E1/E2 ) เท่ากับ 80/80
2. การสอนโดยใช้รูปแบบการสอนแบบจัดการความรู้ทำให้นักเรียนมีสมรรถนะการเรียนวิทยาศาสตร์สูงกว่าก่อนเรียน

ขอบเขตการวิจัย
1. การวิจัยครั้งมุ่งพัฒนารูปแบบการสอนแบบจัดการความรู้ เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการเรียนวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนโป่งแพร่วิทยา จังหวัดเชียงราย
ประชากร ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนโป่งแพร่วิทยา
กลุ่มตัวอย่างได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ปีการศึกษา 2551 จำนวน 27 คน โดยวิธีเลือกแบบเจาะจง
2. ตัวแปรที่ใช้ในการศึกษา ประกอบด้วย
ตัวแปรต้น การสอนโดยใช้รูปแบบการสอนแบบจัดการความรู้
ตัวแปรตาม ได้แก่ สมรรถนะการเรียนวิทยาศาสตร์ และ ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนตามรูปแบบการสอนแบบจัดการความรู้
3. ระยะเวลาที่ใช้ในการศึกษา ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2551

นิยามศัพท์เฉพาะ
การพัฒนารูปแบบ หมายถึง การดำเนินการศึกษาและพัฒนาแบบแผนการเรียนการสอนโดยใช้วิธีการบูรณาการองค์ความรู้ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน แล้วนำเสนอเป็นรูปแบบขั้นตอนของการจัดการเรียนการสอน
รูปแบบการสอน หมายถึง แบบแผนการจัดการเรียนการสอน ที่อาศัยหลักปรัชญา ทฤษฎี แนวคิด หรือความเชื่อต่างๆ โดยจัดให้มีองค์ประกอบของการเรียนการสอน ได้แก่ วัตถุประสงค์ เนื้อหา กิจกรรมการเรียนการสอน สื่อการสอน การประเมินผลไว้อย่างเป็นระบบแสดงความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน เป็นแบบอย่างให้ผู้อื่นนำไปใช้ได้
รูปแบบการสอนแบบจัดการความรู้ หมายถึง แบบแผนการเรียนการสอน โดยใช้วิธีการบูรณาการองค์ความรู้แนวคิดและกระบวนการของการจัดการความรู้ กับการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ การจัดการเรียนรู้แบบกระบวนการแก้ปัญหา โดยมี 5 ขั้นตอน คือ การสร้างความรู้ การจัดและเก็บ การถ่ายทอดความรู้ การนำความรู้มาใช้ และการประเมินผล
สมรรถนะการเรียนวิทยาศาสตร์ของนักเรียน หมายถึง ความรู้ด้านเนื้อหา ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และจิตวิทยาศาสตร์ สาระวิทยาศาสตร์ของนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 2 เรื่อง อาหารและสารอาหาร

ประโยชน์ที่ได้รับ
1. ได้รูปแบบการสอนแบบจัดการความรู้ เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการเรียนวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
2. นักเรียนกลุ่มเป้าหมายได้รับการพัฒนาสมรรถนะทางการเรียนวิทยาศาสตร์ เรื่อง อาหารและสารอาหาร
3. แนวทางในการพัฒนารูปแบบการสอนวิทยาศาสตร์และนำไปประยุกต์ใช้ในกลุ่มสาระวิชาอื่นๆ

วิธีดำเนินการวิจัย
การพัฒนารูปแบบการสอนแบบจัดการความรู้ เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการเรียนวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ในครั้งนี้ ผู้วิจัยได้ดำเนินการวิจัยดังนี้

1. แบบแผนของการวิจัย
การพัฒนารูปแบบการสอนแบบจัดการความรู้ เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการเรียนวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ได้ดำเนินการโดยใช้รูปแบบกลุ่มเดียววัดก่อนหลังการทดลอง (One-Group Pretest-Posttest Design)
2. ระยะในการดำเนินการวิจัย
ใช้ระยะเวลาในการทดลองในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2551 โดยทำการสอนสัปดาห์ละ 4 ชั่วโมง รวมจำนวนทั้งหมด 15 ชั่วโมง ใช้แผนการสอนจำนวน 7 แผน
3. เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ประกอบด้วย
1. เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ แผนการเรียนรู้ เรื่อง อาหารและสารอาหาร โดยใช้รูปแบบการสอนแบบจัดการความรู้ เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการเรียนวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 7 แผน
2. เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วย
2.1 แบบทดสอบสมรรถนะการเรียนวิทยาศาสตร์ จำนวน 30 ข้อ มีลักษณะเป็นแบบเลือกตอบ 4 ตัวเลือก
2.2 แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนต่อการเรียน โดยใช้รูปแบบการสอนแบบจัดการความรู้ มีลักษณะเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) จำนวน 17 ข้อ
4. วิธีสร้างเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
การสร้างเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้ดำเนินการดังต่อไปนี้
1. การพัฒนาแผนการเรียนรู้ ตามรูปแบบการสอนแบบจัดการความรู้ เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการเรียนวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ได้ดำเนินการดังต่อไปนี้
1.1 ศึกษา และวิเคราะห์หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 มาตรฐานการเรียนรู้ และผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง
1.2 วิเคราะห์สภาพปัญหาที่เกิดจากการจัดการเรียนการสอน กลุ่มสาระการเรียนรู้ วิทยาศาสตร์ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
1.3 สร้างตารางวิเคราะห์หลักสูตร (Table of Specification) และพัฒนารูปแบบการการสอน ให้สอดคล้องกับผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง จุดประสงค์
1.4 กำหนดเวลาที่ใช้ในการเรียนการสอน แต่ละแผนการจัดการเรียนรู้
1.5 กำหนดกิจกรรมการเรียนรู้
1.6 นำรูปแบบการสอนแบบจัดการความรู้ไปให้ผู้เชี่ยวชาญ ตรวจสอบคุณภาพด้านเนื้อหา จุดประสงค์ และการจัดกิจกรรม สื่อการเรียนรู้ การวัดผลและประเมินผล ผู้เชี่ยวชาญให้ข้อเสนอแนะ แล้วจึงนำมาปรับปรุงแก้ไข
1.7 หลังจากที่ได้แก้ไขตามข้อเสนอแนะของผู้เชี่ยวชาญแล้ว จึงได้ให้ผู้เชี่ยวชาญประเมินค่าดัชนีความสอดคล้อง (IOC) โดยใช้เกณฑ์ค่าดัชนีความสอดคล้อง ³ 0.75 ขึ้นไป
1.8 ทดลองใช้รูปแบบการสอนกับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 3 คน เพื่อหาประสิทธิภาพเบื้องต้น แบบหนึ่งต่อหนึ่ง ได้ประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมเท่ากับ 76.67/75.56 จึงดำเนินการปรับปรุงรูปแบบการสอน หลังจากนั้นได้นำไปทดลองใช้กับกลุ่มย่อย คือนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่ไม่ใช่กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 20 คน ได้ประสิทธิภาพของรูปแบบเท่ากับ 79.64/77.83 ปรับปรุงรูปแบบการสอน แล้วจึงนำไปใช้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนโป่งแพร่วิทยา
2. การพัฒนาแบบทดสอบสมรรถนะการเรียนวิทยาศาสตร์ เรื่อง อาหารและสารอาหาร ได้ดำเนินการตามขั้นตอนดังนี้
2.1 วิเคราะห์หลักสูตร มาตรฐานการเรียนรู้และผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง ของกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์
2.2 สร้างแบบทดสอบแบบทดสอบสมรรถนะการเรียนวิทยาศาสตร์ ประเภทเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 40 ข้อ
2.3 นำแบบทดสอบให้ผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 3 ท่าน ประเมินความสอดคล้องระหว่างผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง กับแบบทดสอบรายข้อ
2.4 นำแบบทดสอบสมรรถนะการเรียนวิทยาศาสตร์ ที่ปรับปรุงแก้ไขตามข้อเสนอแนะของผู้เชี่ยวชาญไปทดลองใช้ กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่ไม่ใช่กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 20 คน แล้ววิเคราะห์รายข้อ เพื่อหาค่าความยากง่าย (p) และค่าอำนาจจำแนก (r)
2.5 คัดเลือกข้อสอบสมรรถนะการเรียนวิทยาศาสตร์ จำนวน 30 ข้อ ที่มีค่าความยากง่าย (p) อยู่ระหว่าง .20 - .85 และค่าอำนาจจำแนก (r) อยู่ระหว่าง .40 - .90 มาวิเคราะห์หาค่าความเชื่อมั่น โดยใช้สูตร KR- 20 ของคูเดอร์ริชาร์ดสัน ได้ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .85
3. การพัฒนาแบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียน ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปนี้
3.1 ศึกษาเอกสาร แนวคิดทฤษฎี และงานวิจัย แล้ววิเคราะห์ เพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการสร้างแบบสอบถาม
3.2 สร้างแบบสอบถาม แล้วนำไปให้ผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 3 ท่าน ตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหา (Content Validity) และความเหมาะสมของภาษาในแต่ละข้อคำถาม
3.3 ทดลองใช้แบบสอบถามความพึงพอใจต่อการใช้รูปแบบการสอนแบบจัดการความรู้ กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่ไม่ใช่กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 20 คน แล้วหาค่าความเชื่อมั่นโดยใช้วิธีสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาค (Cronbach's Coefficient of Alpha) ได้ค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับ เท่ากับ .86
5. วิธีดำเนินการทดลอง
การวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยได้ดำเนินการศึกษาและเก็บรวบรวมข้อมูล กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2551 จำนวน 27 คน ดังนี้
1. ชี้แจงให้นักเรียนทราบถึงการเรียนการสอน โดยใช้รูปแบบการสอนแบบจัดการความรู้ ที่สร้างขึ้นเพื่อให้นักเรียนปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้อง
2. นำแบบทดสอบสมรรถนะการเรียนวิทยาศาสตร์ ไปทำการทดสอบกับนักเรียน แล้วบันทึกคะแนนที่ได้
3. ดำเนินการสอนตามรูปแบบที่สร้างขึ้น และประเมินผลหลังการสอนแต่ละเรื่อง
4. เมื่อนักเรียนได้รับการสอนโดยใช้รูปแบบการสอนแบบจัดการความรู้ แล้ว ให้นักเรียนทำแบบทดสอบสมรรถนะการเรียนวิทยาศาสตร์ แล้วบันทึกคะแนนที่ได้จากการทดสอบ
5. สำรวจความพึงพอใจของนักเรียน ที่มีต่อการเรียนตามรูปแบบการสอนแบบจัดการความรู้ โดยตอบแบบสอบถาม แล้วบันทึกผลการประเมิน
6. การวิเคราะห์ข้อมูลและสถิติที่ใช้
ผู้วิจัยได้ดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูลตามขั้นตอน ดังนี้
1. การพัฒนารูปแบบการสอนแบบจัดการความรู้ เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการเรียนวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 วิเคราะห์ข้อมูล โดยการหาค่าประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 โดยใช้สูตร E1/E2 นำเสนอในรูปตารางประกอบคำบรรยาย
2. การศึกษาสมรรถนะการเรียนวิทยาศาสตร์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 วิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้ คำนวณหาค่าเฉลี่ย ( ) และ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) เปรียบเทียบผลต่างระหว่าง คะแนนก่อนเรียนและหลังเรียน และร้อยละของคะแนนที่เพิ่มขึ้น และทดสอบค่าที (t-test แบบ Dependent) นำเสนอในรูปตารางประกอบคำบรรยาย
3. การศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่มีต่อการเรียนตามรูปแบบการสอนแบบจัดการความรู้ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน นำเสนอในรูปตารางประกอบคำบรรยาย

ผลการวิจัย
จากการนำรูปแบบการสอนแบบจัดการความรู้ เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการเรียนวิทยาศาสตร์ของนักเรียน ไปทดลองใช้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ได้ข้อสรุปที่สำคัญดังนี้
สรุปผลการวิจัย
1. ผลการวิจัยครั้งนี้ ได้รูปแบบการสอนแบบจัดการความรู้ เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการเรียนวิทยาศาสตร์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ใช้เวลาในการศึกษา 15 ชั่วโมง ผลการตรวจสอบประสิทธิภาพ (E1 /E2) เท่ากับ 80.58/80.12 เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ คือ 80/80
2. ผลการสอนโดยใช้รูปแบบการสอนแบบจัดการความรู้ เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะ การเรียนวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 หลังการสอนโดยใช้รูปแบบการสอนแบบจัดการความรู้ สูงกว่าก่อนการสอน มีคะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 12.04 คิดเป็นร้อยละ 40.12 โดยก่อนการสอน มีคะแนนเฉลี่ยเป็น 12.00 หลังการสอนคะแนนเฉลี่ยเป็น 24.04 และเมื่อพิจารณาคะแนนของนักเรียนเป็นรายบุคคล พบว่า นักเรียนมีคะแนนสูงขึ้นทุกคน โดยมีคะแนนเพิ่มขึ้นสูงสุดเท่ากับ 16 คะแนน และต่ำสุดเท่ากับ 6 คะแนน
3. ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนการสอน โดยใช้รูปแบบการสอนแบบจัดการความรู้ เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการเรียนวิทยาศาสตร์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โดยภาพรวม อยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายข้อ พบว่า ข้อที่นักเรียนมีความพึงพอใจในระดับมากที่สุด ได้แก่ นักเรียนมีส่วนร่วมในการวัดและประเมินผล ส่วนข้อที่อยู่ในระดับมาก เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ได้แก่ ระยะเวลาที่ใช้ในการเรียนรู้แต่ละเรื่องมีความเหมาะสม การเรียนแบบจัดการความรู้ทำให้นักเรียนมีโอกาสได้แสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ และ นักเรียนเข้าใจจุดประสงค์การเรียนรู้ของบทเรียน ตามลำดับ
อภิปรายผลการวิจัย
ผลการวิจัยครั้งนี้ ได้รูปแบบการสอนแบบจัดการความรู้ เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการเรียนวิทยาศาสตร์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ตรวจสอบประสิทธิภาพ (E1 /E2) เท่ากับ 80.58/80.12 เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ คือ 80/80 อาจเนื่องมาจาก ในขั้นตอนของการพัฒนารูปแบบการสอนแบบจัดการความรู้ ซึ่งเป็นลักษณะของการเรียนการสอนที่จัดขึ้นอย่างเป็นระบบระเบียบตามปรัชญา ทฤษฎี หลักการ หรือความเชื่อต่างๆ โดยมีความครอบคลุมองค์ประกอบที่สำคัญๆ ของระบบนั้น และได้รับการยอมรับหรือพิสูจน์ ทดสอบ ถึงประสิทธิภาพของระบบนั้นๆ มาแล้ว (ทิศนา แขมมณี. 2548 : 1) ผู้วิจัยได้ดำเนินการอย่างมีระบบ โดยศึกษาหลักสูตร วิเคราะห์ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง จุดมุ่งหมายและเนื้อหาของกิจกรรม ให้มีความเหมาะสมกับระดับของผู้เรียน ให้สอดคล้องกับมาตรฐานกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ และมาตรฐานการเรียนรู้ ช่วงชั้น ซึ่งครอบคลุมทุกมาตรฐานตามเป้าหมายของหลักสูตรที่วางไว้ ประการต่อมา ในขั้นตอนของการพัฒนารูปแบบการสอนแบบจัดการความรู้ ได้มีการตรวจสอบแก้ไขตามข้อเสนอแนะ และตรวจสอบคุณภาพและประเมินคุณภาพจากผู้เชี่ยวชาญ ทั้งในด้านเนื้อหา ด้านการใช้ภาษา เพื่อหาข้อบกพร่องของรูปแบบ และนำข้อพกพร่องมาปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้อง มีการทดลองใช้ ปรับปรุงจนมีประสิทธิภาพอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเป็นที่เชื่อถือได้ ก่อนนำไปใช้จริง ส่งผลให้รูปแบบการสอนแบบจัดการความรู้ มีประสิทธิภาพและมีความเหมาะสมที่จะนำไปใช้จัดการเรียนรู้สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
ผลการสอนโดยใช้รูปแบบการสอนแบบจัดการความรู้ เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการเรียนวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 หลังการสอนโดยใช้รูปแบบการสอนแบบจัดการความรู้ สูงกว่าก่อนการสอน และเมื่อพิจารณาคะแนนของนักเรียนเป็นรายบุคคล พบว่า นักเรียนมีคะแนนสูงขึ้นทุกคน อาจเนื่องมาจาก การสอนโดยใช้รูปแบบการสอนแบบจัดการความรู้ เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการเรียนวิทยาศาสตร์ของนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เป็นการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ซึ่งกระบวนการเรียนรู้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 24 (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ. ม.ป.ป. : 14) คือ จัดเนื้อหาสาระและกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจของนักเรียน ฝึกทักษะกระบวนการคิด จัดกิจกรรมให้นักเรียนได้ฝึกปฏิบัติให้ทำได้ คิดเป็นทำเป็น และการพัฒนารูปแบบการสอนแบบจัดการความรู้ เป็นการออกแบบการเรียนการสอนที่ครอบคลุมองค์ประกอบสำคัญ ซึ่งได้รับการจัดไว้อย่างเป็นระเบียบตามหลักปรัชญา ทฤษฎี หลักการ แนวคิดหรือความเชื่อต่างๆ โดยประกอบด้วยกระบวนการหรือขั้นตอนสำคัญในการเรียนการสอน รวมทั้งวิธีสอนและเทคนิคการสอนต่างๆ ที่สามารถช่วยให้สภาพการเรียนการสอนนั้นเป็นไปตามทฤษฎี หลักการ (ทิศนา แขมมณี. 2547 : 221) สอดคล้องกับผลการศึกษาของ วิมล ปฐมสุรทิน (2542) ที่พบว่า รูปแบบการสอนทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ทำให้ผลสัมฤทธิ์ด้านทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียน ที่เรียนจากรูปแบบการสอนที่พัฒนาขึ้น กับนักเรียนที่เรียนจากรูปแบบการสอนของ สสวท. ไม่แตกต่างกัน และ เชาวน์ศิริ ธาระรัตน์ (2550) พบว่า นักเรียนที่เรียนด้วยกิจกรรมพัฒนาสมรรถนะทางวิทยาศาสตร์ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิทยาศาสตร์หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 นอกจากนี้ รัฐกรณ์ คิดการ (2551) ยังพบว่า หลังการเรียนจากรูปแบบการสอนบนเว็บโดยใช้กลยุทธ์การจัดการความรู้ รายวิชาเทคโนโลยีการศึกษา ของนักศึกษาระดับอุดมศึกษา สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
จากการศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียน โดยใช้รูปแบบการสอนแบบจัดการความรู้ เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการเรียนวิทยาศาสตร์ ที่พบว่าโดยภาพรวม อยู่ในระดับมาก อาจเนื่องมาจาก ช่วยให้ผู้เรียนสนใจและกระตือรือร้นที่จะเรียนบทเรียนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากรูปแบบการสอนเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ยึดหลักการวัดและประเมินผลตามสภาพจริง นักเรียนมีส่วนร่วมในการปฏิบัติกิจกรรม และมีส่วนร่วมในการประเมินผลการเรียนรู้ด้วยตนเอง แสดงให้เห็นว่า นักเรียนมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนโดยใช้รูปแบบการสอนแบบจัดการความรู้ ซึ่งแสดงว่า รูปแบบการสอนแบบจัดการความรู้ ที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้น สามารถเพิ่มสมรรถนะการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ เรื่อง อาหารและสารอาหาร ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ให้สูงขึ้น

ข้อเสนอแนะ
จากการพัฒนารูปแบบการสอนแบบจัดการความรู้ เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการเรียนวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนโป่งแพร่วิทยา จังหวัดเชียงราย มีข้อเสนอแนะดังนี้
ข้อเสนอแนะเพื่อนำผลการศึกษาไปใช้
1. การนำรูปแบบการสอนแบบจัดการความรู้ เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการเรียนวิทยาศาสตร์ของนักเรียน ควรศึกษารายละเอียดจากคู่มือครูประกอบการเรียนการสอน เพื่อจะได้ให้ปฏิบัติตามรูปแบบ และได้ให้คำแนะนำกับนักเรียนได้อย่างถูกต้อง เกิดประสิทธิภาพในการเรียนการสอนมากยิ่งขึ้น
2. การนำรูปแบบการสอนแบบจัดการความรู้ เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการเรียนวิทยาศาสตร์ของนักเรียน อาจปรับกิจกรรมหรือระยะเวลา สถานที่ใช้ให้เหมาะสมกับระดับความสามารถของนักเรียน
3. การจัดหาสื่อและอุปกรณ์ในการเรียน ควรให้มีความเพียงพอกับนักเรียนเพื่อจะให้นักเรียนสามารถปฏิบัติกิจกรรมรายบุคคลและกิจกรรมกลุ่มได้อย่างสมบูรณ์
ข้อเสนอแนะในการศึกษาครั้งต่อไป
1. ศึกษารูปแบบการสอนรูปแบบการสอนแบบจัดการความรู้ เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่นๆ
2. พัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียน โดยใช้รูปแบบการสอนแบบจัดการความรู้

 

หมายเลขบันทึก: 246783เขียนเมื่อ 6 มีนาคม 2009 21:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 14:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

การออกแบบงานวิจัย น่าจะไม่สอดคล้องกับชื่อเรื่อง เพราะชื่อเรื่องเป็น "การพัฒนา" แต่เนื้อในกระบวนการวิจัย ไม่มีการพัฒนา มีแต่การทดลอง หากสนใจงานวิจัยประเภทนี้โปรดค้นคว้าได้จาก งานวิจัยประเภทการพัฒนารูปแบบการสอน หรือ งานวิจัยเพื่อพัฒนาแบบจำลองการสอน เสนอแนะมาเพื่อความถูกต้องตามหลักวิชาการ หากไม่สนใจก็ไม่เป็นไร

เรียนคุณมนตรี

ขอบคุณมากค่ะที่ให้ข้อเสนอแนะดีๆ เป็นประโยชน์มากสำหรับมือใหม่อย่างดิฉัน จะพยายามค้นคว้าไปเรื่อยๆ ค่ะ ยินดีและน้อมรับคำแนะนำเสมอค่ะ

อยากให้ลองศึกษาค้นคว้า

การพัฒนารูปแบบ ให้หลากหลาย

หรือคิดค้นรูปแบบใหม่ๆ

เพื่อทดลองใช้จริงให้หลากหลาย

เพื่อเป็นประโยชน์กับผู้ทำวิจัยเอง

หมั่นฝึกฝนและมองปัญหา

และตั้งคำถามบ่อยๆ

เพื่อจะก้าวเป็นนักวิจัยมืออาชีพครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท