หน่อไม้ปี๊บทำพิษ....ทำพิศ (การจัดการห้องครัวชุมชน)


แล้ววันนี้การไปกินข้าวในงานเลี้ยงที่บ้านหลวงจึงไม่ต้องกังวลถึงความไม่ปลอดภัยของอาหารอีกต่อไปแล้ว เพราะมีสารวัตรอาหารที่คอยควบคุมดูแลการประกอบอาหารอย่างเข้มแข็ง ไม่แพ้เชฟกระทะเหล็กหรือเชฟมือทองของห้องครัวในโรงแรมเลยทีเดียว

 

          เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๔๙ ใครที่ติดตามข่าวสารบ้านเมือง จะรับรู้ข่าวที่เมืองน่านดังไปทั่ว ข่าวหลายช่อง หลายสำนักพิมพ์มาเกาะติดรายงานสถานการณ์ข่าวอย่างต่อเนื่อง นั่นคือ “ชาวบ้านหลวงกินหน่อไม้ปิ๊บในงานบุญทานเมล็ดข้าว แล้วป่วยเป็นโรคโบทูลิซึ่มเป็นจำนวนมากเกือบ ๒๐๐ คน” ต้องระดมทีมแพทย์พยาบาลต่างจังหวัด ส่วนกลาง และต่างประเทศเข้ามาช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน แม้ว่าการป่วยครั้งนั้นจะไม่มีผู้เสียชีวิต แต่ก็นับเป็นการสูญเสียขวัญอย่างยิ่งใหญ่ของคนบ้านหลวงและคนจังหวัดน่าน

          หลังจากสถานการณ์วิกฤตการป่วยคลี่คลายลง ทีมสุขภาพอำเภอบ้านหลวง ร่วมกับส่วนราชการ และแกนนำชุมชนอำเภอบ้านหลวง ได้ร่วมกันหาสรุปบทเรียนจากวิกฤตครั้งนี้ พบว่าสาเหตุหลักของการเกิดวิกฤตครั้งนี้มาจากการประกอบอาหารที่ไม่สุกสะอาดปลอดภัยในงานเลี้ยงของชุมชน จึงได้ดำเนินการอย่างหลากหลาย ได้แก่

จัดเวทีประชาคม ระดับอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน เพื่อร่วมกันเสวนาหาแนวทางป้องกันเหตุการณ์ทำนองนี้ไม่ให้เกิดขึ้นอีก โดยกำหนดมาตรการการจัดอาหารในงานเลี้ยงของชุมชน เช่น งานบุญ งานศพ ขึ้นบ้านใหม่ แต่งงาน ฯลฯ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งอำเภอ

กำหนดมาตรการชุมชน ร่วมกันในการจัดทำอาหารประกอบการเลี้ยงให้สะอาดปลอดภัย  เช่น อาหารที่จัดงานเลี้ยงต้องเป็นอาหารปรุงสุกสะอาดปลอดภัย, แจ้งรายการอาหาร, รายชื่อสารวัตรอาหารที่ดูแลการประกอบอาหาร, จัดเขตประกอบอาหารที่ชัดเจน ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาหารไม่มีสิทธิเข้าไปในบริเวณประกอบอาหาร, ยกที่ประกอบอาหารให้สูงจากพื้น, จัดที่คลุมอาหารป้องกันแมลงฝุ่นละออง, ผู้ประกอบอาหารต้องเป็นผู้ที่มีสุขนิสัยที่ดีไม่มีโรคติดต่อ ใส่ชุดกันเปื้อน หมวกคลุมผมให้เรียบร้อย, จัดที่ล่างมือสำหรับผู้เข้าร่วมกินเลี้ยง เป็นต้น

จัดอบรมสารวัตรอาหาร โดยรับอาสาสมัครคนในชุมชนเข้ามาเป็นสารวัตรอาหาร จัดอบรมให้ความรู้เรื่องสุขาภิบาลอาหาร และบทบาทหน้าที่ของสารวัตรอาหาร

จัดอบรมแกนนำนักเรียน ให้มีความรู้สุขาภิบาลอาหารในโรงเรียนและเผยแพร่ความรู้สู่ผู้ปกครอง

เจ้าภาพงานเลี้ยง ที่จะจัดงานเลี้ยง ต้องเขียนใบแจ้งขอประกอบอาหารให้สารวัตรอาหารของชุมชนได้ทราบถึงรายการอาหารที่จัดเลี้ยงและแจ้งไปยังผู้นำชุมชน เพื่อให้สารวัตรอาหารและผู้นำชุมชนได้เข้ามาดูแลการประกอบอาหารให้ถูกสุขลักษณะและมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค

ประกาศเจตนารมณ์ ร่วมกันในการที่จะจัดอาหารงานเลี้ยงที่สุกสะอาดปลอดภัย และมีการสาธิตการจัดอาหารในงานเลี้ยงที่ปลอดภัย ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๙

หลังจากดำเนินการไปในระยะแรกก็ยังมีอุปสรรคอยู่หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเข้าใจของชาวบ้าน และขาดวัสดุอุปกรณ์ในการจัดประกอบอาหารต่างๆ เช่น หมวกคลุมผม, ผ้ากันเปื้อน, ตาข่ายกั้นบริเวณประกอบอาหาร, ป้ายเขตประกอบอาหาร, และอุปกรณ์เครื่องครัวต่างๆ เป็นต้น แต่ด้วยความตั้งใจจริงของสารวัตรอาหารที่มีการดำเนินการอย่างเข้มแข็ง จึงทำให้อบต.และส่วนราชการ ได้เข้ามาสนับสนุนงบประมาณดำเนินการในรูปแบบต่างๆ ทำให้การดำเนินงานเป็นรูปธรรมมากขึ้น และขยายผลการดำเนินการได้ครอบคลุมทั่วทั้งอำเภอบ้านหลวง

จากการแปรวิกฤตเป็นโอกาสครั้งนี้ ทำให้ประชาชนที่ได้เข้ามาร่วมกิจกรรมงานบุญประเพณีหรืองานเลี้ยงต่างๆ ในบ้านหลวง เห็นถึงรูปแบบการจัดอาหารในงานเลี้ยงที่ดีและปลอดภัยเช่นนี้ก็นำไปเล่าต่อๆ กัน มีกลุ่มเข้ามาศึกษาดูงานหลายพื้นที่ รวมทั้งการเชิญทีมสุขภาพบ้านหลวงไปเป็นวิทยากรให้แก่ชุมชนอื่นๆ เช่น อำเภอเมือง, ภูเพียง, แม่จริม, ท่าวังผา เป็นต้น ทำให้รูปแบบนี้ได้ขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ

แล้ววันนี้การไปกินข้าวในงานเลี้ยงที่บ้านหลวงจึงไม่ต้องกังวลถึงความไม่ปลอดภัยของอาหารอีกต่อไปแล้ว เพราะมีสารวัตรอาหารที่คอยควบคุมดูแลการประกอบอาหารอย่างเข้มแข็ง ไม่แพ้เชฟกะทะเหล็กหรือเชฟมือทองของห้องครัวในโรงแรมเลยทีเดียว

อย่างนี้เขาเรียกว่าหน่อไม้ทำพิศ

ขอบคุณเรื่องราวดีๆ ขอบคุณ “จิรภา แก้วใหม่” อสม.ดีเด่นสาขาคุ้มครองผู้บริโภค ภาคเหนือ ปี ๒๕๕๒ และทีมงานทุกคนที่ช่วยสร้างเรื่องราวดีดีเช่นนี้

บันทึกจากเรื่องเล่า การประกวดอสม.ดีเด่นระดับชาติ สาขาการคุ้มครองผู้บริโภค"

๒ มีนาคม ๒๕๕๒

บ้านดอนหล่ายทุ่ง ต.สวด อ.บ้านหลวง จ.น่าน

 

คุณจิรพา แก้วใหม่ และครอบครัว

ขอบคุณ

คุณสุพิน อายุยืน และเจ้าหน้าที่ สอ.สวด

ขอบคุณสารวัตรอาหาร และแกนนำชุมชนบ้านดอนหล่ายทุ่ง

คณะครูและนักเรียนบ้านดอนหล่ายทุ่ง

และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่าน

หมายเลขบันทึก: 246495เขียนเมื่อ 5 มีนาคม 2009 14:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

วิกฤติการณ์ครั้งนั้นสอนบทเรียนให้น่านมากมาย สิ่งที่ดีที่เกิดขึ้นคือ  น้ำใจที่หลั่งไหลมาจากทุกแห่งหน  แสดงถึงคนไทยรักกัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท